1 ม.ค. 2022 เวลา 07:08 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
วิทยาศาสตร์กับดอกพญาสัตบรรณ สรุปแล้วกลิ่นหอมหรือเหม็นกันแน่????
สวัสดีปีใหม่ครับทุกคน ในทุกปีช่วงเวลานี้เป็นเวลาแห่งความสุขของใครหลาย ๆ คน เพราะเป็นการได้ใช้เวลากับคนที่เรารัก บวกกับลมหนาวที่พัดพาความเย็นสบายมาเป็นประจำทุกปี ฟังดูเป็นอะไรที่น่ารักและโรแมนติกดีไม่น้อยเลยนะครับ แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องพบเจอกับสิ่งไม่พึงประสงค์ที่มาพร้อมกับลมหนาว นั่นคือ "กลิ่นของดอกพญาสัตบรรณหรือดอกตีนเป็ด" ตามที่เป็นข่าวกันทุกปี ถึงขั้นว่ามีการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาตัด โค่น ออกไปจากพื้นที่ เนื่องจากกลิ่นของมันรบกวนการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่รวมถึงทำลายบรรยากาศดีที่เขาจะใช้ในช่วงเทศกาลพิเศษนี้
ดอกพญาสัตบรรณหรือดอกตีนเป็ด
แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ออกมาปกป้องต้นพญาสัตบรรณหรือต้นตีนเป็ด พวกเขาให้เหตุผลว่ากลิ่นของดอกตีนเป็ดนั้นหอม แล้วพวกเขาชอบกลิ่นเฉพาะของมันมาก จนเกิดเป็น #saveต้นตีนเป็ด ที่ได้มีการถกเถียงในโลกออนไลน์กันอยู่ช่วงนึง มาถึงตรงนี้ทุกคนคงสงสัยว่า สรุปดอกตีนเป็ดหรือพญาสัตบรรณ หอมหรือเหม็นกันแน่?
ขอบคุณภาพจาก Chiang Mai News
ก่อนอื่นผมต้องขอพูดถึงเรื่องกลิ่นของดอกพญาสัตบรรณกันก่อนนะครับ โดยสิ่งที่เป็นสาเหตุของกลิ่นเฉพาะตัวของมันก็คือ "สารหอมระเหย" ซึ่งภายในดอกพญาสัตบรรณมีสารหอมระเหยหลายชนิด แต่ที่มีมากและเป็นสาเหตุของกลิ่นเฉพาะของมันคือ "สารหอมระเหยในกลุ่มลินาโลออล (linalool)" ซึ่งมีสัดส่วนเฉลี่ย 37.5% จากผลการวิจัยพบว่าโมเลกุลของสารระเหยนี้มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของสมอง ส่งผลทำให้เกิดอาการปวดหัว อีกทั้งยังกระตุ้นความอยากอาเจียนของผู้ที่แพ้กลิ่นสารจำพวกนี้
สารระเหยในดอกพญาสัตบรรณสาดเหตุของกลิ่นเฉพาะตัว
แล้วที่นี้ทำไมถึงมีทั้งคนชอบและไม่ชอบกลิ่นเฉพาะนี้??
อาจจะเป็นเรื่องของรสนิยมหรือป่าว?
ก็ถูกส่วนหนึ่งครับ แต่ถ้าจะให้อธิบายในแง่ของวิทยาศาสตร์ สามารถอธิบายได้ด้วยระบบประสาทการรับรู้กลิ่นของสิ่งมีชีวิตครับ
การรับกลิ่น (Olfactory sensation) ถือเป็นประสาทสัมผัสแรกที่สิ่งมีชีวิตใช้กันเพื่อดำรงชีวิต กลิ่นทำให้สิ่งชีวิตตอบสนองด้วยท่าทีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความหิวและการหนีซึ่งก็ช่วยให้พวกเรามีชีวิตรอดมาถึงทุกวันนี้ เอาหล่ะครับเข้าเรื่องของเรากันดีกว่า การรับกลิ่น (Olfactory sensation) เกิดจากการที่เราสูดเอาโมเลกุลของกลิ่นนั้นเข้าไปในโพรงจมูก โดยภายในโพรงจมูกร้อยละ 95 มีหน้าที่ในการกรองสิ่งแปลกปลอมก่อนที่จะนำเข้าสู่ปอด แต่ที่ผนังโพรงจมูกด้านในสุดจะมีเนื้อเยื่อพิเศษที่เรียกว่า เยื่อบุรับกลิ่น (Olfactory Epithelium) ทำหน้าที่รับกลิ่น
เยื่อบุรับกลิ่น (Olfactory Epithelium)
เยื่อบุรับกลิ่น (Olfactory Epithelium) เป็นส่วนที่ช่วยในการรับกลิ่นของสิ่งมีชีวิต โดยมีผลการวิจัยพบว่าสิ่งมีชีวิตที่มีเนื่อเยื่อชนิดนี้มากมีโอกาสที่จะรับกลิ่นได้ดี ยกตัวอย่างเช่น สุนัขมีขนาดของเยื่อบุรับกลิ่นใหญ่กว่าของมนุษย์ 20 เท่า นั่นจึงทำให้พวกมันสามารถรับรู้กลิ่นได้ดีกว่ามนุษย์ทั่ว ๆ ไป
กลไกการทำงานของเยื่อบุรับกลิ่น (Olfactory Epithelium) คือ เมื่อเราหายใจเข้า โมเลกุลของสารหอมระเหยจะลอยเข้ามาติดกับเมือก (Mucus) ที่บริเวณเยื่อบุรับกลิ่น พอสารนั้นละลายในเมือก เยื่อบุรับกลิ่นจะส่งสัญญาณไปที่เซลล์รับกลิ่นที่มีอยู่ใต้เยื่อบุรับกลิ่น ก่อนจะลำเลียงข้อมูลส่งไปประมวลผลที่สมอง ซึ่งมีภายในสมองมีเซลล์รับกลิ่นมากกว่า 40 ล้านเซลล์ และแต่ละเซลล์มีความจำเพาะกับกลิ่นแต่ละแบบไม่เหมือนกัน
กลไกการรับกลิ่น
แต่มนุษย์ทุกคนมีการรับรู้กลิ่นที่ต่างกัน จากงานวิจัยจากวิทยาลัยสาธารณสุขฮาวาร์ด (Harvard School of Public Health) เผยว่าคนที่ได้กลิ่นฉุนของปัสสาวะหลังกินหน่อไม้ฝรั่งนั้นเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยที่มีเพียง 2 ใน 5 ของประชากร ขณะที่คนส่วนใหญ่นั้นไม่ได้กลิ่นดังกล่าว นั่นก็เป็นเรื่องที่ยืนยันได้ว่าทุกคนมีการรับกลิ่นไม่เท่ากัน และเป็นผลมาจากจำนวนของเซลล์ประสาทรับกลิ่นที่มีจำนวนมากน้อยแตกต่างกันไป
ความจำเพาะของเซลล์รับกลิ่นที่มีความสามารถในการรับกลิ่นเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น กลิ่นของดอกมะลิ อาจจะรับรู้ได้ด้วยเซลล์ A ส่วนกลิ่นของผักดองอาจจะรับรู้ได้ด้วยเซลล์ B และ E แต่ถ้ามนุษย์เกิดมาแล้วไม่มีเซลล์เหล่านั้นหรือมีน้อยก็อาจจะทำให้การรับรู้กลิ่นของสิ่งนั้น ทำได้น้อยลงหรืออาจจะไม่ได้กลิ่นอะไรเลย เรียกง่าย ๆ ว่า กลิ่นจาง ๆ
อ่านกันมาถึงตรงนี้ทุกคนคงได้ข้อสรุปของกลิ่นดอกพญาสัตบรรณกันแล้วนะครับ คนที่ชอบกลิ่นของดอกพญาสัตบรรณอาจจะมีจำนวนของเซลล์ที่รับกลิ่นเฉพาะในปริมาณที่น้อย ส่วนคนที่รู้สึกเหม็นดอกพญาสัตบรรณอาจจะมีเซลล์ที่รับกลิ่นเฉพาะนี้ได้ในปริมาณมากก็เป็นได้ แต่ก็ยังไม่มีงานวิจัยที่จะสามารถยืนยันเรื่องนี้ได้ 100% เป็นปริศนาความสุดทึ่งของร่างกายมนุษย์ที่ต้องศึกษากันต่อไป
สุดท้ายนี้ก็ไม่มีอะไรมากครับ อยากจะมาอวยพรให้ทุกคนที่ได้แวะเข้ามาอ่าน มีความสุขมาก ๆ ครับ ของให้ปี พ.ศ.2565 นี้เป็นปีที่มีความสุขของทุกคนนะครับ สวัสดีปีใหม่ครับ
ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านครับ
โฆษณา