12 ม.ค. 2022 เวลา 01:30 • ธุรกิจ
Service Note: Positive Impact of Showing-Off
เมื่อมีคำถามจากผู้ประกอบการ
"อาจารย์เสือครับ ผมทำธุรกิจขายอุปกรณ์ไฟฟ้าและอะไหล่ชิ้นส่วนรถยนต์ครับ เพิ่งเปิดบริษัทได้ปีกว่า มีพนักงานทั่วไปอีก 4 คนคอยรับออร์เดอร์ทาง online แล้วก็คุยโทรศัพท์ต่อเพื่อลงรายละเอียดรุ่นต่างๆ จัดสินค้า และส่งของให้กับลูกค้าครับ ตอนนี้ขายดีมากเลยครับ แล้วก็ยุ่งรับโทรศัพท์ทั้งวัน ลูกค้าชอบคุยกับผมโดยตรงมากกว่า แต่ผมเริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง กลุ้มใจทำงานไม่ทันเลยครับ รบกวนอาจารย์เสือด้วยครับ"
เก่ง อะไหล่ครบวงจร
ฟังคำถามนี้แล้วขอบอกตามตรงว่า ผมดีใจมากกว่ากลุ้มใจแทนครับ เพราะในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ คุณเก่งยังขายดีและทำงานไม่ทันนี่ แสดงให้เห็นว่าลูกค้ามีความพึงพอใจกับการได้รับบริการจากคุณเก่งไม่มากก็น้อย
ช่วงเศรษฐกิจขาลง สำหรับSMEs การทำงานหนักด้วยตัวเองได้ก็เป็นข้อดีมากๆข้อหนึ่งครับ
เป็นการควบคุมดูแลลูกค้าได้อย่างใกล้ชิด และลดความเสี่ยงที่ลูกค้าจะหนีหายไปได้ถ้าตัดสินใจช้าหรือไม่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทันที
เพียงแต่มีข้อระมัดระวังว่าเมื่อยุ่งมากเกินไปแล้ว ก็อาจจะขาดเวลาวางแผน และติดตามผลครับ
ลองบอกกับตัวเองว่า ถึงแม้จะยุ่งแค่ไหนก็ตาม จะจัดเวลาให้กับตัวเองวันละครึ่งชั่วโมงก็ยังดี มาติดตามผลและวางแผนงานทุกวันครับ
หลังจากจัดการเรื่องเวลาของตัวเองได้ ก็มีโจทย์ที่สำคัญมากอีกข้อหนึ่งที่ควรทำควบคู่ไปคือ การพัฒนาทีมงานครับ
ถ้าไม่เตรียมทีมงานให้พร้อม เกรงว่าเมื่อเศรษฐกิจขาขึ้น การค้าคึกคักขึ้นมาเมื่อใด คุณเก่งจะพลาดโอกาสในการขยายธุรกิจ เพราะติดกับดักเดิมอยู่ครับ
ควรรีบกลับมาดูศักยภาพของทีมงานแต่ละคนว่าใครเก่งด้านใด จะพัฒนาต่อไปให้มี Career path อย่างไรดี เพื่อที่ว่าในอนาคตอันใกล้จะสามารถแบ่งเบาภาระจากคุณเก่งไปได้บ้างนะครับ
การที่ลูกค้ายังชอบที่จะคุยกับคุณเก่งมากกว่า เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง คุณเก่งอาจยังไม่ได้ปล่อยให้ทีมงานแสดงฝีมือเต็มที่ก็เป็นได้
ลองดูตัวอย่างของธุรกิจอื่นๆดูบ้าง
อย่างร้าน Starbucks บาริสตาจะมีโอกาสสร้างความใกล้ชิด สร้างความคุ้นเคยกับลูกค้าและจดจำลูกค้าประจำได้เป็นอย่างดี เมื่อลูกค้าถามถึงเมล็ดกาแฟแต่ละชนิดที่ร้านจัดจำหน่ายอยู่ บาริสตาก็จะมาชงให้ชิมดู พร้อมอธิบายให้ฟังอย่างเป็นกันเอง เป็นโอกาสให้บาริสตาได้แสดงฝีมือเต็มที่ เมื่อลูกค้าพอใจ บาริสตาก็ภูมิใจไปด้วย ธุรกิจก็ประสบความสำเร็จอย่างที่เราเห็นกัน
หรืออย่างร้านอาหารญี่ปุ่น Benihana ที่เอาพ่อครัวมาโชว์ฝีมือ เคาะมีด ควงส้อมประกอบการปรุงอาหารจานร้านให้กับลูกค้าได้ดูกันเพลินกันเลยทีเดียว ทำให้ลูกค้าทั้งสนุก ทั้งอร่อย พาครอบครัวกลับมาทานซ้ำด้วยความประทับใจ
เคล็ดลับของทั้ง Starbucks และ Benihana คือการให้ทีมงานมีโอกาส Show-Off แสดงความสามารถอย่างเต็มที่
คงต้องมีการ Training ฝึกซ้อม สร้างระบบที่ให้พนักงานเข้าใจในหัวใจของการให้บริการ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดี จนลูกค้าประทับใจ
และที่สำคัญที่สุด ต้องหล่อหลอมให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการปฏิบัติเช่นเดียวกันทุกคน
ส่วนคนที่มีความสามารถพิเศษในการ Show-Off ก็เปิดโอกาสให้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่เลยครับ
อีกสูตรที่ผมใช้ประจำคือ ให้หนึ่งงานต้องรู้สองคน และในหนึ่งคนต้องรู้สองงานเป็นอย่างน้อย ถ้าทำได้เช่นนี้ ก็จะมีพนักงานที่มีประสิทธิภาพ และไม่จำเป็นต้องต้องใช้คนมากเกินไปด้วยครับ ลองประยุกต์ทำดูนะครับ
เมื่อพนักงานเก่ง ธุรกิจก็มีกำไร เมื่อบริษัทเติบโต พนักงานก็ได้รับสวัสดิการเงินเดือนและโบนัสตามเป้าหมายร่วมกันทั้งองค์กร
ลองกระจายงานดูนะครับ ให้ทีมงานได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่และพร้อมสนับสนุนในทุกวิถีทางที่จะทำให้พนักงานเก่งขึ้นทั้งองค์กร
Martin Luther King Jr. เคยพูดไว้ว่า
"Everybody can be great....because anybody can serve"
มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ
ขอเป็นกำลังใจให้ครับ
โฆษณา