14 ม.ค. 2022 เวลา 11:30
เปิดไทม์ไลน์ "VIP อเมริกา" พบใครบ้าง ก่อนครม. เคาะงบลับซื้อเครื่องบินรบ 4 ลำ
ย้อนไทม์ไลน์เจ้าหน้าที่ระดับ VIP ของสหรัฐที่เดินทางเยือนไทยอย่างคึกคักในช่วงปีที่ผ่านมา ตอกย้ำความสัมพันธ์อันชื่นมื่นทั้งด้านกลาโหมและความมั่นคงของทั้งสองฝ่าย ก่อนที่ 11 ม.ค. 2565 ครม. จะอนุมัติงบฯ 1.38 หมื่นล้านบาท สำหรับการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่โจมตี 4 ลำ
จากกรณี กองทัพอากาศ ระบุ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบฯ 1.38 หมื่นล้านบาท สำหรับการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่โจมตีเพื่อทดแทนเครื่องบิน F-16 แต่ยังไม่ยืนยันว่าจะซื้อ F-35 หรือไม่นั้น เรามาย้อนดูกันว่า หากเครื่องบินที่จะจัดซื้อดังกล่าวเป็น F-35 เครื่องบินขับไล่ของบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ค้าอาวุธสัญชาติสหรัฐจริงตามข่าวที่มีมาก่อนหน้านี้ ไทม์ไลน์บุคคลระดับ VIP ของสหรัฐที่มาเยือนไทยช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พอจะบ่งบอกอะไรได้หรือไม่
รายนามเจ้าหน้าที่ระดับ VIP จากสหรัฐที่มาเยือน หรือมีกำหนดมาเยือนไทย ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา รวมรวมจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และทำเนียบรัฐบาล ประกอบด้วย
21 ธ.ค. 64 พลเอก มาร์ก เอ. มิลลีย์ ประธานคณะคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐ (Chairman of the Joint Chiefs of Staff : CJCS) ตำแหน่งเทียบเท่ากับผู้บัญชาการทหารสูงสุด เดินทางเยือนไทยและได้พบปะหารือกับหน่วยงานความมั่นคงของไทยหลายหน่วยงาน แต่ไม่มีการเปิดเผยกำหนดการและรายละเอียด
ก่อนหน้าการเยือนไทยครั้งนี้ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านกลาโหมของไทยได้เดินทางเยือนสหรัฐระหว่างวันที่ 11-20 ธ.ค.64 นำโดยพล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเป็นไปตามคำเชิญของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ครั้งนั้น ฝ่ายไทยได้เข้าพบบุคคลสำคัญของสหรัฐ ดังนี้
  • พลเอก มาร์ก เอ. มิลลีย์ ประธานคณะคณะเสนาธิการร่วม
  • ดร.อีไล เอส.แรตเนอร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ฝ่ายกิจการความมั่นคงภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก
  • พล.อ.แดเนียล อาร์.โฮเกนสัน ผู้บัญชาการหน่วยรักษาดินแดน (เป็นแขกงานเลี้ยงอาหารค่ำ)
พล.อ.เฉลิมพล พบผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสหรัฐฯ พล.อ. มาร์ก เอ. มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วม (ภาพจากเว็บไซต์สถานทูตสหรัฐ)
15-16 ธ.ค. 64 นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ มีกำหนดเยือนไทยแต่ยกเลิกกะทันหันหลังตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในคณะผู้ร่วมเดินทางเยือน 3 ประเทศอาเซียน
ทั้งนี้ กำหนดเดิมจะมีการเข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายดอนปรมัตถ์ วินัย รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ และร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับนักธุรกิจไทย
ประเด็นหารือเรื่องการเสริมสร้างความร่วมมือไทย-สหรัฐ การรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือทวิภาคี และในกรอบอาเซียน การส่งเสริมความร่วมมือไทย-สหรัฐ เพื่อการให้ความช่วยเหลือต้านมนุษยธรรมให้แก่ประชาชนในเมียนมา
2-4 ธ.ค. 64 นายแดเนียล คริเตนบริงค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เดินทางมาเยือนไทย เป็นครั้งแรกหลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน ก.ย. (โดยทริปนี้เขาเยือน 4 ชาติอาเซียน ประกอบด้วยไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์)
เพื่อตอกย้ำพันธมิตรในอาเซียนว่าสหรัฐให้ความสำคัญ และพร้อมกระชับความร่วมมือทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ทั้งยังเตรียมการสำหรับการเยือนไทยครั้งแรกของรมว. ต่างประเทศสหรัฐ นายแอนโทนี บลิงเคนด้วย
3 ธ.ค.64 นายแดเนียล คริเตนบริงค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เข้าพบพล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
29 พ.ย. 64 นายเท็ด โอเชียส ประธานสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา- อาเซียน (USABC) เข้าพบนายกรัฐมนตรี หารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า และการลงทุนนำนักธุรกิจสหรัฐประชุมทางไกลออนไลน์กับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม รวมทั้งนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์' รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข
19 พ.ย.64 นายเดวิด เอส โคเฮน รองผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือ CIA เข้าพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นเวลา 45 นาที พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ระบุว่าเป็นการคุยกันในเรื่องงานต่างประเทศและความมั่นคง ความร่วมมือทางทหาร เพื่อเสถียรภาพในภูมิภาค
18-19 ต.ค. 64 นายเดเร็ค ชอลเล็ต ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เข้าพบนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ หารือเรื่องการเสริมสร้างความร่วมมือไทย-สหรัฐ การรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือทวิภาคี และในกรอบอาเซียน การส่งเสริมความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ เพื่อการให้ความช่วยเหลือต้านมนุษยธรรมให้แก่ประชาชนในเมียนมา
ยังไม่ได้ตัดสินใจ แต่เป็นหนึ่งในใจผบ.ทอ.
สำหรับเครื่องบินขับไล่ F-35 นั้น ผลิตโดย บริษัทล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ขึ้นบินรุ่นแรกในปี 2549 ปัจจุบันเข้าสู่รุ่นที่3 แล้ว มีการผลิตส่งมอบ F-35 ทั้ง 3 รุ่นไปแล้วมากกว่า 750 ลำ และฝูงบิน F-35 ทั่วโลกมีเที่ยวบินรวมกัน 274,699 เที่ยวบิน รวมชั่วโมงบินจำนวนมากกว่า 470,000 ชั่วโมงบิน มีนักบินที่เข้ารับการฝึกมากกว่า 1,585 คน และช่างอากาศยานมากกว่า 11,545 คน มีใช้ในกองทัพของ 9 ประเทศ
เครื่องบินขับไล่ F-35
ทั้งนี้ พล.อ.ต.ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ เปิดเผยวานนี้ (12 ม.ค.) ว่า งบดังกล่าวจะเป็นการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีของกองทัพอากาศลำใหม่มาเพื่อทดแทนเครื่องบิน F-16 แต่จนถึงขณะนี้ “ยังไม่มีการตัดสินใจ” ว่าจะจัดซื้อเครื่อง F-35 ซึ่งเป็นเครื่องบินของบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ทางผู้บัญชาการทหารอากาศได้เคยตั้งความหวังว่า อยากได้เครื่อง F-35 เพราะราคาลดลงมามาก แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯ พิจารณาความจำเป็นทางยุทธการ ว่าในท้ายสุดแล้ว เครื่องขับไล่แบบใดที่จะเหมาะสมกับกองทัพอากาศไทยและจะคุ้มทุนหรือไม่
โฆษกทัพอากาศเผยว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2565 อนุมัติกรอบงบประมาณปี 2566 และการผูกพันงบประมาณที่เกิน 1,000 ล้านบาท ของกองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยรวมทั้งโครงการเป็นการพิจารณาจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีของกองทัพอากาศ เพื่อทดแทนเครื่องบิน F-16 งบประมาณ 13,800 ล้านบาท
ทาง ครม.ได้อนุมัติจัดซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่ เสนอของบประมาณ ปี 2566 13,800 ล้านบาท จำนวน 4 เครื่องแรก จัดซื้อผูกพัน 4 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2569 (แต่ยังไม่ระบุว่า จะซื้อ F35) ทั้งนี้ ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คณะกรรมการศึกษาฯ และคณะกรรมการจัดหา เตรียมนำเข้า ครม. ขออนุมัติหลักการ
และกรอบวงเงินงบประมาณ โดยคณะกรรมการชุดแรก มี พล.อ.อ.ธนศักดิ์ เมตะนันทน์ รอง ผบ.ทอ. เป็นประธาน และอีกคณะมี พล.อ.อ.พันธุ์ภักดี พัฒนกุล เสนาธิการทหารอากาศ เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตี
โฆษณา