6 ม.ค. 2022 เวลา 13:26 • คริปโทเคอร์เรนซี
ภาษีคริปโตฯเค้าเก็บกันยังไงในประเทศพัฒนาแล้ว?
คาดว่าเพื่อนๆคงได้ข่าวกันแล้วแหละว่า สรรพากรประกาศเก็บภาษีจากกำไรจากการขายสกุลเงินดิจิทัลในอัตราร้อยละ 15 โดยที่จะคิดจากตอนขายที่เป็น realized capital gain เท่านั้น
ซึ่งก็เป็นไปตามคาดคือ เกิดกระแส อิหยังวะ!กันอย่างเนืองแน่น ยิ่งกว่าทัวร์แก้ปีชง โดยส่วนใหญ่เห็นกันเป็นเสียงเดียวกันว่า ทีตอนขาดทุนไม่เห็นมีไครมาช่วยแล้วทำไมกำไรขึ้นมาต้องเสียภาษี บ้างก็ว่า ทำไมไม่เอามาหักขาดทุนก่อนล่ะคะคุณพี่ แล้วค่อยคำนวณภาษีกันไปตามเรื่องตามราว ซึ่งดอกเบี้ยสีทองก็เคยวิพากษ์ Capital Gain Tax และ Financial Transaction Tax มาแล้วในบทความก่อนหน้า
วันนี้เลยอยากจะมาเล่าให้ฟังว่า ประเทศที่มีระบบภาษีเจริญรุดหน้ามากที่สุดในโลกอย่างสหรัฐอเมริกาเค้าจัดการกับภาษีจำพวกนี้ยังไง แล้ววิธีที่ใช้อยู่มันมีข้อดี ข้อเสียอะไรบ้าง ตามมาค่ะ
2
หลังจากที่ปธน.ลุงไบเดนแกเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน แกก็เสนอร่างต่อสภาเลยว่าต้องการขึ้นภาษีกำไรจากสินทรัพย์ ซึ่งรวมหุ้นและคริปโตเคอเรนซี่ด้วย จาก 20% ไปที่ 39.6% แต่จะเก็บเฉพาะคนที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 1 ล้านเหรียญเท่านั้นนะ ส่วนคนที่รายได้ไม่ถึงก็จะลดสัดส่วนกันลงมา
ทีนี้เรามาดูกันซิว่า IRS (สรรพากรมะกัน) เค้าว่ายังไง อ้างอิงจาก Cost Basis Assignment เค้าบอกว่า ผู้เสียภาษีทุกคนจะต้องแสดงข้อมูลการซื้อขายสินทรัพย์ทุกชนิด เช่นคริปโตเคอเรนซี โดยต้องระบุว่าขายเมื่อไหร่ ที่ราคาเท่าไหร่ หรือถ้าถือไว้ก็ต้องบอกว่ามีอะไรบ้างเป็นจำนวนเท่าไร ซึ่งการรายงานทางบัญชีนักลงทุนสามารถเลือกวิธีการยื่นภาษีได้เอง ที่คิดว่าเกิดประโยชน์สูงสุด เช่น First in First Out (FIFO) และ การระบุแบบเฉพาะ
ยกตัวอย่างวิธีการ FIFO กันเล็กน้อย สมมุติว่า ดิฉันซื้อบิทคอยน์ 3 ครั้งครั้งละ 1 เหรียญในปีที่แล้ว เมื่อ 1 มค., 1 เม.ย., และ 1 พ.ย. แล้วดิฉันขายบิทคอยน์ไป 2 เหรียญ ในเดือนธ.ค. บิทคอยน์ 2 เหรียญที่ขายนี้ก็จะนำราคาขายมาคิดจากทุนของเหรียญที่ซื้อก่อน คือซื้อเมื่อ 1 ม.ค. กับ 1 เม.ย. นั่นเอง
หรือผู้เสียภาษีอาจเลือกใช้วิธี การระบุเฉพาะ ซึ่งต่างจาก FIFO คือ นักลงทุนเลือกเองได้เลยว่า บิทคอยน์ที่ขายนี้เราซื้อมาวันไหนใน 1 มค., 1 เม.ย., และ 1 พ.ย. ทำให้ผู้เสียภาษีสามารถบริหารภาษีได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พูดง่ายๆคือไปเลือกอันที่มันทุนสูงที่สุดหักออกมาจะได้เหลือกำไรที่ต้องเสียภาษีน้อยๆนั่นเอง แต่วิธีนี้จะสร้างความวุ่นวายพอควร เพราะ IRS จะต้องการให้เราเปิดเผยข้อมูลเยอะกว่าเดิม เช่นส่งบันทึกการซื้อขาย รวมทั้ง Private Key รวมถึงสามารถขอข้อมูลใน Wallet ก็ได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ ซึ่งจะต่างจาก FIFO ที่ทำได้ง่ายกว่า ไครเขียนโปรแกรมหรือทำแอพฯพวก Optimizing Tax Payment จากคริปโตฯ ได้เริ่มเลอนะคะ ช่วงดอกเบี้ยสีทองชี้ช่องรวย
มาดูเกณฑ์ในการเสียภาษีเพิ่มเติมกันอีกนิดนึง ตามIRS เค้ายังมีการแบ่งเบาภาระภาษี โดยจะแบ่งภาษีจากกำไรจากการขายสินทรัพย์เป็นระยะสั้นและระยะยาวอีก ซึ่งถ้าเราถือคริปโตฯน้อยกว่า 1 ปี จะถือว่ากำไรที่ได้นี้ไปรวมเป็นรายได้ส่วนบุคคลไปเลยซึ่งเป็นขั้นบันไดระหว่าง 10-37% ซึ่ง ณ จุดนี้ดิฉันคิดว่าบ้านเราอาจทำแบบนี้ด้วยคือ แจ้งรายได้จากการขายไปรวมกับรายได้อื่นๆก่อนคำนวณภาษีว่าจะต้องจ่ายเท่าไหร่ ไปว่ากันตามขั้น ซึ่งจะมีประโยชน์ในการลดความเหลื่อมล้ำจากช่องว่างคนจน คนรวยได้อีกทาง (หรืออาจหน้ามืดคิด 15%หมดไม่มีขั้นหรือเกณฑ์ใดๆออกแนวร้อนเงินก็ยังเป็นไปได้ในประเทศนี้) ในขณะที่อเมริกาการขายคริปโตเมื่อถือครองเกินกว่า 1 ปีนั้น จะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าเพราะจะถูกแยกจากรายได้อื่นๆ ในอัตรา 0-20% ขึ้นกับรายได้รวม (แต่ไม่ไปเพิ่มฐานรายได้)
1
ทีนี้ก็มาถึงประเด็นสำคัญ แล้วชาวเมกันลดภาษีคริปโตฯกันยังไง ซึ่ง IRS ก็ยังมีเหตุมีผล (ไม่เหมือนบางประเทศ) ที่อนุญาตให้มี Tax-Loss harvesting ได้ พูดง่ายๆคือสามารถนำขาดทุนจากการขายคริปโตเนี่ยมาหักล้างกำไรได้นะ ยกตัวอย่างเช่น สมมุติมีนักลงทุน 2 คนชื่อ พะยูน กับ มดดำ ทั้งสองคนซื้อ บิทคอยน์คนละ 0.5 เหรียญ ในราคา 5,000 USD เมื่อ 1 ก.ย. พะยูนถือยาวๆไป ส่วนมดดำขายออกไปที่ราคา 4,000 USD เมื่อ 1 ต.ค. ซึ่งทำให้มดดำขาดทุน 1,000 USD และสามารถนำ Capital Loss มาสะสมไว้ได้
ซึ่งถ้ามดดำเฟียสไม่หยุด เอา 4,000 ที่ได้ไปซื้อได้ราคาดีกลับมา 0.5 บิทคอยน์ในวันที่ 1 พ.ย. สุดท้ายทั้งพะยูนและมดดำจะมี 0.5 เหรียญบิทคอยน์เท่ากัน แต่มดดำสามารถนำขาดทุนมาหักภาษีกำไรได้ นี่คือสิ่งที่สามารถทำได้ และดิฉันคิดว่าสมเหตุสมผลที่จะเก็บภาษีลักษณะนี้ เพราะการเก็บภาษีเฉพาะกำไรมันก็ไม่แฟร์ต่อนักลงทุนที่ต้องแบกรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากเดิมก็เป็นรถไฟเหาะอยู่แล้ว
1
หรือถ้ากรณีที่ทั้งปีเทรดหุ้นกับคริปโตบ้งมาก ขาดทุนอย่างเดียวเลยก็สามารถนำขาดทุนนี้มาหักรายได้ต่อปีได้ไม่เกิน 3000 USD เหมือนหักค่าใช้จ่ายก่อนคำนวณภาษี
2
การเก็บภาษีเมื่อมีการขายคริปโตฯส่วนใหญ่จะคิดเมื่อรับรู้รายได้แล้ว (Taxation upon realization) ซึ่งก็มีข้อดีหลักๆเลยคือมันง่าย อย่างที่อธิบาย FIFO ไปข้างต้นเพราะใช้ราคาซื้อราคาขายมาคำนวณกำไรขาดทุนได้เลย แต่ก็เกิดข้อเสียบางอย่างขึ้นมาเหมือนกัน
“Angel of Death” เป็นคำที่ใช้เรียกจุดอ่อนของภาษีแบบนี้ เช่น สมมุติ เจ๊แต๋วซื้อบิทคอยน์มา ต้นทุน 500 USD แล้วถือไป 2 ปี เกิดหัวฟาดชักโครกตาย ในขณะที่ราคาบิทคอยน์ขึ้นไปที่ 1000 USD อาโคยที่เป็นทายาทจะได้รับส่งมรดกก่อนตายในต้นทุน 1000 USD แทน ซึ่งไม่ใช่ต้นทุนของบิทคอยน์ที่ซื้อครั้งแรก ทำให้อาโคยไม่ต้องเสียภาษีกำไรจากต้นทุนเดิม ซึ่งก็นับว่าเป็นจุดอ่อนในการเก็บภาษีเมื่อขาย ซึ่งตอนนี้ในอเมริกาเองก็มีปัญหาหนึ่งที่เรียกว่า Lock-in Effect ซึ่งทำให้นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะถือครองสินทรัพย์เสี่ยงนานขึ้นเพื่อลดภาระภาษี และเพื่อทำให้ผลตอบแทนสุทธิจากการถือครองสินทรัพย์สูงขึ้น
ถึงตรงนี้ประเทศต่างๆที่มีการเก็บภาษีกำไรจากหุ้น หรือ คริปโตฯก็ยังไม่สามารถหาจุดที่ลงตัวที่สุดสำหรับนักลงทุนและความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ จึงเริ่มมีการเสนอการเก็บภาษีแบบสะสม (Accrual basis capital gain tax) หรือการคำนวณภาษีตามราคาจริง (mark to market) คือจะขายหรือไม่ไม่สนใจ แต่ถ้ากำไรหรือขาดทุนจะสะสมให้เองในแต่ละปี เพื่อลดการบิดเบี้ยวที่จะเกิดขึ้นจากการเก็บภาษีเมื่อขาย แต่ดิฉันเองยังไม่เคยเห็นที่ไหนเลยที่เสนอจะเก็บภาษีกำไรเท่านั้นโดยไม่สามารถหักขาดทุนได้ หรือพูดง่ายคือหน้ามืดจะเก็บอย่างเดียวโดยไม่สนใจปกป้องนักลงทุนเลยจนกระทั่งวันนี้…… งงมากแม่
1
โฆษณา