14 ม.ค. 2022 เวลา 03:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ไทยเตรียมพร้อมรับหน้าที่เจ้าภาพ APEC 2022
ปี ๒๕๖๕ ประเทศไทยได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมกรอบความร่วมมือภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation – APEC) ซึ่งหลายท่านอาจจะทราบรายละเอียดมาบ้างแล้ว.... วันนี้ดิฉันเลยจะขอถือโอกาสนำการให้สัมภาษณ์ของ คุณพฤทธิพงษ์ ปุณฑริโกบล ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มาให้ข้อมูลล่าสุดว่า ตอนนี้ประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมรับหน้าที่เจ้าภาพ APEC 2022 แล้วอย่างไรบ้าง ? ความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว ? และประเทศไทยจะได้รับอะไรจากการประชุม APEC ในครั้งนี้ ?(https://www.facebook.com/radiothailandlive/videos/216687447204117/)
เอเปค คือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีความสำคัญมากต่อประเทศไทย ประเทศไทยได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งเอเปคมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนและการพัฒนาที่ยั่งยืน ปัจจุบันเอเปคมีสมาชิก ๒๑ เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วยประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น มีประชากรรวมกันกว่า ๒,๙๐๐ ล้านคน และมูลค่า GDP รวมกว่า ๑,๗๐๐ ล้านล้านบาท มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก
การทำงานของเอเปคยึดหลักฉันทามติและความสมัครใจ โดยเอเปคเปรียบเสมือนเป็นพื้นที่ทดลอง ให้สมาชิกสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทดลองความร่วมมือภายใต้แนวคิดใหม่ ๆ โดยเน้นการสนับสนุนการรวมกลุ่มทางภูมิภาคแบบเปิดกว้าง และไม่มีประเด็นเรื่องการเมืองเข้ามาแทรก
สำหรับการเตรียมเป็นเจ้าภาพเอเปคของประเทศไทยนั้น ในภาพรวมหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของไทยได้บูรณาการทำงาน จนเกิดการประชุมเตรียมการในทุกระดับมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา อาทิ การประชุมคณะกรรมการระดับชาติที่มีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จำนวน ๓ ครั้ง และ การประชุมคณะอนุกรรมการในด้านต่าง ๆ
ในส่วนการเตรียมการด้านสารัตถะ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานหลัก ได้มีการจัดกิจกรรมระดมสมองมาตั้งแต่ต้นปี ๒๕๖๓ โดยมีการหารือกับภาคส่วนต่าง ๆ และเตรียมงานร่วมกับหน่วยงานทุกฝ่าย จนสามารถสกัดประเด็นที่จะเป็นประโยชน์และตอบสนองความต้องการของคนไทยในยุคโควิดได้อย่างแท้จริง โดยการประชุมเอเปคจะมีการหารือร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ อาทิ เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน การต่อสู้กับปัญหาโควิด-๑๙ และการฟื้นฟูการเชื่อมโยงการเดินทาง แต่ประเด็นหลักในการหารือ คือ เรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน และการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยจะมุ่งเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยจะใช้โอกาสนี้ในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy - BCG) ในเอเปคด้วย
ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC คือ การเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีจากการมีพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง เพื่อที่จะได้ผลักดันแนวคิดใหม่ ๆ ที่จะช่วยพัฒนาประเทศไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังจะได้ประโยชน์จากปริมาณนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากมาตรการการส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกขึ้นในเอเปค ถือเป็นโอกาสสำคัญของไทยที่จะได้แสดงความพร้อมในการเปิดประเทศต้อนรับชาวต่างชาติที่จะเดินทางมาประชุมตลอดทั้งปี ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี และยังเป็นโอกาสในการกระจายรายได้สู่ชุมชน ...
ตลอดทั้งปี ๒๕๖๕ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคทั้งหมดกว่า ๑๐๐ การประชุม โดยมีเป้าหมายที่จะจัดการประชุมแบบพบหน้าเต็มรูปแบบ การประชุมเหล่านี้จะเป็นการประชุมตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส การประชุมของภาคธุรกิจ และการประชุมในระดับรัฐมนตรี ซึ่งจะปูทางไปสู่การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายปี ๒๕๖๕
ประเทศไทยได้รับมอบการเป็นเจ้าภาพเอเปคต่อจากประเทศนิวซีแลนด์อย่างเป็นทางการ ในช่วงท้ายของการประชุมผู้นำเอเปค ครั้งที่ ๒๘ ที่จัดขึ้นผ่านระบบการประชุมทางไกลในช่วงคํ่าของวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ซึ่งมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับมอบในนามของรัฐบาลไทย โดยมีพิธีส่งมอบไม้พาย ‘Waka’ หรือ เรือแคนูของชาวเมารี ซึ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมของนิวซีแลนด์ในฐานะเขตเศรษฐกิจผู้ส่งมอบตำแหน่งประธานให้กับไทยด้วย นอกจากนี้ ยังมีการประกาศหัวข้อหลักของการเป็นเจ้าภาพของไทย คือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่องโยงกัน สู่สมดุล” ในโอกาสนี้ ดิฉันขอเชิญชวนทุกท่านติดตามการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย และร่วมกันเป็นเจ้าภาพที่ดี สร้างความประทับใจให้กับแขกผู้มาเยือนไทยด้วยกันนะคะ
นางสาวพัณณ์ชิตา โชติจินตนาทัศน์
เจ้าหน้าที่ประมวลและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ
โฆษณา