14 ม.ค. 2022 เวลา 15:33 • ดนตรี เพลง
"นก" ในดนตรีคลาสสิก
ผู้เขียนชอบท่องเที่ยวแนวเดินป่า trekking มาตั้งแต่เมื่อประมาณ 6 -7 ปีที่แล้ว จากเดิมที่เคยเดินปีละหน แต่ตั้งแต่ปีที่มีโควิดเป็นต้นมาออกนอกประเทศไม่ได้ ก็เลยได้ไปเดินในไทยมากขึ้น ปีนึงหลากหลายสถานที่
ทั้ง ๆ ที่ trek มาพอสมควร แต่เพิ่งมีเมื่อปีที่แล้วที่ได้พบกับเพื่อนในทริปที่เป็นนักดูนก และทำให้ได้รู้ว่านักดูนกต้องมีคู่มือดูนก เพื่อจะได้รู้ว่านกที่เจอนั้นเสียงเป็นอย่างไร เพื่อนได้ให้ความรู้ใหม่ว่า เวลานักดูนกบันทึกเสียงนกจะใช้วิธีถอดเสียงเขียนออกมาเป็นคำเลียนเสียงแบบต่าง ๆ ตัวอย่างการเลียนเสียงที่เห็นในคู่มือดูนกมีเช่นในภาพ ในภาษาไทยก็จะเขียนออกมาเลยว่า "แก๊ก-แก๊ก-แก๊ก" "แอ่-แอ่-แอ่ก" "แก๊วๆๆ" เป็นต้น (ใครอ่านแล้วก็คงต้องแอบทำเสียงตามไปด้วยใช่ไหมคะ)
รูปคู่มือดูนกฉบับคุณหมอบุญส่ง ที่ขโมยถ่ายจากเจ้าหน้าที่อช. มา 555
อันที่จริงชื่อของนกแต่ละชนิดทั้งไทยและฝรั่งหลาย ๆ ชื่อก็เป็นคำบอกใบ้ของเสียงของนกนั้น ๆ อยู่แล้ว เช่นนกคุกคู (Cuckoo) หรือนกกาเหว่าฝรั่ง ก็ร้อง “คุกคู คุกคู” นกกาเหว่าไทยเอง ก็ร้อง “กาเหว้า กาเหว้า” หรือง่าย ๆ คือนกกา ที่ร้อง "ก้า ก้า" บรรดาชื่อนกที่เราคุ้นเคยนั้นก็บอกตัวตนได้ดีเลยทีเดียว
เนื่องจากนกมักจะอยู่ในถิ่นฐานใดถิ่นฐานนึงในแต่ละฤดูกาล ดังนั้น ถ้านักดูนกเจอนกที่มีเสียงเค้าโครงประมาณในคู่มือ บวกกับการสังเกตเห็นรูปร่างหน้าตาและลักษณะจากการซุ่มส่องกล้องรอดู เสียงนกที่อ่านจากคู่มือก็สามารถช่วยนักดูนกจำแนกประเภทของมันได้ ในภาษาอังกฤษเรียกเสียงของนกแยกเป็นสองคำศัพท์ คือ birdsong และ bird call โดย birdsong นั้นคือเสียงร้องของนกที่มีเมโลดีสูงต่ำและมีความซับซ้อน ใช้สำหรับการหาคู่หรือบ่งบอกอาณาเขต ในขณะที่ bird call นั้นคือเสียงตรงไปตรงมา ซ้ำ ๆ ไม่ซับซ้อนมากนัก สำหรับนักดูนกในปัจจุบันนั้น นอกจากจะบันทึกเสียงนกในรูปแบบคำถอดเสียงที่เราเห็นในคู่มือแล้ว ก็มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้นักดูนกฟังเสียงจริง ๆ ได้เลย เช่น มีแอปที่ใช้ฟังเสียงจริง ๆ ของนก เว็บไซต์ที่บันทึกเสียงนกอย่างเป็นระบบ หรือปัจจุบันก็หาฟังตัวอย่างเสียงนกชนิดต่าง ๆ จากยูทูปได้ไม่ยากนัก
เสียงนกในธรรมชาติแต่ละสถานที่ ฤดูและถิ่นฐาน มีความแตกต่างกัน เมื่อเราได้ยินนกบางชนิด เราย่อมนึกถึงอารมณ์/สีสัน/หรือจินตนาการให้เกิดภาพในใจได้โดยง่าย ด้วยสาเหตุที่เสียงของนกเป็นเสียงของสัตว์ในธรรมชาติที่มีความเป็นดนตรีอย่างชัดเจนต่างจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ ดังเช่นคำว่า birdsong คือมีทำนองเสียงสูงต่ำ และมีการซ้ำเสียงที่เป็นรูปแบบที่ฟังเป็นจังหวะได้ เสียงของนกจึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของนักแต่งเพลงคลาสสิกตะวันตกมาโดยตลอดตั้งแต่ยุคโบราณจนมาถึงปัจจุบัน
การใช้เสียงนกในดนตรีคลาสสิกที่ผู้เขียนจำแนก(เอาเองแบบไม่มีหลักการวิชาการใดๆ)ได้แบบคร่าว ๆ แบ่งเป็นการนำไปใช้ประมาณสองแบบ แบบแรกคือเฉพาะเจาะจงประเภท และเลียนแบบเสียงนกชนิดนั้น ๆ อย่างตรงไปตรงมา แบบที่สองจะเป็นการสร้าง “บรรยากาศของเสียงนก” โดยเป็นลักษณะเสียงขึ้นลง การซ้ำจังหวะ การใช้ลมหรือการสั่นสะเทือน การพริ้ว กระพรือ สะบัด แต่ไม่ได้เหมือนเสียงนกชนิดใดชนิดหนึ่งอย่างชัดเจน หลาย ๆ เพลงนั้นน่าทึ่งอย่างมาก ว่านักประพันธ์สามารถสร้างงานที่สื่อถึงความเป็นนกสำหรับคนฟังได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เหมือนเสียงนกตัวไหนเลย
เนื่องจากเพลงนก ๆ ในดนตรีคลาสสิกนั้นมีเยอะมาก 5555 จึงขอแบ่งบล็อกออกเป็นสองภาคค่ะ โดยขอเลือกมาเฉพาะคลิปที่น่าจะน่าสนใจสำหรับทุก ๆ คน สำหรับในภาคแรกนี้ เรามาฟังเพลงแบบแรกกันก่อน ก็คือแบบที่เลียนเสียงนกอย่างตรงไปตรงมา
เสียงของนกที่มักจะเจอในดนตรีคลาสสิกมาตรฐาน แน่นอนว่าก็จะต้องเป็นนกฝรั่งซึ่งคนไทยอย่างเรา ๆ ไม่คุ้นเคยกับเสียงของมันจริง ๆ ในธรรมชาติเท่าไหร่ เป็นที่น่าแปลกใจว่านกหลายชนิดผู้เขียนเองกลับคุ้นเคยเสียงของมันจากเพลงหรือนาฬิกามากกว่าด้วยซ้ำ นกที่มีการใช้เสียงเลียนแบบชัดเจนบ่อย ๆ ในดนตรีคลาสสิกก็จะมีเช่น นกคุกคู นกไนติงเกล นกฮูก เป็นต้น
Louis-Claude Daquin (1694-1772): Le Coucou
แน่นอนว่าเพราะเสียงนกในธรรมชาติโดยทั่วไปเป็นเสียงของการกระพรือลม เครื่องดนตรีที่มักจะถูกนำไปใช้เป็นเสียงนกมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเครื่องลมไม้ชนิดต่าง ๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่เจอการเลียนเสียงนกในเครื่องอื่น ๆ เลย อย่างเช่นในบทเพลงนี้เป็นบทเพลงคีย์บอร์ดที่เป็นที่นิยมมาก เป็นเพลงที่สนุกสนานสำหรับทั้งคนเล่นและคนฟัง มีการเอาโมทีฟง่าย ๆ ที่เลียนจากเสียงนกคุกคูไปใช้เพื่อขยายต่อในลักษณะ form แบบรอนโด โดยดั้งเดิมเพลงนี้ประพันธ์ขึ้นเพื่อบรรเลงด้วยฮาร์ปซิคอร์ด และปัจจุบันเราก็จะพบการบันทึกเสียงสำหรับฮาร์ปซิคอร์ดมากมาย แต่ในบล็อกนี้ขอนำเสนอเวอร์ชั่นที่น่าสนใจอย่างมากเพราะบรรเลงบนเปียโนโดย Sergei Rachmaninov (ใช่แล้ว ทุกคนอ่านไม่ผิด) ซึ่งเป็นหนึ่งในเพลงหลากหลายเพลงที่เขาเคยบันทึกเสียงไว้
Ottorino Respighi (1879-1936): The Birds
ชุดบทเพลงสั้น ๆ นี้ได้อิทธิพลวิธีการประพันธ์จากบทเพลงยุคบาโรกของหลาย ๆ นักประพันธ์ โดยนำเสนอเสียงและคาแรกเตอร์ของนกแต่ละชนิดออกมาอย่างชัดเจน บทเพลงมี 5 ท่อน ประกอบด้วยบทนำ (Prelude), นกพิราป (The Dove), แม่ไก่ (The Hen), นกไนติงเกล (The Nightingale) และสุดท้ายคือนกคุกคู (The Cukcoo) แต่ละบทเลียนเสียงนกด้วยเครื่องดนตรีต่าง ๆ กัน เช่นในท่อน The Dove จะได้ยินเสียงของนกพิราปที่ร้อง คู ๆ ๆ เบา ๆ ซึ่งเลียนแบบเสียงนกด้วยเสียงทริลสั้น ๆ ของเครื่องดนตรีหลากหลาย ในท่อน The Hen มีทั้งเสียงเครื่องสายและเครื่องลมที่เลียนแบบเสียงแม่ไก่ที่ร้องโมทีฟ “กุก ๆ ๆ ๆ ๆ กระต๊าก” และแน่นอนว่าในท่อนของนกคุกคู เสียงนกคุกคูที่พวกเราคุ้นเคยถูกบรรเลงด้วยหลากหลายเครื่องดนตรีปรากฎต่อเนื่องทั้งท่อน ลองฟังวง San Francisco Symphony และ Edo de Waart บรรเลงกัน
Oliver Messiaen (1908-1992): Le Merle Noir
เมื่อพูดถึงการเลียนเสียงนก คงจะขาดชื่อของ Oliver Messiaen (1908-1992) นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศสไปไม่ได้แน่ Messiaen พบว่าเสียงนกนั้นน่าทึ่งและน่าหลงใหล ในช่วงวัยรุ่นที่ยังศึกษาอยู่ เขาได้ทำการบันทึกเสียงนกขึ้นไว้เป็นตัวโน้ต โดยศึกษามาจากหลาย ๆ สถานที่ บทเพลงของ Messiaen ที่เป็นที่นิยมบรรเลงหรือฟังในปัจจุบันนั้นมักจะมีเนื้อหาหรือแรงบันดาลใจที่เกี่ยวข้องกับศาสนา แต่เขาก็ใช้เสียงนกเข้าไปผสมผสานในผลงานเหล่านั้น และในภายหลังก็เขียนบทเพลงที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับนกโดยตรงด้วย ในบล็อกนี้ขอชวนมาฟังเพลงที่เกี่ยวกับนกและเป็นเพลงยอดฮิตของนักฟลุต นั่นคือ Le Merle noir หรือ The Blackbird ซึ่ง Messiaen แต่งขึ้นเพื่อใช้เป็นเพลงสอบที่ Paris Conservatoire ในขณะที่เขาเป็นอาจารย์อยู่ที่นั่น ฟัง Pahud และนักเปียโน Eric Le Sage กัน
ในบล็อกครั้งหน้า จะมาต่อกันในเพลงที่เป็น “บรรยากาศ” ของนกกันนะคะ ^^
โฆษณา