16 ม.ค. 2022 เวลา 12:40 • คริปโทเคอร์เรนซี
จับกระแส ตลาดคริปโทฯ ของไทย เมื่อรัฐจ้องเก็บภาษีกำไร
เริ่มศักราชใหม่ ปี พ.ศ.2565 เรื่องกระทรวงการคลังจะจัดเก็บภาษีขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และกำไรจากการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี่ กลายเป็นประเด็นร้อนให้ถกเถียงกันเพราะผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย ในขณะที่กระทรวงการคลังยืนยันเดินหน้าดำเนินการในเรื่องนี้เพื่อขยายฐานการจัดเก็บภาษีสำหรับนำเงินมาพัฒนาประเทศ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ย้ำให้เห็นความจำเป็นว่าประเทศไทยไม่ได้ขยายฐานการจัดเก็บภาษีมานาน ทำให้รายได้จากภาษีต่อจีดีพีไม่ได้เพิ่มขึ้นตามขนาดเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวไปมาก สาเหตุหนึ่งมาจากการมีข้อยกเว้นทางภาษีจำนวนมากเพื่อสนับสนุนให้เกิดการลดต้นทุนในภาคส่วนนั้น ๆ
กรณีเก็บภาษีจากการขายคริปโทฯ มีการตั้งข้อสังเกตว่าเกิดขึ้นหลังจากตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทนี้ของไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในปี 2564 จึงอาจเป็นความพยายามของรัฐที่จะแตะเบรคชะลอความร้อนแรงของตลาด เพราะก่อนหน้านี้ทั้งนายกรัฐมนตรีและธนาคารแห่งประเทศไทยได้แสดงความห่วงใยต่อกระแสความนิยมลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลนี้ด้วยเห็นว่ามีความเสี่ยงสูง แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังปฏิเสธว่ารัฐไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเข้าควบคุมการขยายตัวของคริปโทฯ หากแต่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้ว
ในพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ระบุไว้ว่าสินทรัพย์ดิจิทัลหากมีกำไรหรือมีผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 ของกำไร และบุคคลที่มีเงินได้จากการซื้อขายคริปโทฯ จะต้องยื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ที่ผ่านมายังไม่มีความชัดเจน ในรายละเอียดของการจัดเก็บ จึงต้องมีการปรับปรุงให้ชัดเจนมากขึ้น โดยเงินได้ดังกล่าวจะคำนวณจากกำไรเป็นรายธุรกรรม (Transaction) และจะถูกนับเมื่อมีการโอนเงินกลับเข้าบัญชีแล้ว หากเงินยังอยู่บนแพลตฟอร์มที่ทำการซื้อขายจะไม่ถือว่าเป็นรายได้
ด้านผู้ประกอบการในตลาดคริปโทฯ ต่างแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยเพราะเกรงว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะเกิดผลกระทบต่อการพัฒนาตลาดนี้ ซึ่งเป็นตลาดการเงินแบบใหม่ที่กำลังเติบโต โดยจะทำให้นักลงทุนไทยหันไปลงทุนกับตลาดต่างประเทศจนส่งผลกระทบต่อการเติบโตของตลาดในประเทศ ทั้งจะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสจากการลงทุนของต่างประเทศด้วย รัฐควรจะรอให้ตลาดมีการเติบโตและเข้มแข็งพอเสียก่อนจึงค่อยดำเนินการเก็บภาษีเหมือนที่เคยส่งเสริมให้ตลาดทุนเติบโตด้วยยกเว้นการเก็บภาษีขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นเวลายาวนานถึง 30 ปี
ทั้งยังมีข้อท้วงติงในรายละเอียดของการจัดเก็บภาษีหลายเรื่อง เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 ของกำไรสูงเกินไป ควรจัดเก็บเป็นขั้นบันได หรือกรณีไม่สามารถนำรายการที่ขาดทุนมาหักลบเวลายื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้ หรือกระทั่งประเด็นว่าควรจะคำนวณจากกำไรเป็นรายธุรกรรม (Transaction) หรือจาก Capital gains เป็นต้น
ทำให้กรมสรรพากรตั้งคณะทำงานร่วมกับสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณากำหนดรายละเอียดการจัดเก็บภาษีคริปโทฯ ให้ชัดเจน โดยรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายและกำหนดแนวทางปฏิบัติบนพื้นฐานส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยในอนาคต ซึ่งอาจมีการผ่อนปรนกฎระเบียบบางข้อที่สามารถทำได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมายและไม่ส่งผลกระทบต่อการยื่นแบบแสดงเงินได้ของปี 2564 ที่มีกำหนดถึงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2565
ทั้งนี้ พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 แบ่ง​​​สินทรัพย์ดิจิทัลเป็น 2 ประเภท คือ คริปโทเคอร์เรนซี่ (Cryptocurrency) ที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ หรือสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น Bitcoin, Ethereum, Litecoin, Ripple, Stellar เป็นต้น
อีกประเภท คือ Digital Token ประกอบด้วย 2 ประเภทย่อย ได้แก่ Investment Token หรือ โทเคนเพื่อการลงทุน ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิในการร่วมลงทุน เช่น สิทธิในส่วนแบ่งรายได้ สิทธิในผลกำไรจากการลงทุน และ Utility Token หรือ โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่เฉพาะเจาะจง เช่น บัตรโดยสารรถไฟฟ้า คูปองในศูนย์อาหาร เป็นต้น
โดยภาพรวมของปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นปีทองของคริปโทเคอร์เรนซีจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของมูลค่าเหรียญคริปโตฯ หลายสกุล จนทั่วโลกมีมูลค่ารวมถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ก่อนจะลดลงเหลือประมาณ 2.5-2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเวลาต่อมา ซึ่งในประเทศไทยก็มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด จากมูลค่า 3.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี พ.ศ.2563 เพิ่มขึ้นประมาณ 30 เท่า เป็นมูลค่า 18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจำนวนผู้ลงทุนในตลาดเพิ่มขึ้นจาก 2-3 แสนคน เป็นประมาณ 1.6 ล้านคน หรือเติบโตราว 6 เท่า เนื่องจากได้รับความนิยมในกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ และผู้ที่เชื่อว่าสิ่งนี้เป็นความหวังใหม่ของระบบการเงินและธุรกิจต่างๆ
เช่นเดียวกับบริษัทจำนวนมากก็เริ่มนำร่องสู่การใช้เงินคริปโทฯ กันอย่างคึกคัก แม้จะยังไม่มีการรับรองว่าสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทนี้สามารถใช้แลกเปลี่ยนสินค้าได้เหมือนเงินตราตามกฎหมาย แต่ปีที่ผ่านมาภาคเอกชนหลายรายได้เริ่มใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการแล้ว ตัวอย่างเช่น
ในธุรกิจค้าปลีก เดอะมอลล์ กรุ๊ป จับมือกับ Bitkub ให้ลูกค้าสามารถนำเงินคริปโทฯ 7 สกุล ได้แก่ BITCOIN, TETHER, ETHEREUM, STELLAR, XRP, BITKUB COIN และ JFIN COIN มาชำระค่าสินค้าและบริการ ของห้างสรรพสินค้าในเครือเดอะมอลล์ และดิ เอ็มโพเรียม หรือร้านกาแฟอินทนิลจับมือ Bitazza เปิดให้บริการรับชำระค่าเครื่องดื่มด้วยเงินคริปโทฯ 3 สกุล ได้แก่ BTC, ETH และ USDT
ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ประกาศให้ลูกค้าใช้สินทรัพย์ดิจิทัลชำระค่าซื้อบ้านและคอนโดแทนเงินในทุกโครงการผ่านวอลเล็ตของ Bitkub โดยเปิดรับสกุลเงิน BTC, ETH และ USDT เช่นเดียวกับ เอสซี แอสเซท ที่จับมือกับ Zipmex ให้ลูกค้าสามารถชำระค่าบ้านและคอนโดด้วยเงินคริปโทฯ 5 สกุล ได้แก่ BTC, ETH, ZMT, USDT และ USDC
ธุรกิจบริการอย่าง เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เปิดทดลองใช้สินทรัพย์ดิจิทัลแลกรับตั๋วชมภาพยนตร์ โดยจับมือกับ Zipmex รับสกุลเงิน BTC และมีแผนจะเพิ่มสกุลเงินอื่น ๆ เช่น ETH และ ZMT นอกจากนี้ สายการบินบางกอกแอร์เวย์สจับมือกับ Bitkub นำร่องรับชำระค่าโดยสารด้วยเงินคริปโตฯ เป็นต้น
ซึ่งการริเริ่มจากภาคเอกชนดังกล่าว ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาแสดงท่าทีไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากเห็นว่าราคาคริปโทฯ มีความผันผวนสูง มีความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลอีกทั้งมีความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงินได้ ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อร้านค้า ผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการ และหากมีการนำมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการอย่างแพร่หลาย ความเสี่ยงดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน และระบบการเงินของประเทศได้
อย่างไรก็ตาม จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และผู้ให้บริการ exchange ที่มีส่วนแบ่งในตลาดซื้อขายคริปโทฯ มากที่สุดในประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของคริปโทเคอร์เรนซีอย่างมากมาจากการที่คนทั่วโลกตื่นตัวกับแนวโน้มของสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น และเชื่อว่าในอนาคตจะขยายตัวไปยังสินทรัพย์ทั้งหมดที่สามารถแปลงไปสู่โลกออนไลน์ได้ โดยมีเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ และจะเปลี่ยนแปลงให้เศรษฐกิจโลกก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในที่สุด
สำหรับแนวโน้มปี พ.ศ.2565 หากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย หลายประเทศยังจำเป็นต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อประคองสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เขาเชื่อว่าจะส่งผลให้มีเม็ดเงินบางส่วนไหล่เข้าสู่สินทรัพย์ดิจิทัล จนทำให้ตลาดคริปโทฯ มีโอกาสเติบโตขึ้นอีกมากกว่าเท่าตัว
นอกจากนี้ มูลค่าตลาด 3 ล้านล้านดอลลาร์ ถือว่าขนาดเล็กมากเมื่อเปรียบเทียบกับสินทรัพย์ชนิดอื่น ๆ ในระยะยาวจึงมีโอกาสเติบโตได้อีกมากเมื่อโลกอินเทอร์เน็ตเข้าสู่ยุคเว็บ 3.0 อย่างแท้จริง พร้อมกับการเกิดขึ้นของบล็อกเชน, IOT (Internet of Thing), AI, VR และ Metaverse จะทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ตลาดคริปโทฯ จะขยายตัวขึ้นมากกว่าในปัจจุบันแน่นอน ซึ่งประเทศที่มีกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีสมัยใหม่และทิศทางของโลก จะเป็นประเทศที่เสียผลประโยชน์อย่างมหาศาลในระยะยาว
ติดตามสตอรี่ดี ๆ จาก The Story Thailand ได้ตามช่องทางเหล่านี้
Instagram:
LINE TODAY: TheStoryThailand
#TheStoryThailand #เดอะสตอรี่ไทยแลนด์ #สตอรี่ดีๆ
โฆษณา