6 ม.ค. 2022 เวลา 12:00 • ความคิดเห็น
“คนไทยแก่ก่อนรวย” คำพูดที่ดูจะไม่เกินจริงอีกต่อไป
ย้อนกลับไปในช่วง 2-3 ปีที่แล้ว “ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ” เป็นประโยคที่ได้ยินบ่อยมาก แต่อาจจะด้วยสถานการณ์โควิด 19 ที่เกิดขึ้น ประเด็นนี้เลยดูจะถูกพูดถึงน้อยลงไป
แต่ไม่พูด ไม่ได้แปลว่าไม่มี วันนี้เลยอยากพาทุกคนกลับมาดูว่า ภาวะผู้สูงอายุของไทยในตอนนี้เป็นยังไงบ้าง
1
ถ้าไปดูสถิติจำนวนผู้สูงอายุในไทยเทียบกับประชากรทั้งหมด ย้อนกลับไป 3 ปี จะเจอว่า
สิ้นปี 2561 อยู่ที่ 16.06%
สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 16.73%
สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 17.57%
ตัวเลขทั้ง 3 ปี ทำให้เห็นว่าไทยเริ่มมีสัดส่วนของผู้สูงอายุ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และในรายงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) ยังเคยบอกไว้ว่าภายในปี 2573 มากกว่า 1 ใน 4 ของคนไทยจะอายุเกิน 60 ปี
จะไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ถ้าคนในสังคมมีความมั่งคั่งเพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้หลังเกษียณ แต่ความจริงของไทยดูจะไม่ใช่ เพราะรายงาน UN ยังเคยบอกไว้อีกว่าคนไทยที่อายุเกิน 60 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม “คนยากจน”
1
บทความอื่น ๆ น่าจะพูดถึงผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจกันไปเยอะแล้ว วันนี้เลยอยากชวนทุกคนกลับมามองให้ใกล้กว่าเดิม และถามตัวเองว่า “เรามีความพร้อมแค่ไหนกับการเกษียณ ?”
1
ถ้าตั้งใจจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี และคิดว่าจะมีอายุต่อถึง 85 ปี ก็แปลว่าเราต้องเตรียมเงินให้พอ เพื่อเอาไปใช้ในช่วง 25 ปี หลังจากหยุดทำงาน
คิดง่าย ๆ โดยตัดเงินเฟ้อออกไปก่อน ถ้าหลังเกษียณเราอยากใช้เงินเดือนละ 30,000 บาท หรือปีละ 360,000 บาท แปลว่า ตอนเกษียณเราต้องมีเงินอย่างน้อยประมาณ 9 ล้านบาท
คำถามคือ แล้วจะเอาเงินก้อนนี้มาจากไหน ?
ถ้าออมเงินเฉย ๆ โดยที่ไม่ลงทุน สมมุติว่าตอนนี้เราอายุ 30 ปี และอยากเกษียณด้วยเงิน 9 ล้านบาทตอนอายุ 60 ปี เงินที่ต้องออมต่อเดือนจะอยู่ที่เดือนละ 25,000 บาท (เงินเดือนทั้งเดือนเลยนะเนี่ย)
การออมเงินอย่างเดียวเลยดูจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเท่าไหร่ แล้วถ้าแบ่งเงินไปลงทุนด้วยจะเหนื่อยน้อยลงไหม ?
คำตอบ คือ เหนื่อยน้อยลงแน่ ๆ เพราะถ้าเอาเงินออมทุกเดือน ไปลงทุนต่อในหุ้นหรือกองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนปีละ 7% เป็นเวลา 30 ปี ออมเงินเหลือแค่เดือนละประมาณ 7,377 บาท ก็มีเงินเกษียณตามเป้าแล้ว
อีกประเด็นที่เห็นคือ คนที่อายุยังไม่มากจะไม่ค่อยคิดเรื่องเกษียณเท่าไหร่
1
ในสารคดีการเงินบนเน็ตฟลิกซ์ที่มีชื่อว่า Money, Explained ตอน การเกษียณอายุ ทดลองเอาคนเข้าไปในเครื่องสแกนสมอง และให้ลองนึกภาพตัวเราและคนแปลกหน้า ในปัจจุบันและในอีก 10 ปีข้างหน้า
ที่น่าสนใจคือ สมองดูจะไม่ค่อยตื่นตัวเท่าไหร่เวลานึกถึงตัวเองในอนาคต หรือพูดได้ว่าคนจะไม่ค่อยเข้าใจ และมองว่าตัวเราในอนาคตเป็นคนแปลกหน้า
เลยมีการทดลองต่อไปว่า ถ้าเราสร้างภาพจำลองของตัวเองตอนอายุมากให้ผู้เข้าร่วมทดลองดู จะมีส่วนกระตุ้นให้พวกเขาอยากเก็บเงินเพื่อเกษียณมากขึ้นรึเปล่า ?
คำตอบที่ได้ คือ ผู้เข้าร่วมการทดลองอยากเก็บเงินเพื่อเกษียณเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า ❗
ผลการทดลองนี้ทำให้เห็นว่า บางครั้งถ้าเราอยากให้คนที่อายุยังไม่มากมาเริ่มออมเงินเพื่อเกษียณ การทำให้คนเห็นภาพตัวเองในอนาคตชัดพอก็มีความจำเป็น ที่จะให้พวกเขายอมเสียสละการใช้เงินในวันนี้ เพื่อแลกกับประโยชน์ของตัวพวกเขาเองในอนาคต
✍️ อยากย้ำอีกรอบว่า หลักการออมเงินเพื่อเกษียณที่สำคัญมีอยู่สองอย่าง คือ
(1) เริ่มวางแผนเกษียณได้แล้วตั้งแต่ตอนนี้ เพราะยิ่งเริ่มออมเร็ว เงินที่ต้องออมต่อเดือนจะน้อยกว่า
(2) อย่าออมเงินอย่างเดียว ให้เอาเงินออมนั้นไปลงทุนด้วย
สุดท้ายแล้ว การวางแผนเกษียณที่ดีไม่เพียงแต่จะช่วยให้ตัวเราไม่ลำบากตอนอายุมาก แต่มันยังช่วยให้เราไม่ต้องเพิ่มภาระให้กับคนที่เรารัก ในอนาคตได้อีกด้วยครับ
อ้างอิง
ข้อมูลสถิติผู้สูงอายุจากกรมกิจการผู้สูงอายุ
Money, Explained
"เพราะการเงินเป็นเรื่องของทุกคน"
พวกเรากลุ่มคนที่รักเรื่องราวของการเงินการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ จึงก่อตั้งเพจ Dime! (ไดม์!) ขึ้น
Dime! แปลว่าเหรียญ 10 เซ็นต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุนเป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ เข้าใจง่าย และนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้จริง เหมือนกับเงิน 1 ไดม์ ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
หากทุกคนมีความรู้ทางการเงินที่แข็งแรง
สังคมของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
โฆษณา