19 ม.ค. 2022 เวลา 09:35 • หุ้น & เศรษฐกิจ
คุณเข้าใจคำว่าวางแผนการเงินขนาดไหนคะ ?
สองขอเล่าประสบการณ์จากการวางแผนการเงินให้ผู้รับคำปรึกษาแบบออนไลน์นะคะ
เริ่มแรกเลย สองจะให้ผู้รับคำปรึกษากรอกรายละเอียดใน Google form เป็นข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ นามสกุล เพศ อายุ รายได้ต่อปี รวมถึงความกังวล และ เป้าหมายทางการเงิน ช่องทางติดต่อที่สะดวก
พอได้ข้อมูลเบื้องต้นมาแล้ว ก็จะทำการนัดคุยครั้งสอง ซึ่งยังเป็นการสอบถามข้อมูล เกี่ยวกับสุขภาพการเงิน โดยจะละเอียดขึ้น ที่เรียกว่า Financial Health Check ( FHC ) เช่น รายรับ รายจ่าย ทรัพย์สิน หนี้สิน ความคุ้มครอง เงินออม เงินลงทุน เป็นต้น
โดยข้อมูลที่ได้มาทั้งหมด สองจะนำมาแจกแจงเป็นสามเหลี่ยมทางการเงิน ได้แก่ สภาพคล่อง ความเสี่ยง ความมั่งคั่ง
สามเหลี่ยมทางการเงิน
ส่วนแรก สภาพคล่อง คือรากฐาน เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด แต่ไม่น่าเชื่อว่า เป็นส่วนที่คนมองข้ามมากที่สุด การมีสภาพคล่องที่ดีคือ การมีรายรับมากกว่ารายจ่าย รวมถึงมีเงินเก็บสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เดือนของค่าใช้จ่าย ซึ่งหลายคนอาจนึกไม่ออกว่า เก็บเงินส่วนนี้ทำไม จะได้ใช้ตอนไหน ? ตามชื่อเลยค่ะ เงินฉุกเฉินก็เอาไว้ใช้ตอนฉุกเฉิน หรือที่เราไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น เช่น รถเสีย , ซ่อมหลังคาบ้าน , ประสบอุบัติเหตุ , แม่ป่วย ต้องเข้ารพ., ตกงาน เป็นต้น
ส่วนที่สอง ความเสี่ยง ขึ้นชื่อว่าความเสี่ยง นั่นหมายถึงเป็นสิ่งที่เราไม่คาดคิดก็ได้ เป็นสิ่งที่เราต้องคาดคิดว่าอาจจะเกิดขึ้น ส่วนนี้สำคัญไม่ต่างจากส่วนแรก แต่คนก็ยังไม่เห็นความสำคัญเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น ออกไปทางรังเกียจเสียด้วยซ้ำ
การจัดการความเสี่ยง พูดง่ายๆก็คือการซื้อประกันชีวิตนั่นแหละค่ะ เหมือนเราซื้อประกันรถ ไม่มีใครอยากเคลมหรอกค่ะ ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุ แต่มันเป็นการจัดการความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ คนส่วนใหญ่มีประกันเพื่อคุ้มครองรถยนต์ แต่ไม่มีประกันเพื่อคุ้มครองตัวเองเลย... แต่ก็ไม่แปลกนะคะ เพราะว่าในอดีต การขายประกันชีวิต อาจจะไม่ถูกใจใครหลายๆคน รวมถึงสองเองด้วย ( ปฏิเสธตลอด😊 ) แต่ตอนนี้เห็นความสำคัญแล้วค่ะ
สองคิดว่าแต่ละคนก็มีเหตุผลในการปฏิเสธการทำประกันที่ต่างกันออกไป เช่น คิดว่าฉันแข็งแรงดี ไม่เป็นอะไรหรอก ตรงนี้เข้าใจดีเลยค่ะ คนแข็งแรงมักจะมั่นใจว่าฉันจะแข็งแรงไปตลอด แต่อย่าลืมนะคะบางทีก็ไม่เกี่ยวกับสุขภาพค่ะ อุบัติเหตุก็เป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้เลย รวมถึงการเป็นโรคร้ายก็เช่นกันค่ะ สมัยนี้คนที่เป็นมะเร็ง ตรวจเจออีกทีก็เป็นระยะที่ 3-4 เลย เพราะอาการไม่ออก
การมีสุขภาพที่แข็งแรงนี่แหละค่ะ เป็นข้อได้เปรียบของคนที่จะทำประกัน เพราะหากวันใด สุขภาพเราไม่ดี แล้วอยากมาทำประกัน จะมีข้อจำกัดและผ่านยากขึ้นน้า
*ไม่ใช่ใครๆก็ทำประกันได้นะคะ😊
บางรายบอกว่ามีประกันสังคมแล้ว ก็เป็นขั้นพื้นฐานของคนทั่วไป หากเจ็บป่วยเข้ารพ.อาจจะต้องเผื่อเวลา เนื่องจากบางรพ.ผู้ป่วยเยอะ เลยต้องรอนาน หากได้นอนค้างจะได้ห้องรวม ห้องพิเศษอาจจะต้องชำระเพิ่ม บางที่ ห้องพิเศษก็ไม่ได้หากันง่ายๆเนอะ ถ้ารับตรงนี้ได้ก็ถือว่าโอเคค่ะ แต่บางโรคบางอาการ ก็อาจจะรอไม่ได้ ว่าไหมคะ ? การที่จะได้รับการรักษาด่วน แน่นอนว่าต้องหันไปหา รพ.เอกชนแทน ซึ่งค่าใช้จ่ายก็ค่อนข้างแตกต่าง หลายคนก็ถอดใจ รักษาตามมีตามเกิด เพราะไมมีประกัน และการเงินก็เป็นปัจจัยสำคัญด้วย ( แต่สามารถวางแผนได้นะคะ )
การมีประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นสวัสดิการของที่ทำงานแล้ว ถือว่า้ป็นสวัสดิการที่น่าพอใจค่ะ แต่จะมีใครอยู่ทำงานได้ตลอดชีวิตไหมคะ ? ต้องลองคำนึงถึงตอนที่เราอาจจะตกงานหรือไม่ได้ทำงาน เผื่อไว้ด้วยก็ดีค่ะ
บางคนมองว่าการทำประกัน เป็นการเสียเงินฟรี ไม่อยากจะเสียในส่วนนั้นไปโดยเปล่าประโยชน์... อยากให้คิดเหมือนการทำประกันรถยนต์เลยค่ะ ใครทำประกันแล้วอยากให้เกิดอุบัติเหตุไหมคะ สองคิดว่าไม่น่ามีนะคะ แต่มันคือการเผื่อ เผื่อว่าโชคร้ายจะเกิดขึ้นกับเรา ในวันที่เราไม่คาดคิดค่ะ การทำประกันไม่เสียเปล่าแน่นอน เพราะยังไงก็มีประกันชีวิตหลัก ถึงเราไม่ได้อยู่ใช้เงินก้อนนั้นเอง ท้ายที่สุดก็สามารถส่งต่อเป็นมรดกให้คนที่เรารักได้จ้า
ส่วนยอดบนสุด คือ เรื่องของความมั่งคั่ง ในส่วนนี้เป็นส่วนที่คนให้ความสำคัญมากที่สุดเลยค่ะ ชื่อบอกว่าความมั่งคั่งเนอะ ใครๆก็อยากรวย ในส่วนนี้จะเป็นเรื่องการลงทุนค่ะ การลงทุนมีหลายประเภท หลายผลิตภัณฑ์ เช่น เงินฝากธนาคาร , สลากออมสิน , ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ , พันธบัตรรัฐบาล , กองทุนรวม , หุ้น , ทอง , คริปโต , อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
ซึ่งแต่ละแบบ ความเสี่ยงก็จะแตกต่างกันไป ความเสี่ยงในที่นี้คือ เสี่ยงที่เงินต้นจะหายค่ะ 😱
การลงทุนแต่ละแบบ มักจะมีการทำแบบประเมินก่อนลงทุนอยู่แล้วค่ะ ส่วนใหญ่ก็บอกว่าตัวเองรับความเสี่ยงได้ แต่พอตลาดแดงจริงๆ ก็ทนไม่ไหว เจ๊งกันไปหลายราย ในส่วนนี้ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ การศึกษาในสิ่งที่เราลงทุนค่ะ ถ้าเรามั่ว เราก็จะไม่รู้หลัก ไม่รู้กระบวนการทำเงินที่แท้จริง ก็จะวิตกกังวลกว่าคนที่ศึกษามาเสียอีก
โดยเฉลี่ยนะคะ ผู้ที่มาปรึกษาการเงินกับสอง จะสนใจในส่วนที่สามเป็นพิเศษ ทั้งที่ยังไม่มีความพร้อมในส่วนแรกและส่วนที่สองเลย จะบอกว่าเป็นเรื่องที่ดีค่ะ ที่เห็นโอกาสในการลงทุน แต่ความเสี่ยงก็มีมากเช่นกัน ถ้าหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา มันจะเดือดร้อนเงินในส่วนที่สามแน่นอนค่ะ ซึ่งพอร์ตลงทุนเราควรจะให้เวลาเขาได้ทำงานอย่างเต็มที่
เพราะฉะนั้น เราควรวางแผนให้ดีทั้งสามส่วนเลยนะคะ เพื่อความแข็งแรงของการเงินเราเอง ซึ่งไม่มีใครมาวางแผนให้เรา หรือไม่มีใครมาบังคับให้เราทำได้ นอกจากตัวเราเองค่ะ🥰
*ถ้าใครอยากให้สองวางแผนการเงินให้ สามารถทักมาได้นะคะ ถามเฉยๆก็ได้ ไม่ต้องมาซื้อประกันกับสองก็ได้
ยินดีให้คำปรึกษาค่ะ 😊
โฆษณา