10 ม.ค. 2022 เวลา 02:50 • ธุรกิจ
“Kalshi” สตาร์ตอัปที่เปลี่ยน เหตุการณ์ในอนาคต เป็นสัญญาเก็งกำไร
2
ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากมายให้เราเลือกลงทุน ตั้งแต่หุ้น, คริปโทเคอร์เรนซี, อัตราแลกเปลี่ยน รวมไปถึงสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันหรือทองคำ ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนให้เราได้
แต่บางครั้งการวิเคราะห์ราคาหุ้นในบริษัทที่เราสนใจ ก็มีหลักการที่ค่อนข้างซับซ้อนและมีปัจจัยหลายอย่างที่จะมากระทบต่อราคา
Kalshi จึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้คนที่อาจจะเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง เช่น เพลง, อวกาศ หรือเรื่องอื่น ๆ แต่ไม่เชี่ยวชาญด้านการเงิน มีเครื่องมือในการลงทุนมากกว่าการซื้อหุ้นของบริษัทที่ตัวเองสนใจเหล่านั้น
โดยเครื่องมือที่ว่านั้น เรียกว่า “Event Contract”
ทั้ง Kalshi และ Event Contract คืออะไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
Kalshi คือ Exchange หรือศูนย์ซื้อขายสิ่งที่เรียกว่า Event Contract หรือสัญญาเฉพาะเหตุการณ์
อธิบายง่าย ๆ ก็คือ เครื่องมือการลงทุนประเภทสัญญาที่จะจ่ายผลตอบแทนให้ ถ้าเหตุการณ์นั้นเป็นจริง
เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราในฐานะนักลงทุนต้องทำ ก็คือ วิเคราะห์ว่าเหตุการณ์หนึ่ง ๆ
จะเกิดขึ้นภายในวันและเวลาที่กำหนดหรือไม่ ? เป็น “Yes or No Question”
ถ้านักลงทุนคาดว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้น ก็ไปซื้อ “สัญญา Yes”
ถ้าคิดว่าจะไม่เกิดขึ้น ก็ไปซื้อ “สัญญา No”
1
หากวิเคราะห์แล้วซื้อถูกทาง ก็จะได้รับเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1 สัญญา เมื่อครบเวลาสัญญา
สำหรับเหตุการณ์ที่มีโอกาสเป็นจริงสูง ราคาซื้อสัญญาก็จะแพงหน่อย เช่น 0.9 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1 สัญญา
แต่ถ้าโอกาสเป็นจริงต่ำ สัญญาก็จะราคาถูก เช่น 0.1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1 สัญญา
นอกจากนั้น ระหว่างที่เหตุการณ์กำลังดำเนินไป ถ้าเหตุการณ์มีแนวโน้มที่จะเป็นจริงมากขึ้น สัญญาที่เราเคยซื้อมาราคาถูกก็จะมีมูลค่ามากขึ้น และเราก็สามารถขายสัญญาเพื่อทำกำไรก่อนก็ได้ เช่นกัน
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เรามาดูตัวอย่างของสัญญาใน Kalshi กัน
- สหรัฐอเมริกาจะมีผู้ติดเชื้อโควิดรายวัน ถึง 400,000 ราย ภายใน 31 มกราคม 2022 หรือไม่ ?
- อัลบั้มมอนเตโรของ Lil Nas X เจ้าของเพลง Old Town Road จะสามารถขายได้ถึง 230,000 ก๊อบปี้ภายในสัปดาห์แรกของการเปิดตัวหรือไม่ ?
- จะมีดาวเคราะห์มากกว่า 4,583 ดวง ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2021 หรือไม่ ?
- อุณหภูมิในนิวยอร์กในสัปดาห์หน้าจะสูงกว่า 44 องศา หรือไม่ ?
จะเห็นได้ว่า “เหตุการณ์” ที่สามารถซื้อขายสัญญาได้นั้น ครอบคลุมตั้งแต่เหตุการณ์ข่าวปัจจุบัน, เพลง, อวกาศ ไปจนถึงสภาพดินฟ้าอากาศ ซึ่งใน Kalshi จะมีรวมแล้วกว่า 100,000 เหตุการณ์
นอกจาก Kalshi จะมีประโยชน์ในด้านการเก็งกำไรแล้ว ผลโหวตของสัญญาเหล่านี้ยังสามารถนำมาปรับใช้กับแนวทางอื่นได้ด้วย เช่น
2
เราสามารถนำราคาของสัญญา Yes และสัญญา No ซึ่งสะท้อนว่าคนส่วนใหญ่คิดเห็นต่อเหตุการณ์หนึ่ง ๆ อย่างไร ไปวิเคราะห์ต่อและเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นได้
หรือเราอาจจะใช้ Kalshi เป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยง เช่น หากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดที่เพิ่มขึ้น หรือสภาพอากาศที่เลวร้าย ส่งผลเสียต่อธุรกิจของเรา เราอาจจะไปซื้อ สัญญา Yes เพื่อให้ได้กำไรจากสัญญา มาชดเชยผลขาดทุนทางธุรกิจได้
2
สำหรับ Kalshi นั้น ก่อตั้งโดย ทาเร็ก มันซูร์ อดีตนักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs และลูนา ลารา ในปี 2019 ซึ่งได้รับเงินจากการระดมทุนมาแล้ว 1,000 ล้านบาท โดยหนึ่งในนั้นคือ Sequoia Capital เจ้าพ่อแห่งวงการผู้ให้เงินระดมทุน
Kalshi ถือเป็น Exchange ที่ถูกกฎหมาย และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าของสหรัฐอเมริกา หรือ CFTC
1
จะเห็นได้ว่าสมัยนี้วิธีการลงทุนนั้นมีมากขึ้นและใกล้ตัวเราขึ้น
โดย Kalshi ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการลงทุนและการเก็งกำไร
ที่เกิดจากแนวคิดที่จะให้นักลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนจากเรื่องที่ตัวเองสนใจและเชี่ยวชาญได้
ในระดับที่เปลี่ยนเหตุการณ์รอบตัวเรา ตั้งแต่จำนวนผู้ติดเชื้อ ไปจนถึงอุณหภูมิ ให้มีโอกาสทำกำไรได้..
1
References
โฆษณา