16 ม.ค. 2022 เวลา 01:30 • การศึกษา
[ตอนที่ 54] แนะนำภาพรวมของอักษรเบรลล์
An introduction to Braille scripts
สำหรับเนื้อหาในตอนแรกของซีรีส์ “ว่าด้วยอักษรเบรลล์” เนื่องในโอกาสวันอักษรเบรลล์โลก (World Braille Day ที่ตรงกับวันที่ 4 มกราคม) จะเป็นเรื่องราวที่แนะนำภาพรวมของอักษรเบรลล์ ระบบตัวอักษรเพื่อให้คนบกพร่องทางการมองเห็นอ่านด้วยการสัมผัส ที่ใช้งานกันมานานกว่า 100 ปีแล้ว โดยมีจุดเริ่มต้นจากประเทศฝรั่งเศส
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านกันได้เลยครับ
อักษรเบรลล์ (Braille หรือคำ “อักษรเบรลล์” เมื่อใช้อักษรเบรลล์สำหรับอักษรโรมันจะเป็น ⠃⠗⠇ ตรงกับตัวย่อ brl) เป็นระบบการเขียนหรือระบบตัวอักษรเพื่อการสัมผัสด้วยมือสำหรับคนที่บกพร่องทางการมองเห็น (ไม่ว่าจะเป็นคนตาบอดหรือคนที่สภาพสายตาแย่มาก) โดยในปัจจุบันนั้น ตัวกลางที่ใช้ทำสื่ออักษรเบรลล์มีหลายแบบ เช่น...
1) แผ่นวัสดุ (อย่างกระดาษหรือสติกเกอร์) ที่พิมพ์ดุนนูนขึ้นมาเป็นจุดต่าง ๆ ด้วยอุปกรณ์ใช้แรงมือสำหรับกดดุนแผ่นวัสดุให้เป็นอักษรเบรลล์แบบต่าง ๆ ได้แก่...
- เครื่องพิมพ์ดีดอักษรเบรลล์ (Braille writer)
- อุปกรณ์กดด้วยมือใช้ทำอักษรเบรลล์ ประกอบด้วย“สเลท” (Slate) เป็นแผงที่มีช่องว่างเรียงเป็นแถวแบ่งเป็นบล็อก ๆ แต่ละบล็อกแทนอักษรเบรลล์ 1 ตัว สามารถกดดุนให้แผ่นนูนให้มากที่สุดบล็อกละ 6 จุดตามลักษณะอักษรเบรลล์ กับ “สไตลัส” (Stylus) ตัวแท่งสำหรับกดแผ่นวัสดุในช่องบล็อกของสเลทให้ดุนนูนลงไป
**วิดีโอแสดงการสาธิตการใช้งานเครื่องพิมพ์ดีดอักษรเบรลล์
[Credit : Youtube channel "The Tommy Edison Experience"]
**วิดีโอแสดงการสาธิตการใช้อุปกรณ์กดด้วยมือเพื่อใช้ทำอักษรเบรลล์ แบบที่มี Slate และ Stylus
[Credit : National Federation of the Blind]
2) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อแปลงอักษรระหว่างอักษรเบรลล์กับอักษรแบบที่คนทั่วไปใช้ ได้แก่...
- เครื่องจดบันทึกอักษรเบรลล์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic braille notetaker)
- เครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์แบบปรับเปลี่ยนปุ่มนูนได้ (Refreshable braille displays) ซึ่งจะส่งผลข้อมูลต่อไปยังคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน (คล้ายกับแป้นพิมพ์ที่คนทั่วไปใช้กัน)
- เครื่องคอมพิวเตอร์แบบที่คนทั่วไปใช้และเชื่อมต่อกับเครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์ (Braille embosser)
**วิดีโอแนะนำเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์แบบปรับเปลี่ยนปุ่มนูนได้
[Credit : APH - American Printing House for the Blind]
**วิดีโอตัวอย่างกรณีเครื่องคอมพิวเตอร์แบบที่คนทั่วไปใช้และเชื่อมต่อกับเครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์
[Credit : Youtube channel "NicBroInc"]
ชื่ออักษรเบรลล์มาจากชื่อผู้คิดค้นอักษรแบบนี้ คือ “หลุยส์ เบรลล์” (Louis Braille) นักการศึกษาและนักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศสที่ตาบอดเนื่องจากอุบัติเหตุในวัยเด็ก ต่อมาในปี ค.ศ.1824 ขณะที่เบรลล์มีอายุ 15 ปี ได้พัฒนาอักษรเบรลล์โดยอาศัยอักษรโรมันแบบที่ใช้ในภาษาฝรั่งเศส และตีพิมพ์เรื่องอักษรเบรลล์เพื่อการสื่อสารสำหรับคนบกพร่องทางการมองเห็นในปี ค.ศ.1829 และแบบปรับปรุงในปี ค.ศ.1837 แล้วกลายเป็นรากฐานของอักษรเบรลล์แบบต่าง ๆ ตามรูปแบบตัวอักษรที่ใช้งานในแต่ละประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน
อักษรเบรลล์ 1 ตัวจะปรากฏในลักษณะชุดของจุดดุนนูน 6 จุดที่จัดเรียงในลักษณะ 3x2 (3 แถว 2 คอลัมน์) เรียกชุดจุดดุนนูนแบบ 3x2 นี้ว่า “เซลล์อักษรเบรลล์” (Braille cell) ตัวอักษรแต่ละแบบอย่างพยัญชนะกับสระ รวมไปถึงตัวเลข เครื่องหมายต่าง ๆ และการเว้นวรรค จะมีจำนวนจุดและการเรียงตัวในเซลล์แตกต่างกัน
แผนภาพแสดงภาพแสดงลำดับจุดบนเซลล์อักษรเบรลล์ [ที่มาของภาพ : https://brailleworks.com/braille-resources/braille-alphabet/ ]
ความแตกต่างในอักษรเบรลล์นอกเหนือจากเรื่องตัวอักษรแต่ละตัวแล้ว (จากกรณีอักษรเบรลล์ที่ใช้ถ่ายทอดเฉพาะอักษรโรมัน) ยังมีความแตกต่างในประเด็นอื่น ๆ ได้แก่...
1) ความแตกต่างของอักษรเบรลล์ระหว่างภาษาต่าง ๆ :
เมื่ออักษรเบรลล์แพร่หลายไปยังนานาประเทศเพื่อถ่ายทอดคำในภาษาต่าง ๆ ที่ใช้ตัวอักษรแบบอื่น (อย่างภาษาไทย ภาษาฮินดี ภาษาจีนกลาง ภาษาญี่ปุ่น หรือภาษารัสเซีย) ลักษณะอักษรเขียนของแต่ละภาษาทำให้รูปแบบการเรียงตัวของจุดในเซลล์อักษรเบรลล์ ที่ถ่ายทอดอักษรเขียนในภาษาต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน เช่น อักษรเขียนในภาษาญี่ปุ่นที่ไม่แยกพยัญชนะ-สระ อักษรเบรลล์ญี่ปุ่นจึงไม่แยกพยัญชนะ-สระตาม ส่วนอักษรไทยแยกพยัญชนะกับสระ อักษรเบรลล์ไทยจึงแยกพยัญชนะ-สระตาม
2) ความแตกต่างของอักษรเบรลล์ที่ใช้ในภาษาเดียวกัน
อักษรเบรลล์ที่ใช้ในหลายภาษาก็แบ่งรูปแบบให้เหมาะสมตามทักษะหรือคลังคำของผู้อ่านอักษรเบรลล์ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ กรณีอักษรเบรลล์มาตรฐานที่ใช้ในภาษาอังกฤษ ที่แบ่งสองแบบ ได้แก่...
- อักษรเบรลล์แบบไม่ย่อ (Uncontracted braille) : อักษรเบรลล์ที่ใช้เซลล์อักษร 1 ตัวแทนอักษรโรมัน 1 ตัว สำหรับผู้ที่เริ่มฝึกใช้อักษรเบรลล์
ตัวอย่างอักษรเบรลล์อังกฤษแบบไม่ย่อ กับคำว่า “World Braille Day” (วันอักษรเบรลล์โลก) ที่อักษรเบรล์ 1 เซลล์แทนอักษรโรมัน 1 ตัว [ที่มาของภาพ : https://www.languagemagazine.com/2019/01/04/first-ever-world-braille-day/ ]
- อักษรเบรลล์แบบย่อ (Contracted braille) : อักษรเบรลล์ที่เซลล์อักษร 1 ตัวสามารถแทนอักษรโรมันมากกว่า 1 ตัว และคำส่วนหนึ่งจะใช้เป็นคำย่อแทน ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดพื้นที่ใช้อักษรเบรลล์ในแต่ละหน้ามากขึ้น สำหรับผู้ที่มีทักษะการอ่านอักษรเบรลล์ดีแล้ว
นอกจากอักษรเบรลล์แบบที่ใช้แทนตัวอักษรเขียน เครื่องหมายและตัวย่อแล้ว ยังมีการพิมพ์ดุนหน้าแผ่นวัสดุให้นูนเป็นรูปร่างอื่น ๆ เช่น แผนภาพ กราฟ เส้นต่าง ๆ (ทั้งเส้นต่อเนื่อง เส้นประ ลูกศร) และจุดนำ (Bullet : จุดที่พิมพ์ให้ดุนนูนกินพื้นที่ใหญ่กว่าจุดในเซลล์อักษรเบรลล์ปกติ) สำหรับใช้อธิบายประกอบเนื้อหาในสื่อสำหรับคนบกพร่องทางการมองเห็นเพิ่มเติม
ตัวอย่างการพิมพ์ดุนหน้าแผ่นวัสดุให้นูนเป็นรูปร่างอื่น ๆ สำหรับภาพประกอบในหนังสือดาราศาสตร์เพื่อการสัมผัสสำหรับคนบกพร่องทางการมองเห็น “Touch the universe” ขององค์การนาซา [Credit ภาพ : Christopher Fahey]
อักษรเบรลล์มีความสำคัญต่อคนบกพร่องทางการมองเห็น ในฐานะเป็นตัวกลางเพื่อพัฒนาการรู้หนังสือ การเรียนรู้ และการทำงานของคนกลุ่มนี้ แม้ว่าจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เน้นการแปลงข้อมูลเป็นเสียง เช่น ซอฟท์แวร์อ่านข้อมูลบนหน้าจอออกมาเป็นเสียง แต่อักษรเบรลล์ก็ยังคงจำเป็นต่อคนบกพร่องทางการมองเห็นอยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะในเรื่องภาษาเขียน ไม่ว่าจะเป็นการสะกดคำ เครื่องหมายวรรคตอน หรือประเด็นอื่น ๆ ของภาษาเขียนที่แปลงเป็นเสียงอย่างเดียวได้ยาก
สำหรับประวัติของอักษรเบรลล์นั้น มีพื้นฐานมาจากรหัสเพื่อการสัมผัสเพื่อใช้ในการทหารเรียกว่า “Night Writing” (ภาษาฝรั่งเศส : Écriture nocturne) พัฒนาโดยชารลส์ บาร์บีเย (Charles Barbier) นักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศสในช่วง ค.ศ.1815 ตามคำสั่งของนโปเลียนเพื่อใช้เป็นตัวกลางในการสื่อสารอย่างเงียบเชียบช่วงค่ำคืนที่มืดมิด
ในระบบสื่อสารด้วยการสัมผัสที่บาร์บีเยประดิษฐ์ขึ้นนี้ ใน 1 เซลล์จะมีกลุ่มจุดนูน 12 จุดใช้แสดงเสียงในภาษาฝรั่งเศส 36 เสียง แต่ระบบดังกล่าวยากเกินไปสำหรับทหารฝรั่งเศสที่จะสัมผัสแล้วจำได้ว่าสื่อถึงเสียงใด จนกองทัพฝรั่งเศสไม่นิยมใช้
แผนผังแสดง “Night Writing” (ภาษาฝรั่งเศส : Ecriture nocturne) แบบต่าง ๆ ซึ่งพัฒนาโดยชารลส์ บาร์บีเย (Charles Barbier) ก่อนหน้าการคิดค้นอักษรเบรลล์ [Credit แผนภาพ : User 'Merayudantia' @ wikimedia.org]
ในปี ค.ศ.1821 บาร์บีเยได้ไปที่สมาคมคนตาบอดในกรุงปารีส ซึ่งบาร์บีเยได้กับกับหลุยส์ เบรลล์ และเบรลล์พบปัญหาในการใช้งาน Night Writing ดังนี้...
- 1 เซลล์แทนเสียงพยัญชนะหรือเสียงสระ (ทั้งสระเดี่ยวกับสระประสม) แทนที่จะใช้สื่อถึงอักษร 1 ตัว ทำให้คนอ่านนึกการสะกดคำระหว่างที่สัมผัสได้ยากกว่า
- จำนวนจุดนูน 12 จุดใน 1 เซลล์ บรรจุลงพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการสัมผัสอ่านด้วยมือได้ยาก หรือแม้จะบรรจุลงพื้นที่ได้ คนอ่านต้องขยับมือให้ครอบคลุมตำแหน่งจุดนูนทั้ง 12 จุดในพื้นที่ทั้งหมดของ 1 เซลล์ ทำให้กระบวนการอ่านใช้เวลานานขึ้น
1
- Night Writing ไม่ครอบคลุมสัญลักษณ์ที่ใช้แสดงตัวเลขและเครื่องหมายวรรคตอนต่าง ๆ
เบรลล์จึงเสนอให้ใช้อักษรสำหรับให้คนตาบอดสัมผัสอ่านในปี ค.ศ.1824 โดยให้ 1 เซลล์มีจำนวนจุดนูนลดลงเป็น 6 จุดแทน และกำหนดให้รูปแบบที่แตกต่างกันของตัวอักษร (พยัญชนะกับสระ) แต่ละตัว รวมถึงการพัฒนาให้มีการแสดงครอบคลุมถึงตัวเลขกับเครื่องหมายวรรคตอน
ในช่วงแรกที่เริ่มใช้อักษรเบรลล์นั้น อักษรแบบนี้ใช้ในการถ่ายทอดภาษาฝรั่งเศสแบบ 1 เซลล์ต่อ 1 ตัวอักษรเท่านั้น ก่อนที่จะพัฒนาอักษรเบรลล์ให้มีคำย่อและสัญลักษณ์ที่ใช้แทนคำ ไปจนถึงการปรับไปประยุกต์ใช้กับภาษาอื่น จนในปัจจุบันนี้ มีอักษรเบรลล์แบบต่าง ๆ ที่ใช้กับภาษาทั่วโลกมากกว่า 130 ภาษา
นอกจากนี้ อักษรเบรลล์ก็มี “ตระกูลหรือกลุ่มของอักษรเบรลล์” เช่นเดียวกับภาษาต่าง ๆ ที่มีตระกูลหรือกลุ่มภาษา (อย่างตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน) โดยการแบ่งกลุ่มอักษรเบรลล์ที่ใช้ในภาษาต่าง ๆ นั้นมีปัจจัยหลักขึ้นกับตัวอักษรที่ใช้เขียนภาษานั้น และกลุ่มต่าง ๆ ของอักษรเบรลล์ ได้แก่...
1) กลุ่มอักษรเบรลล์ที่จัดลำดับตามแบบฝรั่งเศส (French-ordered braille scripts): อักษรเบรลล์ในภาษาต่าง ๆ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนี้ เนื่องจากได้รับอิทธิพลและวิวัฒนาการมาจากอักษรเบรลล์ฝรั่งเศส ซึ่งฝรั่งเศสเป็นแหล่งกำเนิดของอักษรเบรลล์
- 1.1 กลุ่มอักษรเบรลล์ของภาษาที่ใช้อักษรโรมัน/ละติน เช่น อักษรเบรลล์อังกฤษ อักษรเบรลล์ฝรั่งเศส อักษรเบรลล์เยอรมัน อักษรเบรลล์อิตาลี อักษรเบรลล์โปรตุเกส อักษรเบรลล์สเปน อักษรเบรลล์ตุรกี อักษรเบรลล์ฟิลิปปินส์ หรืออักษรเบรลล์เวียดนาม
- 1.2 ตระกูลอักษรเบรลล์นอร์ดิก (Nordic family) เช่น อักษรเบรลล์สแกนดิเนเวีย (ใช้ในฟินแลนด์-สวีเดน-เดนมาร์ก-นอร์เวย์) อักษรเบรลล์ไอซ์แลนด์ และอักษรเบรลล์เอสโตเนีย
- 1.3 ตระกูลอักษรเบรลล์สายรัสเซีย (Russian lineage family) ซึ่งเป็นสายที่อ้างอิงตามอักษรซีริลลิก เช่น อักษรเบรลล์รัสเซีย อักษรเบรลล์ยูเครน อักษรเบรลล์คาซัค อักษรเบรลล์มองโกล
- 1.4 ตระกูลอักษรเบรลล์สายอียิปต์ (Egyptian lineage family) ซึ่งเป็นสายที่อ้างอิงตามอักษรอาหรับ เช่น อักษรเบรลล์อาหรับ อักษรเบรลล์เปอร์เซีย อักษรเบรลล์อูรดู (ของประเทศปากีสถาน)
- 1.5 ตระกูลอักษรเบรลล์สายอินเดีย (Indian lineage family) มีอีกชื่อว่า “อักษรเบรลล์ภารตี” (Bharati braille) ใช้สำหรับภาษาต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น อักษรเบรลล์เทวนาครี (ของประเทศอินเดียกับเนปาล) อักษรเบรลล์เบงกอล (ของประเทศบังกลาเทศ) หรืออักษรเบรลล์สิงหล (ของประเทศศรีลังกา) เป็นต้น
- 1.6 อักษรเบรลล์แบบอื่น ๆ มักเป็นอักษรเบรลล์ที่ใช้กับภาษาที่มีอักษรเฉพาะตัว เช่น อักษรเบรลล์อัมฮารา (ของประเทศเอธิโอเปีย) อักษรเบรลล์อาร์เมเนีย อักษรเบรลล์พม่า อักษรเบรลล์จอร์เจีย อักษรเบรลล์กรีก อักษรเบรลล์ฮีบรู อักษรเบรลล์เขมร อักษรเบรลล์ไทย-ลาว และอักษรเบรลล์ทิเบต
2) กลุ่มของอักษรเบรลล์เอกเทศ (Independent braille scripts) เป็นกลุ่มของอักษรเบรลล์ที่ใช้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ได้แก่ อักษรเบรลล์จีนกลางแผ่นดินใหญ่ อักษรเบรลล์กวางตุ้ง อักษรเบรลล์ไต้หวัน อักษรเบรลล์เกาหลี และอักษรเบรลล์ญี่ปุ่น
3) อักษรเบรลล์แบบ 8 จุด เป็นรูปแบบอักษรเบรลล์ที่พัฒนามาใช้งานเฉพาะในภายหลัง เช่น อักษรเบรลล์ลักเซมเบิร์ก อักษรเบรลล์ของอักษรคันจิ (อักษรจีนที่ภาษาญี่ปุ่นรับมาใช้) และรหัสเบรลล์ Gardner–Salinas (รหัสดุนนูนแบบอักษรเบรลล์ ใช้สำหรับแสดงสมการ ตัวแปร เครื่องหมายทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์)
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพรวมของ "อักษรเบรลล์" อักษรที่คนบกพร่องทางการมองเห็นใช้ในการสื่อสารผ่านการสัมผัสด้วยมือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวกลางที่ใช้ทำสื่ออักษรเบรลล์หลายแบบ ลักษณะกับความแตกต่างแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอักษรเบรลล์ ประวัติความเป็นมา รวมถึงเรื่องการแบ่งตระกูลหรือกลุ่มของอักษรเบรลล์ครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
โฆษณา