31 ธ.ค. 2021 เวลา 02:00 • ท่องเที่ยว
มรดกงานประณีตศิลป์ สมัยอยุธยา .. ตู้พระธรรม
งานประณีตศิลป์ หมายถึง งานศิลปกรรมที่สร้างขึ้นอย่างประณีตบรรจง งดงามด้วยฝีมือ โดยให้ความสำคัญกับคุณค่าความงามมากกว่าประโยชน์ใช้สอย ส่วนใหญ่สร้างขึ้นเพื่อรับใช้ศาสนา และราชสำนัก
ในช่วงเวลาของอยุธยา เป็นช่วงที่งานประณีตศิลป์มีความรุ่งเรืองมากที่สุดสมัยหนึ่ง งานประณีตศิลป์สมัยอยุธยาเกิดจากการสืบทอดความรู้ และฝีมือของช่างรุ่นต่อรุ่น ทำให้มีทั้งความงาม และเอกลักษณ์เฉพาะตัว .. ซึ่งมีหลายอย่าง ทั้งงานโลหะ งานไม้จำหลัก งานประดับกระจก งานประดับมุก งานลงรักปิด และงานปูนปั้น
ทั้งนี้ .. การสร้างสรรค์งานประณีตศิลป์ต่างๆ อาจใช้หลายกรรมวิธีผสมผสานกัน เพื่อให้เกิดความสวยงามเป็นพิเศษ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานานุศักดิ์ของผู้สร้างถวายหรือผู้ใช้สอย เช่น เครื่องไม้จำหลักปิดทองประดับกระจก เป็นงานประณีตศิลป์ระดับสูงสุด ใช้เฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ หรือพระมหากษัตริย์สร้างถวายเนื่องในพระพุทธศาสนา เช่น เรือพระที่นั่ง ราชรถ ราชยาน เป็นต้น
ความภักดีต้อกษัตริย์ และความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ที่มีพระมหากษัตริย์ เป็นองค์อุปถัมภ์ ก่อให้เกิดงานประณีตศิลป์จำนวนมาก .. และแม้กรุงศรีอยุธยาจะไม่ได้เป็นราชธานีอีกต่อไป แต่ภูมิปัญญาของช่างศิปกรรมในราชสำนัก ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญของงานประณีตศิลป์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ตู้พระธรรม ในห้องจัดแสดงอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
ตู้พระธรรมสร้างขึ้นเพื่อเก็บรักษาคัมภีร์พระไตรปิฎกและคัมภีร์อื่นๆ ที่จารลงในใบลาน ตู้พระธรรมเหล่านี้แต่เดิมอยู่ใน “หอไตร” ตามอารามต่างๆ .. ตู้พระธรรมลายรดน้ำ และตู้พระธรรมไม้ลงรักปิดทองประดับกระจก ซึ่งแต่ละใบล้วนสร้างด้วยเทคนิคและลวดลายที่แตกต่างกัน
ลวดลายอันอ่อนช้อยที่ปรากฏบนตู้พระไตรปิฎกเป็นงานศิลปะไทยของช่างศิลป์โบราณ อันเกิดจากขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อที่บ่มเพาะสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่สมัยอาณาจักรโบราณต่าง ๆ ผสานสอดแทรกกับวิถีชีวิตแห่งไทยที่ผูกพันใกล้ชิดกับธรรมชาติด้วยเป็นสังคมเกษตรกรรม และความเชื่อมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจมาช้านานจนก่อเกิดเป็นงานศิลป์ที่มีรูปแบบเฉพาะ กลายเป็นความงามอย่างลงตัวทางสุนทรียภาพบนพื้นฐานวิถีแห่งไทย วิถีแห่งธรรม ที่ยังความภาคภูมิใจของคนในชาติมาจนถึงปัจจุบัน
ความเป็นมาของลายรดน้ำ
“ลายรดน้ำ” เป็นงานหัตถศิลป์ชั้นสูงอย่างหนึ่งของไทย จัดอยู่ในงาน “ช่างรัก” อันเป็นสาขาหนึ่งของช่างสิบหมู่ ลักษณะของลายรดน้ำเป็นการทำลวดลายหรือภาพปิดด้วยแผ่นทองคำเปลวบนพื้นรักสีดำหรือสีแดง สำหรับตกแต่งสิ่งของเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้ หนังหรือไม้ไผ่สาน เป็นต้น
นอกจากภาชนะต่างๆ แล้วยังมีการทำลายรดน้ำเพื่อตกแต่งส่วนประกอบของอาคาร เช่น บานประตู หน้าต่าง ลับแล ตลอดจนฝาผนังที่ทำด้วยไม้ ฝาผนังอาคารที่ตกแต่งด้วยลายรดน้ำนั้น ยังเหลือร่องรอยหลักฐานการสร้างงานประเภทนี้อยู่ในที่ต่างๆ เช่น หอเขียนวังสวนผักกาด กรุงเทพมหานคร พระตำหนักทอง วัดไทร เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครและหอไตรวัดสิงห์ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ศิลปะลายรดน้ำของไทยเจริญสูงสุดในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ จนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓
พระธรรมลายรดน้ำฝีมือครูวัดเซิงหวาย .. เดิมอยู่ที่วัดนางนอง ธนบุรี แต่ไม่ทราบปีที่นำมาเก็บรักษาไว้ยังหอพระสมุดวชิรญาณ สันนิษฐานว่าน่าจะนำมาก่อนพุทธศักราช ๒๔๕๔ เพราะปรากฏเรื่องเกี่ยวกับตู้หลังนี้ในหนังสือ “ประตูใหม่” ฉบับวันที่ ๑ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๙ มีผู้แต่งบทศักรวากล่าวถึงตู้ลายรดน้ำฝีมือครูวัดเซิงหวาย ซึ่งตั้งแสดงให้ประชาชนชมที่หอพระสมุดวชิรญาณ ว่า
ศักรวาตู้ทองจำลองลาย วัดเซิงหวายลือดังครั้งกรุงศรี
อายุนานไม่น้อยนับร้อยปี ราวสามสี่ล่วงแล้วเกือบแคล้วชม
บุญดำรงทรงราษฎร์ศาสนา จึงค้นคว้าของเก่าเข้าสะสม
ตั้งเรียงรายหอสมุดสุดนิยม มีเงินถมสองร้อยชั่งอย่าหวังเลย
ศักรวาตู้ทองวัดเซิงหวาย แลลวดลายดูเด่นเหมือนเส้นเหลา
และอีกบทศักรวา ว่าไว้ว่า ..
สิงหราลดาดอกออกพรายเพรา ปักษาเจ่าจับจิกผกากิน
พฤกษาสูงใบเสียดประสานก้าน รอกทะยานเหยียบนกก็ผกผิน
แลแมลงแฝงเกสรภมรบิน ลายงามสิ้นดังเจียนทองมาทาบเอย
ตู้พระธรรมวัดเชิงหวาย .. ตู้นี้มีลวดลายรดน้ำปิดทองประณีตงดงามและเป็นหนึ่งใน 9 รายการของโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ควบคุมการทำเทียมและได้รับการยกย่องว่าเป็นตู้พระธรรมที่งดงามที่สุดในประเทศไทย
ตู้พระธรรมชิ้นนี้ .. เป็นฝีมือของสกุลช่างวัดเชิงหวายในสมัยอยุธยาตอนปลาย สันนิษฐานว่าน่าจะช่วงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23-24 ซึ่งถือเป็นยุคทองของศิลปะไทย และเป็นหนึ่งในโบราณวัตถุชิ้นเอกของกรุงศรีอยุธยา อาณาจักรที่มีความรุ่งเรืองทางการเมืองการปกครอง ความเจริญทางเศรษฐกิจในฐานะเมืองท่าของภูมิภาคเอเชีย และความรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนาในช่วงอายุ 417 ปี นับจากการสถาปนาเมื่อ พ.ศ.1893
ลายรดน้ำบนตู้พระธรรมตกแต่งด้วยลายกนกเปลวที่มีความอ่อนช้อยและซ้อนทับกันอย่างวิจิตร ... ความงดงามของลวดลายสามารถกล่าวได้ว่าเป็นแบบฉบับของลายกระหนกที่สวยงามที่สุด เพราะนอกจากลายเส้นที่คมชัด กระหนกที่อ่อนช้อย และความพลิ้วไหวของปลายลวดลายกระหนกประดุจเปลวเพลิงต้องลมแล้ว ยังมีภาพสัตว์จำพวกสรรพสัตว์นานาชนิดที่อาศัยในร่มเงาต้นไม้ใหญ่ และตามกิ่งก้านของเถากระหนก ด้วยท่าทางที่แสดงอาการเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติ มีชีวิตชีวาสอดคล้องกลมกลืนไปกับความพลิ้วไหวของลายกระหนกได้อย่างลงตัว
อัจฉริยภาพเชิงช่างของครูศิลป์แต่โบราณ .. สามารถจำลองถึงความอุดมสมบูรณ์ของกรุงศรีอยุธยา ความสงบสุขของบ้านเมืองที่ทำให้ช่างศิลปะสามารถรังสรรค์ผลงานชิ้นเอกให้มีความงดงามด้วยลายกนกเปลวที่อ่อนช้อย สมกับเป็นศิลปะชิ้นเอกแห่งกรุงศรีอยุธยาจริงๆ
ความงามของลายรดน้ำวัดเชิงหวายอยู่ที่การวางจังหวะช่องไฟ เส้นสายอิสระ สอดประสานกับภาพสิงสาราสัตว์ในท่วงท่าต่างๆ ทำให้ภาพดูเคลื่อนไหวงามแปลกตา ได้รับยกย่องในฐานะงานชั้นเลิศของศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย และนับเป็นแบบแผนลายเก่าแก่ที่สุดลายหนึ่งในประวัติศาสตร์
ตู้พระธรรมขาหมู ลายรดน้ำ วาดลวดลายเรื่องรามเกียรติ์
ลวดลายสมัยอยุธยามีความอ่อนช้อย ปลายพลิ้วแสดงถึงความมีอิสระของช่างไทยที่แสดงฝีมือได้อย่างเต็มที่โดยไม่ถูกจำกัดด้วยรูปแบบต้นร่าง ลวดลายและองค์ประกอบบนตู้พระไตรปิฎกจึงมีทั้งที่เป็นรูปแบบเดียวกันและแตกต่างกัน แต่สอดคล้องลงตัวอย่างพอเหมาะงดงาม
ลวดลายกนกเครือเถาวัลย์มีความอ่อนช้อย กลมกลืนและซ้อนทับกันอย่างวิจิตร มีสิงสาราสัตว์แทรกอยู่ตามลายกนก ถือเป็นตู้ครูของผู้เรียนจิตรกรรมไทย ฝีมือช่างสมัยอยุธยานั้นวาดเส้นกนกได้อ่อนช้อยและเคลื่อนไหว การวางลายไม่มีกฎเกณฑ์แต่เป็นไปตามจินตนาการของช่าง จังหวะกนกจึงไม่ซ้ำกัน
ตู้พระธรรมลายกำมะลอ .. เขียนภาพรามเกียรติ์ และป่าหิมพานต์ ด้านหลังเป็นภาพทวารบาล ศิลปะอยุธยา สร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21-22
“กำมะลอ” เป็นลายประณีตศิลป์อีกแขนงหนึ่งที่ปรากฏบนตู้พระธรรม ซึ่ง น. ณ ปากน้ำ กล่าวไว้ในพจนานุกรมศิลปะว่า “ลายกำมะลอ คือ ลายทองรดน้ำ แล้วเอารักผสมสีฝุ่นและชาดระบายผสมลงไปกับลายทองบนผนังที่ลงพื้นรักไว้ ทำให้เกิดภาพสวยงามมากมักนิยมทำกับตู้พระไตรปิฎกและเครื่องใช้ไม้สอยเล็ก ๆ เช่น ตะลุ่มและพาน เป็นต้น”
สันนิษฐานว่า ลายกำมะลอมีมาตั้งแต่ครั้งปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยรับอิทธิพลจากศิลปะจีน สาเหตุที่ทำให้ลายกำมะลอเป็นที่ยอมรับอาจเป็นเพราะแต่เดิมคนไทยรู้จักเพียงลายรดน้ำที่มีเพียงสีทองบนพื้นสีดำหรือแดงแต่เพียงอย่างเดียว
จึงนำจิตรกรรมจีนที่สีสันหลากหลายแปลกตามาประยุกต์ตามอุดมคติไทย ลวดลายประดิษฐ์ตามอย่างแบบจีนแบบเดิม เช่น ภาพเซี่ยวกางยืนบนสิงโตจีน ลายดอกโบตั๋น ได้รับการพัฒนาผสมผสานตามอุดมคติแบบไทย อาทิ ภาพกินรา กินรี ตัวนรสิงห์ ลวดลายกระหนก เปลวหางกินรี ดังที่ปรากฏอยู่บนตู้พระธรรม เป็นต้น
ลายเขียนสีกำมะลอนี้มีความสวยงามมาก มีสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ รวมถึงยังเป็นงานประณีตศิลป์ที่พบเจอได้ยาก
“ตู้ลายทอง” .. เป็นตู้พระไตรปิฎกที่ตกแต่งด้วยลายรดน้ำ ลงรักปิดทองทั้งตู้ เป็นงานศิลปะไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น คือ เป็นภาพที่ใช้สีเพียง ๒ สี คือ สีทองของทองคำและสีดำของยางรัก หรือบางครั้งเป็นสีทองบนพื้นหลังสีแดง ไม่ปรากฏหลักฐานระบุแน่ชัดว่าสังคมไทยเริ่มเขียนลายรดน้ำนี้ขึ้นเมื่อใด
ลวดลายของตู้ลายทองในสมัยอยุธยามีความอ่อนช้อย ปลายพลิ้วแสดงถึงความมีอิสระของช่างไทยที่แสดงฝีมือได้อย่างเต็มที่โดยไม่ถูกจำกัดด้วยรูปแบบต้นร่าง ลวดลายและองค์ประกอบบนตู้พระไตรปิฎกจึงมีทั้งที่เป็นรูปแบบเดียวกันและแตกต่างกัน แต่สอดคล้องลงตัวอย่างพอเหมาะงดงาม
ศิลปินนิยมเขียนลายเต็มพื้นที่ ความงดงามดังกล่าวบอกเล่าสะท้อนถึงสังคมที่อยู่ดีมีสุข และจิตใจอันอ่อนโยนของผู้คนในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี
ตู้พระธรรมไม้จำหลักภาพเล่าเรื่องชาดก ..
ไม้จำหลักลงรักปิดทองล่องชาดประดับกระจก ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 24 ..
เดิมอยู่ที่วัดค้างคาว จ.นนทบุรี ตู้ใบนี้มีขนาดใหญ่มาก ต้องแหงนหน้าดูกันเลยทีเดียว ที่แปลกคือเปิดได้สองด้าน
อีกด้านหนึ่งเป็นตู้บานกระจก สันนิษฐานว่าดัดแปลงทำขึ้นภายหลัง แต่ลายจำหลักบนตู้ทั้งสามด้านนั้นสวยมากจนละสายตาไม่ลง
หีบพระธรรม
หีบพระธรรม หรือ หีบธรรม เป็นหนึ่งในเครื่องสักการะในพระพุทธศาสนา ที่สร้างขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเก็บรักษาคัมภีร์ใบลานที่บันทึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า .. หีบพระธรรมส่วนใหญ่มักจะตกแต่งลวดลายบอกเล่าเรื่องราวชาดกหรือคติทางพระพุทธศาสนาอย่างประณีตบรรจง
ศิลปกรรมอยุธยา ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๓ ปัจจุบันหีบพระธรรม ลายรดน้ำ จัดแสดงในห้องประวัติศาสตร์และโบราณคดีอยุธยา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
หีบพระธรรม ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เขียนลายรดน้ำทั้งสี่ด้านตลอดทั้งใบ ลายในช่องกระจกของตัวหีบทั้ง ๔ ด้านเขียนพื้นหลังด้วยลายพันธุ์พฤกษาและโขดหินมีสัตว์ต่างๆ แสดงป่าหิมพานต์ ลายในช่องกระจกเล็กๆ ๑๒ ช่องของฝาหีบ มีรูปสัตว์ประจำปีนักษัตรรูปละช่องเรียงกันไป ดังนี้ ด้านหน้า ๔ ช่อง ได้แก่ ชวด (หนู) ฉลู (โค/วัว) ขาล (เสือ) เถาะ (กระต่าย) ด้านข้างซ้าย ๒ ช่อง ได้แก่ มะโรง (งูใหญ่) มะเส็ง (งูเล็ก) ด้านหลัง ๔ ช่อง ได้แก่ มะเมีย (ม้า) มะแม (แพะ) วอก (ลิง) ระกา (ไก่) ด้านข้างขวา ๒ ช่อง ได้แก่ จอ (สุนัข/หมา) กุน (หมู)
ธรรมเนียมการใช้ปีนักษัตร สัตว์ทั้ง ๑๒ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำแต่ละปี มาจากจีนโบราณ และเป็นที่รู้จักในพื้นที่สุวรรณภูมิ แต่เรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ในศิลาจารึกเขมร ปรากฏหลักฐานการใช้ปีนักษัตรมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ (๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว)
ยังมีโบราณวัตถุอีกหลายชิ้นที่ไม่ได้เขียนถึง หากสนใจสามารถไปชมงานศิลปะล้ำค่าของชาติแต่ละชิ้นที่สร้างขึ้นด้วย ฝีมือ แรงกายใจ แรงศรัทธา ของบรรพชนในแต่ละยุคสมัยได้ค่ะ ...
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา