13 ม.ค. 2022 เวลา 11:05 • การศึกษา
Hello Blockdit♥
ถ้าวันนึงเราต้องเป็นพิธีกรจำเป็นขึ้นมา
ต้องเตรียมตัวยังไงบ้างน๊า
ในยุคที่อะไร ๆ ก็ต้องจำกั๊ด จำกัด
อะไรทำกันเองได้ก็ทำไปโลด
ไม่เว้นแม้กระทั่งงาน "พิธีกร"
ใครที่บังเอิญถูกชี้เป้ามาแล้วว่าต้องรับหน้าที่นี้
แล้วกำลังหาแนวทางการเตรียมตัว
เมนี่มีเทคนิคง่าย ๆ เสริมความมั่นใจ
และลดความประหม่าให้งานแรก
"ปัง" ดั่งมืออาชีพมาฝากกันค่ะ
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนนะคะ
ว่างานพิธีกรไม่ใช่แค่ว่า "ใครพูดเก่งก็เป็นได้นะคะ"
แต่งานพิธีกรต้องใช้ทักษะหลายด้านเลยค่ะ
เรามาลองดูว่ามีทักษะอะไร
แล้วจะเตรียมฝึกยังไงได้บ้าง
1. ทักษะการพูด
ยังไงก็ต้องมีเป็นพื้นฐานว่าต้องกล้าพูด และมั่นใจที่จะพูด เพราะคนจะจับความรู้สึกเราได้ทันทีจากการพูด ว่าเรามืออาชีพหรือไม่ ชั่วโมงบินมากน้อยแค่ไหน มันจะแสดงออกมาอย่างชัดเจนมาก ๆ เวลาเราอยู่บนเวทีค่ะ หากใครยังไม่มั่นใจกับทักษะการพูด
แนะนำให้เริ่มจากการฝึกพูดให้มากขึ้น ซึ่งมีหลายวิธีมาก ยกตัวอย่าง เช่น การฝึกพูดตามบทแล้วอัดคลิปดู อย่าฝึกหน้ากระจกนะคะ แบบนั้นจะไม่ได้มุมมองของคนที่ฟังเราจริง ๆ เพราะระหว่างพูดเราจะมองในกระจกที่ใบหน้า แต่หน้างานจริงเราต้องพูดแล้วมองไปรอบ ๆ ดังนั้นการตั้งกล้องอัดคลิป จะทำให้เราได้ฝึกการมองไปบรอบ ๆ ไม่ใช่มองแต่ข้างหน้าอย่างเดียว
2. ทักษะการอ่าน
เนื่องจากพิธีกรต้องออกเสียงอักขระให้ชัดเจน โดยเฉพาะชื่อและตำแหน่ง อย่างเมนี่เองจะเน้นเรื่องของการอ่านให้ถูกต้อง เพื่อเป็นการให้เกียรติผู้ที่เราอ่านชื่อทุกท่าน ซึ่งสิ่งนี้ผู้ที่จะทำหน้าที่พิธีกรต้องระวัง และฝึกออกเสียงให้ถูกต้องการเริ่มงานเสมอ
ยิ่งเมนี่เป็นนายพิธีที่ต้องท่องภาษาบาลีด้วย จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องออกเสียงให้ถูกต้องและชัดถ้อยชัดคำ แนะนำให้เขียนฝึกอ่านสักรอบก่อน หากไม่มั่นใจคำไหน ให้เขียนคำอ่านกำกับไว้เสมอ
3. ทักษะการจับประเด็น
ในการเป็นพิธีกรหลายครั้งเราต้องสัมภาษณ์คู่สนทนา พูดรายละเอียดโปรโมชั่น แจ้งข้อมูลต่าง ๆ โดยที่บางทีจะเป็นสคริปมาซึ่งถ้าเราอ่านตามสคริปเลย จะทำให้ขาดเสน่ห์ หรือบางครั้งสคริปจะมีรายละเอียดมากเกินไป ทำให้คนฟังสับสนได้
พิธีกรต้องอ่านและจับใจความ จากนั้นเรียบเรียงเป็นภาษาที่พูดแล้วรื่นหูและเข้าใจง่าย เพื่อถ่ายทอดให้ผู้ฟังเข้าใจในทิศทางเดียวกันอย่างถูกต้อง ดังนั้นเราต้องฝึกจับประเด็นจากข้อความต่าง ๆ หลาย ๆ บรรทัดให้ย่อให้สั้นและได้ใจความบ่อย ๆ จะช่วยในการฝึกได้
4. ทักษะการใช้เสียง
การใช้เสียง "จำเป็นอย่างยิ่ง" พิธีกรต้องรู้จักการใช้เสียงให้เหมาะสมกับบริบทของหน้างาน เช่น งานเปิดตัวสินค้าเสียงต้องกระหึ่มและกังวาล งานแต่งงานเสียงต้องอ่อนหวานละมุน งานแถลงข่าวเสียงต้องโทนจริงจังเป็นทางการ
ทั้งนี้จึงจำเป็นอย่างมาที่พิธีกรเองควรศึกษางานที่เราจะได้รับเชิญไปทำหน้าที่ ว่าเจ้าภาพต้องการภาพงานให้ออกมาแบบไหน เป็นงานสไตล์ยังไง ซึ่งไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไม พิธีกรอาชีพบางท่านจึงรับเฉพาะงานที่ตัวเองถนัด เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเสียงที่สามารถทำหน้าที่พิธีกรได้ทุกแบบ
5. ทักษะการแก้ปัญหา
ขึ้นชื่อว่าเป็นการจัดงานหน้างานสด ก็ต้องทำใจว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ เช่น ประธานมาช้า เพิ่มรูปแบบงานกระทันหัน เกิดการผิดคิวของทีมงานต่าง ๆ และอีกมากมาย บอกได้คำเดียวว่า THE SHOW MUST GO ON
พิธีกรต้องมีทักษะนี้อย่างมากที่จะแก้ปัญหาตรงหน้าให้ราบรื่น โดยที่ทุกสายตาจับจ้องมาที่เราคนเดียว เมนี่เองได้ทักษะส่วนนี้มาเต็ม ๆ เนื่องจากเราอยู่เบื้องหลังเป็นผู้จัดงานมาก่อน จึงเข้าใจสถานะการณ์ตรงหน้าได้ไว นับเป็นข้อได้เปรียบอยู่มาก
6. ทักษะการจัดการ
หลายครั้งที่หน้างานมีแค่พิธีกรคนเดียว ไม่มีผู้ช่วยในการทำหน้าที่ร่วม พิธีกรต้องมีเทคนิคในการจัดการรอบด้าน ไม่ว่าจะคนฟังในงาน คู่สนทนา มือต้องการหยิบของต่าง ๆ เรียกได้ว่า "พันกร" ของจริง
หากใครไม่สามารถแยกประสาทสัมผัสทุกอย่างที่มีได้ ก็จะตื่นเวทีได้ง่ายพอสมควร เพราะวันงานทุกคนจะเข้าถึงเราหมดเพราะเราถือไมค์ มีอะไรก็จะให้ช่วยประกาศ ซึ่งเรามีต้องมีสมาธิอย่างมาก เพื่อไม่ให้สิ่งที่เรากำลังพูดอยู่ขาดตอน
7. ทักษะการประสานงาน
บางคนนึกไม่ถึงว่าพิธีกรจะไปประสานงานอะไรเหรอ อ้าว! ก็ต้องประสานเจ้าภาพถึงภาพรวมที่อยากให้เป็น ทีมทำงานอื่น ๆ ที่ต้องทราบจังหวะและทำงานร่วมกันให้ราบรื่น ร่วมถึงแขกรับเชิญบางท่าน บางงานรวมไปถึงประธานด้วย
ดังนั้นพิธีกรต้องมีทักษะการประสานงานที่ดี เพื่อให้ภายรวมทั้งงานออกมาดี และเจ้าภาพรวมถึงแขกในงานรู้สึกว่าทุกอย่างราบรื่นไร้ที่ติ
8. ทักษะการสร้างบรรยากาศ
หลายครั้งที่งานจะเงียบ ๆ เมื่อเวลาไม่มีพิธีกร นั่นเพราะพิธีกรต้องเป็นนักสร้างบรรยากาศให้ทุกคนอินตามกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ต้องเข้าใจบริบทของงานและพยายามดึงให้คนในงานมีส่วนร่วมให้มาก
ให้จำไว้เสมอว่าคนที่ถือไมค์ ถือคนที่มีอิทธิพลที่สุดในงานเพราะเสียงเราดังที่สุด ก็แหมมีทั้งไมค์และลำโพงอยู่คนเดียวนี่คะ
9. ทักษะการในการเล่าเรื่อง
เคยมั้ยคะที่ฟังใครพูดอะไรแล้วก็จะฟังเพลิน ๆ จนลืมเวลา หรือบางครั้งก็ไม่อยากจะฟังอะไรเลยรู้สึกเวียนหัว สิ่งนี้จะหมดไปหากเราเป็นนักเล่าเรื่องที่ดี การเล่าเรื่องทำได้หลายแบบขึ้นอยู่กับสถานะการณ์ แต่หากเราใช้การเล่าเรื่องถูกจังหวะจะทำให้งานนั้น ๆ เกิดความสนุก ความประทับใจ และเป็นที่พูดถึงอย่างแน่นอน
วิธีฝึกการเล่าเรื่องนั้นต้องอาศัยฝึกเล่าเรื่องบ่อย ๆ อาจเริ่มจากในวงสนทนากับครอบครัวง่าย ๆ แล้วดูการตอบรับว่าเป็นยังไงบ้าง
เป็นยังไงกันบ้างคะ พอจะได้แนวทางของการเตรียมตัวเป็นพิธีกรคร่าว ๆ กันแล้วเนอะ ถ้าชอบข้อมูลแบบนี้ไว้เมนี่เอามาแชร์เป็นแนวทางให้ทุกคนได้ประโยชน์ ที่สำคัญทำตามได้ตัวเองเลยนะคะ
🌹 ติดตาม และเป็นกำลังใจให้เมนี่ในทุกช่องทางด้วยนะคะ
Facebook : ManieThing
Youtube : ManieThing
IG : ManieThing
Tiktok : ManieThing
Blogger : ManieThing
โฆษณา