10 ม.ค. 2022 เวลา 06:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
January Effect คืออะไร ทำไมใคร ๆ ถึงถามหา
1
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมทุกเดือนมกราคม คำว่า “January Effect” จะกลับมาเป็นที่พูดถึงเสมอ
January Effect เป็นข้อสังเกตที่บอกไว้ว่า เดือนมกราคมมักจะเป็นเดือนที่ดีของการลงทุน หรือพูดง่าย ๆ ว่า นักลงทุนบางส่วนมองว่ามีความเป็นไปได้ที่หุ้นจะขึ้นในเดือนนี้ ซึ่งพอเป็นเพียงข้อสังเกต ก็หมายความว่า มันอาจจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นจริงก็ได้
ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ถูกเจอมาเกือบ 80 ปีแล้ว โดยในปี 2485 เป็นครั้งแรกที่มีวาณิชธนากร (Investment Banker) ในต่างประเทศคนหนึ่ง เริ่มสังเกตเห็นว่า ราคาหุ้นในเดือนมกราคมมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นมากกว่าเดือนอื่น ๆ และหลังจากนั้นก็เริ่มมีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ตามมาเรื่อย ๆ
2
แน่นอนว่าคำถาม คือ ทำไมต้องเป็นเดือนมกราคม
ที่ผ่านมาหลายฝ่ายมีความพยายามอย่างมาก ในการหาเหตุผลมาสนับสนุนเหตุการณ์ January Effect แต่ก็ต้องยอมรับว่าจนถึงทุกวันนี้ไม่ได้มีคำอธิบายไหนที่ถูกต้องทั้งหมด เพราะแต่ละคำอธิบายก็มีเหตุผลใหม่ ๆ มาหักล้างได้เสมอ
คำอธิบายแรกของ January Effect ที่เจอ คือ เรื่องของการจัดการภาษี ในบางประเทศที่มีการเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น นักลงทุนมักจะขายหุ้นที่ขาดทุนออกมาก่อนถึงสิ้นปี เพื่อชดเชยผลขาดทุนที่เกิดขึ้นกับกำไรที่ได้จากตัวอื่น การทำแบบนี้จะช่วยลดภาระภาษีกำไรจากการขายหุ้น และหลังจากนั้นก็ค่อยซื้อหุ้นเหล่านี้กลับคืนมาในเดือนมกราคม
แต่ก็จะมีบางส่วนโต้แย้งว่า คำอธิบายนี้ใช้อธิบาย January Effect ได้ไม่ครอบคลุม เพราะไม่ใช่ตลาดหุ้นทุกประเทศ ที่เก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น
เหตุผลต่อมาที่จะเจอ คือ January Effect เกิดจากการทำ Window Dressing ของบรรดากองทุนต่าง ๆ ที่จะพยายามตกแต่งให้รายงานปลายปีออกมาดูดี ด้วยการขายหุ้นบางตัวออกมาในช่วงเดือนธันวาคม และค่อยกลับมาซื้อหุ้นคืนในเดือนมกราคม
ยิ่งไปกว่านั้นช่วงปลายปีถึงต้นปียังเป็นช่วงที่นักลงทุนหลายคนน่าจะได้โบนัส จึงน่าจะเกิดการนำโบนัสนี้มาลงทุนต่อ หรือจะเป็นเหตุผลเชิงจิตวิทยาที่นักลงทุนก็อาจจะใช้ช่วงปีใหม่เป็นแรงผลักดันในการเริ่มต้นลงทุน
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด January Effect ได้ด้วยเหมือนกัน แต่ January Effect ก็เป็นเพียงสมมุติฐาน ที่ไม่ได้การันตีว่าจะเกิดขึ้นทุกปี
มีบางส่วนโต้แย้งว่ามันอาจจะไม่เกิดขึ้น เพราะอย่าลืมว่าผ่านมากว่า 80 ปีแล้ว ตั้งแต่พบข้อสังเกตนี้ครั้งแรก และในช่วงที่ผ่านมาก็มีคนพูดถึงอย่างแพร่หลายทั้งตามงานวิจัยหรือตามสื่อต่าง ๆ
เลยเป็นไปได้ว่านักลงทุนที่รู้จักกับ January Effect ก็จะพร้อมใจกันเข้าซื้อหุ้นในเดือนธันวาคม เพื่อรอผลตอบแทนที่ดีในเดือนมกราคม จนผลักดันให้ราคาหุ้นสูงขึ้นในช่วงปลายปี และ January Effect ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น
1
ปิดท้ายจะพามาดูสถิติย้อนหลัง มาดูกันว่าในแต่ละปี January Effect มาตามนัดรึเปล่า โดยข้อมูลที่เอามาจะเป็นผลตอบแทนย้อนหลังของหุ้นในเดือนมกราคม ตั้งแต่ปี 2555 ถึง 2564
เริ่มกันที่ดัชนี SET Index ของบ้านเรา ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ทุกปีที่ผลตอบแทนในเดือนมกราคมเป็นบวก แต่ที่น่าสนใจคือในเดือนมกราคม SET Index ให้ผลตอบแทนเป็นบวกถึง 8 จาก 10 ปี โดยสองปีที่ให้ผลตอบแทนติดลบ คือ ปี 2557 และ 2563
เปลี่ยนมาดูที่ต่างประเทศ ถ้าไปดูดัชนี S&P 500 ผลออกมา คือ มีเพียง 5 จาก 10 ปี เท่านั้น ที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกในเดือนมกราคม
ท้ายที่สุด ถึงแม้สถิติจะบอกว่าผลตอบแทนในเดือนมกราคมเป็นบวกกี่ครั้ง แต่ยังไงแค่เห็นตัวเลขในอดีตก็ไม่สามารถสรุปได้อยู่ดีว่า ในเดือนมกราคมปีนี้ ตลาดหุ้นจะเกิด January Effect ขึ้นหรือไม่ เพราะในความจริงอาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อทิศทางของตลาดมากกว่าก็ได้ครับ
"เพราะการเงินเป็นเรื่องของทุกคน"
พวกเรากลุ่มคนที่รักเรื่องราวของการเงินการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ จึงก่อตั้งเพจ Dime! (ไดม์!) ขึ้น
Dime! แปลว่าเหรียญ 10 เซ็นต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุนเป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ เข้าใจง่าย และนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้จริง เหมือนกับเงิน 1 ไดม์ ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
1
หากทุกคนมีความรู้ทางการเงินที่แข็งแรง
สังคมของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
1
โฆษณา