15 ม.ค. 2022 เวลา 01:00 • ประวัติศาสตร์
🐲 มกร-มังกร สัตว์ในตำนาน 2 ชนิด 2 ชาติ ที่เกิดจากคำเดียวกัน
มกราคม คือชื่อของเดือนแรกในปฏิทิน โดยในภาษาไทยเกิดจากการสนธิคำระหว่าง มกร+อาคม แปลว่า "การมาถึงของราศีมกร"
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชื่อเดือนนี้จะเรียกว่ามกราคม แต่คนไทยจะนิยมเรียกราศีประจำเดือนนี้ว่า “ราศีมังกร” จนสร้างความเข้าใจผิดให้กับสายมูทั้งหลายว่า สัตว์ประจำราศีนี้มันคงเป็นมังกรตัวยาวแบบจีน หรือมังกรมีปีกแบบฝรั่งแน่ๆ เลย
แต่เมื่อไปดูชื่อราศีมังกรในภาษาอังกฤษแล้วมันเรียกว่า Capricorn โดยมีคำนิยามแบบสั้นๆ คือ “แพะทะเล” (Sea Goat)....
เรียกว่าช็อกกันเป็นแถบๆ สำหรับชาวราศีมังกรที่ชื่อฟังดูน่าเกรงขาม แต่สัญลักษณ์จริงดันเป็นแค่ “แพะ” เนี่ยนะ
เพราะว่าเดิมทีแล้วคำว่า “มังกร” มาจาก “มกร” ซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานของฝั่งอินเดียอีกที และมีลักษณะภายนอกต่างจากมังกรจีน (龍) และมังกรยุโรป (dragon) โดยสิ้นเชิง
♑️ ปัญหาในการเรียกราศีมังกร และสัญลักษณ์ของมันเกิดขึ้นมาจาก 2 ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันคือ
1 การเรียกกลุ่มดาวที่แตกต่างตามวัฒนธรรมของชาวตะวันตกและอินเดีย
2 คนไทยแผลง “มกร” เป็น “มังกร” เพื่อเรียก 龍 ของจีนและ dragon ของยุโรป
🟠 ประเด็นที่ 1 การเรียกกลุ่มดาวที่แตกต่างตามวัฒนธรรมของชาวตะวันตกและอินเดีย
เมื่อ 1700 ปีก่อนคริสตกาล ชาวบาบิโลนสังเกตดวงอาทิตย์ที่เคลื่อนที่ผ่านกลุ่มดาวต่างๆ ตลอด 1 ปี พวกเขาแบ่งกลุ่มดาวเหล่านั้นเป็น 12 ราศี พร้อมกับตั้งสัญลักษณ์เป็นตัวแทนแต่ละราศีตามที่จินตนาการได้ตั้งแต่แกะ, วัว, คนคู่, ปู...จนถึงปลา
หลังจากนั้นพันกว่าปีชาวกรีกจึงนำกลุ่มดาวจักรราศีของบาบิโลนไปใช้พัฒนาองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ของตัวเอง จนแพร่หลายไปทั่วยุโรป
สำหรับราศีที่ 10 คือ Capricorn ในจินตนาการของชาวบาบิโลนและกรีกนั้นมีส่วนหัวเป็นแพะ ขณะที่ส่วนล่างเป็นปลา
ทำให้กลุ่มดาว Capricorn เมื่อแปลเป็นภาษาไทยจะเรียกว่า “กลุ่มดาวแพะทะเล” ไม่เกี่ยวข้องกับมังกรที่เราคุ้นเคยกันเลย
Capricorn แพะทะเล
♑️ เมื่อชาวอินเดียรับระบบ 12 ราศีจากกรีกมาใช้ พวกเขาก็ปรับสัญลักษณ์บางส่วนให้เข้ากับความเชื่อของตัวเอง เช่น
- Sagittarius ของกรีกเป็น “คนครึ่งม้ายิงธนู” แต่อินเดียปรับเหลือแค่ “คันธนู” (ธนุ, धनु)
- Aquarius ของกรีกเป็น “คนแบกหม้อน้ำ” แต่อินเดียปรับเป็น “คนโท(ไห)ใส่น้ำ” (กุมฺภ, कुम्भ)
แน่นอนว่ากลุ่มดาว Capricorn ที่คนกรีกจินตนาการเป็น “แพะทะเล” แต่คนอินเดียจินตนาการเป็น “มกร” (मकर) อันเป็นสัตว์ในตำนานของเขาเอง
มกร มีลักษณะส่วนหัวเป็นสัตว์บกหลายชนิดผสมกันเช่นช้างกับจระเข้ ขณะที่ส่วนหางเป็นปลา โดยมกรเป็นสัตว์พาหนะของพระแม่คงคาและพระพิรุณ ผู้เป็นเทพแห่งแม่น้ำและทะเลตามลำดับ
มกร สามารถอ่านได้ 2 แบบคือแบบอินเดีย [มะ-กะ-ระ] และแบบไทย [มะ-กอน] ถนัดแบบไหนก็เรียกแบบนั้นเลย
มกร
♑️ ยังไม่พอ การนับราศีมังกรหรือ Capricorn ของฝรั่งกับอินเดียยังมีวันที่ต่างกันอีก อันเนื่องมาจากการนับปีที่ต่างกันของ 2 ฝั่งคือ
- ฝรั่งนับปีแบบ Tropical ราศีมังกรตกระหว่าง 22 ธันวาคม – 20 มกราคม
- อินเดียนับปีแบบ Sidereal ราศีมังกรตกระหว่าง 15 มกราคม – 14 กุมภาพันธ์ (ราศีไทยนับตามอินเดีย)
กลุ่มดาวแพะทะเล
🟠 ประเด็นที่ 2 คนไทยแผลง “มกร” เป็น “มังกร” เพื่อเรียก 龍 ของจีนและ dragon ของยุโรป
🐉 เมื่อคนไทยติดต่อค้าขายกับคนจีน จนรู้จักสัตว์ในตำนานจีนที่เรียกว่า 龍 (หลง) มีลักษณะลำตัวยาว มีเกล็ดตามร่างกาย เหาะไปบนฟ้าได้ มีพลังอำนาจระดับเทพเจ้า เช่นบันดาลฟ้าฝนให้ความอุดมสมบูรณ์
คนไทยก็พยายามเทียบเคียง 龍 กับสัตว์ในความเชื่อของตัวเอง (ที่รับจากอินเดีย) โดยหาจุดร่วมที่คล้ายกันจากลักษณะหรือพลังอำนาจ
มังกรจีน
เนื่องจาก 龍 มีพลังด้านฟ้าฝนที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก คนไทยจึงเทียบเคียงกับ “มกร” เพราะเป็นสัตว์พาหนะของพระแม่คงคากับพระพิรุณ ที่เป็นเทพด้านฟ้าฝนเหมือนกัน
ทำให้คนไทยนำ "มกร/มังกร” ไปเรียก 龍 ด้วย ก่อนที่ภายหลังเสียงที่นิยมจะเหลือแค่ "มังกร" อย่างเดียว
🐉 ต่อมาคนไทยรับวัฒนธรรมตะวันตกเพิ่มเติม ซึ่งฝั่งนั้นก็มีสัตว์ในตำนานที่เรียกว่า dragon เป็นสัตว์เลื้อยคลาน มีปีก พ่นไฟได้ มีลักษณะดุร้าย
แต่เพราะภาษาฝั่งยุโรปดันใช้ dragon กับมังกรจีนด้วย ทำให้คนไทยแปล dragon ออกมาตรงตัวเป็น “มังกร” สำหรับใช้เรียกสัตว์ในตำนานของฝรั่งอีกที
มังกรยุโรป
🟠 ทั้งมังกรจีน (龍) และมังกรยุโรป (dragon) ต่างเป็นสัตว์ในตำนานระดับแถวหน้าของทั้งสองวัฒนธรรม ฝั่งจีนเป็นถึงเทพเจ้ามีพลังอำนาจมหาศาล ขณะที่ฝั่งยุโรปก็เป็นอสูรร้ายที่มักจะเป็นเหยื่อให้ผู้กล้าไปปราบ
มังกรทั้งสองรูปแบบต่างปรากฏบ่อยครั้งในเกม, การ์ตูน หรือนิยาย ทำให้ไม่แปลกที่คนไทยจะคุ้นเคยกับมังกรของ 2 วัฒนธรรมนี้มากกว่า
.
🐉 ขณะที่มกร (मकर) ต้องเรียกว่าโชคร้ายที่คนไทยไม่ค่อยรู้จักมันเท่าไหร่นัก
ถ้าพูดถึงสัตว์ในตำนานของอินเดียเด่นๆ คนไทยจะรู้จักอยู่ไม่กี่ตัวเช่นครุฑ, นาค, ช้างเอราวัณ
เพราะว่าตำนานอินเดียถูกผูกโยงอย่างแนบแน่นกับศาสนาพราหมณ์ฮินดู รวมถึงพุทธในบางส่วน ทำให้ตำนานอินเดียถูกทำให้เป็นของสูง, ศักดิ์สิทธิ์, เข้าถึงได้ยาก จนไม่ค่อยปรากฏในสื่อร่วมสมัยมากนัก
และเมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่คนไทยน้อยคนจะรู้จักมกรจริงๆ รู้แค่ว่ามันคือชื่อเดือนแรกของปี และชื่อราศีที่ 10 แค่นั้นเอง
🟥 สงสัยคงต้องภาวนาให้ช่อง Pasulol ทำคลิปเล่าตำนานเทพอินเดียให้มากขึ้นแล้วล่ะนะ
🟠 ถ้าที่อ่านมามันซับซ้อน อ่านแล้วมึนหัว ก็ขอสรุปแบบย่อๆ ตรงนี้เลย
- ราศี Capricorn คือแพะทะเล ตามจินตนาการของชาวยุโรป แต่คนอินเดียจินตนาการเป็นตัว "มกร"
- คนไทยรับวัฒนธรรมอินเดียมาใช้ ทำให้เรียกราศี Capricorn ว่าราศีมกร/มังกร ตามสัตว์ในตำนานของอินเดีย
- คนไทยรับวัฒนธรรมจีนและยุโรปเข้ามาเพิ่มเติม จึงเทียบเคียงมังกรจีน (龍) และมังกรยุโรป (dragon) กับ "มกร" ของตัวเอง และแผลงเป็น "มังกร"
🟠 จะเห็นว่าการแผลงคำศัพท์หรือชื่อจนความหมายผิดเพี้ยนจากเดิมนี่เป็นเรื่องปกติในทุกภาษาเลยนะ
ขนาดตัว “มกร” ของอินเดีย คนไทยยังแผลงศัพท์เป็น “มังกร” เพื่อใช้เรียก 龍 ของจีน และ dragon ของฝรั่งได้
ฝรั่งก็เอา dragon ที่เป็นสัตว์อสูรร้าย ไปใช้เรียกมังกรจีนที่เป็นเทพเจ้าได้เลย
.
โฆษณา