4 ม.ค. 2022 เวลา 11:19 • คริปโทเคอร์เรนซี
“ระบบเศรษฐกิจ” นั้นเป็นสิ่งที่ซับซ้อน มันมีองค์ประกอบหลากหลายเกินจะนับไหว แถมกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆส่งผลกระทบต่อกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจต่างก็ต้องคำนวณ วางแผน และตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนกับคนอื่น และกับตัวเองในอนาคตด้วยเช่นกัน
เราทุกคนต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจที่เราอยู่ เราต้องเผชิญการตัดสินใจทางเศรษฐศาตร์นับครั้งไม่ถ้วนอยู่เสมอ
ในฐานะผู้บริโภค เราต้องคิดเรื่องการใช้เงิน การเก็บออม การลงทุนส่วนตัว ฯลฯ ในฐานะผู้ประกอบการ เราก็ต้องคิดเรื่องการเงินของธุรกิจ การลงทุนขยายกิจการ แผนภาษี ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ดูเป็นเรื่องซับซ้อนและน่าปวดหัว แต่จริงๆแล้วทุกการวางแผนและการตัดสินใจ มีปัจจัยสำคัญอย่างเดียวกันเลยนั่นคือ ราคา
“ราคา” เป็นสิ่งที่สะท้อนมูลค่าของสิ่งต่างๆ มันถูกกำหนดมาจากการกลั่นเอาทุกการตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์มาอยู่ในตัวมันแล้ว
ในระบบเศรษฐกิจอันซับซ้อน ราคาจึงเป็นเหมือนความรู้และสัญญาณที่ใช้ในการสื่อสารข้อมูลระหว่างกัน เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น และราคาจะทำงานได้ดีที่สุด ในสภาพแวดล้อมของระบบ “ตลาดเสรี”
บทนี้จะไปทำความเข้าใจเรื่องความสำคัญของราคา และกลไกตลาดเสรี และอธิบายให้เห็นภาพความวายป่วงของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ไปเริ่มกันเลยครับ
📌ตลาดเสรี vs ตลาดควบคุม
นักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อในตลาดควบคุม จะเชื่อนิยามว่าเศรษฐศาสตร์ คือ “การจัดสรรทรัพยากรตามหลักการทางเศรษฐกิจ” ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อในตลาดเสรี นิยามเศรษฐศาสตร์ว่า “การจัดสรรทรัพยาการโดยอาศัยข้อมูลความรู้ที่จำกัด”
ลัทธิตลาดควบคุมเชื่อว่าคนเราสามารถ “บริหารจัดการ” เศรษฐกิจได้ ส่วนลัทธิตลาดเสรีเชื่อว่า กลไกตลาดสามารถจัดการตัวเองได้ และไม่ควรมีมนุษย์หน้าไหนที่คิดว่าตัวเองเก่งพอจะควบคุมเศรษฐกิจ
ในความจริงแล้วมนุษย์มีข้อจำกัดอยู่แล้ว ไม่มีใครสามารถรวบรวมข้อมูลในทุกอณูของระบบเศรษฐกิจ และวางแผนและตัดสินใจได้อย่างเฉียบขาดเพื่อให้ทุกฝ่ายพึงพอใจได้
และถ้าหากบังเอิญมีมนุษย์ที่สุดยอดขนาดนั้น เราทุกคนที่เหลือจะเชื่อใจเขาได้อย่างไรว่าเขาทำเพื่อผลประโยชน์ของสังคมจริงๆ ไม่ใช่เพื่อตัวเองหรือพวกพ้อง
ดังนั้น ผู้คนที่เชื่อในตลาดเสรีจึงเชื่อในการทำงานของกลไกตลาด ปล่อยให้ราคาได้ทำหน้าที่ของมัน เพราะราคาคือระบบสื่อสารที่มีประสิทธิภาพที่สุดของระบบเศรษฐกิจ
1
ลองดูตัวอย่างจริงเพื่อความเข้าใจครับ ตอนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศชิลีในปี 2010 ซึ่งส่งผลให้เหมืองทองแดงเสียหายมาก ในตอนนั้นราคาทองแดงพุ่งขึ้น 6.2%
ภายใต้ตลาดเสรี การที่ทองแดงราคาแพงขึ้น ก็จะส่งผลให้ทุกบริษัทที่จะใช้ทองแดง ชะลอการซื้อทองแดงที่ไม่จำเป็นในระยะสั้นลง และมันจะทำให้ผู้ผลิตทองแดงในส่วนอื่นๆของโลก มีแรงจูงใจที่จะผลิตมากขึ้น
เพียงการเพิ่มขึ้นของราคา ผู้คนที่เกี่ยวข้องก็สามารถตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์ได้เลย โดยไม่ต้องรับรู้ข่าวแผ่นดินไหวด้วยซ้ำ เพราะข้อมูลนั้นมันสะท้อนอยู่ในราคาแล้ว เมื่ออุปสงค์และอุปทานปรับตัวอย่างเสรี เพียงไม่กี่วันราคาทองแดงก็จะกลับมาอยู่ในระดับปกติ ผลกระทบจากแผ่นดินไหวก็แทบไม่เหลือ
กลับกัน หากทองแดงอยู่ภายใต้ตลาดควบคุม ราคาจะไม่สามารถทำงานได้ ผู้บริหารจัดการเศรษฐกิจจากส่วนกลางจำเป็นต้องตอบสนองเหตุการณ์นี้ด้วยตัวเอง
เขาต้องกำหนดว่าบริษัทไหนควรซื้อทองแดงน้อยลง และกำหนดว่าผู้ผลิตรายไหนต้องเร่งผลิตทองแดงมากขึ้น แถมต้องกำหนดปริมาณ demand&supply เองด้วย แน่นอนว่าไม่มีใครฉลาดพอจะทำแบบนั้นได้ และผลกระทบของเหตุการณ์นี้ก็น่าจะอยู่ไปอีกนาน
ตัวอย่างสุดโต่งของตลาดควบคุมอาจเป็น “ระบบสังคมนิยม” ซึ่งมีให้เห็นในประวัติศาสตร์อยู่เรื่อยมา และผลลัพธ์ของมันก็คือเศรษฐกิจที่พังพินาศและด้อยพัฒนา
ในระบบสังคมนิยม รัฐเป็นเจ้าของและผู้ควบคุมการผลิตทั้งหมด ทำให้รัฐกลายเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขายรายเดียวในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้กลไกราคาไม่อาจทำงานได้
เมื่อไม่มีราคาที่สะท้อนถึงค่าเสียโอกาสในการตัดสินใจ รัฐจึงไม่มีทางจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รัฐจะรู้ได้อย่างไรว่าทรัพยากรเหล็กที่มีอยู่จะเอาไปสร้างรถไฟหรือรถยนต์ จะรู้ได้อย่างไรว่าจะใช้เงินทุนอย่างไรเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม
นอกจากนี้ รัฐในระบบสังคมนิยมไม่มีทางคิดเผื่อเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นได้ และจะไม่จัดสรรเงินทุนและปัจจัยการผลิตเพื่อสร้างมันขึ้นมา ระบบแบบนี้จึงเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ
มีประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม และล่มสลายไปมากมาย มันเป็นเรื่องที่ชี้ชัดว่าระบบนี้ล้มเหลวในการคำนวณและวางแผนทางเศรษฐกิจ และการจัดการของมนุษย์นั้นแย่กว่ากลไกราคาแน่นอน
แน่นอนว่าในปัจจุบัน เราต่างรู้ดีว่าระบบสังคมนิยมนั้นล้มเหลวไปแล้ว ประเด็นที่อธิบายเรื่องนี้ไม่ใช่เพื่อโต้แย้งต่อระบบสังคมนิยม แต่เป็นการโต้แย้งต่อการบริหารจัดการของมนุษย์
แม้ประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้มีหน่วยงานวางแผนการผลิตจากส่วนกลางแบบสังคมนิยม แต่แทบทุกประเทศกลับมีหน่วยงานวางแผนควบคุมตลาดที่สำคัญที่สุด ซึ่งก็คือตลาดทุนนั่นเอง
📌วัฏจักรธุรกิจและวิกฤตการเงิน
ว่าด้วยตลาดทุน ราคาของเงินก็คือ “ดอกเบี้ย” นั่นเอง เมื่อเราขายเงินออมที่เรามีให้คนอื่นเราก็ได้ดอกเบี้ยเป็นการตอบแทน ส่วนคนกู้เงินก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นราคาของเงินนั้น
ในตลาดเสรี ปริมาณเงินทุนจะถูกกำหนดโดยทุกคนในตลาดที่ตัดสินใจให้กู้โดยอ้างอิงจากอัตราดอกเบี้ย แต่ในทุกวันนี้อุปทานของเงินและอัตราดอกเบี้ยกลับถูกกำหนดโดยคนไม่กี่คน ซึ่งอาจเป็นนักการเมือง นายธนาคารที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของนายทุน หรือแม้กระทั่งนายทหาร
1
ซึ่งโดยทั่วไปธนาคารกลางก็จะมีความพยายามที่จะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ พวกเขาเลยชอบที่จะสร้างอุปทานเงินเพิ่มขึ้น และปรับอัตราดอกเบี้ยลดลง
การฝืนธรรมชาติโดยกดดอกเบี้ยให้ต่ำและพิมพ์เงินเพิ่มนี้ มันส่งผลให้ปริมาณเงินออมกับอุปทานเงินกู้ยืมไม่สัมพันธ์กัน อย่างที่ควรจะเป็น
ในความเป็นจริงแล้ว ค่าเสียโอกาสของเงินทุนคือการบริโภคที่หายไป และค่าเสียโอกาสของการบริโภคก็คือเงินสำหรับการลงทุนที่หายไป ดอกเบี้ยคือราคาที่กำหนดความสัมพันธ์ของสองสิ่งนี้
ปริมาณเงินทุนที่ไม่ได้มาจากการชะลอการบริโภคที่แท้จริง และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำผิดธรรมชาติจะทำให้เกิดความบิดเบือนทางราคา
มันจะล่อลวงให้ผู้ผลิตสินค้ากู้ยืมเงินมาด้วยความเพ้อฝันว่าเงินนั้นจะเพียงพอต่อการสร้างธุรกิจให้ยั่งยืนได้ แต่เมื่อผู้ผลิตมากมายต่างแก่งแย่งทรัพยากรกันอย่างดุเดือด ต้นทุนในการผลิตจึงสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อเวลาผ่านไปความจริงก็จะปรากฏ ว่าของฟรีไม่มีในโลก ภาพลวงตาของการควบคุมตลาดไม่อาจอยู่ได้ตลอดไป โครงการลงทุนต่างๆจะไม่สามารถทำกำไรได้ และต้องล่มสลายอย่างพร้อมเพรียงกัน
กระบวนการนี้เรียกว่า “การลงทุนที่ผิดพลาด” (Malinvestment) ซึ่งจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีการบิดเบือนตลาดทุน
มันกลายเป็นการผลาญเงินอย่างไร้ประโยชน์ ในขณะเดียวกัน การยับยั้งโครงการเหล่านี้ก็จะทำให้เกิดการว่างงาน และการชะลอของเศรษฐกิจอย่างไม่พึงประสงค์ หรือที่เรียกว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)
การควบคุมตลาดทุนนี้เองที่เป็นต้นเหตุของ วัฏจักรธุรกิจที่รุนแรง (Boom-and-bust cycle) มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และนับวันมันก็ยิ่งรุนแรงและถี่ขึ้นเรื่อยๆ
1
เพื่ออธิบายให้เห็นภาพ ลองมาดูตัวอย่างนี้กัน สมมติว่าการสร้างบ้าน 1 หลังต้องใช้อิฐ 10,000 ก้อน การสร้างบ้าน 100 หลังจำเป็นต้องใช้อิฐล้านก้อน
แต่ผู้รับเหมาที่ชื่อว่าธนาคารกลางกลับเสนอว่า จะสร้างบ้าน 120 หลังด้วยอิฐ 800,000 ก้อน แน่นอนว่านักพัฒนาต้องพอใจกับความมหัศจรรย์นี้
แต่กลอุบายนี้ไม่สามารถคงอยู่ตลอดไป อิฐ 800,000 ก้อนนั้นเพียงพอสำหรับการเริ่มสร้างบ้าน แต่ไม่พอที่จะสร้างเสร็จ ในวันที่เงินหมดลงและความจริงปรากฏ สุดท้ายจะเหลือไว้เพียงกองก้อนอิฐ 120 กองเท่านั้น โดยไม่สามารถส่งมอบบ้านได้แม้แต่หลังเดียว
ตั้งแต่ปี 1914 ที่มีการก่อตั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ก็มีวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา และมันก็ยิ่งเป็นข้ออ้างที่จะแทรกแซงเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นไปอีก
การให้ธนาคารกลางมาทำหน้าที่ควบคุมเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเศรษฐศาสตร์เคนเซียนนั้น เปรียบเสมือนการให้นักวางเพลิงมาทำหน้าที่เป็นนักดับเพลิง
ในปัจจุบัน ทั้งเรื่อง Boom-and-bust cycle การคุมอัตราดอกเบี้ย การพิมพ์เงิน กลับกลายเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนชินชา และคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ทั้งๆที่ต้นเหตุของปัญหาทั้งหมดมันเกิดจากการควบคุมตลาดทุนตั้งแต่ต้น
การขยายตัวของเงินสร้างภาพลวงตาของความมั่งคั่ง ที่นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรผิดพลาดและการล่มของเศรษฐกิจ มันเหมือนเป็นการสร้างปราสาทด้วยไพ่ เพื่อรอวันที่จะล้ม
สักวันหนึ่งเราต้องกลับสู่ความเป็นจริง ภาพลวงตานี้จำเป็นต้องหายไปเพื่อปล่อยให้ตลาดทุนเสรีได้ทำหน้าที่อย่างที่ควร
📌การค้าระหว่างประเทศ
การค้าเสรีที่แท้จริงบนพื้นฐานเงินที่มั่นคง สินค้าและเงินทุนไหลเข้าออกระหว่างประเทศได้อย่างเสรี ภายใต้ข้อตกลงของเจ้าของเงินและสินค้านั้นๆ มันเป็นการค้าของคนสองฝ่ายจริงๆ
แต่ทุกวันนี้ การค้าที่ตั้งอยู่บนเงินรัฐบาลของแต่ละประเทศ การค้าขายข้ามพรมแดนไม่ได้เกิดบนข้อตกลงของผู้ซื้อและผู้ขาย แต่เป็นข้อตกลงของรัฐบาลทั้งสองประเทศ อธิปไตยทางการค้าถูกลิดรอนไปจากปัจเจกบุคคล
ในยุคมาตรฐานทองคำ สกุลเงินของแต่ละประเทศเป็นเพียงการเปลี่ยนหน่วยของปริมาณทองคำเท่านั้น มันมีความเป็นสากล ทำให้การค้าขายสะดวกสบาย
แต่สกุลเงินรัฐบาลในปัจจุบันกลับไม่มีความเป็นสากล อุปทานที่ยืดหดได้ทำให้มูลค่าที่แท้จริงผันผวนอย่างคาดเดาไม่ได้ ซึ่งมันเป็นอุปสรรคอย่างมากสำหรับการค้าระหว่างประเทศ
1
ในโลกที่อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินคาดเดาไม่ได้ การทำธุรกิจที่สร้างผลผลิตที่มีคุณค่าจริงๆกลายเป็นเรื่องท้าทายโดยไม่จำเป็น
บริษัทที่มีความสามารถอาจต้องขาดทุน เพียงเพราะการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนที่เขาควบคุมไม่ได้ การคำนวณและวางแผนทางธุรกิจให้แม่นยำจึงเป็นเรื่องที่ยากเกินจินตนาการ
หลายประเทศพยายามเพิ่มปริมาณการส่งออก ด้วยการลดมูลค่าเงินของชาติตัวเอง เพียงเพื่อให้สินค้าส่งออกดูมีราคาถูกสำหรับชาวต่างชาติ
ทั้งๆที่การลดค่าเงินนี้ ไม่ได้เป็นการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันแต่อย่างใด มันเป็นแค่การลดราคาผลผลิตของคนในประเทศ โดยเสนอขายให้ชาวต่างชาติในราคาถูกๆ มันเป็นการสร้างความอับจนให้แก่คนในประเทศเท่านั้น
นอกจากนี้ การมีเงินที่ไม่เป็นสากลยังทำให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพที่ยิ่งใหญ่มาก ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีมูลค่าประมาณ 1,860 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี (ข้อมูลปี 2016)
ในขณะที่ GDP โลกอยู่ที่ประมาณ 75 ล้านล้านดอลลาร์ การแลกเปลี่ยนเงินตรานี้สูงกว่า GDP โลก 25 เท่า ซึ่งการแลกเปลี่ยนนี้ไม่ได้สร้างผลผลิตที่มีคุณค่าใดๆ มันเป็นเพียงการใช้จ่ายเพื่อก้าวข้ามความยากลำบากที่ไม่จำเป็น
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้ประโยชน์จากกระบวนการอันไร้ประสิทธิภาพนี้ก็คือเหล่าผู้ควบคุมนโยบายทางการเงินในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้สร้างตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศนั่นเอง และพวกเขายินดีที่จะให้ระบบนี้คงอยู่ต่อไป
หากเรามีเงินที่มั่นคง และการค้าเสรีที่แท้จริง ความวุ่นวายเหล่านี้จะไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเลย เหล่าผู้ผลิตสินค้าจะสามารถคำนวณต้นทุนและวางแผนธุรกิจได้อย่างแม่นยำ
เงินทุนและทรัพยากรจำนวนมากจะไหลเข้าสู่กระบวนการผลิตที่มีคุณค่า ผู้เล่นทุกคนในระบบเศรษฐกิจจะหันมาสร้างคุณประโยชน์ให้สังคม แทนที่จะมาแสวงหาความร่ำรวย ผ่านกระบวนการควบคุมและเก็งกำไรค่าเงินที่ไร้ประโยชน์
ระบบเศรษฐกิจทุกวันนี้กำลังวนเวียนอยู่กับความวุ่นวาย ไร้ประสิทธิภาพ และถูกควบคุมมาอย่างยาวนาน หากอ่านมาถึงตรงนี้และเข้าใจความสำคัญของตลาดเสรี เงินที่มั่นคง และการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรีแล้วนะครับ นี่คือปัญหาสำคัญของโลก นี่คือปัญหาที่ Bitcoin กำลังพยายามจะแก้
ในบทหน้าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ความสำคัญของเงินที่มั่นคง และเสรีภาพทางการเงินของบุคคล (Financial sovereignity) ฝากติดตามกันต่อนะครับ
References
Saifedean Ammous (2017) The Bitcoin Standard

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา