9 ม.ค. 2022 เวลา 08:14 • ไลฟ์สไตล์
“โอฆะ 4 ประการ ที่ท่วมทับหมู่สัตว์ในวัฏสงสาร”
1
  • 1.
    กาโมฆะ ห้วงน้ำ คือ กาม
  • 2.
    ทิฏโฐฆะ ห้วงน้ำ คือ ทิฏฐิ
  • 3.
    ภโวฆะ ห้วงน้ำ คือ ภพ
  • 4.
    อวิชโชฆะ ห้วงน้ำ คือ อวิชชา
2
“ … ปกติถ้านึกถึงวันลอยกระทง
ก็เป็นโอกาสที่เราจะได้มีความกตัญญู
ระลึกถึงพระคุณที่เราได้อิงอาศัยธรรมชาติ
แม่น้ำลำคลองต่าง ๆ
ทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้
1
จริง ๆ แล้วสิ่งที่เราควรจะลอยที่สุด
ก็คือ “ใจ” ของเรานี่แหละ
ธรรมดาจิตปุถุชนที่ยังไม่ได้รับการฝึกฝน
ก็จะจมอยู่กับกระแสต่าง ๆ ของโลก
ในวัฏสงสารนั่นเอง
ท่านเรียกว่า จมอยู่ในโอฆะ
คือ ห้วงน้ำ แห่งวัฏสงสารนี้
โอฆะที่ท่วมทับสัตว์โลกให้จม
เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารนี้
ก็มีอยู่ 4 ประการด้วยกัน ก็คือ
  • 1 กาโมฆะ ห้วงน้ำ คือ กาม
การจมอยู่กับอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่าง ๆ
ที่น่าใคร่น่าปรารถนาต่าง ๆ
รูปสวยงาม ผู้ชายก็ชอบผู้หญิงสวย ๆ
ผู้หญิงก็ชอบผู้ชายหล่อ ๆ
หรือติดในรูปต่าง ๆ ที่เราชอบ ที่เรารัก
เสียง …​ อันไพเราะต่าง ๆ
กลิ่น …​ อันหอมอันยวนใจต่าง ๆ
รส … อันเลิศต่าง ๆ
การสัมผัสต่าง ๆ
ที่มันทำให้เกิดความเคลิบเคลิ้ม
เกิดความพอใจ เกิดความติดใจต่าง ๆ
ยิ่งในยุคสมัยนี้ สิ่งต่าง ๆ ก็เรียกว่า
ทำให้เราเพลิดเพลินหลงติดได้มากนะ
การที่เรามีสื่อโทรทัศน์ โทรศัพท์ต่าง ๆ
ที่เชื่อมต่อกับสิ่งต่าง ๆ ในโลก
ก็ทำให้เราหลงติดข้องอยู่ เพลิดเพลินอยู่
การดูหนังฟังเพลง ละครต่าง ๆ
ก็เรียกว่า ย้อมจิตย้อมใจของชาวโลก
ให้จมอยู่กับโอฆะอันนี้แหละ
สัมผัสต่าง ๆ เหล่านี้มันก็มีรสอร่อย มีสุขของมันอยู่
ไม่งั้นคนเราก็คงไม่ติดใจ
ไม่หลงกับมันหรอก
แต่ว่า สุขน้อย แต่แฝงไปด้วยความเร่าร้อนมาก
ความรู้สึกที่เราสัมผัสจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่าง ๆ
มันเกิดความรู้สึกที่น่าพึงพอใจแว๊บนึง
แต่ว่ามันกลับไปฝังอยู่ภายในจิตใจของเรา
ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า อนุสัย
การนอนเนื่องของกิเลสสะสมต่าง ๆ
ทีนี้ล่ะ มันเกิดความติดใจแล้ว
เหมือนยาเสพติดนั่นแหละ
ยาเสพติด พอมันติดเข้าแล้ว
ทีนี้เราก็หลงไปกับมัน เราต้องแสวงหาแล้ว
ถ้าขาด ทีนี้ใจก็เร่าร้อนกระวนกระวายแล้ว
ก็ต้องหาเสพไป ไม่มีที่สิ้นสุด
มันก็ทำให้เราหลงไปเพลิดเพลิน อยู่กับอารมณ์ต่าง ๆ
ทำให้เกิดความโลภ เกิดความโกรธ เกิดความหลง
ถ้ามันท่วมทับมาก ๆ นะ
ความโลภ ความโกรธ ความหลงมีกำลังมาก
ก็เริ่มทำผิดศีลผิดธรรม
การฆ่าสัตว์บ้าง เบียดเบียนสัตว์บ้าง
การลักทรัพย์ การฉ้อโกงบ้าง
การประพฤติผิดในกามบ้าง
การพูดปดมดเท็จต่าง ๆ บ้าง
เมื่อหลงทำการเบียดเบียน ทีนี้โทษก็หนัก
ตกสู่อบายภูมินั่นเอง
ก็เสวยความโหดร้ายทารุณในอบายภูมิ
นี่คือวังวนของวัฏสงสาร
หลัก ๆ ก็มาจากกาโมฆะเนี่ยแหละ
การท่วมอยู่ในกามคุณอารมณ์ต่าง ๆ
  • โอฆะที่ 2 ก็คือ ทิฏโฐฆะ ห้วงน้ำ คือ ทิฏฐิ
ความเห็น ความเข้าใจ ที่ไม่ถูกต้อง
ธรรมดาแล้วหมู่สัตว์
ก็จะหลงยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตน
เป็นตัวเรา เป็นของเรา
อย่างที่เราเกิดมาเนี่ย
เราก็หลงแล้วว่า ชีวิตของเรา
เราก็ต้องทำสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่เด็ก
การเรียน การทำงาน การทำสิ่งต่าง ๆ
ก็เกิดจากความเห็นตรงนี้แหละว่า
นี่คือตัวเรา นี่คือของ ๆ เรา
การสะสมทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ไร่นาพืชสวน
ถ้าได้มาชอบธรรม ก็ยังดีนะ
แต่บางท่านก็มาผิดศีลผิดธรรม ก็โทษมาก
แต่สิ่งเหล่านี้ ก็ทำให้เรา
ติดอยู่ในวังวนของวัฏสงสารนั่นเอง
แต่ถ้ามีความเห็นผิดที่มีกำลังมาก
ก็เริ่มเกิดที่เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ
ความหลงผิด เห็นผิด
ไม่เชื่อเรื่องบุญ เรื่องบาป
โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี
เหตุปัจจัย เรื่องของกรรม กฏแห่งกรรมไม่มีจริง
โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้อันตรายมากทีเดียว
เพราะคนรุ่นใหม่ก็จะไม่ค่อยเชื่อเรื่องสิ่งเหล่านี้แล้วนั่นเอง
ก็เชื่อ ทิฏฐิ ความเห็นตัวเอง
นรกสวรรค์ไม่มี โลกหน้าไม่มี บุญบาปไม่มี กฏของกรรมไม่มี
ใช้ตรรกะ ใช้มันสมองตัวเองเชื่อเท่านั้นนะ
ถ้าหลงผิดมาก ๆ เป็น นิยตมิจฉาทิฏฐิ
เห็นทุกอย่างกลับหัวหมดเลย
เข้าใจว่าที่เราทำอยู่มันดี แต่จริง ๆ แล้วมันดิ่ง ๆๆๆ
  • โอฆะที่ 3 ก็คือ ภโวฆะ ห้วงน้ำ คือ ภพ
หรือความมีความเป็นต่าง ๆ การติดข้องในภพต่าง ๆ
เช่น เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราก็ติดอยู่ในความเป็นมนุษย์
อยากมีอยากเป็น สิ่งต่าง ๆ
บางคนไม่ติดอยู่ในความมีความเป็น ในความเป็นมนุษย์
เพราะว่าเจอเรื่องเจ็บช้ำน้ำใจมาก เบื่อหน่ายมาก
แต่ก็ปรารถนาความไปเกิดเป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้าง
ต่อให้เราไปเกิดบนสุคติภูมิ เป็นเทวดา หรือเป็นพรหม
มันก็มีความสุขได้ชั่วคราว
แล้วเราก็จะมีโอกาสหลงผิด ทำความผิด
แล้วก็จมสู่อบายภูมิได้เหมือนเดิม
ก็มันเป็นสิ่งที่ทำให้หมู่สัตว์ติดข้องอยู่
การที่เราจะหลุดจากสิ่งพวกนี้
มันต้องพ้นออกไปจากวังวนตรงนี้นั่นเอง
  • แล้วก็ห้วงน้ำที่ 4 ก็คือ อวิชโชฆะ ห้วงน้ำ คือ อวิชชา
ก็คือ ความมืดที่ห่อหุ้มหมู่สัตว์ไว้
ทำให้หลงติดข้อง เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร
ความไม่รู้แจ้งในสัจธรรม
ความจริงอันประเสริฐของธรรมชาติ
ไม่รู้ความจริง คือ ทุกข์
เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
และทางดำเนินที่ทำให้เข้าถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
หมู่สัตว์ในวัฏฏะ ก็จะถูกห้วงน้ำทั้ง 4 ประเภทนี้ท่วมทับอยู่
  • ห้วงน้ำ คือ กาม
  • ห้วงน้ำ คือ ทิฏฐิ
  • ห้วงน้ำ คือ ภพ
  • ห้วงน้ำ คือ อวิชชา
เพราะฉะนั้นการที่เรามีโอกาสมาเกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา
จึงเป็นโอกาสของเราที่จะลอยจิตใจของเราขึ้น
ให้พ้นจากห้วงน้ำเหล่านี้
จนพ้นออกไปจาก วังวนของวัฏสงสารทั้งปวง
นั่นคือ การลอยที่สำคัญที่สุด
ก็คือ ลอยใจของตัวเราเองนั่นแหละ
ลอย …​ กิเลส ตัณหา อุปาทาน สิ่งดึงรั้งต่าง ๆ
ชำระออกไป …
จนสามารถคืนสู่ความเป็นธรรมชาติได้ …​“
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา