18 ม.ค. 2022 เวลา 12:55 • ไลฟ์สไตล์
ผู้นำก็ต้องปรับตัว! ถอดบทเรียน “การลาออกครั้งใหญ่” เป็นหัวหน้าอย่างไรไม่ให้ลูกน้องลาออก?
ปัญหาที่หลายคนต้องพบเจอหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือเทคโนโลยีต่างๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเรา ไปจนถึงสไตล์การทำงาน รูปแบบงาน และสายงานที่ทำอยู่ ทำให้หลายๆ คนกลับมานั่งแล้วไตร่ตรองว่า พวกเขามีความสุขกับงานที่ทำอยู่ในตอนนี้ไหม ถ้าไม่ แล้วมันคุ้มค่าที่จะทนอยู่ในงานนี้ต่อไปไหม หรือเกิดความรู้สึกอยากทำงานกับบริษัทที่ไม่กำหนดเวลาเข้างาน รู้สึกหมดไฟทำงาน หรือไม่ชอบการปฏิบัติตนของหัวหน้า ฯลฯ
4
จากเหตุผลดังกล่าว จึงเกิดการลาออกของพนักงานเป็นจำนวนมากในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ จนเกิดกระแส “The Great Resignation” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ชาวสหรัฐฯ พากันลาออกจากงานมากกว่า 4 ล้านคนในเดือนเมษายนปี 2021 และมีแนวโน้มที่คนจะทยอยลาออกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้นและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว หลายบริษัทจึงต้องคอยจับตามองกระแสนี้ไว้และรีบเตรียมตัวรับมือ หากไม่อยากสูญเสียพนักงานในฐานะทรัพยากรอันมีค่าไป
2
ผลการสำรวจจาก Joblist ในปี 2021 ได้เผยเหตุผลยอดนิยมที่ทำให้พนักงานตัดสินใจลาออกในปีนี้ 19% มาจากพฤติกรรมของหัวหน้างาน/นายจ้างที่ปฏิบัติต่อพวกเขาในช่วงการระบาด 17% เป็นเพราะได้รับค่าจ้างน้อยหรือขาดสวัสดิการ และ 13% มาจากการขาด Work-Life Balance
2
ดังนั้น การจะรักษาพนักงานให้อยู่กับบริษัทไว้ นอกจากบริษัทจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดูยืดหยุ่น อย่างนโยบาย Work From Home หรือการทำงานแบบ Hybrid ที่ให้พนักงานจัดสรรเวลาได้เองแล้ว ยังต้องปรับด้านแนวคิดและการปฏิบัติของหัวหน้างาน/นายจ้างให้เข้าใจพนักงานมากขึ้นอีกด้วย
.
การปรับตัวจึงไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในพนักงานที่ต้องการเปลี่ยนสายงานเท่านั้น แต่รวมไปถึงนายจ้างและหัวหน้างาน ที่ต้องพัฒนาทักษะให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้ มาเรียนรู้ 4 สิ่งที่ผู้นำต้องปรับตัวรับปี 2022 กันเถอะ
1
1. สร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เน้นความเป็นอยู่ที่ดี
เมื่อเข้าสู่ปี 2022 สิ่งที่หัวหน้างานต้องใส่ใจไม่แพ้ผลงานคือ การสร้างวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงานทั้งกายและใจ เพราะยิ่งงานหนักมากขึ้น พนักงานก็ยิ่งใฝ่หาความสมดุลระหว่างงานและชีวิต (Work-Life Balance) และความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) ในชีวิตมากขึ้นตามไปด้วย
1
หัวหน้างานจึงควรสร้างสภาพแวดล้อม ที่ส่งเสริมให้พนักงานสามารถทำงานและพักผ่อนไปพร้อมกันได้ อาจลองเสนอให้บริษัทมีมุมคลายเครียดสำหรับพนักงานมากขึ้น และสร้างบริการ Employee Assistance Programme (EAP) ที่ให้คำปรึกษาทั้งด้านสุขภาพจิต การเงินและสังคมแก่พนักงาน เพื่อให้พนักงานไม่รู้สึกเครียดมากเกินไปหากเจอปัญหาระหว่างทำงาน
นอกจากนี้คือ หัวหน้ายังต้องเลือกช่วงเวลาที่จะสื่อสารให้เหมาะสม หากตอนนี้เลยเวลาเข้างานแล้ว ก็ควรเคารพช่วงเวลาส่วนตัวของพนักงาน แล้วปรับเป็นรูปแบบเป็นการส่งข้อความหรืออีเมลแทนเพื่อไม่ให้พนักงานรู้สึกเร่งรีบ กดดัน และเปิดโอกาสให้พนักงานพูดคุยถึงปริมาณงาน ประสิทธิภาพการทำงาน และสุขภาพของตัวเองเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อการติดตามว่าแต่ละคนยัง “ไหว” อยู่หรือไม่ การใส่ใจต่อเรื่องเหล่านี้จะช่วยลดอัตราการลาออกของพนักงานได้
2. ให้คุณค่ากับการเติบโตของพนักงาน
3
หนึ่งในเหตุผลที่พนักงานพากันลาออก คือ พวกเขามองว่าตนเองไม่ก้าวหน้าในการงาน งานดูน่าเบื่อ หรือตนเองไม่มีคุณค่าในตำแหน่งนี้ การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ การสนับสนุนให้พนักงานได้ Reskill เรียนรู้ทักษะใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสายงานเก่า หรือ Upskill เสริมทักษะที่ตนมีให้มากขึ้น
หัวหน้าอาจช่วยแนะแนวทางต่างๆ ให้พนักงาน เช่น ออกแบบโปรแกรมที่เน้นให้พนักงานเรียนรู้เทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ใหม่ พัฒนาความรู้และทักษะเฉพาะทางในสายงานนั้นๆ สอนเทคนิคการจัดการและความเป็นผู้นำที่ดีให้ รวมถึงเพิ่มรูปแบบงานและความรับผิดชอบใหม่ๆ ให้พนักงานเกิด Passion ในการทำงานต่อไป
3. กำจัดความไม่เท่าเทียมในที่ทำงานออกไป
1
ข้อมูลจากรายงาน “Employee Burnout: Causes and Cures” (2020) เผยว่า 76% ของพนักงานบอกว่า ตนรู้สึกหมดไฟ (Burnout) บ้างเป็นบางครั้ง และ 28% บอกว่า พวกเขารู้สึกหมดไฟ “อยู่เป็นประจำ” หรือ “ตลอดเวลา” ขณะทำงาน ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้พวกเขารู้สึกหมดไฟ คือ “การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมในที่ทำงาน”
หลายครั้งที่หัวหน้างานมองข้ามเรื่องนี้ไป เพียงเพราะสิ่งนี้ไม่ได้กระทบกับตน จริงๆ แล้วความรับผิดชอบของหัวหน้างานไม่ใช่ดูแค่ความคืบหน้าของงาน แต่รวมไปถึงการทำให้สถานที่ทำงานเกิดความเท่าเทียมและยุติธรรมต่อพนักงานทุกคนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายดายนัก
1
หัวหน้างานอาจเริ่มตั้งแต่ตรวจสอบการให้เงินเดือน ลองประเมินคุณลักษณะของพนักงานในด้านต่างๆ เช่น เพศ ตำแหน่งหน้าที่ และช่องว่างระหว่างตำแหน่งพนักงานระดับสูงกับระดับธรรมดา หากพบว่า เงินเดือนที่พนักงานได้รับช่างน้อยนิดสวนทางกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นและเวลาส่วนตัวที่น้อยลงเรื่อยๆ หัวหน้างานควรแจ้งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือนำเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงไตร่ตรองใหม่อีกครั้ง
1
นอกจากนี้ความไม่เท่าเทียมด้านอื่นๆ ก็ควรได้รับการแก้ไขเช่นกัน อย่างการปฏิบัติต่อพนักงานเพศ LGBTQ+ ดังนั้น หัวหน้าควรจัดการฝึกอบรมด้านอคติทางเพศ หรือให้พนักงานกล้าออกมาพูดถึงความไม่เท่าเทียมที่พวกเขาต้องเจอ และมีมาตรการลงโทษสำหรับพนักงานที่ปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงานอย่างไม่เท่าเทียม นี่อาจช่วยให้สถานที่ทำงานเป็นที่เปิดกว้าง ปลอดภัยและเต็มไปด้วยความหลากหลายในที่ทำงานมากขึ้น
4. เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ
1
เวลาประชุมงาน หัวหน้างานบางคนมักเลือกที่จะ “สั่ง” งานมากกว่าจะขอความเห็นจากลูกทีม หรือมักขัดขวางแนวคิดที่ตนไม่เห็นด้วยในทันที หากเป็นเช่นนี้ การทำงานร่วมกันในทีมอาจติดขัดและไม่ลื่นไหล เพราะพนักงานไม่ได้แสดงความคิดเห็นที่แท้จริงของตนและรู้สึกโดนบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
หัวหน้าจะต้องปรับมายด์เซตให้เปิดกว้าง รับฟังทุกความคิดเห็นของพนักงาน ไม่ว่าความคิดนั้นจะสมเหตุสมผลหรือไม่ เพราะสิ่งสำคัญคือการสร้างความกล้าให้พนักงานได้ลองเสนอไอเดีย ซึ่งบางความคิดอาจเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียที่ใช้งานได้จริงก็เป็นได้
1
ในยุคหลังโควิด-19 นี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ แนวคิดการทำงานแบบเก่าที่เรามีจึงไม่สามารถนำมาใช้ได้เสมอไป ในฐานะผู้นำ จึงต้องเตรียมพร้อมรับสิ่งใหม่ๆ หมั่นอัปเดตข้อมูล และเทรนด์โลกให้กับพนักงานอยู่เสมอ เพื่อให้เราไม่ตกยุค
สุดท้ายนี้ การเปลี่ยนแปลงหลายๆ เรื่องในนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีทันใด เสียงจากหัวหน้าเพียงคนเดียวอาจไม่เพียงพอ อาจลองเสนอให้บอร์ดบริหารระดับสูงนำมาไตร่ตรองเพื่อพัฒนาบริษัท เพราะนอกจากบริษัทจะรักษาพนักงานที่รู้ใจและมีความสามารถไว้ได้แล้ว บรรยากาศในการทำงานก็ช่วยส่งเสริมให้พนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น
1
ดังนั้น ลองมาสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยเปลี่ยนให้วันทำงานของพนักงานไม่กลายเป็นวันแสนน่าเบื่อ หรือเซ็งกับเพื่อนร่วมงานจนอยากลาออกทุกวันกันเถอะ แล้วเราจะรู้ว่า เราเองก็สามารถเป็น The Best หัวหน้าได้มากกว่าที่คิดนะ
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
- เมื่อการ Reskill ไม่ง่ายอย่างที่คิด! เข้าใจ 5 ความท้าทายขององค์กร ถ้าอยากพัฒนาพนักงานให้สำเร็จ https://bit.ly/32y7WTt
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill
โฆษณา