14 ม.ค. 2022 เวลา 04:05 • สุขภาพ
วิวัฒนาการกับอนาคตของวิกฤตโควิด
เรื่องโดย ผศ. ดร.ป๋วย อุ่นใจ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
“อรุณรุ่งแห่งศักราชใหม่ถือเป็นโอกาสอันดีให้เราได้เริ่มต้นกันใหม่ร่วมด้วยช่วยกันต่อต้านภัยที่กำลังคุกคามพวกเราทุกๆ คน” เทดรอส เกเบรเยซุส (Tedros Ghebreyesus) ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) กล่าวในการ แถลงครั้งแรกของเขาในปี 2022
เทดรอสเรียกร้องเหมือนๆ กับทุกครั้งให้นานาชาติ ช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนทุกคนในโลก
“ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงวัคซีนคือฆาตกรฆ่าคน และฆ่างาน” เขากล่าว การมีภูมิคุ้มกันแบบจำกัดจำเขี่ยในสังคมคือสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการบ่มเพาะไวรัสสายพันธุ์กลายตัวใหม่ๆ ที่อาจจะอุบัติขึ้นมาได้ทุกเมื่อ เพราะเมื่อภูมิคุ้มกันคุมการระบาดไม่ได้ เชื้อก่อโรคที่ค่อยๆ กลายพันธุ์ไปจนดื้อต่อภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ได้ ก็จะอยู่รอดและสามารถขยายเผ่าพันธ์ุแพร่กระจาย กลายเป็นการระบาดระลอกใหม่ที่อาจติดเชื้อทะลุภูมิได้อย่างแสบๆ
และทุกครั้งที่ไวรัสก๊อปปี้จำลองตัวเองสร้างลูกหลานก็จะมีโอกาสที่จะก๊อปผิด ซึ่งจะทำให้เกิดการกลายพันธุ์ นั่นหมายความว่ายิ่งไวรัสระบาดได้มาก ไวรัสก็จะมีโอกาสที่จะก๊อปปี้ลูกหลานออกมาได้มาก โอกาสที่จะกลายพันธุ์ก็จะเพิ่มขึ้นมากขึ้นเท่านั้น
และหากแจ็คพอต มีตัวกลายพันธุ์แสบๆ อุบัติขึ้นมาแค่เพียงตัวเดียว ที่เอาชนะแรงกดดันจากการควบคุมของยา วัคซีนและมาตรการควบคุมการระบาดที่ตามทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินเรียกว่าแรงคัดเลือก (selective pressure) ได้ ปัญหาสายพันธุ์กลายติดเชื้อทะลุภูมิก็จะผุดขึ้นมา
โอมิครอนจะเป็นสายพันธุ์กลายที่น่ากังวลหรือที่เรียกว่า Variants of concern (VOC) ตัวสุดท้ายหรือเปล่า?
“คงไม่ใช่ น่าจะมีสายพันธุ์กลายอื่นๆ ที่มีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันและกระจายได้อย่างอลังการเช่นเดียวกับโอมิครอนอุบัติขึ้นมาอีก และที่สำคัญอาจจะร้ายกว่าโอมิครอน” เอริส คัตสุราคิส (Aris Katzourakis) นักวิจัยด้านวิวัฒนาการของไวรัส จากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด (University of Oxford) ตอบ
เพราะตราบใดที่ยังมีการระบาดของเชื้ออยู่ การอุบัติขึ้นของสายพันธุ์กลายแปลกๆ ก็จะเป็นปัญหาที่จะวนย้อนกลับมาได้เรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด
และนั่นคือสาเหตุที่องค์กรระดับโลกอย่างองค์การอนามัยโลกและองค์กรพันธมิตรต่างๆ ได้ทุ่มสรรพกำลังลงไปในโครงการโคแวกซ์และออกมาเรียกร้องอยู่เสมอมาเรื่องความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงวัคซีน
เทดรอสเปิดเผยว่าในเวลานี้ ราวๆ ยี่สิบเปอร์เซ็นต์ของวัคซีนทั้งหมดที่มีนั้นถูกเอาไปใช้เป็นเข็มบูสเตอร์ในประเทศที่มีกำลังซื้อ ในขณะที่ผู้คนอีกมากมายในประเทศที่อาจจะมีกำลังซื้อน้อยกว่านั้นยังคงรอวัคซีนเข็มแรกกันอยู่
“โครงการบูสเตอร์แบบล้อมกรอบแบบนี้น่าจะยื้อให้วิกฤตมันยาวนานขึ้นมากกว่าจะทำให้มันสิ้นสุด” เทดรอสกล่าว
ถ้าอยากจะผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ เราทุกคน (ในโลกนี้) จะต้องผ่านมันไปด้วยกัน เพราะการฉีดวัคซีนแบบไม่เท่าเทียมคือการสร้างแรงคัดเลือกทางธรรมชาติมาบ่มเพาะไวรัสสายพันธุ์กลายใหม่ๆ !
แต่คงยากที่จะให้ทุกประเทศทำตามแบบที่เทดรอสต้องการ เพราะในเวลานี้ ไวรัสมันติดไม่เลือกหน้า ก็ต้องมือใครยาวสาวได้สาวเอาละครับ แต่ละประเทศก็ต้องดูแลตัวเองและประชาชนของตัวเองกันไปก่อน จะให้ปล่อยวัคซีนออกมา จนประเทศตัวเองตกอยู่ในความเสี่ยง ยอมตกอยู่ในสภาพเตี้ยอุ้มค่อมก็คงไม่ไหว ดังนั้น ตอนนี้ ก็ต้องบอกเลยว่าแผนการตรวจเชื้อ แผนการบูสเตอร์ของใครวางได้ดีกว่า ที่นั่นก็อาจจะเจ็บตัวน้อยหน่อย ถ้าเทียบกับที่อื่น
บิ๊กบอสขององค์การอนามัยโลกยังเตือนอีกว่าห้ามประมาท เพราะว่าสายพันธุ์กลายตัวต่อไป อาจจะระบาดเวียนวนไปทั่วแล้วก็ได้ ในเวลานี้ ทาง WHO เองก็ติดตามสายพันธุ์ใหม่ที่ต้องจับตามอง (variants of interest) อยู่สองตัว ยังมีอีกสามที่ยังอยู่ในเรด้าร์ แถมด้วยวงวารว่านเครือพวกลูกหลานตระกูลเดลต้าอีกกว่า 30 ตัวที่ยังคงต้องเฝ้าระวัง
จากการศึกษาชีววิทยาและการติดเชื้อของโอมิครอนทั้งในหนูแฮมสเตอร์ และในออร์แกนอยด์ พบว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์นี้ใช้กลไกการติดเชื้อที่แตกต่างไปจากเชื้อโควิดสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งถ้าดูการติดเชื้อในสายพันธุ์อื่นๆ รวมทั้งตัวออริจินัลจากอู่ฮั่นด้วย หลังจากที่โปรตีนหนามไวรัสจับกับโปรตีน ACE-2 ของคนแล้ว จะมีโปรตีนอีกชนิดนึงของคนที่เรียกว่า TMPRSS2 เข้ามาช่วยตัดโปรตีนหนามและกระตุ้นให้ไวรัสเข้าติดเชื้อในเซลล์
แต่ไวรัสโควิดสายพันธุ์0โอมิครอนนั้นต่างไป การติดเชื้อของพวกมันจะไม่ใช้ TMPRSS2 และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนนี้มีโอกาสติดเชื้อลงปอดได้น้อยกว่าสายพันธุ์กลายตัวอื่น
นั่นหมายความว่าโอมิครอนจะติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่างได้น้อยกว่า เชื้อในปอดก็จะน้อยกว่า และทำลายปอดน้อยกว่าไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ อีกด้วย งานวิจัยในหนูแฮมสเตอร์ นำโดยไมเคิล ไดมอนด์ (Michael Diamond) นักวิจัยไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เซนหลุยส์พบว่าเชื้อโอมิครอนจะเพิ่มจำนวนในปอดแฮมสเตอร์ได้น้อยมาก จำนวนไวรัสที่พบในปอดอาจจะน้อยกว่าถึง 10 เท่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ
นอกจากนี้ การทดลองจำลองการติดเชื้อไวรัสโอมิครอนในออร์แกนอยด์ปอดจากทีมวิจัยของเวนดี้ บาร์คเลย์ (Wendy Berclay) นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล (Imperial College London) ก็ยืนยันอีกเช่นกันว่าโอมิครอนนั้นติดเชื้อในเซลล์ปอดได้น้อยกว่าจริงๆ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้คนที่ติดโอมิครอนแสดงอาการออกมาน้อยกว่าคนที่ติดสายพันธุ์กลายร้ายๆ ตัวอื่นๆ อย่างเช่นเดลต้าหรืออัลฟ่าอยู่พอสมควร
แต่ก็ใช่ว่าจะชะล่าใจได้ เพราะชัดเจนแล้วว่าอัตราการระบาดของโอมิครอนนั้นหนักหน่วงยิ่งกว่าโควิดสายพันธุ์กลายตัวอื่นๆ ที่เคยมีมาอย่างมหาศาล ผู้ติดเชื้อหนึ่งคนอาจจะติดเชื้อแพร่กระจายไปได้ถึง 8-15 คน นั่นหมายความว่าถ้าไม่ระวัง อาจจะเจอสิ่งที่เทดรอสเรียกว่า ซูนามิ ของการระบาดที่จะถล่มวงการสาธารณสุขทั่วโลกกันแบบตั้งตัวไม่ทัน
แม้จะดูเหมือนอาการป่วยน้อยกว่าเดลต้า แต่ก็ใช่ว่าจะไม่จำเป็นต้องหาเตียง คนที่ติดโอมิครอนแล้วป่วยถึงขั้นล้มหมอนหนอนเสื่อก็มีอยู่ไม่ใช่น้อย แม้ส่วนใหญ่จะไม่สาหัสถึงขนาดต้องใช้เครื่องช่วยหายใจก็เถอะ แต่ถ้าติดเยอะ ติดไว ติดกระจายแบบวันนึงจำนวนพุ่งไปถึงเลขหกหลัก แม้อาการจะไม่ได้หนัก แต่ถ้ามาเยอะมากนัก หมอทั้งหลายก็กระอักได้เหมือนกัน….
และถ้าผู้ป่วยล้นระบบ …คงไม่ใช่ภาพที่เราอยากจะจินตนาการถึงเท่าไรนัก นี่ยังไม่นับผลกระทบเรื้อรังจาก long covid อีก ปัญหาพวกนี้จะเป็นประเด็นใหญ่ในพวกกลุ่มเสี่ยง และพวกเด็กและเยาวชน ที่ยังรับวัคซีนกันไม่ครบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก หลายองค์กรจึงเริ่มที่จะออกมาเคลื่อนไหว เพื่อเตือนว่าโอมิครอนอาจจะไม่ได้ “อ่อน (mild)” อย่างที่คิด แม้ว่าในตอนนี้เคสเด็กจะยังไม่ได้พุ่งทะลุฟ้า แต่กันไว้ก็ดีกว่าจะรอแก้
“โปรตีนหนามโอมิครอนจับ ACE-2 ได้แน่นกว่าสายพันธุ์กลาย VOC อื่นๆ ทั้งหมด” โทมัส พีคอค (Thomas Peacock) หนึ่งในนักวิจัยจากทีมอิมพีเรียลออกมาเผยต่อ
และนั่นทำให้มันมีศักยภาพที่จะโดดข้ามโฮสต์ดึ๋งดั๋งๆ เด้งไปเด้งมาหาแหล่งรังโรคใหม่ๆ ในกลุ่มสัตว์ที่สามารถสร้างโปรตีน ACE-2 ได้เหมือนกัน อย่างเช่นนก หนู ค้างคาว
และหากมหกรรมการระบาดของโควิดเข้าไปติดสัตว์รังโรคนั้นได้เกิดขึ้นเมื่อไร ความฝันในการกำจัดวิกฤติโควิดไปอย่างสิ้นเชิงนั้น ก็จะหายวับไปเมื่อนั้น เพราะต่อให้ออกมาตรการเข้มข้นมาคุมจนการระบาดในคนนั้นจบสิ้นได้สำเร็จ ท้ายที่สุด พวกไวรัสสายพันธุ์กลายที่ไปซ่อนหมกตัวอยู่ในสัตว์รังโรคก็จะโดดข้ามสปีชีส์กลับมาติดคนอีกรอบได้อยู่ดี บอกได้เลยว่างานนี้น่าจะต้องลุ้นกันอีกยาว
จากการสำรวจล่าสุดในแถบมิดเวสต์ของสหรัฐอเมริกา ไล่ไปจนถึงขอบเขตประเทศแคนาดา ก็มีรายงานมาแล้วว่าพบฝูงกวางป่าติดโควิดกันระเนระนาด ไวรัสที่ติดมีความละม้ายคล้ายคลึงกับที่พบในคนมาก นักวิจัยคาดเดาว่าน่าจะเป็นคนเอาเชื้อไปติดกวาง และต่อมาพวกมันก็แพร่เชื้อกันได้เองในฝูงกวาง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพราะกลัวว่ากวางจะตาย แต่เพราะกวางอาจจะเป็นตัวบ่มเชื้อโควิดสายพันธุ์กลายใหม่ๆ แสบๆ ขึ้นมาได้อีกไม่รู้เท่าไร
ล่าสุดในสื่อเริ่มมีวาทกรรมออกมาให้ข้อมูลแบบผิดๆ ว่าเชื้อไวรัสจะวิวัฒน์ให้เบาลง ไวรัสที่ (เหมือนจะ) ไม่ลงปอดอย่างโอมิครอนน่าจะเป็นนางฟ้าที่มาช่วยมวลมนุษยชาติจบวิกฤติ ลุกลามไปใหญ่จนถึงขนาดที่มีบุคลากรทางการแพทย์ออกมาบอกว่าโอมิครอนเป็นวัคซีนอ่อนฤทธิ์ รีบๆ ติด วิกฤติจะได้รีบๆ จบ
ผิดนะครับ ไวรัสไม่ใช่วัคซีน ติดแล้ว เดาไม่ได้ว่าอาการจะเบาหรือหนัก อาจจะแถมมาด้วยอาการเรื้อรังที่เรียกว่า long COVID ทั้งลิ่มเลือด ทั้งการรับกลิ่น แถมยังมีรอยแผลเป็นในไตที่อาจจะต้องตามรักษากันอีกยาวนาน
แม้จะไม่คุ้มเสี่ยง แต่ก็ต้องยอมรับข้อนึงว่าทุกครั้งที่ติดเชื้อ ร่างกายของผู้ป่วยจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต้านเชื้อที่ติดเข้าไป ซึ่งหมายความว่าการระบาดแบบกระจุยกระจายของโอมิครอนน่าจะมีส่วนช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ผู้ป่วยอยู่บ้าง ถัาไม่นับอาการป่วยและความเสี่ยงอื่นๆ ที่ต้องแลกมา
“การติดเชื้อของโอมิครอนที่มีโปรตีนหนามแปลกไปนั้นอาจจะทำให้ภูมิคุ้มกันของคนที่ติดเชื้อทะลุภูมินั้นมีความสามารถในการต้านไวรัสได้กว้างมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้การติดเชื้อสายพันธุ์กลายใหม่ๆ นั้นอันตรายน้อยลง” บิล ฮาร์เนจ (Bill Harnage) นักระบาดวิทยาจากโรงเรียนสาธารณสุข T.H. Chan มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) กล่าว
“แต่ถ้าให้วางเดิมพัน ผมคงไม่เอาด้วย”
แต่ก็ยังมีกูรูอีกหลายคนที่ออกมาบอกแบบมองโลกในแง่ดีว่าเมื่อเวลาผ่านไป ไวรัสหรือเชื้อก่อโรคจะค่อยๆ วิวัฒน์และปรับตัวให้อาการเบาลงจนสามารถอยู่กับโฮสต์หรือคนที่ติดเชื้อได้แบบก่ออาการให้ป่วยหนักจนถึงตาย และท้ายที่สุดจะกลายเป็นการติดเชื้อตามฤดูกาลไป ไอเดียนี้น่าสนใจ แต่มันผิดหลักการของการวิวัฒนาการไปแบบคนละขั้ว
เพราะในความเป็นจริง วิวัฒนาการนั้นเป็นกระบวนการแบบสุ่ม สายพันธุ์ไหนจะมาแรงนั้นขึ้นกับแรงคัดเลือก ใครดีใครได้
และในช่วงเวลานี้ ที่การระบาดของไวรัสนั้นเกิดขึ้นอย่างประสบความสำเร็จท่วมท้น การติดเชื้อก็ยังกระจายติดกันอีรุงตุงนังไปทั่วจนกลายเป็นแพนเดอมิก (pandemic) ระดับโลก แม้จะมีคนป่วยหนักกันระนาว เสียชีวิตกันราวใบไม้ร่วง ความหนักเบาของอาการป่วยจึงน่าที่จะยังไม่ใช่แรงคัดเลือกที่จะกำหนดสายพันธุ์กลายที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำในระลอกต่อไป
ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มองว่าตัวแปรสำคัญในสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกับการระบาดเปลี่ยนไปในช่วงเวลานี้ที่ผู้คนเริ่มได้รับวัคซีนต้านไวรัสกันมาบ้างแล้ว น่าจะเป็นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสที่มาจากการได้รับวัคซีน (หรือการติดเชื้อทางธรรมชาติ) มากกว่า ซึ่งก็คือแรงคัดเลือกที่สร้างกติกาใหม่ในการแข่งขัน (เพื่อความอยู่รอด และความสำเร็จในการกระจายเผ่าพันธ์ุ) สำหรับสายพันธุ์กลายตัวใหม่ๆ
และถ้าพิจารณากันดีๆ ว่าอะไรที่จะทำให้ไวรัสสายพันธุ์กลายนั้นเอาชนะคะคานกันได้ในเกมการแข่งขันที่มีเดิมพันเป็นความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ในครั้งนี้ จะเห็นได้ชัดว่าสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความได้เปรียบในการอยู่รอดและขยายเผ่าพันธุ์ของไวรัสน่าจะเป็นความสามารถในการติดเชื้อทะลุภูมิ และความไวในการระบาดแพร่พันธุ์ ไม่ได้เกี่ยวกับความรุนแรงของอาการแต่อย่างใด
และการที่จำนวนตำแหน่งกลายพันธุ์ของโอมิครอนมีมากกว่าสายพันธุ์กลายอื่นๆ อย่างอัลฟ่าและเดลต้า ก็ไม่ได้บ่งชี้ว่ามันมีวิวัฒนาการมากไปกว่าสายพันธุ์กลายอื่นๆ
“ถ้าดูพงศาวลีแห่งการวิวัฒนาการของไวรัสโควิด โอมิครอน แตกแขนงแยกออกมาจากพี่น้อง ตั้งแต่ก่อนเดลต้าและอัลฟ่าจะมาเสียอีก” คัตสุราคิสเปรย “และถ้าถามต่อว่ามันก่อโรคเบากว่าบรรพบุรุษสายตรงของมันมั้ย ผมไม่คิดว่าจะมีใครตอบได้ในเวลานี้”
วิกฤติแห่งโควิดคือสิ่งใหม่ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตในสังคมมนุษย์ไปอย่างแทบกู่ไม่กลับ ข้อมูลวิทยาศาสตร์เฉพาะทางที่เดิมดูจะยากและซับซ้อนถูกเอามาตีแผ่ในสื่อกันอย่างไม่มีปิดกั้น (ในหลายประเทศ) ข้อมูลบางอย่างก็ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา ซึ่งอาจจะคลาดเคลื่อนไปและถูกแก้ไขได้หากมีการศึกษาเพิ่มเติมที่ชัดเจนยิ่งกว่าและมาหักล้างของเดิม
ในตอนนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการที่จะต่อสู้กับไวรัสร้ายนี้ก็คือสติ และสามัญสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ถ้าเราทุกคนตั้งใจและระวังตัวเองให้ดี ช่วยกันคนละไม้ละมือในการลดโอกาสในการติดเชื้อ (และแพร่เชื้อ) โอกาสที่สังคมจะเริ่มเดินต่อไปข้างหน้าก็จะเกิดขึ้นได้ไวยิ่งขึ้น
และเมื่อนั้น ด้วยสารพัดเทคโนโลยีที่พัฒนาไปแบบก้าวกระโดดในยุคโควิด ฟ้าหลังฝนที่เราจะได้เจอก็น่าที่จะงดงามกว่าที่เคยเห็นและเป็นมา…
หากทุกคนร่วมใจ ไม่มีอะไรเกินความสามารถครับ และเราจะรอดไปด้วยกัน!
โฆษณา