29 ธ.ค. 2021 เวลา 05:31 • กีฬา
นักบาสที่เปลี่ยนโลกไปตลอดกาล สเตฟเฟ่น เคอร์รี่ ใครจะรู้ว่ากว่าเขาจะมาถึงตรงนี้ได้ ก็เคยมีช่วงเวลาที่คนอื่นไม่ให้การยอมรับเช่นกัน นี่คือเรื่องราวคลาสสิคของมือ 3 แต้มที่เก่งกาจที่สุดในโลกมนุษย์
2
ในตอนนี้สเตฟเฟ่น เคอร์รี่ เป็นหนึ่งในนักบาสเกตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลก็จริง แต่เส้นทางชีวิตของเขากว่าจะมาถึงจุดนี้ ก็ไม่ได้ง่าย
สเตฟเฟ่น เป็นลูกชายของเดลล์ เคอร์รี่ นักบาสเกตบอลฝีมือดีคนหนึ่งของวงการ โดยคุณพ่อเดลล์ ถูกดราฟต์ในรอบแรก เป็นอันดับ 15 ของคลาสปี 1986 อันดับสูงกว่าผู้เล่นออลสตาร์ อย่าง เดนนิส ร็อดแมน หรือ เจฟฟ์ ฮอร์นาเซ็ค เสียอีก
ตลอดอาชีพของเดลล์ เขาได้รับการยอมรับพอสมควร ดังนั้นเมื่อเขามีลูกชาย สังคมจึงคิดว่าหนทางสู่ NBA ของสเตฟเฟ่นน่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เอาจริงๆ มันไม่เป็นอย่างนั้น
สเตฟเฟ่น เคอร์รี่ลงเล่นในระดับมัธยมปลาย ที่โรงเรียนชาร์ลอตต์ คริสเตียน ในรัฐนอร์ธแคโรไลน่า และผลงานรวมๆ ก็ถือว่าไม่เลวนัก จุดเด่นของเขาคือชู้ตแม่นมาก คนอื่นๆ ก็พอจะเห็นพรสวรรค์อยู่
เคอร์รี่ใส่เบอร์ 30
สมัยเรียนมัธยม เป้าหมายของเคอร์รี่คือการได้อยู่มหาวิทยาลัยดังๆ สักแห่ง แล้วทำผลงานได้ดีในระดับ NCAA จากนั้นก็ได้ดราฟต์ตัวเป็นอันดับแรกๆ ก้าวเข้าสู่ NBA อย่างภาคภูมิ
เคอร์รี่กล่าวว่า "ความฝันของเด็กๆ ที่เติบโตมาใน Tar Heel Country คุณก็อยากอยู่กับมหาวิทยาลัยดังๆ อย่าง Duke, NC State, Carolina หรือ Wake Forest คือผมเองก็อยากลงเล่นกับทีมในระดับนั้นนะ"
[ Note : Tar Heel Country หมายถึงรัฐนอร์ธ แคโรไลน่า ]
ในปี 2005 ตอนเรียนเกรด 11 เคอร์รี่ไปเข้าร่วมกิจกรรมชื่อ NBPA Top 100 Camp ที่จะเชิญนักบาสเกตบอลระดับ ม.ปลาย ที่มีแววดี จำนวน 100 คน มาเข้าแคมป์ด้วยกัน โดยจะมีโค้ชจากมหาวิทยาลัยดังๆ ทั่วประเทศ มาดูฟอร์มด้วย คือถ้าเด็กคนไหนแววดี ก็จะทาบทามให้ทุนการศึกษากันไป
อย่างเควิน ดูแรนต์ ที่เป็นอัจฉริยะ ม.ปลาย เขาทำผลงานได้ดีมากทั้งกับที่โรงเรียน และในแคมป์ NBPA ส่งผลให้มี 6 มหาวิทยาลัยดังๆ ระดับประเทศมารุมจีบ (North Carolina, Duke, UCONN, Kentucky, Louisville และ Texas) สุดท้ายดูแรนต์เลือกไปอยู่กับเท็กซัส
แต่กับเคสของเคอร์รี่ ไม่มีมหาวิทยาลัยดังๆ แบบนั้น มาสนเขาเลยแม้แต่ที่เดียว เขาไม่ได้รับข้อเสนอทุนการศึกษาจากที่ไหนเลย
สาเหตุที่คนไม่สนใจ เพราะเคอร์รี่ยังดูธรรมดาเกินไป โดยเอริค บอสซี่ นักวิเคราะห์ของเว็บกีฬาชื่อดัง Rivals คอมเมนต์ว่า "ถ้าเคอร์รี่ได้พื้นที่เปิดโล่ง เขาจะยิงไม่พลาด เขาเป็นคนที่ทำให้คู่แข่งลำบากใจ เพราะจ่ายบอลดี เลี้ยงบอลเก่ง แต่ปัญหาคือสภาพร่างกาย เขาสูงแค่ราวๆ 6 ฟุต และผอมบางอย่างมากจริงๆ"
1
ในบาสเกตบอลสมัยก่อน ตัวยิงสามแต้มจะไม่ค่อยถูกให้ราคาเท่าไหร่ ยิ่งถ้าคุณตัวเล็ก คุณก็ไม่สามารถใช้กำลังทะลวงวงในได้ ซึ่งเคอร์รี่ ในช่วง ม.ปลาย สูงแค่ราวๆ 176-180 ซม. และมีน้ำหนัก 56 กิโลกรัมเท่านั้น คือด้วยไซส์ขนาดนี้ ต่อให้ชู้ตแม่นแค่ไหนก็เถอะ ในสายตาของโค้ช มันก็ใช้ประโยชน์ได้ยาก
ในตอนนั้น เว็บไซต์ 247Sports จัดอันดับนักบาสเกตบอลที่ดีที่สุดในระดับ ม.ปลาย ให้เคอร์รี่อยู่อันดับ 281 ตัดเกรดได้แค่ 3 ดาว (เต็ม 5 ดาว)
ส่วนเว็บ Rivals ที่แต่ละปี จะจัดอันดับนักบาสดีที่สุด 150 คน เคอร์รี่อยู่ในหมวด unranked หรือไม่ติด 1 ใน 150 คนแรก
Rivals วิจารณ์ว่า "เคอร์รี่เป็นคนที่ปล่อยบอลตอนชู้ตช้ามาก (Slow release) นั่นแปลว่า เขาต้องมีพื้นที่โล่งจริงๆ ถึงจะยิงเข้า"
การที่ทีมใหญ่ ไม่ยื่นข้อเสนอให้เขา ทำให้ตัวเคอร์รี่เจ็บปวดมาก อย่างไรก็ตามเขายังแอบหวังว่า มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย เทค ที่เป็นสถาบันเก่าของคุณพ่อเดลล์ (ได้ทุนนักกีฬานักบาสเกตบอล) และคุณแม่ซอนย่า (ได้ทุนนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิง) จะยื่นข้อเสนอให้เขาเพื่อไปสานต่อ Legacy ของพ่อกับแม่
2
แต่เวอร์จิเนีย เทค บอกว่าจะไม่ให้ทุนการศึกษากับเคอร์รี่ แต่ถ้าเขาอยากเข้ามาเรียนก็ได้ เพียงแต่ต้องจ่ายเงินเอง และจะได้สเตตัสแค่ walk-on position เท่านั้น กล่าวคือ คุณจะได้เดินทางไปกับทีมบาสนะ ได้โอกาสฝึกซ้อมกับคนอื่น แต่จะไม่อยู่ใน Roster ว่าง่ายๆ เปรียบเสมือนคู่ซ้อมให้คนอื่นแค่นั้น
1
การอยู่มหาวิทยาลัยใหญ่ แต่ไม่ได้เล่น ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะอยู่ เคอร์รี่จึงปฏิเสธข้อเสนอของเวอร์จิเนีย เทคไป ซึ่งครั้งหนึ่งเคอร์รี่เคยให้สัมภาษณ์ว่า เป็นความรู้สึกที่ห่วยแตกมาก ที่ไม่ได้ข้อเสนอนักกีฬาจากมหาวิทยาลัยที่คุณพ่อ-คุณแม่เคยเรียน
2
เมื่อมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ไม่สนใจ จึงเป็นโอกาสของมหาวิทยาลัยระดับกลางๆ ไปจนถึงเล็กๆ ที่เข้ามาทาบทามเคอร์รี่ โดย 3 สถาบันที่พร้อมจะให้ทุนการศึกษากับเขา ได้แก่
- มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย คอมม่อนเวลธ์ (VCU) ในรัฐเวอร์จิเนีย
- มหาวิทยาลัยวินโธรป ในรัฐเซาธ์แคโรไลน่า
- มหาวิทยาลัยเดวิดสัน ในรัฐนอร์ธแคโรไลน่า
นี่เป็น 3 มหาวิทยาลัยที่โนเนมเรื่องบาสเกตบอลอย่างมาก คือเคยไปแข่งระดับประเทศบ้างก็จริง แต่ก็ตกรอบแรกตลอด ไม่ใช่ทีมดัง ที่อยู่ในความสนใจของแฟนๆ
อย่างไรก็ตาม เคอร์รี่ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว ถ้าไม่เลือกจากสามแห่งนี้ เขาก็จะไม่มีโอกาสได้ลงเล่นในระดับมหาวิทยาลัย ดังนั้นเคอร์รี่จึงพิจารณาจากชอยส์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่ นั่นคือมหาวิทยาลัยเดวิดสัน
สาเหตุเพราะหนึ่งใกล้บ้าน และสองโค้ชของทีมที่ชื่อบ็อบ แม็คคิลล็อป ให้คำสัญญาว่าจะสร้างทีมโดยมีเคอร์รี่เป็นศูนย์กลาง ดังนั้นย่อมการันตีโอกาสลงสนามแน่นอน
ตัวเคอร์รี่ ต้องการเป็นหัวหมา มากกว่าเป็นหางเสือ ดังนั้นเขาจึงย้ายไปอยู่กับมหาวิทยาลัยเดวิดสันในปี 2006
แต่ ณ ตอนนั้น สื่อกระแสหลัก ไม่มีใครสนใจเคอร์รี่ จะไปอยู่ทีมไหนก็ไปสิ ไม่ได้เป็นข่าวครึกโครมอะไร ก็เขาไม่ใช่สตาร์นี่นา
----------------------------
การแปลงร่างจากผู้เล่นโนเนม สู่ผู้เล่นระดับคุณภาพของเคอร์รี่ เกิดขึ้นได้เพราะ 3 องค์ประกอบรวมกัน
องค์ประกอบที่ 1 คือทัศนคติในการเล่นบาสของเคอร์รี่
ในปี Freshman (มหาวิทยาลัย ปี 1) เคอร์รี่เริ่มต้นลงเล่นในตำแหน่ง Shooting Guard (SG) นั่นเพราะจุดเด่นที่สุดของเขาคือการชู้ต แต่เกมแรกสุดที่เจอกับทีมอีสเทิร์น มิชิแกน ปรากฏว่าแค่ในครึ่งแรก เขาทำเทิร์นโอเวอร์ไป 9 ครั้ง ไม่ใช่การเปิดตัวที่สวยเท่าไหร่นัก
เคอร์รี่ยังมีความ Raw ความดิบ เหมือนเป็นเพชรที่ไม่ผ่านการเจียระไน อย่างไรก็ตามโค้ชแม็คคิลล็อปต้องการทำให้เขาเปล่งประกายมากขึ้นกว่านี้
2
ในมุมของโค้ช สิ่งที่เคอร์รี่ขาดหายไปคือ "ความหลากหลาย" กล่าวคือ พอรู้ตัวว่าตัวเองชู้ตสามแต้มแม่น ก็อยากจะยิงมันอย่างเดียว โดยไม่ใช้ศักยภาพอย่างอื่นที่มี
 
เคอร์รี่เล่าว่า "ผมอยากเป็นแบร์รี่ บอนด์ส ผมอยากจะทำเพลย์ที่ยิ่งใหญ่เหมือนโฮมรันให้ได้ทุกครั้ง"
1
แบร์รี่ บอนด์ส คือนักเบสบอลคนดังใน MLB ที่เป็นเจ้าของสถิติตีโฮมรันได้สูงสุดตลอดกาล (762 ครั้ง) เป็นผู้เล่นที่เรื่องอื่นอาจจะไม่เด่น แต่ถ้าเป็นเรื่องตีแรงจนทำโฮมรันได้ล่ะก็ ไม่มีใครเกินเขาอีกแล้ว
อย่างไรก็ตาม โค้ชแม็คคิลล็อปมองว่านั่นแหละคือปัญหา เขาจึงบอกเคอร์รี่ว่า เคอร์รี่ควรจะเป็นผู้เล่นอย่างอิจิโระ ซูซูกิ มากกว่าจะเป็นแบร์รี่ บอนด์ส
อิจิโระ เป็นนักเบสบอลชื่อดังอีกคน แต่มีสไตล์ที่ต่างกับแบร์รี่ บอนด์ส ชัดเจน โดยอิจิโระเป็นผู้เล่นที่ครบเครื่อง บุกดี ป้องกันดี โฮมรันอาจไม่เยอะ แต่ตีเรียกเบสได้บ่อยมาก และที่สำคัญคือเล่นเป็นทีมได้ดี
ในมุมของโค้ช เคอร์รี่มีทีเด็ดสามแต้มก็ดีแล้ว แต่ก็ไม่จำเป็นต้องโชว์ Big Play ด้วยการยิงไกลมันทุกครั้ง ถ้าเคอร์รี่ใช้ความสามารถด้านอื่นผสมด้วย จะทำให้มีมิติในการบุกที่หลากหลายกว่าเดิม
เคอร์รี่อธิบายเรื่องนี้ในภายหลังว่า "ถ้าคุณกะจะตีโฮมรันมันทุกครั้ง มันอาจดูหวือหวาและสร้างเพลย์ที่ยิ่งใหญ่ได้ แต่คุณก็อาจโดนทำสไตรค์เอาต์ได้ง่ายๆ เหมือนกัน ซึ่งเรื่องนี้มันเปลี่ยนแปลงมุมมองของผมอย่างสิ้นเชิงในการเล่นบาสเกตบอล"
3
จากเดิมเคอร์รี่มีเป้าหมายหลักในการเล่น คือการยิงทำแต้มให้ได้เยอะๆ แต่เขาก็เปลี่ยนความคิดไป คือเป็นสายสร้างสรรค์เกม ที่ค่อยหาจังหวะยิงในเพลย์ที่เหมาะสมดีกว่า
1
นั่นทำให้ ในช่วงที่อยู่มหาวิทยาลัย เคอร์รี่เปลี่ยนตำแหน่ง จากเดิมที่เล่น Shooting Guard มาเป็น Point Guard (PG) ตำแหน่งที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการบุกของทีม
1
และอีกเหตุผลหนึ่งที่เปลี่ยนตำแหน่ง คือตัวเคอร์รี่เชื่อว่า ด้วยไซส์ของเขา ถ้าขยับไปเล่น PG อาจมีโอกาสถูกดราฟต์จากทีม NBA ได้ง่ายขึ้นด้วย
แน่นอน การเปลี่ยนไปเล่นตำแหน่งใหม่ ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ แต่มันก็คุ้มค่าสำหรับเคอร์รี่ เพราะ PG จะเป็นตำแหน่งที่เขาต้องลงเล่นไปตลอดชีวิต
----------------------------
องค์ประกอบที่ 2 คือ การเปลี่ยนท่าชู้ต
ตั้งแต่แรก เคอร์รี่ จะมีท่ายิงคือ Slow Release ปล่อยบอลช้า กล่าวคือกระโดดให้ถึงจุดสูงสุดก่อน แล้วค่อยหักข้อมือปล่อยบอลออกไป ถ้าเป็นระดับมัธยมก็ไม่มีปัญหา แต่พอเข้ามหาวิทยาลัย วิธียิงแบบนี้มันใช้การได้ยาก
คุณพ่อเดลล์กล่าวว่า "ถ้าลูกอยากมีผลงานที่ดีในระดับมหาวิทยาลัย ลูกต้องทำอย่างไรก็ได้ เพื่อเอาบอลขึ้นให้เร็ว และปล่อยบอลให้สูงกว่านี้"
ความจริงแล้วเคอร์รี่ก็โอเคกับท่ายิงเดิมของตัวเอง และไม่แน่ใจว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรไหม อย่างไรก็ตามเขาเชื่อคุณพ่อ ที่เป็นมือปืน 3 แต้มเก่า ดังนั้นเขาจึง Reinventing หรือทำการคิดค้น Jump Shot วิธีใหม่ขึ้นมา
เซ็ธ เคอร์รี่ น้องชายของสเตฟเฟ่น เล่าว่า "ทั้งกลางวัน และกลางค่ำกลางคืน พ่อกับพี่จะอยู่ที่สวนหลังบ้าน และฝึกวิธีการชู้ต พวกเขาซ้อมกันหนักจนถึงขนาดว่าไม่มีแรงจะชู้ตอีกแล้ว คือสเตฟ จะทำซ้ำ ซ้ำ ซ้ำ ไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่เขาชำนาญในการใช้แล้วจริงๆ"
4
ท่าชู้ตใหม่ ที่เดลล์กับสเตฟ ช่วยกันคิดก็คือการปล่อยบอลแบบ Lightning Quick Release ปล่อยบอลเร็วที่สุด ในทันทีที่กระโดดขึ้นไม่เกิน 0.3 วินาที ก็ปล่อยบอลออกไปเลย ไม่จำเป็นต้องรอให้กระโดดถึงจุดสูงสุดค่อยหักข้อมือ
การปล่อยบอลเร็วขนาดนี้ คู่แข่งแทบไม่สามารถตั้งตัวได้เลย กว่าจะกระโดดบล็อกหรืออะไร ลูกก็พุ่งลงไปแล้ว
นอกจากการปล่อยบอลเร็วแล้ว เขาจะยิงบอลให้สูงขึ้นกว่าเดิมอีก ให้โค้งเหมือนสายรุ้ง เพราะเคอร์รี่เป็นคนตัวเล็ก เวลาเจอกับคู่แข่งที่สูงใหญ่กว่า การยิงบอลให้สูงขึ้น ก็เป็นการช่วยหลบบล็อกได้ดีเช่นกัน
จากคนที่เคยถูกเรียกว่า เป็นพวก Slow Release เคอร์รี่เปลี่ยนท่ายิงใหม่หมด เป็น Quick Release แทน ซึ่งนี่เป็นอาวุธสำคัญมากที่เขาจะใช้งานเมื่อขึ้นไปเล่นในระดับอาชีพ
----------------------------
และองค์ประกอบที่ 3 คือการฝึกหนักอย่างที่สุด และไม่ท้อถอยแม้จะโดนดูถูก
การเปลี่ยนตำแหน่ง และ การเปลี่ยนท่ายิง เป็นไอเดียที่ดี แต่มันจะสำเร็จไม่ได้เลย ถ้าหากตัวเคอร์รี่ไม่ยอมฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำอีก
เจสัน ริชาร์ดส์ เพื่อนร่วมทีมในทีมบาสกล่าวว่า "ความมุ่งมั่นของเขามันไม่เหมือนใครจริงๆ เขามีวินัย ไม่ยอมแพ้ และฝึกหนักมากทุกวัน เรารู้ทันทีว่า ทีมบาสของเดวิดสันจะประสบความสำเร็จได้แน่ ตั้งแต่วันแรกที่เขาก้าวเข้ามาอยู่ในทีมเรา"
Passion ส่วนตัวของเคอร์รี่ คือการอยากเก่งขึ้นกว่านี้ เพื่อพิสูจน์ตัวเองให้ทีมใหญ่ๆ ที่ไม่ยอมให้ทุนการศึกษาเขาได้เห็นว่าพลาดอะไรไป
ด้วยความมุ่งมั่นของเคอร์รี่ ทำให้ในปี 2 ของเขา (2007-08) เขาพาเดวิดสัน เข้าถึงรอบ Elite Eight หรือ 8 ทีมสุดท้ายของศึกชิงแชมป์ประเทศ NCAA ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 39 ปี ก่อนจะไปแพ้แคนซัส ทีมแชมป์ในปีนั้น ด้วยช่องว่างแค่ 2 คะแนนเท่านั้น
แม้จะทำผลงานได้ดี เคอร์รี่ก็ยังโดนวิจารณ์อยู่เรื่อยๆ ว่า ฝีมือไม่ถึง ดั๊ก ก็อตลีบ นักข่าวจาก espn วิจารณ์ว่า "ในตำแหน่ง Point Guard ผู้เล่นอย่างแบรนดอน เจนนิงส์ ยังดูมีพรสวรรค์มากกว่า หรืออย่างเจฟฟ์ ทีก, จอห์นนี่ ฟลินน์ หรือ ไท ลอว์สัน ก็ยังดูดีกว่า มันมีความรู้สึกว่า เขาไม่สามารถเป็นนักกีฬาระดับแถวหน้าได้หรอก"
อย่างไรก็ตาม เคอร์รี่ก็ก้มหน้าก้มตาทำงานของตัวเองต่อไป และในที่สุดหลังจบปี 3 เขาก็เข้าสู่ NBA Draft และได้รับเลือกเป็นอันดับ 7 ในรอบแรก จากทีมโกลเด้นสเตต วอร์ริเออร์ส
ในวันที่ถูกดราฟต์ คนพากย์ยังวิจารณ์ว่า เคอร์รี่ก็เป็นตัวชู้ตที่ดีนะ แต่ยังมีปัญหาที่เรื่องการตัดสินใจ เขาใช้คำว่า Shot selection has to get better คือมองว่า เคอร์รี่มีช่องว่างที่ต้องพัฒนาอีกเยอะ คือคนไม่ได้คิดว่าเขาเป็นผู้เล่นที่สมบูรณ์แบบที่จะเขย่า NBA ได้ทันที เขายังต้องพิสูจน์ตัวเองต่อไป
แต่ก็เหมือนกับที่เคอร์รี่เคยโดนมาตลอด ว่าฝีมือไม่ถึง ตั้งแต่ สมัย ม.ปลาย ไปจนถึงสมัยมหาวิทยาลัย เขาเองแค่ต้องฝึกซ้อมต่อไป เพื่อเปลี่ยนจาก Doubter ให้เป็น Believer ให้ได้ เพียงแค่นั้น
เรื่องราวต่อมาจากนั้น ก็อย่างที่ทุกคนทราบกันดี เคอร์รี่ แปลงร่างกลายเป็นชู้ตเตอร์ ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลกใบนี้
เขาทำลายสถิติชู้ตสามแต้มสูงสุดตลอดกาลของเรย์ อัลเลน (2973 ลูก) และ สร้างสถิติยิงสามแต้มมากที่สุดในฤดูกาลเดียว (402 ลูก) รวมถึง คว้าแชมป์ 3-Point Contest ไปอย่างเหนือชั้น
1
เคอร์รี่ ยกระดับโกลเด้นสเตต จากทีมรองบ่อน ให้กลายเป็นทีมแชมป์ NBA 3 สมัย และที่สำคัญเขาเป็นคนกำหนดนิยามของบาสเกตบอลขึ้นมาใหม่ ว่าการชู้ตสามแต้มที่แม่นยำ ก็ทำให้ยึดครองโลกได้เหมือนกัน
มีคำกล่าวว่าเคอร์รี่ ได้ Change the game for good (เปลี่ยนเกมไปตลอดกาล) จากในอดีตที่เด็กๆ เมื่อคิดจะเล่นบาส ก็อยากจะทะลวงวงใน อยากจะดั๊งค์ กลายเป็นว่าตอนนี้อยากจะชู้ตสามแต้มได้แม่นๆ แทน ถ้าไม่มีเคอร์รี่สักคน บาสเกตบอลสมัยใหม่ก็คงยากจะเกิดขึ้น
ในความสำเร็จมหาศาลที่เกิดขึ้น ถ้าเราดูจากเส้นทางชีวิต ก็จะเห็นว่า เคอร์รี่ก็ต้องผ่านความพยายามมาโชกโชนเช่นกัน มันไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่ใครเข้าใจ
จากเด็กหนุ่มที่โดนมองว่าฝีมือธรรมดา โดนตัดเกรดแค่ 3 ดาว และไม่ติดโผ 150 ผู้เล่นที่ดีที่สุดในระดับมัธยมด้วยซ้ำ แต่เขาก็ไม่ยอมแพ้ รวมพลังใจฮึดสู้ ล้มแล้วก็ลุกอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่แบบนั้น
แน่นอน ไม่ใช่ชีวิตทุกคนจะเริ่มต้นอย่างสวยงาม แต่ถ้าเราไม่ยอมแพ้ บางทีก็อาจก้าวขึ้นไปอยู่จุดสูงสุดได้เหมือนกัน
ถ้าหากเคอร์รี่ถอดใจตั้งแต่วันแรกที่ไม่มีใครเห็นคุณค่า ในวันนี้เราอาจไม่ได้เห็นชู้ตเตอร์อัจฉริยะที่กลายเป็นไอคอนของแฟนบาสทั่วโลกก็เป็นได้
2
#CHANGETHEGAME
โฆษณา