4 ม.ค. 2022 เวลา 01:00 • การศึกษา
🔴 ปีนักษัตร เปลี่ยนเมื่อไหร่กันแน่
🐯 เมื่อล่วงเข้าสู่ศักราชใหม่ อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันคือการเปลี่ยนปีนักษัตร หรือสัตว์สัญลักษณ์ประจำปีทั้ง 12 ตัว
ซึ่งในปี 2022 ตรงกับปีขาล หรือเสือนั่นเอง ซึ่งเราก็เห็นหลายคนหลายเพจส่งส.ค.ส.อวยพรด้วยรูปเสือกันมากมาย
🐮 อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณไปดูปฏิทินฉีกที่บ้าน มันยังบอกว่าตอนนี้ยังเป็นฉลูอยู่เลย และกว่าจะขึ้นปีขาลคือวันตรุษจีน หรือ 1 กุมภาพันธ์
เรื่องนี้จึงสร้างความสับสนและถกเถียงกันหลายคนว่าปีนักษัตรมันต้องเปลี่ยนเมื่อไหร่กันแน่ระหว่าง 1 มกราคมตามสากล หรือวันตรุษจีนตามปฏิทินจีน
ไม่ต้องมาเถียงกัน คุณจะเปลี่ยนนักษัตรตอนไหนก็ไม่ผิด อยู่ที่ว่าคุณจะอิง “ปีใหม่ของชาติไหน” มากกว่า
🔴 เปลี่ยนนักษัตร 1 มกราคม - ปีใหม่ญี่ปุ่น
แม้ว่า 1 มกราคม จะเป็นปีใหม่ตามปฏิทินสากลที่มีต้นกำเนิดจากยุโรป แต่ก็ถือเป็นวันปีใหม่ตามปฏิทินญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ดังที่จะเห็นประเพณีในวันปีใหม่ของคนญี่ปุ่น จะอยู่กับวันที่ 1 มกราคมทั้งสิ้น
เดิมทีญี่ปุ่นก็ใช้ปฏิทินตามระบบจันทรคติเหมือนจีน ขึ้นปีใหม่วันเดียวกับจีน แต่พอเข้ายุคเมจิพี่ปฏิรูปประเทศทุกอย่างไม่เว้นแม้แต่ปฏิทิน คือเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินสุริยคติ (เกรโกเรียน) ตามชาติตะวันตกในปี 1873 (ปีเมจิที่ 6) และยกเลิกปฏิทินจันทรคติทิ้งไปเลย ไม่ใช้ในราชการอีกต่อไป (เหลือใช้แค่ทางโหราศาสตร์ ดูดวงพอ)
เมื่อวันปีใหม่ของญี่ปุ่นย้ายมาวันที่ 1 มกราคมแล้ว การเปลี่ยนปีนักษัตรก็ต้องอิงกับปฏิทินระบบใหม่ด้วย เราจึงสังเกตว่าเพจที่ลงรูปเสือรับวันปีใหม่ มักจะเป็นเพจสายญี่ปุ่นทั้งนั้น
.
🔴 เปลี่ยนนักษัตรวันตรุษจีน - ปีใหม่จีน
ถึงประเทศจีนในปัจจุบันจะขึ้นปีใหม่วันที่ 1 มกราคมตามสากลแล้ว แต่วันปีใหม่ตามประเพณีจีนที่มีมาแต่โบราณก็คือวันตรุษจีน หรือวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติ ทำให้การขึ้นนักษัตรใหม่แบบจีน จะต้องรอให้ถึงวันตรุษจีนก่อนถึงจะเปลี่ยนได้
ปฏิทินจีนมีความเป็นมายาวนานย้อนได้ถึงราชวงศ์โจว ผ่านการพัฒนาและคำนวณอย่างละเอียดจนเป็นหนึ่งในปฏิทินที่แม่นยำตามฤดูกาลมากที่สุด แม้ว่าตัวปฏิทินจะเป็นจันทรคติ แต่ก็ใช้ระบบสุริยคติ (节气) มาช่วยคำนวณให้เดือนต่างๆ ใกล้เคียงกับฤดูกาลจริงมากที่สุด
หากคำนวณทางสุริยคติจีนจะถือว่าวันที่ 4 กุมภาพันธ์หรือวัน 立春 (Lìchūn) เป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิและเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูกประจำปี
คนจีนจึงใช้วันนี้เป็นตัวกำหนดวันปีใหม่ทางจันทรคติคือ “วันจันทร์ดับที่ใกล้กับวัน 立春 ที่สุด” กล่าวคืออยู่ระหว่าง 21 มกราคม – 19 กุมภาพันธ์ หรือก็คือนับจาก 4 กุมภาพันธ์ ± 15 วัน
🔸 และนี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมวันตรุษจีนในภาษาจีนถึงเรียก 春节เพราะเป็นเทศกาลเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิจากวัน 立春 นั่นเอง (ส่วนภาษาญี่ปุ่นเรียก 旧正月 – วันปีใหม่แบบเก่า เพราะปัจจุบันคนญี่ปุ่นไม่ฉลองกันแล้ว)
.
🔴 นอกจากนี้ยังมีเปลี่ยนนักษัตรแบบไทยด้วย ซึ่งบอกได้เลยว่า “โคตรปวดหัว” เพราะมีกันหลายวันเหลือเกิน
- ขึ้น 1 ค่ำเดือน 1 (พ.ย.-ธ.ค.) - นับแบบไทยดั้งเดิม และใช้ระบุปีนักษัตรในสูติบัตรไทย
- ขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 (มี.ค.-เม.ย.) – นับแบบอินเดียจากอิทธิพลของพราหมณ์ ตรงกับเดือนจิตรมาส ซึ่งเป็นเดือน 1 ตามระบบอินเดีย ในพงศาวดารไทยสมัยก่อนยึดวันนี้เป็นขึ้นปีใหม่และนักษัตรด้วย (ที่มักจะเขียนว่า ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1384 นั่นแหละ)
- 15-16 เมษายน - วันเถลิงศกในเทศกาลสงกรานต์ นับแบบสุริยคติไทยที่ประยุกต์จากอินเดียอีกที
🔸 การเปลี่ยนนักษัตรแบบไทย ปัจจุบันคงเหลือใช้ในวงการโหราศาสตร์ดูดวงเท่านั้น คงไม่มีโอกาสได้ใช้ในระดับชีวิตประจำวันเท่า 2 แบบแรกแน่นอน
🔴 ถ้าจะให้สรุปแบบประโยคเดียวคือ “ยึดวันปีใหม่ตามปฏิทินไหน เปลี่ยนนักษัตรตามนั้น”
หากเอาความนิยมที่สุด ก็จะเปลี่ยนกัน 2 วันคือ 1 มกราคมตามปฏิทินญี่ปุ่น-สากล และวันตรุษจีนตามปฏิทินจีน
🔴 นั่นหมายความว่า ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงก่อนวันตรุษจีนในแต่ละปี จะเป็นช่วงเวลาที่สามารถเกิด “2 นักษัตรพร้อมกัน” โดยหากอิงตามปฏิทินญี่ปุ่น (สากล) จะขึ้นนักษัตรใหม่เลย ขณะที่หากอิงตามปฏิทินจีน จะยังถือว่าเป็นนักษัตรเก่าอยู่ เพราะต้องรอเปลี่ยนในวันตรุษจีน
และแน่นอนว่าคนที่เกิดช่วงต้นปี ก็สามารถอยู่ได้ 2 นักษัตรเช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคน แต่ละครอบครัวจะยึดที่วันปีใหม่ของชาติไหน
ถ้าครอบครัวคนจีนที่ยึดวันตรุษจีน จะถือว่ายังอยู่ในนักษัตรปีเก่า แต่ถ้าบ้านไหนไม่ strict เรื่องนี้ ก็นับนักษัตรใหม่ตามปีนั้นเลยก็ได้ คำนวณง่ายกว่าด้วย
.
🟣 ถ้าอธิบายตรงนี้ยังงง แอดมินขอยกตัวอย่างวันเกิดของอร ไอดอลวง BNK48 ให้ดูกัน
น้องเกิดวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1997 ซึ่งเกิดก่อนวันตรุษจีน (7 กุมภาพันธ์)
ดังนั้นหากนับนักษัตรแบบญี่ปุ่นตามปฏิทินสากล อรจะเกิดปีฉลู 🐮 แต่หากนับนักษัตรแบบจีน อรจะเกิดปีชวด 🐭
อธิบายมาขนาดนี้แล้ว คงจะเข้าใจหลักการเปลี่ยนปีนักษัตรมากขึ้น และคงไม่ต้องเถียงกันแล้วนะว่าปีนักษัตรเปลี่ยนเมื่อไหร่กันแน่ จะ 1 มกราคมหรือวันตรุษจีนก็ได้ทั้งคู่ อยู่ที่คุณจะยึดปฏิทินของชาติไหนแหละครับ
โฆษณา