10 ม.ค. 2022 เวลา 04:46 • การศึกษา
เรื่องเล่าที่ 5 ปฤจฉวาที ทุตรรกบท เหตุผลวิบัติ ตรรกะวิบัติ
1
การเรียนรู้เรื่อง ตรรกะวิบัติ มีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน มีมิติการเรียนรู้อันหลากหลายทั้งในมิติของการโต้แย้ง มิติการใช้เหตุผล มิติของการแสดงความคิดเห็น มิติของเจตคติ มิติทางปรัชญาดั้งเดิมอย่างตรรกศาสตร์ เป็นต้น ถือเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น มีวิวัฒนาการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุเพราะมนุษย์มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ท่ามกลางความเชื่อที่หลากหลาย และมีอารมณ์ความรู้สึก ยึดมั่นถือมั่นตามประสบการณ์ ความรู้ ความเชื่อของตนเอง
1
Fallacy มีชื่อเรียกภาษาไทยว่า ปฤจฉวาที ทุตรรกบท เหตุผลวิบัติ เหตุผลลวง หรือตรรกะวิบัติ กล่าวคือ fallacy เป็นการใช้เหตุผลที่ไม่ดี อาจกล่าวเพื่อให้เห็นภาพได้ว่า มันเป็นการใช้เหตุผลอย่างมีเล่ห์ หลอกล่อให้ผู้ฟังยอมรับข้อสรุปที่เสนอด้วยเหตุผลที่ไร้น้ำหนักแต่ฟังดูดี หรือด้วยวิธีการที่ยอกย้อน อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า ผู้ที่ใช้เหตุผลวิบัติไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่เจ้าเล่ห์จริงๆ เพราะมีหลายคนที่ใช้เหตุผลวิบัติโดยไม่รู้ตัว
1
Fallacy ตรรกะวิบัติ มีการกล่าวถึงอย่างเป็นทางการโดยอริสโตเติล (Aristotle 384-322 BC) นักปราชญ์ของกรีกในยุคโบราณ เป็นท่านแรกที่กล่าวถึงตรรกะวิบัติ ในตำราชื่อ ออร์กานอน (Organon) บทเดโซฟิสติกิส เอเลงคิส (De Sophisticis Elenchis) ที่มีความหมายว่า การลบล้างผู้รอบรู้ หมายถึง การที่คนไม่รู้ ใช้ตรรกะวิบัติ และลูกเล่นสารพัดมาถกเถียงเพื่อเอาชนะคนที่มีความรู้
2
อาจกล่าวได้ว่า ปฤจฉวาที ทุตรรกบท เหตุผลวิบัติ เหตุผลลวง หรือตรรกะวิบัติตรรกะวิบัติ หมายถึง การหยิบยกเอาประเด็นที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล หรือเหตุผลที่มีน้ำหนักอ่อนมาใช้ในการถกเถียง เพื่อสนับสนุนความคิดให้ดูน่าเชื่อถือ ซึ่งความคิดนั้นอาจเป็นเรื่องที่เกิดจากความเข้าใจผิด หรือใช้เหตุผลที่ไร้เหตุผลมาสนับสนุนเรื่องที่ไร้เหตุผลให้กลายเป็นเรื่องที่มีเหตุผลขึ้นมา
1
การนำเสนอในรูปแบบตรรกะวิบัติที่ได้ปรากฏบ่อยครั้งผ่านการสื่อสารช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นคลับเฮ้าส์ที่การนำเสนอประเด็นการสนทนาโดยปราศจากความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะตามจากการเปิดพื้นที่สาธารณะถกเถียงในประเด็นความเชื่อ ขนบธรรมเนียม ประเพณีหรือแม้แต่การเอาสิ่งที่เป็นปัจจุบันไปพิพากษา วิเคราะห์ ตัดสินสิ่งหรือเหตุการณ์ในอดีต โดยมีเป้าประสงค์เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อเนื้อหาที่แท้จริงหรือไม่ก็ตาม หรือความจริงบางประการถูกบิดเบือนไปโดยผู้แสดงความคิดเห็น หรือการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและแม้แต่การนำเสนอความคิดเห็นโดยใช้มุมมองส่วนบุคคล
1
การนำเสนอตามที่กล่าวมานั้นถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการส่งเสริมให้เกิดการใช้ตรรกะวิบัติ ประกอบกับผู้รับสารบนโลกสังคมออนไลน์สามารถแพร่กระจายการรับรู้ข่าวสารได้อย่างรวดเร็วจากความง่ายในการเข้าถึงข้อมูล ดังนั้น ตรรกะวิบัติอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างตัวบุคคล เกิดความเข้าใจผิด การฟ้องร้องดำเนินคดี และหากตรรกะวิบัตินั้นเกิดขึ้นกับองค์กรย่อมสร้างความเสียหายต่อภาพรวมองค์กร ภาพรวมธุรกิจ รวมถึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสังคมโดยรวมอีกด้วย
2
ผู้อ่านเองเคยใช้ตรรกะวิบัติหรือไม่
1
โฆษณา