6 ม.ค. 2022 เวลา 13:32 • ข่าวรอบโลก
โพสนี้เป็นการรวบรวมเทรนด์ที่น่าจับตามองของปี 2022 ในภาพรวมระดับ Global ในด้านต่างๆทั้ง การเมือง โลกการเงิน โควิด การทำงาน Metaverse Space Exploration วันนี้รีวิวทุกอย่างที่อ่านออกแยกออกมาเป็น 6 หัวข้อให้อ่านตามกันได้ง่ายๆ ถ้าพร้อมแล้วมาดูเทรนด์ของปี 2022 กันค่ะ :)
1. โควิดจะหมดไปเมื่อไหร่? โลกหลังโควิดจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมไหม?
จากที่หลายๆคนคาดการณ์ ทั้งในไทยและต่างประเทศ สายพันธุ์โอไมครอนน่าจะเป็นระลอกท้ายๆของโควิด และหลังจากนี้พวกเราก็ต้องอยู่ร่วมกันกับโรคนี้เหมือนไข้หวัดใหญ่ และ โรคติดต่อที่ไม่ถึงชีวิตอื่นๆ คำถามที่เราถามตัวเองตลอดคือ ถ้าโควิดเริ่มเบาบางลง คนจะกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมไหม?
The Economist ได้เก็บข้อมูลทั่วโลกและได้จัดทำ Normalcy Index หรือ ตัวชี้วัดว่าโลกเราจะกลับไปเป็นเหมือนก่อนโควิดได้ไหม โดยที่ 100 คือค่าเฉลี่ยก่อนโควิด ทำการสำรวจใน 50 ประเทศ
Normalcy Index วัดจาก 8 ปัจจัยได้แก่ (1) ปริมาณไฟลท์เครื่องบิน / (2) การใช้รถ / (3) การเดินทางสาธารณะ / (4) การจองตั๋วโรงภาพยนตร์ / (5) การเข้าร่วมการแข่งกีฬา/ (6) เวลาที่ใช้นอกบ้าน / (7) ปริมาณคนที่เข้าออฟฟิศ และ (8) ปริมาณคนที่เข้าร้านค้า
แน่นอนว่าในช่วงที่ระบาดรอบแรกนั้น NI (Normalcy Index) ลงไปอย่างหนัก แต่พอสถานการณ์ดีขึ้นมีหลายประเทศเลยที่กลับมาได้ถึง 75-90% เช่น จีน อเมริกา หรือแม้กระทั่งกับค่าเฉลี่ยของโลกก็ยังขึ้นมาได้กว่า 75 ซึ่งโดยส่วนตัวยอมรับว่าเซอร์ไพรส์เพราะคิดว่าโลกน่าจะกลับมาอยู่ในช่วงก่อนโควิดได้ยาก แต่สำหรับทาง Economist กลับมองว่าโลกน่าจะกลับมาเป็นก่อนโควิดได้ เช่น ปริมาณการเข้าโรงภาพยนตร์ถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะกลับมาได้ถึง 80% เลยทีเดียว (กราฟนี้ยังบอกเราด้วยว่าโควิดทำอะไรการจับจ่ายของวันตรุษจีนไม่ได้เลย 55)
จุดน่าสนใจคือ อินเดียที่ฉีดวัคซีนเป็นอันดับสองของโลกคือฉีดไปถึง 1.46B โดส ครอบคลุม 62% ประชากร แต่เหตุผลที่ NI ยังต่ำเป็นเพราะว่ามีปริมาณคนที่ fully-vaccinated เพียง 44% เท่านั้น เมื่อเทียบกับอเมริกา (62%) หรือ อังกฤษ (71%) ไทยของเรายังมีปริมาณคนฉีด fully-vaccinated ถึง 65% ดังนั้นปริมาณการฉีดวัคซีนจึงแปรผันตรงกับการใช้ชีวิตปกติได้ซึ่งเราอาจจะได้เห็นการมีชีวิตปกติโควิดได้อีกครั้งในปี 2023
2. คอมมิวนิสต์ VS ประชาธิปไตย
จีน VS อเมริกา
การต่อสู้ของจีนและอเมริกามีมาอย่างยาวนานและเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งที่น่าจับตามองเป็นพิเศษสำหรับปี 2022 ไม่ใช่เพียงแค่การต่อสู้ของสองประเทศนี้ แต่คือการต่อสู้ของระบบการปกครอง
ถึงแม้ว่าจีนจะมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน และ ความแตกต่างของรายได้และชนชั้นที่เห็นอยู่ในข่าวช่วงที่ผ่านมา แต่เรื่องที่ต้องยอมรับคือ จีนจัดการเรื่อง “พื้นฐาน” ซึ่งคือ สุขภาพของประชาชนในช่วงโควิดได้ดีกว่าประเทศอเมริกามาก ทั้งปริมาณวัคซีนที่ฉีด จำนวนคนที่ติด รวมไปถึงกับเศรษฐกิจภายในประเทศที่จีนใช้วิธีให้คนในประเทศจับจ่ายใช้สอยในช่วงที่เปิดประเทศไม่ได้ เน้นการสร้างกลุ่มชนชั้นกลางให้มากขึ้น และ เตรียมการเทคโนโลยีต่างๆที่ล้ำหน้า เช่น หยวนดิจิตัล ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศอื่นโดนพิษโควิดทำร้าย
ในเดือนพฤศจิกายนปี 2021 ที่ผ่านมามีภาพที่ชัดเจนของความแตกต่างของ 2 ระบบการปกครองเกิดขึ้น ประธานาธิบดีโจ ไบเดนเริ่มเสียฐานเสียงทั้ง ส.ว. และ ส.ส. จากการเลือกตั้ง Midterm Election มีการประท้วงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของเงินเฟ้อ การขาดแคลน Supply รวมไปถึงกับการจัดการโควิด ประธานาธิบดีโจ ไบเดนเคยมีพูดเอาไว้ว่า
“Other countries are speeding up and America's falling behind. The world has taken notice by the way.” (ประเทศอื่นกำลังไปเร็วขึ้น ตอนนี้อเมริกาเริ่มตามหลังแล้ว และโลกก็รับรู้ถึงเรื่องนี้ด้วย)
ในขณะที่เดือนพฤศจิกายนของจีนเป็นการต่อการปกครองให้ สี จิ้นผิง (ซึ่งมันก็ต้องต่ออยู่แล้วเป็นปกติ) จีนกำลังเตรียมตัวสำหรับโอลิมปิกฤดูหนาว เป็นช่วงเวลาแห่งการรวมใจของคนในประเทศ ในขณะที่ฝั่งตะวันตกยังมีเรื่องวุ่นวายอยู่
แต่ในมุมที่มีความวุ่นวายนี้ในมุมหนึ่งก็เป็นสัญลักษณ์ที่ดีมากๆว่า ประชาชนในโลกฝั่งตะวันตกมีสิทธิมีเสียงที่จะคิดแตกต่าง ออกเสียง เรียกร้อง และไม่ถูกจำกัดสิทธิ ในขณะที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จีนไม่ได้มีชื่อเสียงที่ดีเท่าไหร่เลย
เรารู้สึกสนใจที่จะเห็นการต่อสู้ของความแตกต่างสุดขั้วของ 2 ระบบการปกครองนี้ในปี 2022 ในทุกๆด้าน ความคิดเห็นของเราคือน่าจะไม่ได้มีผู้ชนะหนึ่งเดียวในทุกด้าน แต่น่าจะเป็นการชนะร่วมแบบรวมๆ บางด้านจีนอาจจะแกร่งกว่า บางด้านอเมริกาก็เก่งกว่า ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องที่น่าติดตามต่อไป
3. Hybrid working กับการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน
ในปี 2021 เราได้ประสบพบเจอกับ Great Resignation ที่คนลาออกกว่า 40% ในประเทศอเมริกาและหลายประเทศทั่วโลก เพราะการปรับตัวในช่วงโควิดทำให้เจอ Lifestyle ใหม่ๆ ที่ตรงใจลูกจ้างมากกว่า ทำให้หลายๆบริษัทมีการใช้ Hybrid working คือ ทั้งทำงานที่บ้าน และ เข้าออฟฟิศเพื่อรั้งลูกจ้างเอาไว้ แต่สำหรับปี 2022 นี้ ไม่ใช่แค่เพียงวิธีเท่านั้นที่สำคัญ แต่มีประเด็นในเรื่องของการหาจุดพอดีใน Hybrid Working เข้ามาเป็นประเด็นเพิ่มเติมด้วย
ขอเล่าย้อนความกันเล็กน้อยว่า ในออฟฟิศทั่วๆไปในหลายประเทศ การแบ่งแยกเชื้อชาติ (Racist) การกีดกันทางเพศ (Sexist) หรือ การเลือกปฏิบัติ (Discrimination) เป็นปัญหาเรื้อรังที่พยายามแก้กันมายาวนาน ประเทศไทยเราดีหน่อยที่เรื่องเหล่านี้น้อยกว่าชาติตะวันตกหลายชาติ หลายบริษัทถึงขึ้นมี Diversity Policy หรือคือในตำแหน่งระดับสูงหรือการจ้างงานต้องมีความหลากหลายของเพศและเชื้อชาติในการจ้าง
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ Hybrid Working อย่างไร?
ผู้หญิง (85%) อยากทำงานที่บ้านมากกว่าผู้ชาย (79%) เพราะความยืดหยุ่น คนผิวสีอยากทำงานที่บ้านมากกว่าคนผิวขาว มีเพียงคนผิวสี 3% เท่านั้นที่อยากกลับมาทำงานออฟฟิศทุกวัน เทียบกับ คนผิวขาว 21% ที่ยินดีกลับมาทำออฟฟิศตามปกติ
สถิตินี้ไม่ทำให้เราแปลกใจ เพราะเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเรารู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างในบริษัท เราก็ย่อมไม่อยากไป แต่ปัญหาคือ ถ้าบริษัทยอมให้คนเหล่านี้ไม่เข้าออฟฟิศจริงๆ มันจะเกิดผลเสียต่อคนกลุ่มนี้ในระยะยาว
Presenteeism เป็นคำทางจิตวิทยาที่มีความหมายว่าเราจะมีความรู้สึกว่าคนที่เรา “เห็น” บ่อยๆ ทำผลงานได้ดี หรือ ขยันกว่าคนที่เราไม่ค่อยเห็น สิ่งนี้ใช้ได้กับทุกอย่างไม่ใช่เพียงแค่เรื่องงาน ถ้ากลุ่ม Minority หรือ ผู้หญิงเข้าออฟฟิศน้อยลง โอกาสทางการงานก็มีแนวโน้มที่จะน้อยลงตามไปด้วย ดังนั้นแล้วบริษัททั่วโลก (รวมไปถึงไทยด้วย) ต้องหาจุดพอดีในการทำงาน Hybrid Working ให้เหมาะกับ Culture องค์กรตัวเอง
ในการหาจุดพอดีนั้นก็มีจุดที่ยากอีกจุดหนึ่งคือ ความต้องการของนายจ้างและลูกจ้าง จากการทำสำรวจที่ทำในประเทศอเมริกา นายจ้างอยากให้ลูกจ้างเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศเฉลี่ย 4 วัน / สัปดาห์ ในขณะที่ลูกจ้างอยากเข้าออฟฟิศ 2.5 วันเท่านั้น ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่บริษัทต้องหาจุดลงตัวของ Performance / Efficiency / Flexibility
4. Metaverse โลกเหมือน VS Space นอกโลก
ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา App Oculus ที่ใช้กับ VR Oculus ของ Meta ขึ้นยอดดาวน์โหลดอันดับหนึ่งใน App Store เพราะคนซื้อ VR เป็นของขวัญปีใหม่ ตัวเราเองก็ได้ซื้อมาลองเล่นเหมือนกัน และ ค้นพบว่าเทคโนโลยีได้พัฒนาไปในระดับที่เราสามารถตีปิงปองได้ด้วยความรู้สึกใกล้เคียงของจริงมากๆ ความรู้สึกตอนที่เข้าโลกเสมือนไปเหมือนอยู่ในโลกอีกใบจริงๆ สมแล้วที่ Meta ลงทุนกว่า $10 billion ในการสร้างโลกเสมือนนี้
ในไทยคนยังเล่น Metaverse กันไม่มาก แต่ในระดับ Gloval ตอนนี้มีคนหลายสิบล้านคนเริ่มเล่นเกม 3D และเข้าสังคมในโลก VR แล้ว
ในปี 2021 Ariana Grande เปิดคอนเสิร์ตใน Fortnite เกมโลกเสมือนและมีผู้เข้าชม 1 ล้านคน เป็นที่สองรองจาก Travis Scott ที่มีเข้าชม 1.2 ล้านคน ถือว่าเป็นคอนเสิร์ตที่ใหญ่ที่สุดในโลก
โดยส่วนตัวเราคิดว่าสิ่งที่น่าจะได้เห็นในปี 2022 คือ Virtual Meeting คือการประชุมโดยที่มีตัวเราจริงๆไปนั่งประชุมคล้ายๆกับในหนัง Marvel ซึ่งตอนนี้ Meta และ Microsoft กำลังเร่งพัฒนาจุดนี้ ซึ่งน่าตื่นเต้นมากถ้าหากว่าเราจะสามารถประชุมได้เหมือนจริงกับคนที่อยู่ห่างไปเป็น 1,000 ไมล์
ในปี 1957 เราเห็นการแข่งขันการออกนอกโลกของ Sputnik ของรัสเซีย และ อเมริกากันมาแล้ว ในปี 2022 นี้ มีแนวโน้มที่เราจะได้เห็นสิ่งนี้เช่นกัน การต่อสู้เป็นการต่อสู้หลายทางระหว่างหลายชาติ และ หลายบริษัท
จีนได้สร้างสถานีอวกาศนานาชาติของตนเอง (Tiangong International Space Station) หลังจากที่โดยแบนการใช้สถานีของชาติอื่นสำเร็จแล้ว
อินเดีย หน้าใหม่ในวงการ ที่ตั้งใจจะส่ง Moon Rover ขึ้นไปบนดวงจันทร์ช่วงสิ้นปี 2022 หลังจากที่เคยทำแล้วแต่ไม่สำเร็จ
มหาเศรษฐีเจ้าใหญ่ของอเมริกาทั้ง 3 คน ได้แก่ Elon Musk, Jeff Bezos, Richard Branson ที่มุ่งเน้นไปที่การท่องเที่ยวในอวกาศ ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกที่เราจะได้เห็นผู้โดยสารจรวดเป็นคนที่มีเงินจ่าย แทนที่จะเป็นนักบินอวกาศ
Hollywood เองก็มีแผนอยากส่ง Tom Cruise ไปถ่ายทำภาพยนตร์ในวงโคจร แต่ยังไม่มีแนวทางชัดเจน แต่ทางรัสเซียได้ส่งนักแสดง Yulia Pereslid และ Film Director ขึ้นวงโคจรและถ่ายทำหนัง กลับมายังโลกปลอดภัยเรียกร้อย โดยที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะปล่อยออกมาในปี 2022 เช่นกัน
1
น่าสนใจมากว่าระหว่างการออกนอกโลก และ สร้างโลกใหม่นี้ โลกใบใดจะให้เราได้สัมผัสก่อนกัน ไม่ว่าจะทางใดก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูต่อไปในปี 2022 ค่ะ
5. การต่อสู้ 3 ทางของโลกการเงิน
ในปี 2021 นั้น โลกการเงินเต็มไปด้วยเรื่องราวใหม่ๆ ตลาดที่ผันผวน และ การฉีกตำราการเงินที่เรียนกันมาอย่างสิ้นเชิง ในปี 2022 เราเชื่อว่าก็จะไม่แพ้กัน ในภาพรวมมี 3 เทรนด์ที่น่าติดตาม (จริงๆแล้วในโลกการเงินมีเรื่องน่าสนใจเยอะมาก จนแทบสรุปไม่ไหว เอาเป็นว่าหลักๆคือต้องติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดเอาละกันนะคะ)
(1) Meta (Facebook) และ Fintech Start-ups อื่นๆ มีแนวทางที่ชัดเจนในการทำตัวเองเป็น One stop service ด้านการเงิน คือเป็นทั้ง Wallet P2P Lending (เพื่อนปล่อยกู้ให้เพื่อน โดยไม่ต้องผ่านธนาคารตัวกลาง) และ การออก Financial Products
ซึ่งในไทยเองก็มีบริษัท P2P Lending ที่อยู่ใน Regulatory Sandbox คือกำลังอยู่ในช่วงที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังตรวจสอบก่อนที่จะนำมาใช้จริงอยู่ถึง 3 บริษัท (อ้างอิงข้อมูลกันยายน 2021) ซึ่งส่วนตัวเราเชื่อว่าในปีนี้น่าจะได้เห็นผู้ให้บริการและผลิตภัณฑ์ในโลกการเงินที่หลากหลายขึ้นแน่นอน
(2) Decentralised Finance (DeFi) NFTs และผลิตภัณฑ์ในเทคโนโลยี Blockchain
ในส่วนนี้มีหลายเรื่องที่น่าจับตามอง สรุปออกมาครบถ้วนได้ยาก แต่ Trend ที่เห็นชัดเจนคือ NFTs ที่อาจจะถูกนำมาใช้แทน Social Status เหมือนแบรนด์หรูอย่างพวก Chanel, Hermes เพราะนำมาใช้เป็น Profile Picture (ซึ่งเราใช้บ่อยกว่ากระเป๋า นาฬิกามาก) และเป็นบัตรผ่านเข้า Community ที่ไฮโซอย่างเช่น กลุ่มคนที่ถือ Bored Ape ที่เป็น Celebrity นักร้อง นักฟุตบอล เรียกได้มาเหมือนเป็น Membership Club ย่อมๆเลยทีเดียว
ยังไม่นับโลกผลิตภัณฑ์ทางการเงินของคริปโตอื่นๆ ที่จะมีออกมาอีกมากแน่นอนในอนาคต ในไทยเองก็เริ่มมีบริษัทที่ได้ใบอนุญาตกองทุนคริปโตอย่าง Merkle Capital แล้วเช่นกัน
(3) ธนาคารกลางที่ปกติแล้วจะขึ้นชื่อเรื่องความ Conservative มีการเริ่มออกสกุลเงินดิจิตัลของตัวเองโดยมีจีนที่นำหน้าการออกหยวนดิจิตัลให้ใช้ใน 11 รัฐ เพื่อรองรับโอลิมปิกฤดูหนาวนี้ด้วย ซึ่งไม่ได้มีแค่จีนเท่านั้น แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว และ ประเทศใหญ่ๆ ก็มีการวางแผนเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง คิดว่าน่าจะเห็นการต่อสู้ของสกุลเงินดิจิตัลที่ออกโดยรัฐบาลในปี 2022 เช่นกัน
6. สิ่งแวดล้อม และ ความยั่งยืน
เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ในปัจจุบันนี้นักลงทุนและกลุ่มที่มีอำนาจไม่ได้สนใจแต่เงินและผลกำไรเท่านั้น แต่สนใจผลกระทบที่มีกับโลกด้วย
ESG เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งย่อมาจาก Environment (สิ่งแวดล้อม) , Social (สังคม) , และ Governance (การกำกับดูแลและความโปร่งใส ตรวจสอบได้) ปัจจุบัน ESG ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลกในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นแนวคิดที่นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน
เราคิดว่าอันนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ดี เพราะทุกบริษัทย่อมอยากได้เงินลงทุน และ หากว่าเกณฑ์ในการพิจารณาลงทุนได้นำ ESG ไปใช้อย่างแพร่หลาย และประกอบกับนโยบายอื่นๆ เช่น การชดเชยคาร์บอน การรวมศูนย์ข้อมูลเพื่อประหยัดพลังงาน ทั้งหมดนี้ย่อมยั่งยืนและดีกับโลกในระยะยาวมากกว่า
ถ้าใครชอบ Content แบบนี้สามารถเลือกติดตามได้ตามความสนใจดังนี้ค่า
> ชอบเรียนรู้ : https://www.facebook.com/reviewlearnings
> ชอบลงทุน: https://www.facebook.com/tradeeveryth
โฆษณา