18 ม.ค. 2022 เวลา 04:54 • สุขภาพ
มีคำถามหนึ่งที่ผู้คนทั่วโลกรวมทั้งคนไทยอยากทราบว่า ไวรัสโอมิครอนแพร่เก่งกว่าไวรัสเดลต้ากี่เท่า
จากข้อมูลเบื้องต้นในขณะนี้ เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ไวรัสโอมิครอนแพร่ระบาดเร็วกว่าเดลต้าแน่นอน แต่มากกว่ากี่เท่า จำเป็นที่จะต้องใช้วิชาการและสถิติต่างๆมาประมวลดู
1
ซึ่งผู้เขียนได้ลองรวบรวม และนำมาประมวลดังนี้
1) ไวรัสโอมิครอนมีการกลายพันธุ์ โดยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหนามมากกว่าไวรัสเดลต้าอยู่ 3.5 เท่า คือมีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมในการสร้างหนาม 32 ตำแหน่ง ในขณะที่เดลต้ามีการเปลี่ยนแปลงเพียง 9 ตำแหน่ง
2) จำนวนประเทศต่างๆที่ตรวจพบมีไวรัสโอมิครอน โดยใช้เกณฑ์พบจำนวน 100 ประเทศแรก พบว่าใช้ระยะเวลาสั้นกว่าที่ไวรัสเดลต้าระบาดอยู่ 2-3 เท่า
3) สำหรับประเทศไทยเอง ในการตรวจหาสายพันธุ์ไวรัสในผู้ติดเชื้อ ซึ่งกระทำต่อเนื่องกันมาโดยตลอด พบว่าโอมิครอนแพร่เก่งกว่าไวรัสเดลต้าอย่างน้อย 2-3 เท่า ดังนี้
3.1) ศูนย์ความเป็นเลิศทางไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ ตรวจพบว่า ไวรัสเดลต้าเริ่มมีในเดือนพฤษภาคม 2564 และสามารถแซงไวรัสอัลฟ่าซึ่งมีอยู่ก่อนหน้านั้นได้ในเวลาประมาณ 2-3 เดือน คือชนะในเดือนกรกฎาคม 2564
ในขณะที่ไวรัสโอมิครอนเริ่มพบในเดือนธันวาคม 2564 และสามารถแซงเดลต้าได้สำเร็จในเวลาเพียงหนึ่งเดือน คือมกราคม 2565
ถือได้ว่า ไวรัสโอมิครอนแพร่เก่งกว่าเดลต้า 2-3 เท่าตัวชัดเจน
3.2) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบตัวเลขว่า มีไวรัสโอมิครอนดังนี้
4-10 ธันวาคม 2564
พบ 1.5%
27-28 ธันวาคม 2564
พบ 66.5%
3-16 มกราคม 2565
พบ 97.1%
นั่นหมายความว่าไวรัสโอมิครอนสามารถแซงเดลต้าโดยใช้เวลา เพียงสามสัปดาห์
และข้อมูลสถิติของประเทศไทยในการแยกชนิดของไวรัสนั้น ในระยะหลังเราเน้นมาตรวจหาในผู้ติดเชื้อที่ติดกันเองภายในประเทศ ไม่ได้เน้นไปที่ต่างประเทศ จึงทำให้ข้อมูลของประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
กล่าวโดยสรุป
1) โอมิครอนในประเทศไทย แพร่เก่งกว่าและเร็วกว่าเดลต้า 2-3 เท่า
2) เนื่องจากในระลอกที่สาม ที่ไวรัสเดลต้าเป็นหลักนั้น มีผู้ติดเชื้อรวมประมาณ 2 ล้านราย ถ้าสถานการณ์และปัจจัยต่างๆเหมือนเดิมทุกประการ จำนวนผู้ติดเชื้อรวมทั้งหมดของโอมิครอนก็น่าจะอยู่ประมาณ 4-6 ล้านราย
แต่เนื่องจากประเทศไทย ได้มีการปรับปัจจัยต่างๆไปหลายประการมาก ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อจะไม่มากดังที่ประมาณการไว้ อันประกอบด้วย
อัตราการได้รับวัคซีนที่ครอบคลุมมาก (110 ล้านโดส)
อัตราการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ที่กำลังเพิ่มอย่างรวดเร็ว (10 ล้านโดส)
วินัยของประชาชนในการดูแลป้องกันตนเอง
และมาตรการต่างๆของรัฐที่ออกมาเพื่อควบคุมโรคระบาด
หวังว่าจำนวนผู้ติดโควิดจากไวรัสโอมิครอนจะไม่มากไปกว่าผู้ติดโควิดจากเดลต้า
ส่วนจำนวนผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตคงจะไม่มากกว่าในระลอกที่ 3 ค่อนข้างแน่
Reference
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กระทรวงสาธารณสุข
ศูนย์ความเป็นเลิศทางไวรัสวิทยาคลินิก
คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศูนย์ข้อมูล โควิด-19
โฆษณา