14 ม.ค. 2022 เวลา 11:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สรุป ทำไมหมูแพง ครบจบในโพสต์เดียว
13
ประเด็นที่ร้อนแรงและถูกพูดถึงกันมากในตอนนี้
คงไม่พ้นเรื่องของราคาอาหารและวัตถุดิบ ที่เรียงหน้ากันปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะราคาเนื้อหมู ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำคัญในการประกอบอาหารหลายเมนู
5
วันนี้หลายคนคงมีคำถามคาใจว่า
ทำไมราคาหมูถึงปรับตัวสูงขึ้นอย่างน่าใจหาย
แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังทำอะไร ?
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง
1
ถ้าลองมาดูภาพรวมปริมาณการผลิตเนื้อหมูทั่วโลก ในปีที่ผ่าน ๆ มา
ปี 2561 มีปริมาณ 120.7 ล้านตัน
ปี 2562 มีปริมาณ 117.8 ล้านตัน
ปี 2563 มีปริมาณ 106.5 ล้านตัน
จะเห็นว่า ปริมาณการผลิตเนื้อหมูทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง
3
สาเหตุสำคัญที่ปริมาณการผลิตเนื้อหมูทั่วโลกลดลงในช่วงที่ผ่านมา
สาเหตุสำคัญเกิดจาก การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ที่มีชื่อว่า African Swine Fever หรือ ASF ในหลายประเทศ โดยเฉพาะ ฟิลิปปินส์ จีน และเวียดนาม
9
ประเด็นก็คือ 3 ประเทศที่ว่ามานั้น เป็นประเทศที่ผลิตเนื้อหมูมากที่สุดติด 10 อันดับแรกของโลก
โดยเฉพาะจีน ที่มีสัดส่วนการผลิตเนื้อหมูกว่า 39% ของปริมาณการผลิตทั้งโลก
3
ในกรณีของจีน แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่า ปริมาณการผลิตจะปรับเพิ่มขึ้นในอนาคต
แต่เรื่องที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ ปริมาณการผลิตเนื้อหมูของจีน ก็ยังต่ำกว่าปริมาณการผลิตในช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ASF ในปี 2561
4
และแม้ปริมาณการผลิตจะเพิ่ม แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ จนจีนต้องนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศมาเป็นเวลาหลายปี
1
แล้วโรค ASF มันเป็นอย่างไร ?
ASF คือโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสอย่างรุนแรงในหมู ซึ่งทำให้หมูจำนวนมากมีโอกาสตายแบบเฉียบพลันได้
2
ที่น่าตกใจคือ ข้อมูลจาก Food and Agriculture Organization of the United Nations (FAO) บอกว่า
โรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 100% หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าหมูตัวไหนติดไวรัสชนิดนี้ก็คือ ไม่มีทางรอดชีวิต และปัจจุบันก็ยังไม่มียา หรือวัคซีนสำหรับป้องกันให้หมู
12
โดยการแพร่ระบาดเกิดจาก การสัมผัสสารคัดหลั่งของหมูที่มีเชื้อไวรัสนี้, กินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน, หายใจเอาเชื้อเข้าไป หรือโดนเห็บที่มีเชื้อกัด
แต่อย่างไรก็ตามไวรัสนี้ติดได้จากหมูสู่หมูเท่านั้น ไม่สามารถติดมายังคนได้
5
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ถ้าพื้นที่ไหนมีหมูติดเชื้อจาก ASF หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะเข้าไปกำจัดหมูเหล่านั้นทันที เพื่อป้องกันการระบาดไปยังหมูตัวอื่น ๆ จึงทำให้ปริมาณหมูที่เลี้ยงนั้นลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงที่มีการระบาดของโรคนี้มาก
3
โดยที่มาของชื่อที่มีคำว่า African ก็เนื่องจาก
โรคนี้พบครั้งแรกที่ประเทศเคนยา ในทวีปแอฟริกา เมื่อปี พ.ศ. 2464 ก่อนที่จะแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในเวลาต่อมา
4
สำหรับในประเทศไทย ที่ผ่านมานั้นปริมาณการเลี้ยงหมูค่อย ๆ ลดลงมาเรื่อย ๆ
จากปี 2562 มีปริมาณหมู 22.5 ล้านตัว, ปี 2563 มีปริมาณหมู 22.1 ล้านตัว และปี 2564 ลดลงเหลือราว 19.2 ล้านตัว
3
เนื่องจากเกษตรกรนั้นชะลอการเลี้ยงหมู เพราะกลัวเรื่องการระบาดของโรค ASF ในประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง เวียดนามและกัมพูชา จะมากระทบกับการเลี้ยงในประเทศไทย
2
และยังมีเรื่องของสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ที่ส่งผลให้ต้นทุนค่าบริหารจัดการฟาร์มให้มีความปลอดภัยนั้น เพิ่มสูงขึ้นด้วย
3
อีกประเด็นก็คือ วัตถุดิบที่เป็นอาหารหมู อย่างเช่น ข้าวโพด กากถั่วเหลือง ต่างปรับตัวเพิ่มขึ้น ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาเนื้อหมูนั้น มีราคาสูงขึ้นเช่นกัน
5
ราคาเมล็ดข้าวโพด
ปี 2563 ราคา 7.7 บาทต่อกิโลกรัม
ปี 2564 ราคา 8.6 บาทต่อกิโลกรัม
เพิ่มขึ้นประมาณ 12%
7
ราคากากถั่วเหลืองนำเข้าจากต่างประเทศ
ปี 2563 ราคา 13.3 บาทต่อกิโลกรัม
ปี 2564 ราคา 16.9 บาทต่อกิโลกรัม
เพิ่มขึ้นประมาณ 27%
8
นอกจากนี้ การระบาดของ ASF ในประเทศเพื่อนบ้านของเรา
ทำให้ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ต้องนำเข้าหมูจากประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
6
ปริมาณการเลี้ยงในประเทศที่ลดลง เมื่อรวมกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวเพิ่มขึ้น โรคระบาด ASF ที่ยังคงระบาดในหมูอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ส่งผลให้ราคาหมูในประเทศจึงปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
5
ข้อมูลราคาขายปลีกหมูเนื้อแดง เฉลี่ยของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา จากข้อมูลของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พบว่า
3
ณ สิ้นปี 2562 ราคา 136.2 บาทต่อกิโลกรัม
ณ สิ้นปี 2563 ราคา 145.7 บาทต่อกิโลกรัม
ณ สิ้นปี 2564 ราคา 172.2 บาทต่อกิโลกรัม
3
ภายในระยะเวลา 1 ปี ราคาขายปลีกหมูเนื้อแดงปรับขึ้น 18% ขณะที่ถ้าเทียบย้อนหลังไป 2 ปี ราคาก็ปรับเพิ่มมาประมาณ 26%
5
คำถามสำคัญคือ แล้วตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังแก้ปัญหาอย่างไรกันอยู่บ้าง ?
2
ปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามเร่งแก้ปัญหาราคาหมูแพง เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น
2
- กระทรวงพาณิชย์ ห้ามส่งออกหมูมีชีวิตออกนอกประเทศเป็นเวลา 3 เดือน
7
- ออกมาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุนอาหารสัตว์ เช่น งดเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษี โดยเฉพาะส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
3
- การจัดสินเชื่อพิเศษของ ธ.ก.ส. เพื่อให้เกษตรกรที่เลี้ยงหมู ช่วยพัฒนาปรับปรุงและยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงหมูของเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด
6
ก็ต้องติดตามดูกันต่อไปว่า เรื่องราคาเนื้อหมูแพงนั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป และแนวทางการแก้ปัญหาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังทำอยู่นั้น จะช่วยลดความเดือดร้อนของผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหน
8
แต่ดูแล้วปัญหาเรื่องราคาหมูแพงในตอนนี้
คงไม่ใช่เรื่องหมู ๆ ที่แก้ได้ง่ายในเวลาอันสั้น..
1
References
โฆษณา