3 ม.ค. 2022 เวลา 02:29 • การเมือง
RCEP มีผลบังคับใช้แล้ว
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
หลังจากเจรจากันมายาวนานเกือบ 10 ปี RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค  ก็มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565
ท่านที่ศึกษา RCEP อย่างละเอียดจนเข้าใจได้ลึกซึ้งก็จะสามารถใช้ประโยชน์กับการที่ไทยเป็นสมาชิก RCEP ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่อันดับต้นของโลก และที่สำคัญ  ไทยของเราก็เป็นสมาชิกของกลุ่มนี้ด้วย
คนไทยจำนวนหนึ่งอยากให้ไทยร่วม CPTPP  (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) หรือข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก
ซึ่งเป็นความตกลงการค้าระหว่างออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม เศรษฐกิจรวมทั้ง 11 ประเทศสมาชิก
ตอนลงนาม คิดเป็นร้อยละ 13.4 ของจีดีพีโลกหรือประมาณ 13.5 ล้านล้านดอลลาร์
หลายคนให้ข้อมูลว่า ถ้าไม่เข้า CPTPP ไทยจะเสียเปรียบเพราะ CPTPP เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่อันดับ 3 ของโลก (วัดจากจีดีพี) รองจากความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือและตลาดร่วมยุโรป แต่มีหลายคนค้านการเข้าร่วม CPTPP จนเป็นข้อถกเถียงกันตามโซเชียลมีเดีย
ที่ไม่ต้องเถียงกันและไทยเป็นสมาชิกอยู่แล้ว แถมมีผลบังคับใช้แล้ว ก็คือ RCEP ซึ่งมีสมาชิก 15 ประเทศคือ  กลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ RCEP เป็นเขตการค้าเสรีที่มีความพร้อมสูง
1
ใครจะนึกเล่าครับว่า แม้แต่ผู้ผลิตสำคัญของโลกอย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มาอยู่ในกลุ่ม  RCEP ด้วยกัน
ที่น่าสนใจของกลุ่ม RCEP อีกอย่างก็คือ การมีออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ซึ่งมีทรัพยากรและเทคโนโลยีต้นน้ำที่สามารถมอบวัตถุดิบให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นำไปพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ส่วนจีนและอาเซียนเป็นผู้ผลิตสินค้าขั้นกลางและขั้นปลายที่ซับซ้อนได้ดี
สินค้าพวกที่ต้องใช้เทคโนโลยีสำคัญไม่ว่าจะเป็นโน้ตบุ๊ค แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ ล้วนผลิตในกลุ่มประเทศ RCEP ทั้งนั้น
เขียนให้เข้าใจง่ายก็คือ โลกซื้อสินค้าที่มีเทคโนโลยีสำคัญจากกลุ่ม RCEP คิดในแง่ของประชากรซึ่งเป็นผู้บริโภค RCEP ก็มีประชากรหลายพันล้าน แค่จีนประเทศเดียวนี่ก็มากถึง 1.4 พันล้านคนแล้ว
นักลงทุนกำลังมุ่งมาลงหลักปักฐานในประเทศของกลุ่ม RCEP อยู่ที่สมาชิกของ RCEP แต่ละประเทศว่าจะดึงนักลงทุนเข้าประเทศของตัวเองยังไง
ประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะดึง FDI หรือเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศได้มากกว่าเพื่อนก็คือเวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย
เวียดนามเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงที่เป็นสมาชิกทั้ง CPTPP และ RCEP การเป็นสมาชิกของทั้งสองกลุ่มทำให้นักลงทุนมองเวียดนามมากกว่าไทย
1
อีกข้อที่อาจจะทำให้เวียดนามได้เปรียบไทยก็คือ การเมืองที่นิ่ง ทำให้นักลงทุนมั่นใจว่าลงทุนในเวียดนามแล้วจะไม่โดนกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
สมัยที่จีนยังไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก การค้าการลงทุนของจีนก็งั้นๆ  ทั้งที่โดนกีดกันจากสหรัฐและตะวันตก แต่จีนก็พยายามเจรจาอยู่หลายรอบจนประสบความสำเร็จ
หลังจากเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกเมื่อ พ.ศ.2544 การค้าของจีนก็พุ่ง จีนให้ความสำคัญอย่างมากกับเขตการค้าเสรี ระเบียงเศรษฐกิจ องค์กรความร่วมมือ กลุ่มความร่วมมือ กรอบความร่วมมือ ฟอรั่มความร่วมมือ สหภาพเศรษฐกิจ ระเบียงการค้า เส้นทาง เขตเสรี ฯลฯ
จีนเป็นตัวอย่างของความมุ่งมั่นกับทุกองค์กรที่ตนเป็นสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ระเบียงเศรษฐกิจจีน-มองโกเลีย-รัสเซีย
ระเบียงเศรษฐกิจบังกลาเทศ-จีน-อินเดีย-พม่า สะพานเศรษฐกิจยูเรเซียใหม่ กรอบความร่วมมือเอเชีย ความร่วมมือจีน-ชาติอาหรับ ฟอรั่มความร่วมมือจีน-แอฟริกา ฯลฯ
1
จีนใช้คนเป็นพันศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์จากองค์กรที่ตนเข้าร่วม เพื่อจะใช้ประโยชน์จากองค์กรนั้นให้ได้มากที่สุด ทุกองค์กรมีประโยชน์มาก
2
ใครจะนึกครับ ว่าทันทีที่ RCEP  มีผลบังคับใช้ สินค้าจากไทยไปสู่ประเทศเหล่านี้มีภาษี 0% ทันที 2.9 หมื่นรายการ
1
นี่เป็นข่าวดีรับปีใหม่ ทว่าข่าวดีจะเป็นข่าวดีของจริง เมื่อภาครัฐและเอกชนรู้รายละเอียดแล้วนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง.
1
โฆษณา