Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Spark
•
ติดตาม
13 ม.ค. 2022 เวลา 08:13 • ประวัติศาสตร์
การอยู่รวมกันเป็นสังคมนั้น ทุกยุคทุกสมัยและทุกสังคมย่อมต้องมีปัญหาและเรื่องวุ่นวายเป็นปรกติธรรมดา จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่ทุกสังคมจะต้องมีระเบียบกฎเกณฑ์รวมถึงเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไว้ควบคุม ป้องกันและแก้ปัญหาความวุ่นวายต่าง ๆ เฉพาะอย่างยิ่งกับพวกมิจฉาชีพ แต่ถึงแม้ว่าทางการจะพยายามควบคุมอย่างสุดความสามารถ ปัญหาเหล่านี้ก็ยังคงมีเรื่อยมาและเหล่ามิจฉาชีพก็มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการช่วงชิงทรัพย์สินผู้คนอยู่ตลอด ดังจะเห็นได้จากพวกแก๊งคอลเซนเตอร์ในปัจจุบันที่สร้างความเสียหายไปเป็นมูลค่าหลายล้าน
ในบทความนี้จึงอยากจะพาทุกท่านย้อนไปดูกลโกงของมิจฉาชีพในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ถึงแม้จะดูขบขันสักเล็กน้อย แต่เมื่อลองพิจารณาแล้วกลโกงนี้อาจะสร้างความเสียหายให้กับชีวิตของเหยื่อได้เลยหากแก้ไขผิดวิธี กลโกงนั้นก็คือ “หัวโขนมรณะ”
รูปภาพต้นฉบับจาก https://www.thaipbsworld.com/the-making-of-history/
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนเลยนะว่า คำว่า “หัวโขนมรณะ” เป็นคำที่แอดมินตั้งขึ้นเอง เพราะเห็นว่ามันมีอันตรายที่สามารถทำให้เหยื่อของมิจฉาชีพเสียชีวิตได้หากแก้ไขผิดวิธีหรือผู้ที่เข้ามาช่วยเหลือไม่ได้ตระหนักถึงความอันตรายที่ซ่อนอยู่นี้ โดยเรื่องราวเหล่านี้ได้ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์สยามไสมยเล่ม 3 แผ่น 12 วันพุธ เดือนสิบสอง แรมสิบค่ำ ปีวอก ฉอศก 1246 ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่วางจำหน่ายในช่วงปี พ.ศ.2420-2430
ทางผู้เขียนหนังสือพิมพ์นี้ได้เขียนอธิบายกลโกงที่เกิดขึ้นในสังคมสยามเพื่อให้ผู้อ่านได้รับรู้และระมัดระวังตัวเองจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเรื่องราวนี้เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ได้มีชายคนหนึ่งเดินถือหัวโขนเข้าไปในร้านขายผ้าของเจ๊ก โดยทำทีว่าจะเข้าไปซื้อผ้าม่วง ซึ่งเจ๊กคนขายก็ดียินดีต้องรับลูกค้าเป็นอย่างดีถามไถ่ว่าต้องการผ้าแบบไหน (แต่ไม่ยักจะสังเกตหัวโขนในมือลูกค้าเลยหรือ ? แต่สมัยนั้นก็คงเป็นเรื่องปกติมั้ง และคงเข้าใจว่าคนละครมาซื้อผ้าคงไม่เป็นเรื่องแปลก) โดยลูกค้าเจ้าเล่ห์ผู้นี้ก็บอกเจ๊กเจ้าของร้านไปว่าจะขอเลือกดูผ้าไปก่อน ซึ่งเจ้าของร้านก็ปล่อยลูกค้าได้เลือกของตามใจชอบ
ภาพสำเพ็ง เมื่อพ.ศ. 2452 ภาพจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_23159
แต่ในขณะที่ลูกค้าเจ้าเล่ห์กำลังเลือกของอย่างสบายใจนั้น เจ้าของร้านก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากนักปล่อยให้ลูกค้าเลือกของไปตามสบาย ส่วนตนเองนั้นก็ไปทำอย่างอื่นโดยไม่ได้คิดอะไร แต่หารู้ไม่ว่าความซวยกำลังมาเยือนเจ้าของร้านอย่างไม่รู้ตัว เพราะในระหว่างที่เจ้าของร้านกำลังเผลอ ๆ นั้นลูกค้าเจ้าเล่ห์ก็เอาหัวโขนที่ตัวเองถือมาครอบไปที่หัวเจ้าของร้าน และก็รีบหอบผ้าในร้านวิ่งหนีหายออกจากร้านไป
ส่วนเจ้าของร้านผู้เคราะห์ร้ายเมื่อถูกสวมหัวโขนแล้วก็ตกใจ วิ่งกระโจนออกไปนอกร้านหวังจะให้ผู้คนช่วยจับหัวขโมยเจ้าเล่ห์นี้ให้ได้ แต่อนิจจากลับไม่มีใครช่วยเหลือเจ้าของร้านผู้เคราะห์ร้ายนี้เลยสักนิด...
อยากให้ผู้อ่านลองนึกภาพตามว่าในขณะที่ผู้อ่านกำลังจับจ่ายซื้อของในตลาดนั้นอยู่ ๆ ก็มีใครไม่รู้สวมหัวโขนออกมาร้องโวยวายอยู่กลางตลาด ซึ่งมองแว๊บแรกนั้นก็ชี้ชวนให้เข้าใจว่าคนนั้นเป็นบ้าและยิ่งเป็นคนต่างชาติต่างภาษาออกมาตะโกนโวยวายด้วยแล้วก็ยิ่งเข้าใจยากไปกันใหญ่ เช่นเดียวกันกับผู้คนในสมัยนั้นก็เข้าใจว่าเจ้าของร้านผู้เคราะห์ร้ายนี้เป็นคนบ้าที่ออกมาเต้นไปเต้นมาร้องอื้ออึงสวมหัวโขน
มาถึงจุดนี้ผู้อ่านอาจจะคิดว่า “แล้วทำไมมันไม่ถอดหัวโขนออกล่ะ ?” นี่แหละครับคือ “ความอันตราย” ที่แอดมินพูดถึง โดยหลังจากเจ๊กเจ้าของร้านเต้นร้องตะโกนโหวกเหวกไปมาได้สักพัก ผู้คนแถวนั้นที่ยืนดูกันอยู่ (ดูกันจริงจังมาก ฮา...) ก็เริ่มสังเกตเห็นความผิดปรกติเลยเข้าไปดูใกล้ ๆ ก็ได้ความว่ามีคนมาขโมยผ้าของเจ้าของร้านไป ทีนี้ก็คงคิดกันไปว่าหัวโขนนี้มันคงจะเล็กเลยถอดยากมั้ง เลยจะช่วยเจ้าของร้านถอดหัวโขนนี้ แต่ ๆ ๆ ๆ คนที่เข้าไปช่วยเหลือนั้นถึงกับต้องตะลึงอ้าปากค้าง เพราะหัวโขนนั้นมิจฉาชีพมันทำเป็นเหล็กแหลมสอดเอาไว้ตำคอหากดึงตรง ๆ ก็จะทำให้ผู้สวมใส่นั้นถึงแก่ชีวิต (ผู้เขียนหนังสือพิมพ์เขียนว่า “หัวโขนนั้นจะถอดก็ไม่ได้ เพราะมันทำเปนปลิงไว้ ถ้าถอดตรง ๆ จะต้องตาย”) ซึ่งต้องใช้เวลาอยู่นานกว่าจะแก้ไขออกมาได้ ซึ่งแน่นอนว่ามิจฉาชีพเจ้าเล่ห์นั้นก็ไปถึงไหนต่อไหนแล้ว
1
กลยุทธ์การเอาอะไรสักอย่ามาสวมหัวเพื่อฉกชิงทรัพย์สินนั้นไม่ได้มีแค่การใช้หัวโขนเท่านั้น แต่ในช่วงเวลานั้นยังพบว่ายังมีการใช้กระเช้าคลุมหัวแล้วฉกถุงเงินไปอีกด้วย โดยกลยุทธ์ของเหล่ามิจฉาชีพเหล่านี้ได้ถูกนำมาลงในหนังสือพิมพ์เพื่อให้ผู้คนทั่วไปได้รับรู้และจะได้ระมัดระวังตัว โดยเฉพาะในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ที่ระบบกฎหมายรวมถึงศักยภาพของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองในเวลานั้นยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และพบว่าในหนังสือพิมพ์ได้มีการตีแผ่กลโกงอื่น ๆ อีกมากมาย โดยจะขอนำมาเล่าในภายหลัง
1
อ้างอิง
ซามูลเอล เจ.สมิธ. จดหมายเหตุสยามไสมย. 2549.
1 บันทึก
3
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย