9 ม.ค. 2022 เวลา 02:50 • กีฬา
ทำไมเศรษฐี ถึงชอบซื้อสโมสรฟุตบอล ?
รู้หรือไม่ว่า เชลซี แมนยู ลิเวอร์พูล อาร์เซนอล รวมถึงทีมฟุตบอลราว 3 ใน 4 ของพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ลีกฟุตบอลที่มีผู้ชมสูงที่สุดในโลกจากประเทศอังกฤษนั้น ไม่ได้มีเจ้าของเป็นคนอังกฤษ แต่กลับมีเจ้าของสโมสรเป็นชาวต่างชาติ
2
สโมสรฟุตบอลชั้นนำหรือแม้กระทั่งกีฬาอื่น ๆ
ได้กลายมาเป็นสินค้าที่เหล่าบรรดามหาเศรษฐีจากทั่วโลกหันมาลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ
โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกาและเอเชีย
แล้วเศรษฐีเหล่านี้ เขาซื้อสโมสรฟุตบอลเหล่านี้ไปทำไม ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
1
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หากเรามาดูความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีระดับ Billionaire
หรือผู้ที่มีความมั่งคั่งรวมสูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.3 หมื่นล้านบาท
1
ปี 2011 มูลค่า 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 119.9 ล้านล้านบาท
ปี 2021 มูลค่า 10.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 339.8 ล้านล้านบาท
คิดเป็นการเติบโตแบบทบต้นเฉลี่ยปีละ 11%
1
ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของบรรดาเศรษฐีเหล่านี้ ส่วนหนึ่งได้ไหลเข้าไปยังวงการศิลปะและการกีฬา
ซึ่งนอกจากความชอบและรสนิยมส่วนตัวแล้ว ทั้งสองอย่างนี้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี
5
แต่หากเรามาดูที่ทีมฟุตบอลขวัญใจชาวไทยอย่าง เชลซี แมนยู ลิเวอร์พูล อาร์เซนอล แล้ว
เราจะพบว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าของแต่ละทีมได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
มูลค่าของทีมเมื่อเทียบระหว่างปี 2011 และ 2021
แมนยู 62,400 ล้านบาท เป็น 140,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 124%
ลิเวอร์พูล 18,500 ล้านบาท เป็น 137,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 640%
เชลซี 22,000 ล้านบาท เป็น 107,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 386%
อาร์เซนอล 39,900 ล้านบาท เป็น 94,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 135%
1
และแม้ว่ารายได้ของแต่ละทีมจะเติบโตไม่มากนักในช่วงที่ผ่านมาและยังต้องเผชิญผลกระทบจากวิกฤติโควิด 19 แต่การเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลชั้นนำนั้น สามารถให้ประโยชน์กับผู้ที่เป็นเจ้าของในมุมอื่น ๆ ได้อีกมาก
อันดับแรกคือ การพาตัวเองไปยืนอยู่ในสปอตไลต์ระดับโลก
3
ย้อนกลับไปในปี 2003 คุณโรมัน อับราโมวิช เศรษฐีหนุ่มจากรัสเซียผู้ประสบความสำเร็จในธุรกิจน้ำมัน ได้เข้าซื้อสโมสรเชลซี และกลายเป็นที่รู้จักของแฟนบอลทั่วโลกในชั่วข้ามคืน
1
พร้อมกับทุ่มเงินมหาศาลเพื่อพัฒนาสโมสรและซื้อนักเตะชื่อดังมาร่วมทัพ จนสโมสรเชลซีประสบความสำเร็จสามารถคว้าแชมป์หลายรายการ และกลายเป็นทีมชั้นนำของยุโรป ชื่อเสียงของคุณอับราโมวิช ก็ยิ่งดังมากขึ้นไปอีก
1
และการเป็นเจ้าของสโมสรกีฬาชื่อดัง คือโอกาสที่จะได้พบกับบุคคลที่มีชื่อเสียง ทั้งมหาเศรษฐี ดาราฮอลลีวูด ศิลปิน นักกีฬา หรือเชื้อพระวงศ์จากหลากหลายประเทศ ที่อาจกลายมาเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญในอนาคต
อันดับต่อไปคือ การลงทุน
2
เมื่อเราเห็นตัวเลขมูลค่าของสโมสรฟุตบอลที่สูงขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมาแล้ว
สโมสรฟุตบอลจึงกลายเป็นทรัพย์สินที่เศรษฐีสนใจมาลงทุนมากมาย
จากสถิติ เจ้าของสโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีกจำนวน 1 ใน 3 จะเป็นเจ้าของทีมกีฬาอย่างน้อยอีก 1 แห่ง
หลายกรณีเป็นการสร้างอาณาจักรธุรกิจการกีฬาขึ้นมา โดยการใช้โครงสร้างพื้นฐานหลาย ๆ อย่างร่วมกัน
เพื่อให้มีประสิทธิภาพและผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น
2
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี อยู่ภายใต้บริษัท ซิตี ฟุตบอล กรุ๊ป ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นบริษัทโฮลดิงขนาดใหญ่ ที่มีสโมสรฟุตบอลสะสมไว้ในพอร์ตร่วม 10 สโมสร กลายเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจฟุตบอลขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้
อันดับสุดท้ายคือ ความท้าทาย และความหลงใหล
1
ผลตอบแทนของธุรกิจฟุตบอลนั้นอาจไม่ได้การันตีความสวยหรู
แต่เรื่องอื่นที่ตามมาอาจมีมูลค่าที่ไม่สามารถประเมินได้
ทั้งภาพลักษณ์ การรับรู้ และโอกาสเข้าถึงกลุ่มคนในวงกว้าง
2
แต่เมื่อเป็นความท้าทายและความหลงใหลในการกีฬาของเจ้าของกับโอกาสในการทำตามฝันนั้น เป็นประสบการณ์หรือความรู้สึกที่ไม่สามารถใช้เงินซื้อได้ แต่ต้องทำเอง มันจึงมีราคาของมัน
ความอยากรู้ อยากลอง อยากทำ หากสำเร็จอาจทำให้ใครสักคนถูกจารึกในประวัติศาสตร์ของลีกฟุตบอลที่คนรู้จักกันค่อนโลก
1
อย่างเรื่องราวความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของกลุ่มคิง เพาเวอร์ จากเมืองไทยที่นำสโมสรเลสเตอร์ ซิตี ทีมกลางตารางในลีกรองของอังกฤษ ก้าวขึ้นมาคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ลีกฟุตบอลสูงสุดของอังกฤษในปี 2016 โดยใช้เวลาเพียงแค่ 6 ปี กลายเป็นเรื่องมหัศจรรย์ของวงการ
1
เรื่องราวของกลุ่มคิง เพาเวอร์ และคุณวิชัย ศรีวัฒนประภา ได้กลายเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของฟุตบอลอังกฤษ และความทรงจำที่สวยงามของแฟนบอลทั่วโลก
สำหรับความเคลื่อนไหวของมหาเศรษฐีในโลกแห่งวงการฟุตบอลล่าสุดนั้น
คงหนีไม่พ้นกลุ่มกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ หรือ PIF จากซาอุดีอาระเบีย
1
เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการมากถึง 14 ล้านล้านบาท ได้เข้าไปร่วมลงทุนในสโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ด้วยมูลค่า 300 ล้านปอนด์ หรือราว 13,800 ล้านบาท
เพื่อกระจายการลงทุน รวมถึงคาดการณ์กันว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีสู่สายตานานาชาติ
1
สรุปแล้วนอกจากรายได้และมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของสโมสรแล้ว
เหล่าบรรดาเศรษฐีจากทั่วโลกยังเล็งเห็นถึงคุณค่าในการเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลชั้นนำ
ที่สามารถช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตนเองหรือธุรกิจของตนเอง หรือแม้แต่การมีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักและหลงใหล ก็เป็นอีกเรื่องที่มีคุณค่าสำหรับคนจำนวนมาก
5
ส่วนเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ไหลเข้ามาในอุตสาหกรรม ก็ช่วยพัฒนาวงการฟุตบอลให้เดินหน้าต่อไปตามยุคสมัย..
References
โฆษณา