10 ม.ค. 2022 เวลา 11:16 • ข่าว
#แอบส่องการเมืองทะลุเดือดในคาซัคสถาน
#กับสัญญาณการล่มสลายอีกครั้งของจักรวรรดิรัสเซีย
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในคาซัคสถานกลายเป็นจุดสนใจของชาวโลกไปแล้วในวันนี้ จนทำให้หลายคนต้องไปพลิกหาแผนที่มาดูว่า คาซัคสถาน มันอยู่บริเวณไหนของโลก?
ใครจะเชื่อว่าประเทศที่อยู่อย่างเงียบๆมานานหลายสิบปี พอเกิดเหตุการณ์ลุกฮือของประชาชนขึ้นมา ก็นองเลือดกันได้ตั้งแต่วันแรกๆ ที่ในตอนนี้มีทั้งฝั่งผู้ประท้วง และ เจ้าหน้าที่เสียชีวิตไปแล้วมากถึง 180 คน
ไม่ใช่แค่พวกเราที่ไม่เชื่อ แม้แต่ตัวผู้นำคาซัคสถานคนปัจจุบันอย่าง คาเซิม-โฌมาร์ต โตกาเยฟ เองก็อยากจะเชื่อเช่นกัน
และหลังจากเปิดฤกษ์ปีเสือดุ 2022 ที่รัฐบาลคาซัคสถานมอบของขวัญสุดเซอร์ไพรซ์ให้กับประชาชนด้วยราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นเป็น 2 เท่า ชาวคาซัคสถานก็จัดการลงถนนประท้วงหนัก โดยเริ่มจากเมืองอัลมาตีเป็นจุดศูนย์กลางก่อนที่จะขยายลามไปที่เมืองอื่นๆ มานานถึง 1 สัปดาห์เต็มๆ แม้รัฐบาลของนาย คาเซิม โตกาเยฟ จะลาออกยกคณะ และสัญญาว่าจะดึงราคาน้ำมันลงมาให้ถูกกว่าก่อนราคาที่จะปรับขึ้นก็ตาม
1
แต่กระแสการประท้วงลุกลามไปไกลกว่านั้นมากแล้ว และเรียกร้องที่จะโค่นระบอบอำนาจเก่า ที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างปัญหาความไม่เท่าเทียม ความยากจน และการคอร์รัปชั่น และความไม่สงบลุกลามใหญ่โตกลายเป็นการทำลายสถานที่ราชการ สนามบิน ปล้นสดมภ์ โจมตีสถาบันการเงิน
จนคาเซิม โตกาเยฟ เหลืออดเกินจะรับมือไหว เขาประกาศผ่านโทรทัศน์ว่าเด็ดขาดว่า รัฐบาลคาซัคฯพร้อมใช้กระสุนจริง และจะยิงทันทีโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้าอีกต่อไป และได้เปิดบ้านรับกองกำลังหนุนจากรัสเซียเข้ามาช่วยสนับสนุนอีกไม่น้อยกว่า 3,000 นาย มุ่งหน้าเข้าสู่คาซัคสถานเรียบร้อยแล้ว
ความหนักหนาสาหัสของเหตุการณ์จะมากหรือน้อยต่อจากนี้ ดูได้จากปฏิกริยาของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ล่าสุดได้อนุมัติให้เจ้าหน้าที่ของสถานกงสุลในคาซัคสถานสามารถพาครอบครัวอพยพกลับสหรัฐฯได้ และยังออกประกาศเตือนภัยคนอเมริกันในคาซัคสถานให้อยู่ห่างจากพื้นที่การชุมนุมเพื่อความปลอดภัย
ด้านตุรกี ได้มีการยกเลิกไฟล์ทบินไปคาซัคสถานแล้วทุกเที่ยวบินจนถึงวันอาทิตย์นี้ และจะประเมินสถานการณ์อีกที และรัฐบาลคาซัคสถานได้ประกาศปิดชายแดนทุกจุดแล้ว
1
คำถามคือ ผู้นำคาซัคสถานจะเรียกรัสเซียส่งทหารเข้าไปทำไม?
เหตุผลที่ทางรัสเซียจัดส่งกองทัพไปช่วยเหลือรัฐบาลคาซัคสถานรับมือกับเหตุการณ์ไม่สงบ เพราะคาซัคสถานเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน หรือ (CSTO) ที่มีสมาชิก 6 ประเทศ ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมาก่อน และมีข้อตกลงในการจัดตั้งกองกำลังทางทหารร่วมกันคล้ายๆกับกลุ่ม NATO พอประเทศพันธมิตรมีปัญหา ก็ต้องจัดกองรบยกไปช่วยเหลือ
1
แต่การใช้กองกำลังต่างชาติเข้าแทรกแซงสถานการณ์ในประเทศเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงมี่ทำให้เกิดความขัดแย้งบานปลายได้ เพราะในคาซัคสถาน ไม่ได้มีแต่ชาวคาซัค แต่มีคนเชื้อสายรัสเซียรวมอยู่ด้วยราวๆ 19% ที่อาจกลายเป็นเป้าหมายที่ถูกโจมตีโดยกลุ่มชาวคาซัคที่ไม่พอใจบทบาทของรัสเซียในวิกฤติการเมืองของคาซัคสถาน
และจากการสำรวจความเห็นของประชาชนชาวคาซัคสถาน ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเห็นด้วยที่กองกำลังจากรัสเซียจะเข้ามาวุ่นวาย และยังเป็นการเปิดเผยจุดอ่อนที่สำคัญของประธานาธิบดี คาเซิม โตกาเยฟ ด้วยว่า เขาไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจเต็มอย่างแท้จริงในฐานะผู้นำของประเทศนี้
และนี่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่จุดกระแสความขัดแย้ง ที่ชาวคาซัคสถานรู้สึกไม่พอใจประเทศอยู่ภายใต้ระบอบของอดีตผู้นำคนเก่า นูร์ซุลตัน นาซาร์บายอฟ ที่ครองอำนาจมานานเกือบ 30 ปี ก่อนจะส่งมอบตำแหน่งต่อให้ คาเซิม โตกาเยฟ ผู้นำคนปัจจุบัน ลูกหม้อที่เขาเลือกด้วยตัวเอง
2
แต่ทั้งนี้ อดีตผู้นำ นาซาบายอฟ ก็ไม่ได้หายไปไหน หลังจากที่สละตำแหน่งผู้นำคาซัคสถาน เขากลับมานั่งในตำแหน่งประธานาสภาความมั่นคงแทน
จึงทำให้อิทธิพลทางการเมืองของ นาซาบายอฟ แทบไม่หายไปไหนเลย และ คาเซิม โตกาเยฟ ถูกมองว่าเป็นนอมินีของเขา
1
และตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่ยาวนานของนาซาบายอฟ ก็ได้สร้างระบอบที่ฝังรากลึกในคาซัคสถานอย่างเหนียวแน่น ทั้งที่ถูกสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นบิดาแห่งคาซัคสถาน มีถนนหนทาง สนามบิน อนุสาวรีย์ในชื่อเขา และล่าสุดสภาคาซัคสถานเพิ่งอนุมัติให้เปลี่ยนชื่อเมืองหลวงจากแอสตานา เป็นนูร์-ซุลตัน ตามชื่อของเขาในปี 2019 ที่ผ่านมานี่เอง
1
นอกจากอิทธิพลทางการเมืองแล้ว ครอบครัวนาซาบายอฟยังกุมธุรกิจน้ำมันของประเทศ โดยให้ลูกเขยเป็นคนดูแล ดังนั้นการขึ้นราคาน้ำมันรับปีใหม่นี้ ชาวคาซัคเลยฟันธงว่าบ้านนาซาบายอฟอยู่เบื้องหลัง
ทำให้ตอนนี้เรื่องการเมืองภายในที่คาซัคสถาน จึงเหมือนมีผู้นำคนเดิมที่แค่เปลี่ยนตำแหน่งเก้าอี้ไปตั้งอยู่ที่ฝ่ายความมั่นคง กับผู้นำคนใหม่ในรอบเกือบ 30 ปี ที่ก็ไม่อยากจะเป็นแค่นอมินี ความสับสนในคณะรัฐบาลจึงบังเกิดขึ้น เพราะไม่รู้ว่าตกลงต้องฟังใครก่อน?
2
และนี่ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ปูติน ผู้นำรัสเซียต้องลงไปจัดการเอง เพราะหากเปรียบเทียบกับความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในประเทศพันธมิตรรอบบ้านรัสเซียอย่างยูเครน ปูตินก็แค่ส่งทหารมากดดันบริเวณชายแดน กับความไม่สงบ ที่เบลารุส ปูตินก็ยอมถอยมาดูห่างๆ ปล่อยให้ผู้นำ อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชงโก้ เป็นคนจัดการเอง
1
แต่พอมาที่คาซัคสถาน แม้จะเกิดการประท้วงเพียงไม่กี่วัน ผู้นำคาเซม โตกาเยฟ ถึงกับออกอาการไม่ไหว ปูตินถึงต้องช่วยจัดทัพเข้าไปช่วยรักษาความสงบ (ลุย) สไตล์โหดสัส รัสเซีย แค่ช่วงสุดสัปดาห์ ก็ร่วงกันเป็นใบไม้ร่วงเช่นที่เห็นนี้แล
จนหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า ปูติน ดูจะลุกลี้ลุกลน ใจร้อน อยากให้จบเกมไวเกินไปหน่อยหรือเปล่า แต่สำหรับปูติน หากเป็นประเทศในเขตอิทธิพลของรัสเซียแล้ว ใจมักไปไวกว่าความคิดเสมอ
และหากสมมุติว่าวันนี้ประะานาธิบดีคาซัคสถาน ยังเป็น นูร์ซุลตัน นาซาร์บายอฟ ผู้นำ 3 ทศวรรษ ที่มีอำนาจเต็มในมือ ปูติน ก็คงไม่ต้องเข้ามาวุ่นวายเท่านี้ แต่ว่าตอนนี้ดูเหมือนเสาหลักของประเทศจะหัวก็ไม่ใช่ จะหางก็ไม่เชิง เลยทำให้ปูตินไม่อยากเสี่ยงรอ เพราะสำหรับคาซัคสถาน มีความสำคัญกับรัสเซียมากในแง่ภูมิศาสตร์การเมือง กับประเทศที่มีชายแดนติดกับรัสเซียมาที่สุด
และความไม่สงบแบบฉับพลันไม่ทันตั้งตัวในคาซัคสถานก็สร้างความกระวนกระวายให้ปูตินอย่างมาก เนื่องจากคาซัคสถานคือประเทศที่มีพรมแดนติดรัสเซียที่ยาวถึง 7400 กิโลเมตร เป็นประเทศที่แชร์พรมแดนร่วมกันยาวที่สุดในโลก ที่คนทั้ง 2 ประเทศเดินทางข้ามฝั่งไปมาได้ง่ายราวกับเป็นแผ่นดินเดียวกัน และยังเป็นกันชนคั่นระหว่างจีน กับรัสเซียด้วย
6
คาซัคสถานยังเป็นประเทศที่มีแร่ธาตุ และน้ำมันมหาศาล ความสัมพันธ์กับรัสเซียก็ดีมาตลอดตั้งแต่หลังยุคสหภาพโซเวียต ถือเป็นมหามิตรเบอร์ 2 รองจากเบลารุสเลยทีเดียว
แต่วันนี้มหามิตรซ้าย-ขวา ของรัสเซีย เกิดปรากฏการณ์ไฟไหม้บ้านในช่วงเวลาไล่ๆกันแบบนี้ ปูตินย่อมเครียดเป็นธรรมดา เพราะหากดับไฟไม่ทัน รัสเซียอาจสูญเสียรัฐในเครืออิทธิพลทางการเมืองไปทีละประเทศ อย่างปรากฏการณ์ปฏิวัติสีที่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่เคยเป็นพันธมิตรกับรัสเซีย ไล่มาตั้งแต่
การปฏิวัติสีม่วง (Bulldozer Revolution) ในยูโกสลาเวีย เมื่อปี 2000
การปฏิวัติสีชมพู (Rose Revolution) ที่จอร์เจียในปี 2003
1
การปฏิวัติสีส้ม (Orange Revolution) ที่ยูเครนในปี 2004
การปฏิวัติสีเหลือง (Tulip Revolution) ที่คีร์กีซสถาน ในปี 2005
การปฏิวัติสีเขียว (Cedar Revolution) ที่เลบานอน ในปี 2005
เมื่อเป็นเช่นนี้ ปูติน ก็ไม่อยากจะเพิ่มสีสันแห่งการปฏิวัติในประเทศมหามิตร ที่ใกล้ชิดกันแค่ปากซอยอย่างในเบลารุส และ คาซัคสถานอีกแล้วเพราะเครมลินสะเทือนไม่ไหว😑
1
****************
ติดตามบทความของ "หรรสาระ" เพิ่มเติมได้ที่
Facebook - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
และ Blockdit - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
แพลทฟอร์มคุณภาพ ไม่ปิดกั้นการมองเห็นเนื้อหา
****************
แหล่งข้อมูล
โฆษณา