4 ม.ค. 2022 เวลา 17:32 • หนังสือ
#รีวิวหนังสือ 𝐓𝐡𝐞 𝐀𝐫𝐭 𝐨𝐟 𝐌𝐚𝐤𝐢𝐧𝐠 𝐌𝐞𝐦𝐨𝐫𝐢𝐞𝐬
 
...เล่มนี้เราจะไม่สรุป แต่จะมาป้ายยากันบางๆ ว่าทำไมเล่มนี้ถึงน่าอ่าน เผื่อใครที่ลังเลอยู่จะได้ตามไปตำกันครับ
 
...ผมจัดเล่มนี้มาแบบไม่ได้คิดมากเลย เพราะสองเล่มแรกของ Meik Wiking ก็คือ LYKKE และ HYGGE นั้นทำไว้ดีมาก ภาพสวยละมุนตา เนื้อหาละมุนใจ แถมเกร็ดความรู้เพียบ ! (ท่องมาครับ)
 
...พอเริ่มอ่านช่วงแรกๆ ผมรู้สึกว่า.. เล่มนี้ดรอปกว่าสองเล่มที่ผ่านมานิดหน่อย ความฉูดฉาดของข้อมูลอาจไม่เท่าสองเล่มแรก (ความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ) แต่ไม่น่าเชื่อว่าพออ่านจบผมพบว่าหนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่ของมันได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องเลย
3
…นั่นก็คือหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมตระหนักถึงความสำคัญของความทรงจำมากขึ้น ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ผมรู้สึกว่าที่ผ่านมาผมมีความทรงจำทั้งดีและไม่ดีมากมาย ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าต้องจัดการอะไรกับมัน แต่เมื่ออ่านจบผมกลับมีเสียงในหัวคอยสะกิดว่า “ไม่คิดจะเก็บช่วงเวลาเหล่านี้ไว้บ้างหรือ ?” นั่นแหละครับคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมรู้สึกว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ธรรมดาอย่างที่คิด !
 
...คงไม่ผิดหรอกถ้าหลายคนจะคิดว่าความทรงจำก็เป็นเรื่องของอดีต มันเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ สู้เอาเวลาไปทำปัจจุบันให้ดีที่สุดจะดีกว่า (ผมคิดแบบนี้เป๊ะๆเลย) แต่เล่มนี้ให้มุมมองที่ต่างไป มันทำให้ผมรู้ว่าตัวตนในปัจจุบันทั้งหมดมันถูกหลอมมาจากอดีตทั้งสิ้น
...ลองคิดดูนะครับ ที่เรารู้สึกภูมิใจหรือน้อยใจ ดีใจหรือเสียใจ พอใจหรือผิดหวัง นั่นก็เพราะว่าความทรงจำได้วางตำแหน่งของเราไว้แล้ว ว่าเราเป็นคนแบบไหน มีความสามารถอย่างไร ที่ผ่านมาทำได้ดีแค่ไหน เมื่อเทียบกับบริบทแวดล้อม
...ตรงนี้สำคัญมาก พูดง่ายๆถ้าเป็นเส้นกริดของกราฟ ความทรงจำจะเป็นตัวบอกว่าเราอยู่ตำแหน่งไหนของกราฟ ตำแหน่งไหนของสังคม ซึ่งนั่นก็คือตัวตนที่เรามองตัวเองและรู้สึกกับตัวเอง ไม่ว่าเราจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นแบบไหน มันเกิดจากการเทียบกับบริบททั้งสิ้น
...ดังนั้น ประเด็นหลักก็คือ !! ถ้าเราจัดระเบียบความทรงจำให้ดี มันจะปรับแต่งมุมมองต่อตัวเองของเราใหม่ นั่นแหละประโยชน์ของหนังสือเล่มนี้ครับ
 
...จุดน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือ มันเชื่อมโยงกับหนังสือหลายต่อหลายเล่มที่ผมเคยอ่าน เช่น ผมพบว่ามันลิงก์กับเนื้อหาส่วนหนึ่งของหนังสือ The Power of Meaning นั่นก็คือ “การเล่าเรื่อง” ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย ตอนแรกอ่านไม่ค่อยเข้าใจว่าการเล่าเรื่องมันทำให้ชีวิตมีความหมายได้อย่างไร แต่พออ่านเล่มนี้มันทำให้ผม อ๋อ ขึ้นมาทันที ขอยกตัวอย่างสักเรื่องเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของหนังสือ “Chicken Soup for the Soul” นะครับ
...แอนเจลา เด็กสาว วัย 11 ขวบ ซึ่งป่วยเป็นโรคระบบประสาทที่ทำให้แขนขาอ่อนแรง คุณหมอและทุกคนหมดหวังในการรักษาและคิดว่าเธอจะต้องนั่งรถเข็นไปตลอดชีวิต แต่มีเพียงสาวน้อยแอนเจลาคนเดียวที่ไม่ได้เชื่ออย่างนั้น แอนเจลาตั้งใจฟื้นฟูร่างกาย ตั้งใจบำบัดทุกวิธี รวมไปถึงวิธีการใช้จินตภาพว่าเธอนั้นเดินได้
…วันหนึ่งที่เธอใช้จินตภาพ สิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น นั่นก็คือ เตียงขยับได้ เธอกรีดร้องและบอกให้ทุกคนดูว่าเธอขยับได้ ทุกคนรู้ว่าจริงๆแล้วไม่ได้เกิดจากจินตภาพอะไรทั้งนั้น เพราะตอนนั้นเกิดแผ่นดินไหวขึ้นที่นั่น แต่ด้วยความกลัวว่าจะเสียศรัทธาจึงไม่มีใครบอกความจริงกับเธอ
และเหตุการณ์ไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้น เพราะไม่นานต่อมา เธอก็สามารถยืนด้วยสองขาได้ ไม่ต้องใช้ไม้เท้าและเข้าเรียนได้ตามปกติ !!
 
...นั่นแหละครับ ถ้าคุณเป็นแอนเจลา คุณเริ่มเห็นคุณค่าและความสวยงามของชีวิตบ้างแล้วหรือยังครับ คุณค่าในความพยายาม คุณค่าในความศรัทธา คุณค่าแห่งการต่อสู้
 
...เอาจริงๆ เรื่องนี้อาจจะจบด้วยแอนเจลาไม่สามารถหายได้ แต่ถ้าเล่าแบบนี้ เราก็จะพบเรื่องราวของชีวิตที่ต่างออกไป ไม่สร้างแรงบันดาลใจ ไม่ทำให้เราอยากมีชีวิตต่อ แต่หากเล่าต่ออีกหน่อยว่า แม้ว่าเค้าจะนอนติดเตียงทำอะไรไม่ได้แต่เค้าได้ถ่ายทอดแนวคิดดีๆผ่าน podcast เพื่อให้กำลังใจผู้คนที่คิดว่าตัวเองลำบาก จนช่วยเหลือผู้คนได้มากมาย
…ดังนั้น ไม่ถูกไม่ผิดว่าคุณจะเลือกจุดจบของเรื่องเป็นแบบไหน แต่จุดจบแบบไหนทำให้คุณอยากมีชีวิตอยู่ต่อละ นั่นแหละความสำคัญของการเล่าเรื่องและมันก็คือใจความสำคัญของการจัดระเบียบความทรงจำ
 
...พาร์ทหนึ่งที่ผมชอบมากก็คือวิธีการจัดระเบียบความทรงจำ
คุณคงเคยได้ยินเพลงบางเพลงแล้วทำให้นึกถึงคนบางคนไหมครับ ไม่น่าเชื่อว่าแค่ทำนอง เนื้อร้องบางช่วงนั้นทำให้อารมณ์ความรู้สึกในช่วงเวลานั้นมันได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เพลงแต่ละเพลงเกิดขึ้นในช่วงเวลาชีวิตที่แตกต่างกันของเรา เพลงจึงเป็นหนึ่งในเครื่องบันทึกความทรงจำที่ดีเลยล่ะ
...ส่วนตัวผมนี่ชอบฟังเพลงเพลงหนึ่ง ชื่อเพลงว่า “เครื่องบันทึกความทรงจำ” ของวง Sleeper 1 เป็นเพลงอินดี้ ไม่ได้โด่งดังเท่าไร เนื้อเพลงประมาณว่า
“เธอเคยรู้สึกเหมือนกันบ้างไหม ในยามที่ฟังบทเพลงเก่าๆ บทเพลงที่เราหลงลืมจากความทรงจำ ทำให้รอยยิ้มของใครบางคน และใครบางคนที่ยังมีคราบน้ำตา...”
...ผมไม่รู้ว่าเพลงพาเรากลับไปหาอดีต หรือพาอดีตกลับมาหาเราในปัจจุบันกันแน่ แต่นั่นแหละครับหน้าที่ของบทเพลง ความมหัศจรรย์ของมันคือ นอกจากมันจะขุดความทรงจำเก่าๆขึ้นมา แต่มันยังขุดความรู้สึกช่วงนั้นๆขึ้นมาได้อีกด้วย (เช็ดน้ำตาแพรพ)
 
...นอกจากเราจะใช้เพลงเรียกความรู้สึกเก่าๆออกมาได้ อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นทริกเกอร์ที่ดีเลยก็คือ “กลิ่น” นั่นเองครับ
...เขาแนะนำให้เราเปลี่ยนน้ำหอมบ้าง และเก็บไว้เป็นกรุความทรงจำเลย วันดีคืนดี เราอยากย้อนเวลา กลับไปหาอดีต เราก็แค่กลับมาสูดน้ำหอมที่เก็บความทรงจำช่วงนั้นๆไว้ แต่ถ้าเราใช้น้ำหอมกลิ่นนั้นทุกวันจะไม่เกิดความทรงจำเฉพาะขึ้น ทางที่ดีเมื่อเราจะมีทริปพิเศษลองเปลี่ยนน้ำหอมที่ใช้ก็เข้าท่าอยู่นะครับ เป็นเกมเก็บความทรงจำที่น่าสนุกเลย
...หนังสือยังบอกว่า ยิ่งเราเปิดรับทุกประสาทสัมผัสเรายิ่งจำได้แม่น ไม่ใช่แค่ เสียง กลิ่น ถ้าเราเปิดปุ่มรสชาติ สัมผัสที่แสนพิเศษ พร้อมอารมณ์ที่มี ณ ช่วงนั้น จะเป็นไปได้มากเลยที่เราจำช่วงเวลาดีๆเหล่านี้ได้นาน ดังนั้นอย่าลืมนะครับ ถ้าเรานั่งอยู่ริมทะเล แล้วอยากให้จำเหตุการณ์นี้ได้นาน อย่าลืมหาสาหร่ายมานั่งดมนะครับ (หนังสือบอกไว้จริงๆ ผมไม่ได้โกหก)
...ไม่รู้ว่าจะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นหรือยากกว่าเดิม ฮ่าๆ เอาเป็นว่าผมว่าเล่มนี้ดูเหมือนจะ “ธรรมดา แต่ก็ไม่ธรรมดา” เพราะถ้าไม่พูดถึงเรื่องการประคองมู๊ดขณะอ่านที่ทำได้อย่างไร้ที่ติ สิ่งหนึ่งที่ผมได้จากเล่มนี้เลยคือ ผมเริ่มหวงแหนความทรงจำดีๆของตัวเองมากขึ้น ไม่รู้ว่าหนังสือเล่มนี้ทำได้ยังไง...
//พะโล้
#เรื่องย่อของหนังสือเล่มเยี่ยม
โฆษณา