17 ม.ค. 2022 เวลา 08:51 • ธุรกิจ
“แจ็คกี้ หวาง” กับพันธกิจและบทบาทของ Google Thailand
‘นำเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของ Google เพื่อผู้ใช้งานชาวไทย’ ภายใต้ขอบเขตเป้าหมาย Carbon-Free Energy
เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ที่ ‘แจ็คกี้ หวาง’ Country Director, Google ประเทศไทย ได้เข้ามารับบทบาทเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนองค์กร Tech Company ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน ด้วยการ ‘นำสิ่งที่ดีที่สุดของ Google มาสู่ประเทศไทย’ โดยคำนึงถึงพฤติกรรม และประโยชน์ที่ผู้ใช้งานชาวไทยจะได้รับเป็นหลัก มุ่งมั่นสานต่อแนวคิด ‘Leave No Thai Behind’ ส่งเสริมให้คนไทยได้รับโอกาสที่เท่าเทียมในโลกดิจิทัล อีกทั้งยังตอบรับแผนพลังงานแห่งชาติ ในการมุ่งลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์
‘แจ็คกี้’ เป็นคนไต้หวันที่มีความผูกพันธ์กับประเทศไทย และเรียกเมืองไทยว่า ‘บ้าน’ แม้เขาจะไม่มีสายเลือดไทยเลย เขาเกิดที่ประเทศไต้หวัน และย้ายตามครอบครัวมาทำธุรกิจในประเทศไทย หลังจากเรียนจบปริญญาตรีด้านการสื่อสาร มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้ร่วมงานด้านโฆษณาที่บริษัท McCann Worldgroup จนช่วงที่กลับมาอยู่ประเทศไทย ดูแลโฆษณาดิจิทัล และมี Google เป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์สำคัญ ซึ่งนั่นเป็นโอกาสที่ทำแจ็คกี้ก้าวเข้ามาทำงานให้กับ Google ประเทศไทย ตำแหน่ง Industry Head ในปี 2014 จากนั้นย้ายไปเป็นผู้จัดการแบรนด์ผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ ที่ Google ประเทศสหรัฐอเมริกา และในปี 2020 กับบทบาทสำคัญของเธอ Country Director, Google ประเทศไทย
แจ็คกี้เล่าให้ The Story Thailand ฟังว่าช่วงที่เข้ามารับตำแหน่ง เป็นช่วงที่ไทยกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นตัวเร่งให้เกิดดิจิทัลทรานฟอร์เมชันในประเทศไทยอย่างจับต้องได้ ทุกคนสัมผัสได้ด้วยตัวเอง
ในมุมของผู้ใช้งาน เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่าน Google ได้เผยแพร่รายงานที่ทำร่วมกับ Temasek และ Bain & Company ซึ่งทำมาต่อเนื่อง 6 ปี ข้อมูลในรายงานทำให้เห็นว่า ปี 2020 ซึ่งเป็นปีแรกของโควิด-19 มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นใหม่ 40 ล้านคน ขณะที่ปี 2021 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 440 ล้านคน ในจำนวนนี้ราว 350 ล้านคน หรือประมาณ 80% เป็นผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งถือว่าเยอะมาก
1
รายงานยังบอกอีกว่า ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสาร ท่องเว็บ หรือดูคอนเทนต์เพียงอย่างเดียว แต่ยังเริ่มเข้ามาเป็นผู้บริโภค ซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ ติดตามคอนเทนต์เพื่อความบันเทิง จ่ายเงินเพื่อซื้อเกม ดูวิดีโอ ฟังเพลง มีการซื้อขายเกิดขึ้น และเกิดเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล
นอกจากนี้ โควิดยังทำให้ครึ่งปีแรกของปี 2021 ประเทศไทยมีผู้บริโภคดิจิทัลเพิ่มขึ้นใหม่ถึง 9 ล้านราย ซึ่งปกติแล้วผู้ใช้งานกลุ่มนี้จะเกิดขึ้นตามหัวเมืองใหญ่ แต่ในปี 2021 67% ของผู้บริโภคดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นมาจากพื้นที่นอกเขตปริมณฑล (Non-metropolitan area) ที่ไม่ได้กระจุกอยู่แค่หัวเมือง เกิดขึ้นได้จากทุกที่
“ในรายงานยังมีคำถามว่า หากโควิดและมาตรการต่าง ๆ คลี่คลายแล้ว ยังจะใช้เครื่องมือดิจิทัลต่อหรือไม่ ผู้ใช้งานกว่า 90% บอกว่ายังใช้อยู่ เพราะเครื่องมือเหล่านี้ทำให้ชีวิตเขาสะดวกสบายขึ้น บริการออนไลน์ต่าง ๆ ช่วยเติมเต็มชีวิตเขาให้ดีขึ้น ซึ่งในมุมของธุรกิจถือเป็นโอกาสมหาศาลที่มีผู้ใช้งานเยอะขนาดนี้”
ทศวรรษแห่งดิจิทัล
ในมุมของ Google ‘ตั้งแต่ปี 2020 จะเป็นทศวรรษของดิจิทัล’ อย่างเห็นได้ชัด ด้วยยอดการเติบโตต่าง ๆ ที่เกิดเร็วมาก ทำให้เรามองเห็นว่าในปี 2030 โอกาสเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคจะมีการเติบโตได้ขนาดไหน ถ้าเทียบกับรายงานที่ Temasek และ Bain ทำมา มูลค่าจะพุ่งสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือสูงมาก โดยองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนตัวเลขดังกล่าวคือ อีคอมเมิร์ซ บริการจัดส่งอาหาร บริการทางการเงิน และสื่อออนไลน์
“สำหรับประเทศไทยปี 2021 มีการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลเฉลี่ยอยู่ที่ 51% ซึ่งถือเป็นเลขการเติบโตที่น่าประทับใจมาก อยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะมีการเติบโต 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2025 ถ้ามองลึกลงไปอีกจะเห็นว่าอีคอมเมิร์ซเป็นตัวขับเคลื่อนตัวเลขดังกล่าวให้เติบโตได้มาก และเติบโตที่สุดในตอนนี้ โดยในปี 2021 อีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นถึง 68%”
แจ็คกี้ขยายความต่อว่า ตัวเลขที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากการที่ผู้ซื้อมาซื้อของออนไลน์มากขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ค้าบนโลกออนไลน์ก็มากขึ้นด้วย โดย 1 ใน 3 ของผู้ค้าออนไลน์เชื่อว่าถ้าไม่มีเครื่องมือดิจิทัลมาใช้ในช่วงโควิด ธุรกิจของเขาอาจไม่รอด นอกจากนี้ผู้ค้ายังมองว่าบริการการเงินบนโลกดิจิทัล อย่างการจ่ายเงินออนไลน์ ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้การติดต่อซื้อขายของเขาลื่นไหลขึ้น
สำหรับโอกาสเศรษฐกิจดิจิทัลในอุตสาหกรรมอื่น ๆ แจ็คกี้ กล่าวว่า เห็นการเติบโตของเกมออนไลน์ สื่อออนไลน์ เกมมิ่ง โฆษณาวิดีโอ มิวสิคออนดีมาน มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 29% ธุรกิจขนส่ง อย่างบริการส่งอาหาร ถือเป็นตัวขับเคลื่อนที่ดีด้วย
“ช่วงรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ปี 2020-2021 คนหันมาใช้บริการส่งอาหารออนไลน์กันมากขึ้น ภาคการขนส่งมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ผู้บริโภคในไทย 76% อย่างน้อย 1% เคยลองใช้ตรงนี้แล้ว อีกภาคอุตสาหกรรมที่ 2 ปีนี้อาจหดตัว แต่อาจจะกลับมาแรงหน่อยคือ ท่องเที่ยวออนไลน์ เราเห็นเทรนด์ในประเทศอื่นตอนเปิดประเทศ ถ้าประเทศเปิด เราจะเห็นอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวพุ่งขึ้นสูงมาก เราเชื่อว่าตรงนี้จะกลับมา แต่คาดการณ์ได้ยากว่าจะกลับมาเมื่อไร”
เทคโนโลยีที่มีบทบาท หลังโควิด-19
2-3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดว่าอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้คนเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ไม่ว่าเป็นการศึกษาในระบบอย่างโรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่ใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ หรือการศึกษานอกระบบไม่ว่าจะเป็นเรียนภาษาอังกฤษ เรียนโยคะ ทำอาหาร ผ่าน YouTube อีกมุมหนึ่งคือเรื่องของเศรษฐกิจ บริษัทเล็กใหญ่ หันมาใช้เครื่องมือออนไลน์ในทางธุรกิจมากขึ้น
“ในมุมของ Google มองว่า เราจะคิดเทคโนโลยีอะไรเราต้องมองที่ ‘คน’ ก่อน เทคโนโลยีไหนจะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น ให้เขาทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น หาข้อมูลที่เขาต้องการได้เร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น”
ในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Google เห็นว่าผู้ใช้งานอินเทอรเน็ตใหม่ ๆ ที่เข้ามา ส่วนใหญ่เข้ามาผ่านโลกมือถือ เราเป็นประเทศที่มีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือเป็นอันดันหนึ่งในภูมิภาค
นอกจากนี้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย ยังมียอดการใช้งานเสียง ภาพ และวิดีโอ มากกว่าข้อความ โดยในปี 2021 ราว 50% ของผู้ใช้งานในภูมิภาคหันมาใช้บริการค้นหาข้อมูลออนไลน์ ด้วยคำสั่งเสียงบนโทรศัพท์มือถือ
“เราอยู่ในภูมิภาคที่เสียงและวิดีโอมีความสำคัญมาก สุดท้ายในมุมของเทคโนโลยีที่เราต้องแผ่กระจายออกไป การที่เราจับมือเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เพื่อช่วยกันคิดและมองหาว่าเทคโนโลยีอะไรที่เหมาะสมกับคนไทย เราทำเองคนเดียวไม่ได้ ต้องรวมตัวกันเป็นคอมมิวนิตี้เพื่อดึงเทคโนโลยีที่ดีที่สุดสำหรับเมืองไทย”
บทบาท Google ประเทศไทย
แจ็คกี้เล่าว่า 4 ปีที่แล้ว Google เปิดตัว Google for Thailand ประกาศความมุ่งมุ่นที่จะ Leave No Thai Behind ลดช่องว่างดิจิทัลและช่วยให้คนไทยทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในโลกดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันก็ยังทำตามเป้าหมายนั้น คำว่า “ลดช่องว่าง” หมายถึงช่องว่างในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ‘จากคนที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตมามีอินเทอร์เน็ตได้’ แต่วันนี้การที่มีคนมาออนไลน์มากขึ้น การเข้าถึงตรงนี้อาจจะหมายถึง ‘การเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง’ เรื่องของความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ก็ยังสำคัญอยู่ เพราะทุกคนต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ตกัน
ในมุมของ Leave No Thai Behind เรื่องของโอกาส หมายถึงโอกาสของเศรษฐกิจดิจิทัลมองว่ามี 2 ประเด็นสำคัญ อันดับแรกจากรายงานที่ทำมาหลาย ๆ ปี ปีแรกจะพูดถึง 6 กุญแจสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยเติบโตขึ้นได้ หนึ่งในนั้นคือ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ และพันธมิตรในการขับเคลื่อนดิจิทัล ผ่านมา 6 ปี หลายปัจจัยดีขึ้น เงินทุนก็มีต่อเนื่อง แต่พันธมิตรดิจิทัลยังเป็นอะไรที่พัฒนาได้น้อย ซึ่งถือเป็นช่องว่างสำคัญ
จากการพูดคุยกับบริษัทเล็กใหญ่ เขาจะมองว่าคนขาดทักษะดิจิทัลที่จะเติมเต็มศักยภาพของธุรกิจเขาได้ แจ็คกี้มองว่า จะต้อง up-skill และ re-skill คือ เพิ่มทักษะความสามารถ และเรียนรู้ทักษะใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสายงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเอสเอ็มอีในเมืองไทย ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจไทย โดย 43% ของ GDP ไทยมาจากเอสเอ็มอี นอกจากนี้ 85% ของการจ้างงานในเมืองไทยอยู่ในภาคส่วนของเอสเอ็มอี ฉะนั้นในการช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีทักษะดิจิทัลสำคัญมาก
“ไม่เพียงเท่านั้น Google ยังช่วยผู้ประกอบการเรื่องของเครื่องมือที่จะทำให้เขาเข้าถึงกลุ่มลูกค้า จัดเตรียมโปรแกรมอบรมต่าง ๆ ให้เข้าใจว่าในการหาลูกค้าใหม่จะต้องใช้เครื่องมืออย่างไร เพื่อให้ธุรกิจของเขาเติบโต นั่นเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เรามองว่าสำคัญ”
สำหรับเครื่องมือที่ Google นำเสนอให้แก่เอสเอ็มอีได้แก่ Google Search, Google แผนที่ รวมถึง Google ช้อปปิ้ง ที่ให้ผู้ประกอบการแสดงรายการสินค้าบนหน้า Google ได้ฟรี ใน Google แผนที่มีการเพิ่มฟีเจอร์ให้ผู้ประกอบการสามารถระบุสถานะการเปิด-ปิดร้าน ถ้าเปิดเป็นเปิดแบบไหน นั่งทานที่ร้าน สั่งกลับบ้าน หรือจัดส่งโดยไม่สัมผัส ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ในช่วงโควิดนี้ ตรงนี้ถือเป็นเครื่องมือในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยเช่นกัน
Google ไม่ได้สอนแค่ทักษะการใช้งาน แต่ยังช่วยเหลือเอสเอ็มอีด้วย เมื่อเดือนมีนาคมปี 2020 ช่วงแรกที่โควิดระบาด Google ประกาศให้เครดิตโฆษณามูลค่า 340 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้ธุรกิจทั่วโลกใช้ทำโฆษณาฟรี เพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการหาลูกค้าเขามายังธุรกิจเขาได้
Privacy และ Security คือ หัวใจ
แจ็คกี้บอกว่า การที่คนหันมาใช้อินเทอร์เน็ตกันมากขึ้นเป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งที่ต้องระวัง คือเรื่องของความเป็นส่วนตัว (Privacy) และความปลอดภัย (Security) โดยเฉพาะเรื่องของเด็กที่เข้ามาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น ในช่วงที่ต้องเรียนออนไลน์ Google ประเทศไทยให้ความสำคัญตรงนี้มาก
คนไทยกังวลเรื่องความปลอดภัยบนโลกออนไลน์มาก อาทิ การโจมตีบนโลกออนไลน์ ความปลอดภัยของข้อมูลตัวเองบนโลกออนไลน์ รวมถึงการแพร่กระจายของข่าวลวง และความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ของเด็ก จากจุดนี้ แจ็คกี้มีความภูมิใจที่ได้เป็นพันธมิตรกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการเปิดตัวโครงการ Be Internet Awesome ที่ Google สอนให้นักเรียนและคุณครูกว่า 1 ล้าน 5 แสนคน รู้จักทักษะที่จะเป็นพลเมืองที่ดีในโลกดิจิทัล ในรูปแบบแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษาคล้ายเกมไฟ สอนการตั้งค่าพาสเวิร์ด สอนเก็บข้อมูลความลับต่าง ๆ ให้เขามีทักษะความรู้ด้านนี้ตามความเหมาะสมของช่วงวัย
“นอกจากนี้ เรายังจัดทำโครงการ Internet awesome parents เพื่อให้ข้อมูลเรื่องของการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยแก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อจะได้นำไปใช้คำแนะนำกับเด็ก ๆ ต่อ”
Bring the best of Google to Thailand
ในฐานะที่ Google เป็นบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก แจ็คกี้พยายามดึงสิ่งที่ดีที่สุดมาให้กับเมืองไทย เพื่อทำให้ชีวิตคนไทยดีขึ้น และช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ เมื่อเห็นเทรนด์การเติบโตของการใช้งานเสียง ภาพ วิดีโอในเมืองไทย แจ็คกี้มีหน้าที่ไปบอก Google ว่าผลิตภัณฑ์นี้สำคัญกับเมืองไทย ควรเอามาให้คนไทยใช้งาน
จากวันแรกที่ Google ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1998 จนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 20 ปี แจ็คกี้มองว่าโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก แต่ Google ยังมุ่งมั่นเดินหน้าที่จะพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเครื่องมือค้นหา ซีอีโอมองว่า Google Search ยังเป็นเป้าหมายสำคัญที่ยังต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ หรืออีกหลายอย่างที่แจ็คกี้รู้สึกว่ายังมีอะไรใหม่ ๆ ที่น่าตื่นเต้นกับศักยภาพของ Google
พันธกิจของแจ็คกี้ใน Google ประเทศไทย
นอกเหนือจากที่กล่าวไปข้างต้น แจ็คกี้ยังต้องตามคำมั่นสัญญา Leave No Thai Behind พยายามผลักดันตรงนี้ สิ่งที่เธอทำคือ ทำให้คนมีทักษะความรู้ที่ดี เพื่อจะได้ทำเทคโนโลยีดิจิทัลนี้ไปใช้ในมุมบวกให้มากที่สุด ต้องให้ข้อมูลเขาว่าเขาควรระวังตรงไหนบ้าง อย่างไรก็ตาม ดาบก็มี 2 คม ในมุมลบแจ็คกี้เชื่อว่าถ้าให้ข้อมูลที่ถูกต้องแล้ว ผู้ใช้งานจะรู้จักระวัง ปกป้องตัวเอง ความปลอดภัยต่าง ๆ จะช่วยลบคมดาบตรงนี้ได้มาก
สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง (Stakeholder) รวมถึงลูกค้า การที่ Google จับมือองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อทำความเข้าใจปัญหาร่วมกัน ฝั่ง Google เองมีความรับผิดชอบที่จะมาแบ่งปันข้อมูลนี้ให้แก่ผู้บริโภคให้เข้าใจว่า บนผลิตภัณฑ์ของ Google มีฟีเจอร์อะไรบ้างที่จะช่วยเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ให้ทุกคนรับรู้ว่าต้องคอยระวังตรงไหน ในฐานะที่เขาเป็นผู้ใช้ เขาสามารถตั้งค่าและควบคุมตรงไหนได้บ้าง
ในอีกมุมหนึ่งแจ็คกี้เชื่อว่าเธอทำอะไรคนเดียวไม่ได้ ยิ่งอยู่ในฐานะ ‘ผู้นำ’ ทีมจึงมีความสำคัญมาก ทุกอย่างที่เธอทำต้องมีทีมที่ดีอยู่เบื้องหลัง เพราะฉะนั้นอีกพันธกิจหนึ่งที่สำคัญมากคือการสร้างทีม Google ประเทศไทยให้แข็งแรง เป็นองค์กรที่คนอยากเข้ามาทำงาน ให้พนักงานที่ทำอยู่ได้แสดงความสามารถในจุดที่ดีที่สุดของเขาออกมา ในสภาพแวดล้อมที่ดี และเหมาะสมที่สุด
“หน้าที่ของแจ็คกี้คือการสัมภาษณ์คน เลือกคนเข้ามาทำงาน ช่วยเติมเต็มศักยภาพเขา และช่วยลบอุปสรรคในตัวเขา เพื่อที่จะช่วยกันขับเคลื่อนองค์กร”
การสร้างวัฒนธรรมองค์กรมีส่วนสำคัญ ไม่ใช่ทุกคนใน Google ต้องเหมือนกัน ทุกคนมีความคิด ความหลากหลายต่างกัน แต่ความหลากหลายนี้เขาต้องรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันได้ แจ็คกี้อยากสร้างทีมที่มีกรอบความคิดที่พัฒนาได้ (Growth Mindset) เชื่อในการเปิดใจรับฟัง ยอมรับข้อเสนอแนะ มีความเติบโต
ปัจจุบันทีมงานของ Google ประเทศไทยมากกว่า 90% เป็นคนไทย อีกส่วนหนึ่งคือทีมงานต่างชาติ ซึ่งแจ็คกี้มองว่าเป็นเรื่องดีที่จะเอาคนที่มีทัศนคติต่างกันในต่างประเทศเข้ามาทำงานให้กับประเทศไทย
เมื่อถามถึงหลักการทำงานแจ็คกี้บอกว่า The Story Thailand ว่าข้อแรกคือ Be Humen เวลาทำงาน ต้องจำว่าทุกคนเป็นคน ตัวเธอไม่ใช่ผู้จัดการ และต้องมีความเป็นมนุษย์มากที่สุด ไม่ใช่แค่การบอกว่า จริงใจกับเพื่อนร่วมทีม แต่การแสดงออก ต้องทำให้เขารู้สึกแบบนั้น ดีที่สุดคือการที่ทีมของแจ็คกี้ฉลาดกว่าแจ็คกี้ ทำให้เธอรู้สึกปลอดภัยที่สุดที่มีเขา (ทีม) ข้อที่สองคือ มุมของการซัพพอร์ตและมอบอำนาจให้แก่ทีม – Google มีโอกาสให้เธอทำงานเยอะมาก มีหลายอย่างที่แจ็คกี้ต้องช่วยผู้ใช้งานและพันธมิตรของ Google แต่เธอทำเองทั้งหมดไม่ได้ แต่เธอจะมอบอำนาจนั้นให้กับทีมได้อย่างได้ ถ้าทำได้ Google ก็จะสามารถสร้างอิมแพคได้มาก
พันธกิจเร่งด่วนหลังโควิด-19
ปีนี้ Google ให้ความสำคัญกับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ที่ถึงแม้อาจไม่ใช่หัวข้อใหม่ แต่สำหรับคนที่ยังไม่แน่ใจหรือลงมือทำ ควรเป็น must do ไม่ใช่ must have เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ที่เปลี่ยนไป ทำให้เราเห็นว่าเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจได้ ช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ควรคิดถึงกลยุทธ์ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันนี้ ต้องรีบศึกษาและหาประโยชน์จากตรงนี้ให้ได้มากที่สุด
“เรามองว่าการขับเคลื่อนองค์กรโดยการช่วยให้ลูกค้าและพันธมิตรของเราทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน เราจะทำได้อย่างไร สอดคล้องกับความมุ่งมั่น Leave No Thai Behind ของเรา ที่นำมาประยุกต์ใช้ในเชิงธุรกิจ เพราะว่าธุรกิจในเส้นทางของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ก็ไม่ได้ไปในความเร็วระดับเดียวกัน ด้วยขนาดขององค์กร”
มอง Metaverse อย่างไร
ในมุมของเทคโนโลยีเสมือนจริง VR/AR (Virtual RealityAugmented Reality) มีเทคโนโลยีและผู้ใช้งานเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน ยกตัวอย่าง ถ้าเข้าไปในแผนที่ Google จะมีฟีเจอร์หนึ่งที่ทำให้เดินในแผนที่ได้ คล้ายประสบการณ์ AR มีลูกศรวิดีโอชี้ได้ว่าจะเดินไปทางไหน นั่นคือหนึ่งตัวอย่างในเทคโนโลยี VR/AR ที่เกิดขึ้น
กลับมาที่ความมุ่งมั่นของ Google ที่มองที่ ‘คน’ ก่อน Google จะช่วยเขาอย่างไร จับคู่เทคโนโลยีที่จะช่วยตอบโจทย์และเพิ่มประสบการณ์ ในการนำเสนอภาพหรือวิดีโอให้ออกมาเป็น AR ตรงนี้จะช่วยทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้อย่างไร บางทีเทคโนโลยีเจ๋ง ๆ ก็ได้แค่ความสนุก แต่ถ้ายังไม่ได้ช่วยอะไร เทคโนโลยีนั้นก็เป็นแค่ New Technology แต่ถ้าเทคโนโลยีนั้นคนนำมาใช้ให้และพัฒนาได้ แจ็คกี้ก็รู้สึกว่ามันให้ผลกระทบใหญ่มาก แจ็คกี้กล่าว
“แจ็คกี้มองว่าผู้ใช้ชาวไทยและเอเชียแปซิฟิกเป็นผู้นำโลก ว่าเทรนด์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร เทรนด์การใช้เสียง รูป วิดีโอ ภูมิภาคเรานำเทรนด์ตรงนี้ได้ ส่วนการใช้อินเตอร์เฟสต่าง ๆ การใช้ VR/AR Google ประเทศไทยมีหน้าที่จับตามอง และดูว่าเทรนด์นี้จะพัฒนาขึ้นอย่างไร หากคนไทยนำไปใช้แล้วช่วยชีวิตเขาดีขึ้น จะเป็นเทรนด์ที่เรานำโลกด้วยซ้ำ”
“เทรนด์โลกอาจไม่ได้มาจากอเมริกาหรือ GOOGLE เมาน์เทนวิว อาจมาจากฝั่งเราก่อนก็ได้”
คนไทยเรามีความกระหาย (appetite) ที่จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ดูได้จากอัตราการเติบโตหลังจากที่เราเปิดตัว YouTube ประเทศไทยเมื่อ 7-8 ปีก่อน ซึ่งตอนนี้ YouTube เป็นออนไลน์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานอันดับหนึ่งในเมืองไทย สำหรับตัวแจ็คกี้เอง เป็นอะไรที่ตื่นเต้นมากที่ได้อยู่ในเมืองไทยที่มีโอกาสมหาศาล และเป็นภูมิภาคที่จะนำเทรนด์ในอนาคตด้วย
องค์กรที่ขับเคลื่อน Carbon-Free Energy
Google เป็นบริษัทอันดับต้น ๆ ที่มุ่งมั่นในมุมของความยั่งยืน (Sustainability) เมื่อเดือนกันยายน 2020 ซุนดาร์ พิชัย ซีอีโอ Google ออกมาประกาศว่า Google ต้องการให้ดาต้า เซ็นเตอร์ในแคมปัสเป็น ‘Carbon-Free Energy’ คือ ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเลยตลอด 24 ชั่วโมง ให้ได้ภายในปี 2030 ซึ่งเหลือเวลาอีก 8 ปีที่จะขับเคลื่อนตรงนั้น
ระหว่างนี้ Google ประเทศไทยได้ไกด์ไลน์มาจากสำนักงานใหญ่ ว่าทุกอย่างที่ทำจะต้องค่อย ๆ ลดปริมาณคาร์บอน เพื่อจะช่วยผลักดันบริษัทให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ พนักงานในประเทศไทยต้องเริ่มปรับตัว และคิดว่าจะช่วยลดคาร์บอนได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลาสติก หรือรีไซเคิลขยะในออฟฟิศ ซึ่งเราทำมาต่อเนื่องหลายปีแล้ว
“สำหรับ Google Cloud ดาต้า เซ็นเตอร์เป็นหน่วยที่ค่อนข้างใช้พลังงานหนักมาก เราใช้เทคโนโลยีแมชชีนเลิร์นนิ่ง เพื่อรักษาสมดุลของพลังงานที่ต้องใช้ และนำดาต้า เซ็นเตอร์นั้นมาแบ่งปันให้แก่ลูกค้าที่ใช้บริการคลาวด์ ทำให้องค์กรของลูกค้าเป็นหนึ่งในองค์กรที่ใช้พลังงานน้อยที่สุด ตามแนวทางความยั่งยืนที่ดีที่สุดด้วย”
นอกจากนี้ Google ยังมุ่งมั่นในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานนำไปแก้เรื่องของความยั่งยืนเหมือนกัน เพราะเราเชื่อว่าเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความยั่งยืนนี้ ยกตัวอย่าง การใช้เทคโนโลยี AI ในการดูข้อมูลต่าง ๆ โปรเจกต์ที่เราทำร่วมกับสหประชาชาติ เพื่อเข้าใจว่าพลาสติกในแม่น้ำไหลมาจากตรงไหนบ้าง ถ้าเรามีเครื่องมือ AI มาช่วยมอง จะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐ หรือองค์การไม่แสวงหาผลกำไรต่าง ๆ นำข้อมูลตรงนี้ไปทำนโยบายที่ดีขึ้น เพื่อที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนได้
ติดตามสตอรี่ดี ๆ จาก The Story Thailand ได้ตามช่องทางเหล่านี้
Instagram:
LINE TODAY: TheStoryThailand
#TheStoryThailand #เดอะสตอรี่ไทยแลนด์ #สตอรี่ดีๆ
โฆษณา