6 ม.ค. 2022 เวลา 00:48 • การศึกษา
#จิตมีอารมณ์ฟุ้งซ่าน
ทีนี้เราก็มาหวนพูดกันว่า ทำอย่างไรวิธีไหนที่จะควบคุมกำลังใจให้ทรงสมาธิได้ เราต้องกลับไปบ้าน #ถ้ามีหนังสือคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐานหรือว่ามหาสติปัฏฐานสูตร #เปิดดูอานาปานุสสติกรรมฐาน อันนี้ได้วิเคราะห์ตามอย่างที่พระพุทธเจ้าสอน ที่เขียนไว้นั้นไม่ได้เขียนตามความรู้ของตัวเอง อาตมาไม่ได้รู้เองได้
คำสอนทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้าสอน #ทีนี้เราไม่อยากให้จิตมันฟุ้งซ่านเราก็ใช้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกยังไม่ต้องภาวนา #ถ้าไปภาวนาหรือพิจารณาเข้าจะทำให้จิตฟุ้งซ่านมาก หรือถ้ามันฟุ้งซ่านจริง ๆ เมื่อกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกไปไม่ไหว มันทนไม่ไหว มันคุมกำลังใจไม่อยู่ จิตฟุ้งซ่านเรื่อย พระพุทธเจ้าทรงแนะนำว่าควรจะเลิกเสีย พัก ไม่ใช่เลิกเลย พักไม่ยุ่งกับมันต่อไป ปล่อยให้ใจสบาย ปล่อยให้หลับไป หรือปล่อยให้มีความเพลิดเพลินในเรื่องอื่น เพราะว่าจิตของเรามันคบอยู่กับนิวรณ์มาหลายแสนกัป เราจะใช้เวลาเพียงชั่วขณะเดียวมาบังคับให้มันทรงตัวย่อมเป็นไปไม่ได้ ทีนี้การคิดก็ยังต้องมีการที่สุด
ทีนี้ถ้าหากว่าเราจะไม่ใช้วิธีพัก พระพุทธเจ้าก็ทรงมีวิธีอีกอย่างหนึ่ง เราต้องทำเหมือนคนปราบม้าพยศ ตามธรรมดาม้าที่พยศ ถ้ามันยังมีกำลัง เราจะบังคับให้มันปฏิบัติที่เราจะฝึกมันย่อมเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าการพยศมันยังมีอยู่ ถ้ามันมีแรง ถ้าเราไม่สามารถจะบังคับให้มันปฏิบัติตามที่เราต้องการได้ พระพุทธเจ้าบอกว่าให้กอดคอม้าเสีย กอดไว้แล้วปล่อยให้มันวิ่งไป ให้มันพยศไปตามเรื่อง ปล่อยมันตามใจชอบ มันจะวิ่งไปตรงไหนอย่างไรก็ช่าง ให้กอดคอไว้ อย่าปล่อย
ในเมื่อม้ามันหมดแรงพยศ. มันหมดแรงวิ่ง ทีนี้เราจะบังคับให้มันไปไหนมันก็ไปเพราะมันจะไม่มีแรงแล้ว ข้อนี้มีอุปมาฉันใด ท่านบอก #จิตก็เหมือนกันถ้าบังคับมันไม่อยู่จริงๆมันอยากจะคิดก็เซ็ญให้มันคิดไปตามอัธยาศัย มันจะคิดบ้านใครออก มันจะไปทาง ๆ ไหนก็ตาม หรือจะไปบ้านเจ้าหนี้ก็ตามใจมัน มันจะไปทางไหนก็ช่าง แต่ว่าให้เอาสติสัมปชัญญะเข้าคุมไว้ ให้คอยคิดไว้เสมอว่า ถ้ามันเลิกเมื่อไร เราจะภาวนาเมื่อนั้น หรือ จับลมหายใจเข้าออกเมื่อนั้น ถ้าปล่อยไปตามนี้จริง ๆ มันจะคิดไม่เกิน ๒๐ นาทีก็สบายเราแล้ว สมัยที่ฝึกใหม่ ๆ ก็มีอาการอย่างนี้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าไม่มี มีทุกอย่าง ไม่ว่าอารมณ์ฟุ้งซ่านอาการปวดเมื่อย ปวดโน่น ปวดนี่ มันเป็นมาแล้วทุกอย่าง ถ้าไม่เป็นมาแล้วก็แสดงว่าไม่เคยปฏิบัติมาเลย
ทีนี้มาลองดู พระพุทธเจ้าทรงว่าแบบนั้น ลองเลิก ไม่ต้องทำ เลิกแล้วเราอยากจะคุยกับใคร อยากจะดูโทรทัศน์ อยากจะฟังวิทยุ อยากจะร้องเพลงก็ว่าไปตามเรื่องเขาสบาย ถ้ามีอารมณ์สบาย แล้วกลับเข้ามาทำใหม่ จิตมันเป็นสุข จะคุมอารมณ์อยู่ ทีนี้ถ้าวิธีนี้เห็นว่าไม่ได้เรื่อง ดีไม่ดีมันต้องโทษเอาความขี้เกียจ ก็เอาใหม่ มันฟุ้งซ่าน ปล่อยให้มันคิดไป เรามาตั้งนาฬิกาไว้ว่ามันจะไปสักกี่นาที ไม่เกิน ๒๐ นาทีเป็นอย่างมาก บางครั้งก็แค่ ๑๐ นาทีหรือ ๑๕ นาที จิตมันก็จะหยุดคิด มันก็ขี้เกียจเหมือนกัน ถ้าจิตหยุดคิด มาจับลมหายใจเข้าออก ตอนนี้ภาวนาก็ได้ หายใจเข้านึกว่า “พุท” หายใจออกนึกว่า “โธ” พอมีอารมณ์
สงัดจิตจะมีความสงบ
นีวิธีฝึกจิตให้พ้นจากความฟุ้งซ่านของจิต แล้วก็จงอย่าคิดนะว่าเราชนะมันเดี๋ยวนี้พรุ่งนี้เราจะชนะมันอีก ถ้าอาการอย่างนั้นปรากฏ เราก็ทำอย่างนั้นต่อไป จะเอาแบบใดแบบหนึ่งก็ได้ ต้องทำแบบนี้เสมอ ๆ ไม่ช้าจิตก็ทรงฌาน เพียงแค่ใช้เวลาเดือนเดียว จิตจะมีความสงบสงัด เมื่อจิตมีความสงบสงัด จิตก็เริ่มกลับเข้าสู่อุปจารสมาธิหรือฌานสมาบัติ ในขณะที่จิตเข้าสู่อุปจารสมาธิ มันก็จะมีจุดหนึ่งที่เราเรียกว่าปีติ ปีตินี่เป็นภาษาบาลี แต่อาตมาจะไม่พูดภาษาบาลี เพราะวันนี้พูดกับคนไทย ถ้าพูดกับคนไทยเอาภาษาแขกมาพูดมันจะได้เรื่องอะไร
#ปีติ มีอาการ ๕ อย่าง คือ
๑. ขนพองสยองเกล้า ขนลุกซู่ช่า
๒. พอเริ่มทำสมาธิ พบกับความปลาบปลื้มขึ้นมา น้ำตาไหลบังคับไม่อยู่มีอาการโยกโคลง นั่งโยกไปโยกมา โยกข้างหน้า โยกข้างหลัง
๓. ต่อไปเรียกว่า #อุพเพงคาปีติ นี่เรียกภาษาบาลีนิดหน่อย จะมีอาการสั่นอันดับแรก เหมือนกับว่าปลุกพระ หนัก ๆ เข้ามีอาการตัวลอยสูง ๆ อาการอย่างนี้ไม่แน่นอน บางทีก็ไม่มี
๔.เรียกว่า #ผรณาปีติ จะมีอาการซาบซ่าน ซูซ่า เหมือนว่าตัวโปร่งข้างในเหมือนว่าไม่มีอะไร มีสภาพคล้ายกับตัวโตขึ้น ตัวสูงขึ้น หน้าตามันใหญ่โต แต่ว่าจิตเป็นสุขอาการอย่างนี้ ถ้าเกิดขึ้นในบรรดาท่านพุทธบริษัทก็จงอย่าไปสนใจ ปล่อยมัน มันจะเป็นอย่างไรก็ช่าง อาการทางกายมันจะเป็นอย่างไรอย่าไปสนใจ สนใจอย่างเดียวว่าจิตมันสงบสงัด หรือเราต้องการเพียงเท่านี้ สมถภาวนา เราต้องการเท่านี้
ทีนี้เมื่อจิตเข้าถึงปีติ ไอ้ “ปีติ” กับ “ฌาน” มันอยู่ชิดกันนิดเดียว เมื่อจิตมีความเอิบอิ่มเกิดขึ้นความสุขมันก็มา พอความสุขมาก็ชื่อว่าเป็น #อุปจารสมาธิ ตอนที่จิตเข้าถึงอุปจารสมาธิกิเลสมันก็ลด เพราะจิตมันเริ่มเป็นทิพย์ มันจะปรากฏแสงสี่เห็นภาพต่าง ๆ ถ้าภาพอะไรเกิดขึ้นมาโดยที่เราไม่ได้กำหนด อย่าไปยึดถือเอาเป็นอันขาด การนั่งกรรมฐานแล้วถามว่าเห็นนั่นไหม เห็นนี้ไหม อยากเห็นนั้นอยากเห็นนี้ อันนี้ไม่ใช่อยากได้ดีเลย การเห็นเป็นแค่อุปจารสมาธิ ถ้าเราติดใจในภาพที่เห็น ถ้าวันอื่นภาพไม่ปรากฏจิตมันก็ไม่สบาย กำลังสมาธิมันก็ตก
ที่มา : หนังสือ(คำสอนหลวงพ่อวัดท่าซุง เล่มที่ ๖)หน้าที่ ๙๘~๑๐๐. โดยพระราชพรหมยาน วัดจันทาราม(ท่าซุง)จ.อุทัยธานี.
โฆษณา