Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
BrandAge Online
•
ติดตาม
17 ม.ค. 2022 เวลา 12:11 • การตลาด
“Instance Win” โปรโมชั่นในตำนานของ
“กระทิงแดง – โอสถสภา - โออิชิ”
โปรโมชั่นที่ดี ไม่เพียงแค่ช่วยในการเพิ่มยอดขายเท่านั้น แต่ยังต้องช่วยในเรื่องของแบรนด์ด้วย เหมือนกับที่นักการตลาดหลายๆ ท่านมักจะพูดเสมอว่า “ให้แบรนด์ผลักดันโปรโมชั่น ไม่ใช่ใช้โปรโมชั่นเพื่อผลักดันแบรนด์”
อย่างไรก็ตาม หลายครั้งที่โปรโมชั่นมักจะสร้างชื่อให้กับแบรนด์ พร้อมกับการสร้างจำแบบฝังใจ นั่นเพราะ ผู้บริโภคสนุกที่จะลุ้นไปกับการทำแคมเปญในครั้งนั้นๆ ซึ่งในอดีตมีรูปแบบการโปรโมชั่นที่เรียกว่า Instance Win ที่เปิดปุ๊บ รับรางวัลปั๊บโดยไม่ต้องส่งชิงโชคให้เสียเวลา
สินค้าอย่างเครื่องดื่มชูกำลัง ใช้โปรโมชั่นในรูปแบบที่ว่านี้ในยุค 80 จนกลายเป็นบันทึกหน้าหนึ่งของสงครามการตลาดชูกำลัง ขณะที่ชาเขียวโออิชิ ก็เคยหยิบเอารูปแบบการโปรโมชั่นอย่างนี้มาใช้ในยุคแรก
กรณีศึกษาที่จะเขียนถึงในบรรทัดต่อจากนี้ไป คือเรื่องของ Instance Win ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสีสันของการตลาดในบ้านเรา.....
ตลาดชูกำลัง
ซัดกันมันหยด
Instance Win อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกกับการทำตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง เพราะถ้าย้อนหลังไปร่วม 50 ปีที่แล้ว Instance Win ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำโปรโมชั่นที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำตลาดผงซักฟอกโดยแฟ้บ ซึ่งใช้ในรูปของการใส่สร้อยคอทองคำเข้าไปในกล่อง ซึ่งในครั้งนั้นทำให้เกิดพฤติกรรมซื้อแฟ้บกักตุนไว้เป็นจำนวนมาก เพื่อลุ้นหาทองที่อยู่ในกล่อง
จนถึงขนาดต้องซื้อถังพลาสติกแบบมีฝากปิด เพื่อซื้อแฟ้บมาเทใส่ถัง เพื่อลุ้นหาเอาทองในกล่องผงซักฟอกที่ตัวเองซื้อมา
แต่ Instance Win ที่ถูกนำมาใช้แพร่หลาย และเป็นตัวจุดกระแสของกลยุทธ์นี้น่าจะมาจากการนำมาเป็นเครื่องมือทางการตลาดอย่างหนึ่งของเครื่องดื่มชูกำลัง จนกลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดสำคัญที่แทบจะขาดไม่ได้ในการทำตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในช่วงทศวรรษที่ 80
ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดทั้งกระทิงแดง และบรรดาแบรนด์ต่างๆ ในเครือของโอสถสภา ต่างก็ระดมเครื่องมือทางการตลาดตัวนี้มาใช้กันอย่างเต็มที่จนกลายเป็นการสร้างพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคในตลาดชูกำลัง ที่จะตัดสินใจซื้อแบรนด์ไหนนั้นต้องขึ้นอยู่กับข้อเสนอของรายการโปรโมชั่นที่ทำผ่าน Instance Win ด้วย
ย้อนหลังไปในยุคเริ่มแรกของตลาดเครื่องดื่มชูกำลังของบ้านเรา กระทิงแดง เข้ามาครองความเป็นผู้นำได้ด้วยการเป็นรายแรกที่เข้ามาจับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ใช้แรงงานโดยตรง โดยมีสโลแกนที่บอกถึง Benefit ของตัวสินค้าที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายจริงๆ นั่นคือ “กระทิงแดง ซู่ซ่าๆ” กลยุทธ์ที่กระทิงแดงนำมาใช้ นอกจากการสื่อสารการตลาดที่พุ่งตรงเข้าหากลุ่มเป้าหมายแล้ว กระทิงแดงยังมีการใช้โปรโมชั่นในรูปของ Instance Win มาเป็นสูตรสำเร็จในการทำตลาดด้วย
โอสถสภาที่เคยครองแชมป์ตลาดนี้ด้วยแบรนด์ ลิโพวิตัน - ดี ทวงตำแหน่งแชมป์คืน ด้วยการวางกลยุทธ์ Multi Brand มารุมอัดกระทิงแดง แบรนด์ เอ็ม 100 และเอ็ม 150 คือตัวหลักที่ชนกับกระทิงแดงโดยตรง ขณะที่ฉลามจะเป็น Fighting Brand ที่ออกมาประกบอีกชั้นหนึ่งก่อนที่จะมีการลอนช์ .357 มาเป็น Fighting Brand อีกตัว
สงคราม Instance Win ที่เล่นกันหนักจะอยู่ในช่วงของต้นทศวรรษที่ 80 หรือประมาณกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 2 ค่ายพยายามสร้างสรรค์รูปแบบของรายการส่งเสริมการขายของตัวเองอย่างเต็มที่เพื่อสร้างแรงดึงดูดผู้บริโภคมาสู่การตัดสินใจซื้อ จนกลายเป็นการสร้างพฤติกรรมความเคยชินในการซื้อของผู้บริโภค
ค่ายกระทิงแดงมีการนำลูกเล่นในเรื่องของการสะสมภาพรางวัลใต้ฝาเพื่อนำมาแลกของรางวัล อาทิ รถกระบะ รถจักรยานยนต์ ฯลฯ ในช่วงนั้น ทำให้คนดื่มกระทิงแดง ซื้อเพื่อลุ้นรางวัลใต้ฝา และสะสมให้ครบ อย่างรถจักรยานยนต์ แต่ละใต้ฝาจะมีส่วนประกอบต่างๆ เช่น ตัวถัง ล้อหน้า ล้อหลัง หรือแฮนด์
Instance Win ในรูปแบบที่กระทิงแดงทำนี้ถือเป็นการทำโปรโมชั่นที่ผนวกเอาการทำ Loyalty Program ไปในตัว เพราะเป็นการชิงโชคที่ให้สะสมภาพใต้ฝาทำให้ผู้บริโภคเข้ามาร่วมลุ้นรางวัลด้วยการสะสมภาพให้ครบ ซึ่งกลยุทธ์โปรโมชั่นในรูปแบบนี้กลายมาเป็นกลยุทธ์ยอดฮิตที่ทำกับทั้งผู้บริโภค และร้านค้า เพื่อให้เกิดการซื้ออย่างต่อเนื่อง
ขณะที่เอ็ม 100 และ เอ็ม 150 จะแจกรางวัลใหญ่คือรถปิกอัพ ซึ่งเป็นที่ฮือฮาอย่างมากในยุคนั้น และเมื่อมีผู้โชคดีได้รับรางวัลจากใต้ฝาก็นำมาโปรโมทผ่านหนังโฆษณาเพื่อยืนยันว่าแจกจริง ถ้าคนมีอายุหน่อยคงพอจำคุณระมัด ได้ เพราะคือผู้โชคดีรายแรกที่ได้รับรถปิกอัพ และเป็นที่กล่าวขานในวงการอย่างมาก จนบรรดาตลกคาเฟ่อย่างคณะเชิญยิ้ม นำไปเป็นมุขล้อเลียนบนเวทีการแสดง เป็นที่ครึกครื้นกันทั่ว
ความแรงของกระแส Instance Win ทำให้ถ้าใครไม่มีงบการตลาดที่มากพอสำหรับการละเลงให้กับกลยุทธ์นี้ โอกาสที่จะเข้ามาแทรกเป็น 1 ในผู้เล่นหลักของตลาดก็คงจะยากตามไปด้วย
1
อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนของของศึก Instance Win ชูกำลังน่าจะอยู่ในช่วงปี 2538 เป็นต้นมา เมื่อยักษ์ใหญ่อย่างกระทิงแดงซึ่งหันไปทำตลาดต่างประเทศอย่างเต็มที่ ยอมรับกฎเกณฑ์ และเลิกทำโปรโมชั่นในรูปแบบดังกล่าวแล้วหันมาใช้กลยุทธ์การตลาดในรูปแบบของการสร้างภาพรวมของแบรนด์อย่างจริงจัง
ขณะที่คู่แข่งรายอื่นๆ ยังเล่นอยู่ โดยเฉพาะกับรายที่เข้ามาใหม่อย่างแรงเยอร์ ที่ใช้ Instance Win เป็นสูตรสำเร็จอย่างหนึ่งในการเข้าตลาด จนทำให้โอสถสภาซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์ด้วยการล้มกระทิงแดงได้สำเร็จในช่วงนั้น ต้องส่ง .357 เข้ามาประกบและอัดในเรื่องของ Instance Win เช่นกัน ผลจากการแข่งขันครั้งนั้น ทำแรงเยอร์สามารถกวาดแชร์มาได้ถึง 10% ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่ผู้เล่นรายใหม่สามารถทำส่วนแบ่งตลาดได้ขนาดนั้น และผลกระทบอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับกระทิงแดงก็คือ ส่วนแบ่งตลาดที่ลดลงอย่างมาก จนเหลือประมาณ 30% จากที่เคยครองอยู่กว่า 50% ในอดีต
หลังปี 2541 เป็นต้นมา Instance Win กลายเป็นข้อห้ามที่ อย. ประกาศห้ามนำกลยุทธ์นี้มาใช้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากมองว่าเป็นการมอมเมาผู้บริโภค ทำให้ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังสิ้นสุดยุคของสงคราม Instance Win ที่ขับเคี่ยวกันมานานนับ 10 ปีลง และเข้าสู่ยุคของการสร้าง Brand อย่างเต็มตัว แต่ละแบรนด์จึงหันมาสร้างความต่างด้วยการทำในเรื่องของ Branding พร้อมทั้งใช้การตลาดในรูปแบบที่หลากหลายมากกว่าการเอาโปรโมชั่นเป็นตัวนำเหมือนในอดีต
อาจจะกล่าวได้ว่า Instance Win ในตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง เกิดขึ้นจากการผลักดันของผู้เล่นในตลาด และได้กลายเป็นตัวสร้างพฤติกรรมความเคยชินของผู้บริโภคในตลาดนี้ ที่ตัดสินใจซื้อจากโปรโมชั่น อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นสดยุคของ Instance Win มาสู่ยุคของการ Branding พฤติกรรมที่เคยถูกหลอมละลายไปในทางนั้นก็ถูกสร้างขึ้นใหม่ภายใต้การตัดสินใจซื้อโดยเริ่มหันมาดูที่ภาพรวมของแบรนด์มากขึ้น
ทั้งนี้ทั้งนั้น หัวใจสำคัญของความสำเร็จของตลาดนี้ยังคงอยู่ที่ P ตัวที่ 3 หรือการกระจายสินค้าเข้าร้าน ซึ่งใครสามารถกุมหัวใจหลักตัวนี้ได้พร้อมกับมีการสร้างให้แบรนด์แข็งแกร่งและปักธงเป็นแบรนด์ แรกๆในใจผู้บริโภคได้ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็มีมากขึ้นตามไปด้วย....
Instance Win ของโออิชิ
แจกเงินเป็นล้าน
ย้อนไปกว่า 10 ปีที่แล้วกับการทำโปรโมชั่นแจกเงินล้านครั้งแรกของโออิชิ ในยุคที่ยังมีเจ้าของเป็นคุณตันก็เคยทำโปรโมชั่นในรูปแบบนี้ ประเภทที่ว่า เปิดฝาปุ๊บ คุณตัน เดินไปเคาะประตูหน้าบ้าน เพื่อแจกเงินล้านให้ทันที
ผู้เขียนเคยคุยกับคุณตันเมื่อครั้งยังเป็นเจ้าของแบรนด์โออิชิ ซึ่งเสี่ยตันเล่าให้ฟังว่า หลังเจอ Crisis ในเรื่องของผู้บริโภคร้องเรียนปัญหาที่เกิดจากการดื่มชาเขียวของแก ซึ่งในครั้งนั้น นอกจากคุณตันจะ Reaction กับสิ่งที่เกิดด้วยการพาสมาชิกในครอบครัวมาดื่มชาเขียวโออิชิให้เห็น เพื่อย้ำถึงความปลอดภัยของสินค้าแล้ว สิ่งที่ทำตามมาก็คือ การทุ่มโปรโมชั่น เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมอย่างเต็มที่
ครั้งนั้น แกเล่าว่า เป็นการทุ่มทุนครั้งใหญ่ เพราะเดินหน้าลงทุนขยายกำลังการผลิตไปแล้ว หากโปรโมชั่นที่ทำไม่เวิร์คก็ต้องม้วนเสื่อแน่
แต่เผอิญ เปิดฝากแล้วรับเงินล้านของแก สุดเวิร์ค ส่วนหนึ่ง เพราะตัวแกเองเข้ามาเล่นกับโปรโมชั่นนี้ด้วย ทำให้กระแสค่อนข้างจะแรงเอาการ ยิ่งมีเรื่องของดราม่า ที่คนกวาดถนนของกทม. เจอฝาที่ถูกรางวัลเงินล้านที่คนทิ้งไว้ จนกลายเป็นข่าวฮือฮาตามหน้าหนังสือพิมพ์ ก็ยิ่งเพิ่มความแรงให้กับแคมเปญที่ทำ จนสามารถทำยอดขายทะลุเป้าหมายได้สำเร็จจนกลายเป็นอีกตำนานหน้าหนึ่งของการทำโปรโมชั่นแบบ Instance Win
Instance Win ถูกนำมาเล่นแค่ซีซั่นเดียว เพราะน่าจะเจอในเรื่องของข้อห้ามจาก อย.เช่นเดียวกับเครื่องดื่มชูกำลัง จนต้องหันมาใช้วิธีส่งฝาชิงโชค และส่งเอสเอ็มเอส เข้ามาเพื่อลุ้นรางวัล ที่ตามมาด้วยการสาดโปรโมชั่นแบบลุ้นรางวัลกันทุกเย็น ทั้งเงิน และการพาทัวร์ญี่ปุ่น.......
#BrandAgeOnline
3 บันทึก
6
3
3
6
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย