#รู้หรือไม่...'เสือโคร่ง' คือผู้ยืนอยู่บนยอดพีระมิดแห่งพงไพร กับเหตุผลที่ทำไมเราต้องอนุรักษ์เสือโคร่ง สัตว์ที่มีคุณค่ากับผืนป่ามากกว่าแค่ประดับตามบ้านเรือนของใคร...
เสือโคร่ง (Tiger) คือ ชนิดพันธุ์ที่เรียกว่า umbrella species การดำรงอยู่ของเสือโคร่ง เท่ากับ การดำรงอยู่ของสัตว์ป่านานาชนิดในผืนป่า
การเป็น umbrella species ยังหมายถึง การเป็นเป้าหมายหลักในการอนุรักษ์และคุ้มครอง เท่ากับว่า สัตว์ป่าน้อยใหญ่ในพื้นที่ของเสือโคร่ง ล้วนได้รับการอนุรักษ์และปกป้องไปพร้อม ๆ กัน
เสือโคร่ง อยู่ในวงศ์ Felidae เป็นสัตว์กินเนื้อ (canivora) ขนตามลำตัวสีน้ำตาลเหลืองหรือเหลืองอมส้ม มีลายสีดำพาดขวางตลอดทั้งลำตัว...แน่นอนว่า แต่ละตัวมีลายไม่ซ้ำกันเช่นเดียวกับลายนิ้วมือของคน
ทั่วโลก มีอยู่ 9 สายพันธุ์ : บาหลี, ชวา, แคสเปียน, อินโด-ไชนีส, เบงกอล, ไซบีเรียน, เซาท์ไชน่า, สุมาตรา และมลายู 3 สายพันธุ์แรก สูญพันธุ์ไปจากโลกแล้วโดยสิ้นเชิง เหลือไว้เพียง 6 สายพันธุ์หลัง
ประชากรเสือโคร่งในผืนป่าไทย (ปี2564) ไทยมีประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติประมาณ 177 ตัว เป็นสายพันธุ์อินโด-ไชนีส บ้างก็เรียกสั้น ๆ ว่า อินโดจีน มีลำตัวขนาดกลาง นน. 130-200 กก. นอกจากจะอยู่ในป่าไทยแล้ว ก็ยังพบอยู่ในพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และทางตอนใต้ของจีน
อาณาเขตของเสือโคร่งเพศผู้ กินพื้นที่ราว ๆ 200-300 ตร.กม. ในขณะที่เพศเมียจะอยู่ที่ 60 ตร.กม. ล่าเหยื่อตั้งแต่หมูป่า เก้ง กวาง วัวแดง และกระทิง และนิยมล่าเหยื่อที่มีช่วงอายุโตเต็มวัย
การล่าแต่ละครั้ง จะใช้เวลาในการกินเหยื่อนาน 3-6 วัน เสือโคร่ง 1 ตัว กินเนื้อประมาณ 3,000 กก./ปี เทียบเป็นกวางประมาณ 50 ตัว หากจะผลิตกวาง 50 ตัวเพื่อเป็นเหยื่อ ต้องดำรงประชากรกวางให้ได้ประมาณ 500 ตัว
🔻 ทำไมเสือโคร่งจึงมีความสำคัญ ทำไมจึงมุ่งเป้าการอนุรักษ์ไปที่ 'เสือโคร่ง' ท่านใดที่น้อยใจแทนสัตว์ป่าชนิดอื่น น่าจะพอหาคำตอบได้
เว็บไซต์ WCS Thailand กล่าวถึงความสำคัญของเสือโคร่งต่อระบบนิเวศไว้ว่า "เสือโคร่งมีความสำคัญที่โดดเด่นในฐานะผู้ล่าสูงสุดในห่วงโซ่อาหาร มีบทบาทและหน้าที่ในการควบคุมประชากรของสัตว์กินพืชไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป"
รวมทั้งรักษาสายพันธุ์ที่ดีของประชากรสัตว์ที่เป็นเหยื่อ เพราะสัตว์ที่อ่อนแอมักตกเป็นเหยื่อของเสือโคร่ง นอกจากนี้ปริมาณและชนิดเหยื่อของเสือโคร่งก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชากรเสือโคร่งอยู่รอดได้เช่นกัน
ด้วยความสัมพันธ์นี้จึงกล่าวได้ว่า 'เสือโคร่ง' สามารถเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่มีสัตว์ป่าดำรงอยู่ได้อย่างชัดเจน" เสือโคร่ง จึงได้ชื่อว่าเป็น ‘7 สัตว์ป่า ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง’
สถานภาพปัจจุบันของเสือโคร่ง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ไอยูซีเอ็น (IUCN) จัดให้อยู่ในประเภทใกล้สูญพันธุ์ (EN)
“สัตว์ป่า แต่ละชนิดล้วนแต่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน พวกมันทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเข้มแข็งเพื่อรักษาไว้ซึ่งสมดุลในระบบ ทั้งผู้ล่าและผู้ถูกล่า ดังนั้นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม สัตว์ป่าย่อมมีคุณค่ามากที่สุดเมื่ออยู่ในผืนป่า มิใช่ในกรงเลี้ยง หรือแขวนประดับไว้ตามบ้านเรือนของใคร”....
ข้อมูล : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า
ภาพ : "คลองค้อ" สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
โฆษณา