6 ม.ค. 2022 เวลา 15:48 • ธุรกิจ
PDCA ในมุมที่คุณอาจยังไม่รู้
PDCA เป็นแนวคิดในการบริหารคุณภาพ เกิดมาแล้วกว่า 90 ปีนะครับแต่ก็ยังคงมีการใช้แนวทาง PDCA อยู่จนถึงปัจจุบันในหลายๆองค์กรและก็ยังนำไปใช้เป็นพื้นฐานของเครื่องมือการบริหารอื่นๆจนถึงในปัจจุบัน
.
นับถอยหลังไปตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางอเมริการส่งผู้เชี่ยวชาญไปช่วยญี่ปุ่นฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังแพ้สงคราม บุคคลท่านแรกที่คิดค้นคือคุณ Walter Shewhart ซึ่งได้ออกแบบหลักการ PDCA แล้วนำไปใช้กับประเทศญี่ปุ่นในแบบสไตล์ตะวันตก ซึ่งก็ไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จเท่าไหร่ เพราะเป็นการใช้งานแยกหน่วยงานเพื่อดูว่า คุณภาพมันตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้จริงเปล่าเท่านั้นเอง
.
ต่อมา ดร.เดมมิ่ง ได้ปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นซึ่งเขาจะไม่แยกการทำเป็นส่วนๆ แต่เน้นความร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะการตรวจเช็คไม่ใช่การจับผิด แต่เป็นการค้นหาโอกาสในการที่จะปรับปรุง หลังจากนั้นมา 20 ปีคนญี่ปุ่นจะรับรู้ในส่วนของคำว่า วงจรเดมมิ่ง PDCA เป็นแนวคิดในลักษณะที่กลมกลืนทำเป็นต่อเนื่องไม่ได้แบ่งเป็นส่วนๆ ทั้งการวางแผน การปฏิบัติ การเช็ค และการ Action เป็นวงจรเดียวกัน ซึ่งก็ได้รับการแพร่หลายจนกลายเป็นวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นเลยทีเดียว
มาดูรายละเอียดของแต่ละเรื่องกันนะครับ
เรื่องแรก P Plan การวางแผน อันนี้ก็บางครั้งเป็นจุดอ่อนของหลายๆองค์กรว่าอยากจะทำอะไรก็ไปข้ามไป “ทำ” เลย โดยที่ไม่ได้ “Plan” จริงๆการวางแผนมีความสำคัญ เคยได้ยินใช่ไหมครับ วางแผนดีมีชัยไปกว่าครึ่งใช่ไหม ก่อนทำอะไรควรจะศึกษาสภาพปัจจุบันแล้วก็เลือกที่จะมาดำเนินการวางแผนก่อน โดยการกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนว่าเป็นการวางแผนเพื่อให้เกิดการปฏิบัติ หรือวางแผนเพื่อแก้ปัญหาหรือวางแผนปรับปรุง แล้วก็กำหนดเป้าหมายให้เป็นรูปธรรมชัดเจน วัดผลได้
ยกตัวอย่างนะครับ สมมุติว่าเราจะวางแผนในการปรับปรุง ระยะเวลาในสายการผลิตปัจจุบัน ซึ่งใช้เวลา 4 ชั่วโมงให้เหลือ 3 ชั่วโมง เราก็ตั้งเป้าหมายระยะเวลาการผลิต ไม่เกิน 3 ชั่วโมง หลังจากนั้น เราก็มาศึกษาสภาพปัจจุบันของกระบวนการผลิตว่า จะสามารถปรับปรุงอะไรได้บ้าง เช่น ขั้นตอนการชั่ง นับ ยังใช้คนจำนวนมาก ก็อาจวางแผนใช้เครื่องชั่ง นับอัตโนมัติเข้ามาแทน เป็นต้น จากนั้นก็ทำเรื่องขออนุมัติงบประมาณ ขออนุมัติทำการปรับปรุง
ถัดไปคือ ขั้นตอน Do ปฏิบัติ คือ แพลนแล้วอย่านิ่ง ถ้าเป็นการติดตั้งเครื่องจักร อุปกรณ์ ก็ทำให้เกิดการดำเนินการไปตามแผน แต่ถ้าเกี่ยวกับการปฏิบัติของคน อาจต้องมีการ สื่อสาร อบรม ทักษะ วิธีควบคุมการปฏิบัติให้เป็นตามข้อกำหนด เช่น ป้าย visual control ออกแบบอุปกรณ์ป้องกันความผิดพลาดเผลอเรอ โดยเฉพาะถ้าเกี่ยวข้องกับคนหลายคน ก็ต้องเน้น การสื่อสารประสานงานให้ดี
ถัดไปเป็นขั้นตอน check ตรวจสอบดูว่า ผลลัพธ์เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือเปล่า อย่างกรณีนี้ ตั้งเป้าระยะเวลาการผลิตไม่เกิน 3 ชั่วโมง เราก็ต้องคิดนะครับว่า จะวัดผลที่ไหน บ่อยเพียงใด
จากนั้นก็เข้าขั้นตอนสุดท้ายของ PDCA คือ Act หรือการปรับปรุง ก็คือนำผลจากการเช็คในขั้นตอนที่ผ่านมาว่าประเมินว่าเป็นอย่างไร เช่น อยากได้เวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมงแต่ได้ 3 ชั่วโมงครึ่งก็อาจจะต้องมีการปรับปรุงนะครับ หาวิธีที่จะทำให้เกิดการทำงานให้ได้ตามเป้าหมายหรืออาจจะขอกำลังเสริมมาตรวจสอบการวางแผนต่อไป ในกรณีที่ตั้งเป้าไว้ 3 ชั่วโมงแล้วทำได้ 3 ชั่วโมงหรือต่ำกว่า แสดงว่ามันได้ตามแผนก็อาจจะมีการจัดทำให้เป็นมาตรฐานจัดเก็บเป็นองค์ความรู้เพื่อใช้ในการปฏิบัติครั้งถัดไป และที่สำคัญ อาจวางแผนเพื่อทำ PDCA ในรอบต่อๆไป
สรุป การทำ PDCA ครบในแต่ละรอบ มันก็จะเป็นแรงส่งให้เกิดการทำ PDCA รอบต่อๆไปอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง
ไม่ใช่เพียงแค่เครือ่งมือปรับปรุงการทำงาน แต่มันจะเป็น กรอบความคิด (mind set) เป็นวัฒนธรรมแบบเดียวกับคนญี่ปุ่นที่จะปรับปรุงอย่างไม่สิ้นสุด ตัวอย่างบริษัทหนึ่งคือ บริษัทมูจิ ซึ่งนำ PDCA มาใช้แล้วเป็นบริษัทระดับโลกไปลงทุนในต่างประเทศหลายๆบริษัทได้กล่าวไว้นะครับว่ามาตรฐานหรือคู่มือ เพียงแต่ว่าทำเสร็จแล้วก็คือเสร็จสิ้น แต่การจัดทำมาตรฐานหรือคู่มือนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการทำ PDCA เพื่อให้ได้มาตรฐานและคู่มือที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นโอกาสของคุณนะครับในการที่จะลองไปทบทวนดูในกระบวนการทำงานของคุณว่ามีมาตรฐานหรือคู่มืออยู่แล้วหรือยัง ถ้ายังไม่มี นี่คือโอกาสที่จะได้ทำ PDCA เพื่อให้เกิดมาตรฐานและคู่มือสำหรับการทำงาน ถ้ากระบวนการใดของคุณมีมาตรฐานและคู่มืออยู่แล้ว นี่ก็เป็นโอกาสในการจะทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานและคู่มือดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้นไปอีกได้เช่นกัน
โฆษณา