10 ม.ค. 2022 เวลา 14:25 • การเกษตร
“ครั่ง” นะ ไม่ใช่ “คลั่ง”
#ครั่ง #LacScale
ในยุคปัจจุบันเด็กๆหลายคนอาจไม่รู้จักคำว่า “ครั่ง” อาจจะเพียงแค่คุ้นเคยกับคำว่า บ้าคลั่ง หรือ คลั่งไคล้ โดยเฉพาะเด็กในเมืองใหญ่ ๆ แต่หากเป็นวัยกลางคนขึ้นไปอาจคุ้นชินและคุ้นหูกับคำว่า “ครั่ง” ซึ่งจัดเป็นแมลงชนิดหนึ่งเป็นพี่น้องกับเพลี้ยหอย เพลี้ยแป้งจัดอยู่ในวงศ์ Kerriidae อันดับ Hemiptera
“ครั่ง”หรือ “lac scale”ไม่ใช่เพียงเจ้าก้อน ๆ เกาะอาศัยอยู่ตามกิ่งไม้ เช่น ต้นจามจุรี ลำไย หรือไม้ยืนต้นในป่าธรรมชาติเท่านั้น จริง ๆ แล้วจัดเป็นแมลงปากดูดที่ดูดกินน้ำเลี้ยงของพืชตัวเต็มวัยเพศเมียไม่มีปีกขนาดค่อนข้างเล็ก
ตัวอ่อนวัยที่ 1 มีขนาดเล็กมากลำตัวมีสีส้มหรือแดงขา 3 คู่ เจริญเติบโตดี ทำให้สามารถเดินไปตามส่วนต่างๆของต้นพืชและหาพื้นที่เหมาะสมในการอยู่อาศัยและเมื่อมีการลอกคราบเพื่อพัฒนาเป็นตัวอ่อนวัยที่ 2 จนถึงระยะตัวเต็มวัย
ส่วนของขาไม่มีการพัฒนาและหดสั้นจนเมื่อถึงตัวเต็มวัยจะไม่ปรากฏส่วนของขาให้เห็น ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ และประกอบกับครั่งมีการสร้าง resin หรือ ยางเหนียวที่ค่อนข้างแข็งขึ้นมาปกคลุมเปรียบเสมือนรังของครั่งนั้นเอง ซึ่งหากเราไม่แกะเข้าไปดูด้านในเราจะไม่สามารถเห็นตัวครั่งได้เลย
สำหรับตัวเต็มวัยเพศผู้อาจจะมีปีกหรือไม่มีปีกก็ได้ การสืบพันธุ์ของครั่งนั้นก็มีทั้งแบบใช้เพศและไม่ใช้เพศ ซึ่งครั่งมีอายุขัยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4 - 6 เดือน
ทั้งนี้ความหลากหลายของครั่งนั้นในปัจจุบันมีการรายงานแล้วกว่า 10 สกุล 100 ชนิดจากทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยยังมีข้อมูลค่อนข้างน้อย แต่จากการตรวจสอบตัวอย่างภายในพิพิธภัณฑ์แมลง กรมวิชาการเกษตร มีไม่น้อยกว่า 2 ชนิดและคาดว่าหากมีการรวบรวมตัวอย่างจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทยแล้วคงมีจำนวนชนิดเพิ่มมากขึ้น
ในอดีตเราจะคุ้นเคยกับครั่งในการนำไปใช้ประโยชน์จากส่วนของ resin ที่ครั่งสร้างขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย บังคลาเทศ เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม จีน หรือประเทศไทย สามารถนำ resin แห้งไปทำ shellac ที่ใช้ทาไม้ให้มีความเงางาม ก่อนที่ในปัจจุบันจะมีพัฒนาสารเคมีตัวอื่น ๆ ขึ้นมาทดแทน
อย่างไรก็ตามในบ้านเรามองการใช้ประโยชน์จากครั่งมากกว่าจะมองในการเป็นศัตรูพืชที่จะคอยดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆของพืชจนสามารถทำให้ต้นไม้ตายและอาจเพราะระบบนิเวศของบ้านเราที่มีการควบคุมประชากรของครั่งให้มีความสมดุลในธรรมชาติโดยทั้งตัวห้ำและตัวเบียน
แต่สำหรับบางประเทศแล้วครั่งถือเป็นศัตรูพืชสำคัญ เช่น ในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา มีการระบาดอย่างรุนแรงและรวดเร็วของครั่ง (lobate lac scale) 𝘗𝘢𝘳𝘢𝘵𝘢𝘤𝘩𝘢𝘳𝘥𝘪𝘯𝘢 𝘱𝘴𝘦𝘶𝘥𝘰𝘭𝘰𝘣𝘢𝘵𝘢 ซึ่งถือเป็นศัตรูพืชต่างถิ่น (invasive pest) จนทำให้มีการให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการกำจัดและควบคุมทั้งด้วยชีววิธีและสารเคมีตามมาตรฐานของภาครัฐจะเห็นได้ว่าระบบนิเวศที่มีความสมดุลตามธรรมชาติเป็นกลไกที่ทรงคุณค่าและพลังสำหรับทุกชีวิตในโลกใบนี้ ประเทศไทยของเราโชคดีที่มีระบบนิเวศที่หลากหลายและมีความสมดุล
ที่มาข้อมูล
ชมัยพร บัวมาศ
นักกีฏวิทยาชำนาญการ กลุ่มงานอนุกรมวิธานแมลง
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
โฆษณา