15 ม.ค. 2022 เวลา 13:03 • ดนตรี เพลง
[รีวิวอัลบั้ม] Dawn FM - The Weeknd
คลื่นฟ้าสางแห่งการเปลี่ยนผ่าน
- นี่คงเป็นหนึ่งในความพยายามครั้งสำคัญของนักร้องหนุ่มอาร์แอนด์บีระดับไอคอนจากแคนาดา Abel Tesfaye (a.k.a The Weeknd) ในการเปลี่ยนผ่านสู่ทางสว่างทั้งภาพลักษณ์และความคิดความอ่านที่หลายคนมักจะจดจำเขาในฐานะสายดาร์คลึกลับมาโดยตลอด Dawn FM จัดว่าเป็นสเต็ปแรกๆเลยในการปรับภาพลักษณ์ภาพจำเหล่านั้นโดยที่ไม่ซ้ำรอยความเป็นหนุ่มอันตรายแบบผลงานที่ผ่านมา คงไม่มีศิลปินคนไหนหรอกที่จะจมอยู่กับภาพลักษณ์เดิมๆนานจนไม่มูฟออนไปสู่วิถีทางความคิดความอ่าน การมองโลก ณ ปัจจุบันที่เปลี่ยนไปจากเดิมตามประสบการณ์และบาดแผลที่คอยลับคมทางความคิดไม่ให้ตกหลุมพรางจนไม่สามารถเติบโตทางวุฒิภาวะได้อีกต่อไป ในขณะเดียวกันโจทย์นี้โคตรท้าทายต่อตัว Abel ยิ่งนัก ในเมื่อสาวกและแฟนเพลงมันติดภาพจำไอ้หนุ่มดาร์คผู้มีไลฟ์สไตล์แสนหวือหวาจนชินแล้ว
- จำได้ว่าตอนแกให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางชีวิตและอัลบั้มใหม่ต่อจากนี้ในช่วงหลังยุค After Hours ที่แกออกมาเคลมแล้วว่า แกจะเลิกใช้ยาอย่างหนักหน่วงแล้ว ดื่มได้ในบางโอกาสเท่านั้น แต่ไม่ดื่มหนักเหมือนเมื่อก่อน เพราะแกค้นพบถึงความไม่เอ็นจอยกับการดื่มหนักอีกต่อไป นี่ก็แสดงให้เห็น mindset คร่าวๆแล้วว่า แกเริ่มโตทางความคิดขึ้น พบทางสว่างของการค้นพบความสุขโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาของมึนเมา มันเลยนำพาสู่การบอกลาชั่วโมงอันตรายในยามค่ำคืนแบบ After Hours สู่ชั่วโมงฟ้าสางใน Dawn FM ที่ไม่ต่างอะไรจากคนที่ผ่านค่ำคืนอันแสนยาวนานแล้วมานั่งฟังวิทยุด้วยสภาพสะบักสะบอมในยามเช้ามืดคอยกล่อมให้ตัวเองเย็นลงกว่านี้ แต่เอาเข้าจริงแล้วไม่เป็นการ switch สู่ความเป็น morning person ได้ฉับพลันขนาดนั้น ออกแนวพยายามในการหาทางสว่างให้ตัวเองมันต้องฝ่าด่านบางอย่างก่อนที่จะไปเจอแสงสว่าง ณ ปลายอุโมงค์
- ผมว่า Abel คงนึกสนุกกับจุดฝ่าด่านนี้มากๆ จะให้กูสลัดตัวตนเก่าๆให้เหี้ยนก็ดูจะง่ายไปต่อการให้แฟนเพลงรับรู้ได้ปุบปับเลยว่า เห้ย กูเปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งเป็นความคิดที่ดีในการค่อยๆเปลี่ยนผ่านตัวตน จะให้พี่ Abel ไปทางธรรมชาติก็กะไรอยู่เนอะ ยังคงเล่นกับความย้อนแย้งในตัวมันตั้งแต่ outfit ที่คุมโทนดำสนิทสวนทางกับธีมสว่างที่ควรจะเป็นตามชื่อ สังเกตได้ว่า Abel คือชายหนุ่มผู้มีปมในแง่ความรักความสัมพันธ์มากพอสมควร อย่างที่รู้กันในข่าวกอสซิปที่ผ่านมาที่คบกันเซเลประดับ high profile สุดท้ายก็ไปไม่รอด มันเลยเป็นปมฝังใจที่ทำให้ไอ้หนุ่มนักรักอาร์แอนด์บีใช้ชีวิตหนักหน่วง get high ให้ลืมอดีตรักแม่งเลย ด้วยความที่ผ่านชีวิตหนักหน่วงเยอะจนไม่สนุกกับชีวิตสุดเหวี่ยงแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว
- ด้วยความที่แกมีชีวิตแบบเซเลปที่ผ่านแสงสีฉูดฉาดมามากมาย มันจึงไม่ง่ายเลยที่แกจะละทิ้งชีวิตหวือหวาเหล่านี้ไปสู่วิถีชีวิตเรียบง่ายเด็ดขาดซะขนาดนั้น ยังคงเป็นชายหนุ่มที่ติดอยู่กับวังวน ฝ่าฝูงชนผู้คนมากมายที่วนเวียนอยู่ดิสโก้เทคแห่งหนใดแห่งนึง โดยที่ไม่แวะจะผูกใจเพื่อให้ตัวเองมีแนวโน้มเจ็บไปมากกว่านี้ เราจึงได้งานเพลงที่ให้อะไรมากกว่าการสอดแทรกเนเจอร์ของวิทยุคลื่น 103.5 ที่ Abel จำลองขึ้นมาเอง แต่มันสอดแทรกหลากเรื่องราว หลายอารมณ์ ไล่ตั้งแต่การโลดแล่นผจญภัยวนเวียนอยู่ในสถานที่อโคจร อีกทั้งมีการทบทวนตัวเองจากประสบการณ์รักในอดีตที่ดันเป็นการตอกย้ำความผิดพลาดและโหยหายิ่งกว่าเดิม แทบจะเป็นทวิภาคต่อจาก After Hours เลยล่ะ
- เปิดอัลบั้มด้วยจิงเกิ้ลคลื่นวิทยุของตัวเอง Dawn FM สังเกตเห็นมั้ยว่ามันไม่ใช่การต้อนรับรุ่งอรุณด้วยเสียงนกธรรมชาติ แต่เป็นเสียงนกสังเคราะห์ที่ดันเป็นจุดที่สร้างความฉงนสนเท่ห์ให้ดูมีซัมติง ซึ่งแน่นอนว่า มันไม่ใช่การหลุดพ้นจากความมืดมิดไปได้ขาด ยังคงตกอยู่ในสภาวะโดดเดี่ยวในค่ำคืนที่ดูเหมือนว่าจะไม่จบโดยง่าย ทั้งนี้ธีมเพลงมีความไซไฟ-แฟนตาซีที่ดูเฉิดฉายในทาง lift up แลดูเปล่งประกายกว่าอินโทรเปิดอัลบั้มที่แล้ว Alone Again ที่ดูจะเคว้งคว้างเร่งเร้าเสียกว่า และยังมีเสียงสวรรค์จากน้า Jim Carrey ซึ่งเป็น narrator คนสำคัญประจำคลื่นวิทยุที่ช่วยให้คนฟังเย็นลงจากการตะลุยฟังทั้งอัลบั้ม ดูแกไม่น่าจะเข้ากับโลกของ The Weeknd ได้ แต่น้าแกคือความเป็นมิตรที่ลดความตึงโดยไม่ต้องพยายาม อีกหนึ่งจุดที่ first impression มากเลยคือ จิงเกิ้ล 103.5 FM ที่ Abel ขับขานเป็นความ custom ที่โคตรวิเศษมากๆ
You are now listening to 103.5 Dawn FM
You've been in the dark for way too long
It's time to walk into the light
And accept your fate with open arms
Scared? Don't worry
- Gasoline เริ่มเข้าสู่โหมดเพลงบรรยากาศผับอย่างเต็มสูบด้วยการดัดเสียง falsetto เป็นจุดเซอร์ไพรส์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จากปกติจะมาด้วยน้ำเสียงแหลมสูงที่เราต่างคุ้นเคย แปรสภาพเป็นน้ำเสียงของคนที่แฮงค์โอเว่อร์จากการใช้ยาอย่างหนักหน่วงแล้วดันนอนกระวนกระวายอยู่ช่วงตีห้าจนต้องกริ๊งไปหาความช่วยเหลือจากสาวคนรักผู้ห่างเหิน ทั้งนี้ก็ยังมีการสั่งเสียไว้ล่วงหน้าด้วย หากภาวะ overdose เล่นงานเขาเดี้ยงจริง โปรดห่อหุ้มตัวเขาแล้วเอาน้ำมันลาดและจุดไฟแม่งเลย แปลอีกนัยนึงก็คือเขาพร้อมที่จะให้ตัวตนเก่าถูกราดไฟเผาโดยสาวที่เขาไว้เนื้อเชื่อใจมากสุดนั่นเอง
- เพิ่มความกระชุ่มกระชวยขึ้นมาหน่อยในเพลงต่อมา How Do I Make You Love Me? ที่ไม่ต่างจากไอ้หนุ่มจอมรุกที่อยากจะคว้าตัวคว้าใจเต็มที่ ไม่อยากให้โอกาสหลุดลอยไป ส่วนสาวเจ้าจะให้โอกาสมั้ย เป็นเรื่องที่แอบกังวล อยากจะรู้คำตอบซะเหลือเกิน แถม outro มีการ transition สู่ Take My Breath ในแบบที่ลากยาวอินโทร น่าจะเต็มอิ่มสาแก่ใจคนที่ชอบเพลงนี้เป็นทุนเดิมอยู่ไม่น้อย เพราะนี่คือ Extended Version ที่ Abel จงใจให้เราดำดิ่งกับเพลงนี้ไปมากกว่าตอนที่ได้ฟังในซิงเกิ้ล ถ้าเป็นในงานคอนเสิร์ต ท่อนแยกเป็นจังหวะ interact กับคนดูเลยก็ว่าได้
- Sacrifice ซิงเกิ้ลที่สองโดดเด่นด้วยสไตล์อิเล็กโทรฟังก์ ซาวน์ดฉวัดเฉวียน แถมเป็นเพลงตัดพ้อในแบบหยิ่งในศักดิ์ศรี กูจะไม่ยอมเสียสละตัวตนเพียงเพื่อให้ผู้หญิงมาชอบ ไม่ใช่รักแบบยอมพลีชีพ Die For You เป็นความโสดแบบโฉดๆที่แอบแฝงความเท่ห์ด้วยคติประจำใจของคนที่ไม่อยากให้ความช้ำใจมาพรากเวลาไปง่ายๆ
I don't wanna sacrifice
For your love, I try
I don't wanna sacrifice
But I love my time
- พอมาถึงแทร็ค interlude อย่าง A Tale by Quincy เป็นจุดเริ่มต้นการเข้าสู่โหมด calm ยุค 80’s ขึ้นมาแบบคาดเดาได้ โดยลุง Quincy แกมาแชร์ประสบการณ์สุดขมขื่นในวัยเยาว์ที่สวนทางกับ vibe เพลงมาก ท้าวความถึงตอนเด็กที่ไม่ค่อยได้รับการเลี้ยงดูได้ดียิ่งนักเนื่องจากสภาวะทางจิตใจของแม่แท้ๆขึ้นๆลงๆจนพ่อต้องหย่าร้าง เจอแม่เลี้ยงใหม่ก็ดันใจคอเลาะร้าย อีกทั้งลุงแกยังเล่าถึงชีวิตครอบครัวจริงๆก็กลับพบเจอความยากลำบากอีกชั้นที่ว่า จะเลี้ยงลูกอย่างไรให้ดีขึ้นมาได้ ในเมื่อลุงเองก็ไม่ได้สัมผัสถึงชีวิตครอบครัวที่ดีเลยแม้แต่น้อย
- เป็นเรื่องเล่าผู้อาวุโสส่งต่อทั้งผู้ฟังและ Abel เอง ให้ระลึกถึงการมองไปข้างหน้า อดีตที่ผิดพลาดนั้นำพาซึ่งผลลัพธ์ที่เจ็บปวด นั่นก็เป็นสิ่งที่ควรต้องก้มหน้ายอมรับโดยปริยาย การฉายภูมิหลังแบบนี้ทำให้ผมสังเกตถึงจุดร่วมที่ Abel และลุง Quincy มีคล้ายๆกันคือ ทั้งคู่กลัวการมีความรัก ผลจากอดีตชีวิตที่ไม่สมบูรณ์แบบ Abel ก็เติบโตมากับแม่เลี้ยงเดี่ยวเช่นกัน เป็น interlude ที่ไม่ได้แทรกมาพร่ำเพรื่อจริงๆ
Looking back is a bitch, isn’t it?
- หลังจากฟังเรื่องเล่าผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ร่วมแล้ว ต่อเนื่องด้วยอาร์แอนด์บีโชว์ลูกคอ ท่วงทำนองแช่มชื้น แต่ในใจเสียดายสุดแสนอย่าง Out of Time กลิ่นอายดูไหลลื่นคล้ายๆกับ I Feel It Coming แต่เป็นเวอร์ชั่นที่ดีกว่ามากๆตรงที่มันมีอารมณ์ถวิลหามากกว่าหวานเลี่ยนแบบเพลงนั้น เป็นความอ้อนวอนยื้อเวลาที่โคตรเท่ห์เสียจนเคลิ้มตามมากกว่าจะเศร้าระทม มีแนวโน้มถูกตัดเป็นซิงเกิ้ล
- ต่อด้วยเพลงสโลแจมอย่าง Here We Go Again ที่สวนทางความพลุ่งพล่านตามแขกรับเชิญ Tyler The Creator ที่ควรจะเป็น เป็นการร่วมงานครั้งแรกที่รวมหัวกันแชร์ตัดพ้อนิยามรักแท้ที่ความตลอดกาลเป็นอะไรที่ยาวนานและน่าเบื่อเกินไปด้วยพิธีการต่างๆนาๆที่ดันสร้างเงื่อนไขให้น่าปวดหัวตามมา โดยเฉพาะไทเลอร์ที่มาแบบสั้น แต่โคตรมีหลักการร้อยแปดมาก ดูเหมือนจะบ่นเรื่องเงื่อนไขการจดทะเบียนสมรสที่อาจจะจบลงด้วยการไปศาล หากต้องหย่าร้างกัน ส่วน Abel เองก็โคตรจะเกทับความสัมพันธ์ครั้งใหม่ใส่แฟนเก่าซะเหลือเกิน แฟนผมเป็นดาราใหญ่ ส่วนแฟนคุณแม่งโคตรเบสิค เสียงร้องของ Abel เคลิ้บเคลิ้มชวนฝันซะเหลือเกิน แต่เนื้อในแม่งโคตรร้าย ในขณะที่ Best Friends ให้อารมณ์ friend with benefits แค่เซ็กส์กันก็พอ ไม่ต้องผูกมัดให้ toxic ยุ่งเหยิงเปล่าๆ โดดเด่นด้วยจังหวะเพลงแบบ Bounce
- Is There Someone Else? เพิ่งเคยเห็นเสียงเจี๊ยวจ๊าวอยู่ในเพลงของ Abel ประโยคคำถามแบบนี้มักจะเป็นการเรียกร้องความสนใจ อันที่จริงแล้วเป็นการถามให้ชัดเจนว่า เธอมีใครอยู่มั้ยหว่า เราแม่งโคตรชัดเจนถึงขั้นจะเปลี่ยนตัวเองเลยก็ได้ ถ้าปล่อยให้เบลอขนาดนี้ ไม่งั้นจะเจ็บทั้งเขาและเราพอกัน Starry Eyes เพลงพาร์ทสองต่อเนื่องที่ฉายภาพคนที่ถูกลอยขึ้นที่ไหนซักอย่าง ประหนึ่งอยู่ในห้วงอารมณ์เพ้อฝันแบบที่ละทิ้งไอ้ความเย่อหยิ่งในศักดิ์ศรีแบบที่เคยเป็นในเพลงที่ผ่านๆมา กลายเป็นการพยายามอย่างยิ่งยวดในการยอมละทิ้งศักดิ์ศรีที่ค้ำคอเลยทีเดียว
- มาถึงช่วง commercial ที่น่าฉงนสนเท่ห์จริงๆอย่าง Every Angel Is Terrifying ที่ช่วงแรกของ interlude สานต่ออารมณ์จากความเพ้อฝันจากเพลงก่อนแล้วก็วูบมาสู่แสงรำไรลางๆราวกับตื่นขึ้นมาในที่ไหนซักแห่ง แล้วขึ้นมาอ่านบทกลอนเกี่ยวกับความลุ่มหลงในความงามด้วยความรู้สึกเวทนาว่า ทำไมผู้หญิงแม่งใจร้ายจังวะ นางฟ้าทุกตัวแม่งไม่น่าไว้ใจจริงๆ เอาจริงๆไอ้ตอนอ่านกลอนแล้วมีเสียง cheer up อยู่ตรงแบ็คกราวนด์ให้อารมณ์อยู่ในวงสัมมนาไลฟ์โค้ชอยู่เหมือนกันนะ ยิ่งตัดด้วยโฆษณา After Life นี่แม่งใช่เลย ขายฮาวทูชัดๆ สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกฉงนสนเท่ห์กับ interlude นี้เป็นพิเศษคงหนีไม่พ้นการโหมกระหน่ำด้วยบีทเพลงที่เร้าใจสัดๆ และยิ่งหยอด hint ไปสู่ไตรภาคถัดไป After Life เนี่ย มันทำให้เรากระหายอยากรู้จริงๆว่า จะไปทางหวือหวา sexy euphoric bizarre หรือไม่ เป็น easter egg ที่โคตรน่าติดตาม
- พอมาถึงโหมดปกติ Don’t Break My Heart นี่แทบจะเกี้ยวพาราสีใน discotheque เลยทีเดียว สำเนียงการร้องแบบมีลาชวนระลึกถึง MJ แต่มาอยู่ในบรรยากาศผับมืดๆวูบวาบหน่อย I Heard You’re Married จังหวะดุ่มๆใจแป้วๆสไตล์คนที่ไปข้องแวะกับคนมีเจ้าของแล้ว แต่ก็เสี้ยมให้เลิกกับเขาให้จงได้ ซึ่งต่างจาก You Right ที่เคยไปแจม Doja Cat ที่ดูจะอ่อนโยนยอมรับทางใครทางมันมากกว่าที่จะคะยั้นคะยอ กวนประสาทแบบนี้ ส่วน Lil Wayne ก็ยังแร็ปด้วยความรู้สึกมึนๆปนตัดพ้อหน่อยๆ
- มาถึงเพลงสุดท้ายอีกหนึ่งตัวเก็งถูกตัดเป็นซิงเกิ้ลอย่าง Less Than Zero กลิ่นอาย Save your Tears ชัดๆ มีความเขยิบพลัง vibe ให้แคบลง แต่มีความต่างตรงที่สำเนียงขยุ้มกีตาร์อคลูสติคบางๆเนี่ยแหละ บัลลาดติดหูไพเราะโคตรๆ สายแมสน่าจะชอบอยู่ เหมือนพยายามจะปลดแอกตัวเองจากคนๆนั้นเต็มที่ ทั้งที่ในใจแม่งโคตรข่มอารมณ์ เต็มไปด้วยความรู้สึกผิดกับอดีตเคยเลวที่ผ่านมา ซึ่งถ้าล่วงรู้ความจริง เค้าคงรับไม่ได้แน่ๆ Abel ก็ยังคงแสดงความเนิร์ดหนังด้วยการอ้างอิงมาจากหนังในชื่อเดียวกันที่นำแสดงโดยน้า Robert Downey Jr. โดยในท่อน Now you’d rather leave me / Than to watch me die in your arms ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากซีนสุดสะเทือนใจของน้าโรเบิร์ตที่ overdose ยาแล้วตายในที่สุด ในเมื่อเป็นผู้ชายติดลบซะขนาดนี้ก็เจอกันครึ่งทางล่ะกัน อีกหนึ่งเพลงที่ยังคงฉายแสงเซนส์ป็อปได้แข็งแรงและอาจองมากๆ
- ปิดท้ายด้วยซีนเต็มๆของน้า Jim Carrey ใน outro ปิดท้ายอัลบั้ม Phantom Regret By Jim ที่เป็นบทสรุปการเดินทางที่ผ่านมาตลอดทั้งอัลบั้ม สรุปใจความได้ว่า การโหยหาความผาสุกไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนเลย การปล่อยวางความเสียดายเป็นสิ่งที่จำเป็นในก้มหน้ายอมรับอดีตที่เคยพลั้งพลาดและไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับคุณว่าเลือกที่จะลงโทษตัวเองหรือเลือกที่จะปลดเปลื้องจิตใจอันหนักอึ้งด้วยเพลงที่คุณชื่นชอบหรือรู้สึกดี หัดที่จะทำความเข้าใจต่อผลที่จะตามมาในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คุณเป็นคนตัดสินใจเองว่าจะติดอยู่กับวังวนต่อไปหรือไม่? ทั้งๆที่สวรรค์นั้นอยู่ใกล้ยิ่งกว่าน้ำตาที่อาบแก้มคุณเสียอีก คุณต้องเป็นสวรรค์เสียเองเพื่อที่จะค้นพบทางสงบของใจ
- ผมยกให้ Outro นี้เป็นการปิดท้ายอัลบั้มที่ดีที่สุดของ The Weeknd โดยไม่คิดมากเลย มันเป็นการตอบโจทย์ประสบการณ์ที่ผ่านมาจากหลายอัลบั้มที่ผ่านมาด้วย solution ที่พูดง่าย เข้าใจว่าทำยาก แต่แม่งโคตรจริงสัดๆ มันไม่ใช่บทเรียนง่ายๆที่ผ่านจากไลฟ์โค้ชหลายๆคนที่มักจะมองชีวิตคนอื่นด้วยมุมมองที่ง่ายไป inspire ประเดี๋ยวประด๋าว ทั้งๆที่ชีวิตแม่งมีเรื่องซับซ้อนเต็มไปหมดคอยฉุดไม่ให้ตัวเองคิดแบบนั้นแบบนี้ เป็น poem ที่อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจโลกที่ดีมากๆ สุดท้ายมันก็จบลงที่การยอมรับต่อสิ่งที่ตามมาจากการตัดสินใจ ไม่ทางใดก็ทางนึงอยู่ดี ความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของจริง บางทีการเป็นคนแก่ตามที่ปกอัลบั้มต้องการจะสื่อ อาจจะนำพาสู่ชีวิตหลังความตายสู่การเกิดใหม่ใน After Life ใครจะไปรู้ ?
You gotta be Heaven to see Heaven
May peace be with you
- ตั้งแต่การเริ่มต้นไตรภาคด้วย After Hours ยิ่งตอกย้ำการเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งกาจที่ไม่เหมือนใครราวกับว่าเขารังสรรค์จักรวาลของตัวเองใหม่โดยไม่ต้องตามใครอีกต่อไปแล้ว บางทีการก้าวมาสู่เมนสตรีมมักจจะมีคำข้อครหาเสมอว่า จากที่เคยตามใจตัวเองจนมันเข้มข้น กลับกลายเป็นความเจือจางเพื่อซาวน์ดเสียงกลางให้คนหมู่มากมีจุดร่วมไปกับมันได้ จะบอกว่าขายวิญญาณก็เข้านิยามเหมือนกัน
- แต่สำหรับ Abel เขามีทั้งอำนาจต่อรองและรักษาจิตวิญญาณของศิลปินได้พร้อมๆกัน โดยที่ไม่สูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไปมากนัก นี่อาจเป็นเหตุผลที่ผมไม่ยึดติดว่าเขาต้องกลับไปเป็นไอ้หนุ่มฮาร์ดคอแรงๆแบบที่เคยเป็นใน Trilogy อีกต่อไปเลยนะ ก่อนที่จะมาเริ่มไตรภาคนี้ ผมคิดว่า Abel พยายามหาจุดร่วมที่สามารถดึงสาวกเดนตายในอดีตและแฟนเพลงในยุค Kiss Land เป็นต้นไปได้มีจุดที่พึงพอใจไม่ครึ่งทางก็เปิดใจกับการเดินทางครั้งใหม่ด้วยความว้าวซ่า ถูกรีเซ็ทมุมมองใหม่ด้วยไตรภาคนี้ก็เป็นได้
- ส่วนในเรื่องความเดือดที่ทุกคนคาดหวังด้วยความติดใจใน After Hours อัลบั้มนี้ก็มีความเดือดในเวย์ที่ต่างออกไป ที่แน่ๆจุดร่วมในความหวือหวาที่ไม่ได้ลดน้อยถอยลงเลย ต่อให้สาสน์ของเพลงจะอันตรายน้อยกว่าอัลบั้มก่อนหน้าก็ตาม ฟังแล้วอะดรีนาลีนยังพลุ่งพล่าน ตื่นตาตื่นใจไม่แพ้กันอยู่ดี ถึงในบางช่วงบางตอนเริ่มจะวกวนตันๆแล้วก็ตาม ยังดีที่ไม่แช่กับจุดๆนั้นนานจนต้องกดข้ามเสียก่อน
-ภายใต้ความล้ำด้วยภาคดนตรีและคอนเซปต์ Abel ก็ไม่ลืมที่จะคารวะวัฒนธรรมยุค 80’s - 90’s ที่ขับเคลื่อนความบันเทิงด้วยวิทยุ คารวะไอดอลในอดีตที่พอจำได้ก็มี Michael Jackson ที่ Abel ให้ความเคารพเสมอมา การเชิญลุง Quincy Jones โปรดิวซ์เซอร์สายตรงของ MJ มาแชร์ประสบการณ์ชีวิตครอบครัวอีกด้านก็ยิ่งใกล้ชิดคนรอบข้างของป็อปสตาร์ผู้ล่วงลับมากขึ้นทุกที อีกหนึ่งคนที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือบุรุษสีม่วง Prince ที่ส่งต่ออิทธิพลต่อคอนเซ็ปท์โดยไม่ต้องสงสัย แนวคิด After Life ก็คารวะความเป็น Afterworld ในเพลง Let’s Go Crazy และใน Outro ปิดท้ายอัลบั้มก็มีการกล่าวถึง Purple Rain ด้วย
- นี่คืออัลบั้มรับศักราชและ era ใหม่ของ The Weeknd ที่แลดูมีความหวังไปสู่จุดที่สมดุลทั้งชีวิตและงานเพลงด้วยความเชื่อมั่นได้มากกว่าเดิม มีน้อยคนที่พอเข้าสู่การเป็นศิลปินเมนสตรีมแล้วจะเน้นเป้าประสงค์แค่การเป็น hitmaker เพียงอย่างเดียวโดยที่ละทิ้งการสร้างผลงานอัลบั้มแบบเป็นชิ้นเป็นอัน สำหรับ Abel คือศิลปินแห่งยุคที่รักษาตัวตนทั้งสองทางได้แนบเนียนพอกัน มีเพลงที่มีแนวโน้มฮิตบ้าง เอาใจคนหมู่มากบ้างเพื่อดึงดูดพวกเขาไปสู่จักรวาลใบเต็มของเขาได้อย่างแนบเนียน
- อีกอย่างช่วงหลังจากยุค After Hours เขาเริ่มรู้จักการปูทางก่อนเข้าสู่อัลบั้มนี้อย่างเนียนๆด้วยการแชร์ hint ในเพลงที่ตัวเองไปแจม ไม่ว่าจะเป็น Hurricane, Tears In The Club หรือการใส่ชุดหนังดำปรากฏตัวตามงานต่างๆ หรือในเอ็มวีเพลงที่ดูเหมือนจะห่างไกลจากอัลบั้มนี้พอสมควรอย่าง You Right จะเห็นได้ว่าเรื่องพวกนี้ผ่านการคิดมาอย่างดีแล้วทั้งสิ้น กลยุทธ์แบบนี้แหละคือ mindset ของศิลปินที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง
การทิ้งปริศนาทางธรรมของการเป็นคนแก่ก็น่าถอดรหัสตาม
Top Tracks : Dawn FM, Gasoline, How Do I Make You Love Me?, Take My Breath, Sacrifice, Out of Time, Here We…Go Again, Don’t Break My Heart, Less Than Zero, Phantom Regret By Jim
Give 8/10
Thx 4 Readin’
See Y’all
Genre : synth-pop, R&B Soul
Credit Producer : Benny Bock, Brian Kennedy, Bruce Johnston, Calvin Harris, Charlie Coffeen, DaHeala, Gitty, Max Martin, OPN, Oscar Holter, Peter Lee Johnson, Rex Kudo, Swedish House Mafia, Tommy Brown, The Weeknd
Label: XO, Republic
โฆษณา