11 ม.ค. 2022 เวลา 12:41 • ปรัชญา
มายาภาพแห่งเจตจำนงอิสระ
เช้าวันหนึ่ง, ท่านผู้อ่านตื่นนอนขึ้นมาอย่างสดใส. จากนั้นท่านลุกขึ้นเดินจากห้องนอนลงไปยังห้องครัวเพื่อชงกาแฟสักแก้ว, แล้วดื่มมันพร้อมกับพายสัปปะรดที่ท่านเลือกซื้อมาจากร้านสะดวกซื้อเมื่อคืนนี้. ระหว่างรับประทานอาหารเช้าอย่างสำราญใจ, ท่านพลิกหน้าหนังสือพิมพ์อ่านข่าวประจำวันอย่างกระตือรือร้น. ไม่นานท่านก็อิ่มหนำกับมื้อเช้าอันเรียบง่ายก่อนลุกขึ้นไปอาบน้ำเพื่อเตรียมตัวออกเดินทางไปทำงาน.
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะการตัดสินใจของท่านเอง. ไม่มีใครบังคับให้ท่านดื่มกาแฟ, ไม่มีใครบังคับให้ท่านเลือกกินพายเป็นอาหารเช้า, และท่านอ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ด้วยความสมัครใจ. นี่ก็หมายความว่า ท่านจะเลือกดื่มนมแทนกาแฟ, กินขนมปังแทนพาย และดูทีวีแทนอ่านหนังสือพิมพ์ก็ย่อมได้. ท่านรู้สึกได้อย่างมั่นใจว่า ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากเจตจำนงอิสระ (Free will ) ของท่านเอง.
1
บทความนี้ตั้งคำถามกับความรู้สึกดังกล่าวและชวนท่านผู้อ่านมาสำรวจสิ่งที่เรียกว่า เจตจำนงอิสระ.
ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์, อุปกรณ์ซับซ้อนสมัยใหม่จำนวนมากถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อการศึกษาโครงสร้างของสมองและการทำงานของมันแบบทันท่วงที. การศึกษาเกี่ยวกับสมองนำเราไปสู่ความจริงที่ว่า ความรู้สึกอันแจ่มชัดยากจะสงสัยที่ว่า เราเป็นผู้ลงมือกระทำสิ่งต่างๆ, เป็นผู้ปรารถนาสิ่งต่างๆ, เป็นผู้ควบคุมและแสดงพฤติกรรมให้ไปตามความต้องการของเรานั้นเป็นความรู้สึกที่เป็นเพียง “มายาภาพ”.
การทดลองที่โด่งดังและสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้คนจำนวนมากเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1983. นักสรีระวิทยานาม Benjamin Libet เสนอความคิดที่ว่า เจตจำนงอิสระเป็นเพียงมายาภาพ. Libet ค้นพบว่า ก่อนที่ร่างกายเราจะเคลื่อนไหว, เช่น เอื้อมมือไปหยิบของ, กระดิกนิ้ว, หรือยกแขนขึ้น, มันจะมีการทำงานของกระแสประสาทเกิดขึ้นในบริเวณสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายซึ่งนำไปสู่การเคลื่อนไหวนั้นๆ ในที่สุด. กระแสประสาทที่ทำหน้าที่เป็นตัวขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวนี้เรียกว่า readiness potential. และการเคลื่อนไหวของร่างกายเกิดขึ้นหลังจาก readiness potential ประมาณ 550 มิลลิวินาที หรือ ราวๆ ครึ่งวินาที.
คำถามที่น่าสนใจก็คือ ความจงใจหรือความต้องการที่จะเคลื่อนไหวของเราเกิดขึ้นเมื่อใด? เจตจำนงอิสระอยู่ตรงไหนในการเคลื่อนไหวนี้?
แน่นอนว่า ก่อนที่เราจะกระดิกนิ้ว, เรารู้สึกได้ถึงความต้องการจะกระดิกนิ้ว. นี่เป็นสิ่งที่เรารับรู้ได้อย่างแจ่มแจ้ง และถือว่ามันเป็นสิ่งที่แสดงถึงการมีอยู่ของเจตจำนงอิสระ. เรารู้สึกว่า ความจงใจในการยกแขนมาก่อนการเคลื่อนไหว; นั่นคือ, มันเป็นสิ่งที่แรกที่เกิดขึ้น. ลำดับของเหตุการณ์ที่เราสามารถรับรู้ (และเชื่อว่ามันเป็นเช่นนั้น) จึงเป็นการเรียงลำดับของสามเหตุการณ์ต่อไปนี้;
(1) ความตระหนักรับรู้ถึงความต้องการที่จะเคลื่อนไหว (conscious intention)
(2) Readiness potential
(3) การเคลื่อนไหวของร่างกาย
แต่สิ่งที่น่าตกใจเกี่ยวกับการศึกษาของ Libet ก็คือ เขาพบว่า ความตระหนักรับรู้ถึงความปรารถนาของเรา (เจตจำนงอิสระ) ที่จะเคลื่อนไหวเกิดขึ้นหลัง readiness potential ประมาณ 350 มิลลิวินาที และเกิดขึ้นก่อนการเคลื่อนไหวของร่างกายราวๆ 200 มิลลิวินาที!
ลำดับเหตุการณ์แสดงสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนการเคลื่อนไหวของร่างกาย: ลำดับของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น (2) – (1) – (3)
เจตจำนงอิสระหรือความต้องการที่จะเคลื่อนไหวไม่ใช่สิ่งแรกที่เกิดขึ้น!
หากการเลือกและการตัดสินใจของเราถูกกำหนดไว้แล้วโดยเหตุการณ์อื่นที่เกิดขึ้นก่อนหน้า, การเลือกและการตัดสินใจของเราจะเป็นอิสระได้อย่างไร?
เราต่างก็เป็นเพียงสารถีที่หลงคิดว่าเป็นเราเองที่ควบคุมรถ. เราเป็นเพียงคนขับผู้ซึ่งอยู่ในรถที่เต็มไปด้วยกลไกอันสลับซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะหยั่งถึงและเข้าถึงได้ทั้งหมด. เรารู้สึกว่า การกำหนดและควบคุมทิศทางและความเร็วของรถเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของรถเอง; รถจะวิ่งเร็วแค่ไหน, เลี้ยวซ้ายหรือขวา, หยุดหรือไปต่อ. เรารู้สึกว่า เราเองเป็นผู้ตัดสินใจและควบคุมรถ. แต่เราหารู้ไม่ว่า, ในความเป็นจริง, รถเลี้ยวไปก่อนแล้ว, พวงมาลัยถูกหมุนไปแล้ว, และคันเร่งถูกเหยียบไปก่อนแล้ว; หลังจากนั้น, รถจึงค่อยส่งสัญญาณมาบอก (หลอก) ให้เรา (หลง) คิดว่า เราเป็นผู้ควบคุมรถด้วยตัวเอง!
4
นี่คือสุดยอดแห่งมายาภาพ, เป็นมายาภาพสุดตระการตาของธรรมชาติที่เราทุกคนต้องหลงอยู่กับมันไปตลอดชีวิต - มายาภาพที่เราหนีไม่พ้น!
อ้างอิง:
Hood, B. (2011) The Self Illusion. London: Constable & Robinson Limited.
Libet, B. (2004) Mindtime: The Temporal Factor in Consciousness. London: Harvard University Press.
1
โฆษณา