12 ม.ค. 2022 เวลา 04:35 • ไลฟ์สไตล์
สำหรับคนธรรมดาอย่างเรา หากเป็นผู้ที่นอบน้อมแด่คำสอนขององค์พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ควรต้องเริ่มจากการค่อยๆเข้าใจธรรมะทีละหนึ่งค่ะ โดยการค่อยๆเข้าใจเรื่องอนัตตา คือไม่มีเรา ไม่มีตัวเรา ไม่มีของเราหรือของใครเลยสักนิด
มีเห็น (ไม่ใช่เราเห็น) มีตา (ไม่ใช่ตาเรา) มีวัตถุแข็งมากระทบตา (ไม่ใช่วัตถุของเรา) ทั้งหมดเป็นปัจจัย ทำให้ "เกิดการเห็น" เฉพาะการเห็น ลองทำความเข้าใจว่าไม่มีเราเลยสักนิด ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เราบังคับบัญชาไม่ได้ และเมื่อเกิดขึ้นมันก็จะดับฉับพลัน กลายเป็นอดีตชาติทันที แล้วก็จะเกิด-ดับฉับพลันสืบเนื่องอีกนับไม่ถ้วน แต่คนธรรมดาอย่างเราไม่รู้ (อวิชชา) ว่านี่ไม่ใช่เรา และหลงคิดว่าเป็นเราทำ เราทุกข์ เราเสียใจ เรารัก เราเกลียด
มีโกรธ เศร้าเสียใจ เพราะมีสิ่งที่เรียกว่าอนุสัยนอนเนื่องสะสะมมา นับภพนับชาติไม่ถ้วน เกิดมาแล้วเป็นคนโกรธง่าย ทุกข์ง่าย เป็นคนขี้อิจฉาคนง่าย หมั่นไส้คนง่าย เป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น ก็เพราะอนุสัยที่สะสมผ่านสังสารวัฏ ตามที่ว่ามา จิตนั้นรู้ทุกเรื่อง จึงเสวยอารมณ์ได้ทุกเรื่อง
แม้ "สติ" ก็เป็นอนัตตา เราไม่อาจบังคับบัญชา "สติ" ได้ เวลาทุกข์เราบังคับสติได้หรือ? แต่มันทุกข์ไม่นาน มันจะดับเองต่างหาก เราอาจต้องค่อยๆ เปิดใจ คำว่า "ไม่ใช่เรา" ค่อยๆ สะสมความเข้าใจเรื่อง "ไม่ใช่เรา" แล้วจึงจะสามารถฝึกฝนสังเกต สิ่งเหล่านี้ยากต่อการทำความเข้าใจ เพราะธรรมะนั้นเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งทีละหนึ่งค่ะ ไม่ใช่เพียงการท่องบาลีแล้วบอกว่าเข้าใจ ประจักษ์แจ้ง รู้หนทางดับทุกข์ มันง่ายเกินไปค่ะ
....ธัมโม จะ เทสิโต นิยยานิโก แปลว่า และ"พระธรรมที่ทรงแสดง" เป็น "ธรรมเครื่องออกจากทุกข์"....
มะยันตัง ธัมมัง สุตวา เอวัง ชานามะ หมายถึง พวกเราเมื่อได้ฟังธรรมนั้นแล้ว จึงได้รู้อย่างนี้ว่า....
ทุกโขติณณา แปลว่า เป็นผู้ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว
ทุกขะปะเรตา แปลว่า เป็นผู้มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว....
#คัดมาบางส่วน จากบทสวดทำวัตรเช้า สังเวคะปะริกิตตะนะปาฐะ (คำกล่าวแสดงความสลดใจในความเป็นไตรลักษณ์ของสังขารขันธ์)
โฆษณา