30 ธ.ค. 2021 เวลา 02:43 • ท่องเที่ยว
ห้องศิลปะอยุธยา ณ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปะแห่งกรุงศรีอยุธยา อยู่ที่ชั้น 2 ของอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงโบราณวัตถุทั้งพระพุทธรูป เทวรูป ศิลปวัตถุชิ้นเอกแห่งยุคอยุธยาที่ได้รับการคัดเลือกมาจัดแสดงเฉพาะชิ้นงานมาสเตอร์พีซ ของกรุงศรีอยุธยาที่สั่งสมประสบการณ์งานช่างมาถึง 417 ปี
กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของไทยมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 1893 จนถึงปี 2310 ยางนานถึง 417 ปี .. เป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นอาณาจักรที่มั่งคั่ง และรุ่งเรืองที่สุดแห่งหนึ่งใน่วงเวลานั้น
งานศิลปกรรมสมัยอยุธยาส่วนใหญ่รังสรรค์ขึ้นเพื่องานในพระพุทธศาสนา และราชสำนัก .. นักประวัติศาสตร์แบ่งพัฒนาการของกรุงศรีอยุธยาออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ..
.. สมัยอยุธยาตอนต้น ระหว่างปีพุทธศักราช 1893-2031 รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ถึงรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
.. สมัยอยุธยาตอนกลาง ระหว่างปีพุทธศักราช 2031-2172 รัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ถึง พระอาทิตยวงศ์
.. สมัยอยุธยาตอนปลาย ระหว่างปีพุทธศักราช 2172-2310 รัชกาลพระเจ้าปราสาททอง ถึงสมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์
ศิลปะอยุธยาระยะแรก ได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปะที่มีมาก่อน คือ ศิลปะลพบุรี และอู่ทอง ผสมผสานกับศิลปะสุโขทัย และล้านนา .. พัฒนาขึ้นเป็นรูปแบบเฉพาะของอยุธยาในที่สุด
สถาปัตยกรรมในระยะแรกนิยมสร้างพระปรางค์เป็นประธานของวัด ได้แก่ วัดพุทไธสวรรย์ วัดะระราม วัดมหาธาตุ และวัดราษฏร์บูรณะ ต่อมาจึงนิยมสร่างเจดีย์แบบลังกา เช่น วัดพระศรีสรรเพชญ วัดใหญ่ชัยมงคล ฯลฯ แล้วจึงพัฒนาเป็นเจดีย์เหลี่ยมเพิ่มมุม หรือย่อมุม
โบสถ์ วิหารสมัยอยุธยานิยมสร้างฐานและสันหลังคาเป็นเส้นอ่อนโค้ง
สำหรับประติมากรรมที่สำคัญ คือ พระพุทธรูป ระยะแรกพระพักตร์เป็นรูปเหลี่ยมตามแบบศิลปะลพบุรีและอู่ทอง
ต่อมามีพระพักตร์เป็นรูปไข่ตามแบบอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย
แล้วเปลี่ยนเป็นพระพักตร์กลมป้อม อั้นเป็นศิลปะอยุธยาในที่สุด
ในช่วงปลายสมัยอยุธยา เกิดคติการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง สวมมงกุฏ และเครื่องประดับแบบกษัตริย์ ซึ่งกลายมาเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของศิลปะอยุธยา ะพุทธรูปทรงเครื่อง มีทั้งทรงเครื่องใหญ่และทรงเครื่องน้อย
 
เครื่องทรงของพระพุทธรูป มักจะพบเป็นลวดลายกนกมีการเว้นห่างช่องไฟ มีความโปร่ง นิ้วพระหัตถ์สวมพระธำมรงค์เกือบครบทุกนิ้ว มงกุฎไม่สูงแหลมเท่าในสมัยรัตนโกสินทร์
คติความเชื่อการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องมีหลายคติ บ้างก็ว่ามาจากตอนที่พระพุทธเจ้าแสดงปาฏิหาริย์ที่เวฬุวัน บ้างก็ว่าสร้างเพื่อเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์แทนองค์กษัตริย์ บางความเชื่อก็ว่าถ้าพระพุทธเจ้าไม่ทรงผนวชก็จะเป็นองค์จักรพรรดิ
ด้านงานประณีตศิลป์ในสมัยอยุธยา .. งานช่างทุกแขนงมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก จะเห็นได้จากเครื่องทองสมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่งขุดได้มาจากกรุวัดราษฎร์บูรณะ และวัดมหาธาตุ
งานแกะสลัก เช่นบานประตูวิหาร หรือพระอุโบสถ ตู่พระธรรมลายรดน้ำ เครื่องมุก งานประดับกระจก ฯลฯ ซึ่งแม้อยุธยาจะสิ้นสุดลง ทว่าความวิจิตรบรรจง และความเชี่ยวชาญงานประณีตศิลป์ ต่างสืบทอดมายังกรุงรัตนโกสินทร์
ธรรมาสน์ศิลปะอยุธยาจากวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี ... สร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 เป็นอีกชิ้นไฮไลต์ที่แสดงฝีมือช่างศิลปะชั้นสูงในสมัยอยุธยา “ฐานโค้ง หลังคาแอ่นเป็นปราสาทซ้อนเป็นชั้น ๆ และเสาที่สอบขึ้นให้ความรู้สึกอ่อนช้อย เหล่านี้แสดงถึงสุนทรียะเชิงช่างชั้นสูง”
ธรรมมาสน์ยาว วัดใหญ่สุวรรณาราม .. พิพิธภัณฑ์แห่งชาติพระนคร (รายละเอียดที่เคยเขียนบทความไปแล้ว)
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา