19 ม.ค. 2022 เวลา 11:50 • ธุรกิจ
ทำไม TAL Education มูลค่าหายไป 1.8 ล้านล้านบาท ในปีเดียว
การแข่งขันทางการศึกษาในประเทศจีนถือว่ามีความเข้มข้นอันดับต้น ๆ ของโลก
ถึงขนาดที่ว่าสามารถทำให้ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาในประเทศอย่าง “TAL Education”
ขึ้นแท่นเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากถึง 1,940,000 ล้านบาท ในช่วงต้นปี 2021
เติบโตขึ้นเป็น 33 เท่าหลังจากการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้เพียง 11 ปี
แต่รู้หรือไม่ มูลค่าบริษัท TAL Education ในวันนี้ กลับเหลือเพียง 74,000 ล้านบาท
หรือร่วงจากจุดสูงสุดมากกว่า 95% ซึ่งเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในระยะเวลาเพียงปีเดียว..
TAL Education เริ่มต้นธุรกิจมาอย่างไร
มันเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทแห่งนี้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
TAL Education หรือ Tomorrow Advancing Life Education คือหนึ่งในธุรกิจกวดวิชารายใหญ่ในประเทศจีน ได้ก่อตั้งธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2003
โดยคุณ Zhang Bangxin ที่ในช่วงแรกรับงานพาร์ตไทม์ด้วยการติวหนังสือให้แก่เด็กนักเรียน และเห็นโอกาสจากการแข่งขันทางการศึกษาที่สูงมากในประเทศจีน
จึงได้ก่อตั้งบริษัทติวเตอร์ที่มีชื่อว่า “Xueersi” และเปิดให้บริการสาขาแรกที่กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศจีน
จากการใส่ใจในคุณภาพการสอนเป็นหลัก ด้วยการปรับปรุงรูปแบบการสอน และประเมินคุณภาพการสอนของบุคลากรอยู่ตลอดเวลา
1
อีกทั้งยังมีหลักสูตรการสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ไปจนถึงชั้นมัธยม
รวมถึงคลาสเรียนมากกว่า 9 วิชา ซึ่งมีทั้งการสอนแบบออนไลน์และออฟไลน์
ทำให้ Xueersi เติบโตอย่างรวดเร็ว และสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กได้สำเร็จในปี 2010
ก่อนที่ในเวลาต่อมา จะเปลี่ยนชื่อเป็น “TAL Education Group” ในปี 2013
หลังจากนั้นเพียง 7 ปี TAL ก็มีสถาบันกวดวิชากว่า 936 สาขาทั่วประเทศจีน
ทำให้บริษัทมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
จนในช่วงต้นปี 2021 มีมูลค่ามากถึง 1,940,000 ล้านบาท
2
แต่แล้วอยู่ดี ๆ TAL Education ก็ได้เผชิญเข้ากับปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้
ปัจจัยที่ว่านั้น มีชื่อว่า “รัฐบาลจีน” ที่ได้เข้ามาควบคุมและออกนโยบายสำหรับธุรกิจการศึกษาครั้งใหญ่
แล้วทำไมรัฐบาลจีนต้องมาควบคุมอุตสาหกรรมนี้ ?
เราคงจะเคยได้ยินว่าในสมัยก่อน รัฐบาลจีนได้ออกกฎหมายที่กำหนดให้ครอบครัวจีนแต่ละบ้านสามารถมีลูกได้ไม่เกิน 1 คน เนื่องจากประเทศเผชิญกับภาวะอดอยากครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีน หรือ “Great Chinese Famine” ในช่วงปี 1959 ถึงปี 1961 ซึ่งคาดกันว่ามีชาวจีนต้องอดตายสูงถึง 55 ล้านคน
3
เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ประเทศจีนภายใต้การนำของเติ้ง เสี่ยวผิง ได้ออกนโยบายลูกคนเดียวมาใช้ครั้งแรกในปี 1978
1
เพื่อควบคุมจำนวนประชากรที่มีมากเกินกว่าทรัพยากรภายในประเทศ ซึ่งในเวลาต่อมา ก็ได้ทำให้จำนวนเด็กเกิดใหม่ในแต่ละปีมีจำนวนลดลง
แต่ผลข้างเคียงจากนโยบายดังกล่าว ก็ได้ทำให้ประเทศจีนมีสัดส่วนของผู้สูงอายุต่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่คนวัยทำงานก็กำลังเข้าสู่วัยเกษียณ
เมื่อจำนวนคนหนุ่มสาวที่มี ดูเหมือนจะไม่สามารถทดแทนแรงงานที่กำลังหายไปจากระบบได้
ประกอบกับปัญหาของสังคมผู้สูงอายุ อย่างที่กำลังเกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน
ในที่สุด รัฐบาลจีนจึงกลับมาอนุญาตให้ชาวจีนมีลูกได้ครอบครัวละ 3 คน
แต่ดูเหมือนว่าปัญหาหลักของจำนวนประชากรที่ลดลง ไม่ได้มาจากเพียงนโยบายของรัฐ
แต่ยังมาจากค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตร ที่สูงมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะ “ค่าใช้จ่ายทางการศึกษา”
เนื่องจากสังคมจีนมีการแข่งขันทางการศึกษามายาวนาน เช่น การสอบเข้ารับราชการ ทำให้ชาวจีนเชื่อว่า เด็กที่เรียนดี ก็จะมีอาชีพการงานที่ดีตามไปด้วย
1
ความเชื่อดังกล่าวก็ได้ทำให้การแข่งขันทางการศึกษาของจีนมีความเข้มข้นอย่างมาก
บรรดาพ่อแม่ ผู้ปกครองต่างก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เพื่อให้ลูกได้เรียนพิเศษเพิ่มเติมนอกเวลา
เพื่อที่จะแย่งชิงที่นั่งในสถานศึกษาชั้นนำของประเทศ ทำให้นักเรียนชาวจีนหลายคนอาจจะต้องใช้เวลาไปกับการเรียนทั้งในและนอกโรงเรียนไปกว่า 17 ชั่วโมงต่อวัน
1
โดยบรรดาพ่อแม่อาจจะต้องจ่ายค่าเรียนพิเศษให้กับลูก 1 คน เฉลี่ย 63,000 บาทต่อปี
และสำหรับครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย อาจจะจ่ายค่าเรียนพิเศษสูงถึง 1,600,000 บาทต่อปี
ซึ่งมีรายงานว่า ครอบครัวยากจนในบางเขตของเซี่ยงไฮ้มีรายได้ต่อปีเฉลี่ย 260,000 บาท
แต่กลุ่มคนเหล่านี้ กลับต้องจ่ายเงิน 70% ของรายได้ไปกับการเลี้ยงดูบุตร 1 คน
หรือคิดเป็นจำนวนเงินกว่า 182,000 บาทต่อปี เลยทีเดียว..
1
ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง รวมทั้งการเกิดมาเป็นลูกคนเดียวของครอบครัว และยังมีภาระที่ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่อีกในอนาคต ทำให้คนหนุ่มสาวในจีนเลือกที่จะไม่มีลูก เนื่องจากแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว
เมื่อเรื่องเป็นแบบนี้ รัฐบาลจีนจึงเข้ามากำกับดูแลภาคการศึกษาของจีน
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมติวเตอร์ ที่ดูดเวลานอกโรงเรียนจากเด็ก ๆ ไปหลายชั่วโมงต่อสัปดาห์
โดยสิ่งที่รัฐบาลทำก็คือการออกกฎต่าง ๆ เข้ามาควบคุม
โดยให้เหตุผลว่าเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา
และลดความเครียดของเด็ก ๆ ชาวจีน ที่ควรจะเอาเวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง
ตัวอย่างข้อห้ามที่เกิดขึ้นก็เช่น
1
- ห้ามสอนพิเศษในวันเสาร์-อาทิตย์
- ไม่ออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ ที่จะสอนหลักสูตรเดียวกับในโรงเรียนปกติ
- สั่งยกเลิกคอร์สเรียนสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ทั้งหมด
2
และยังมีการตรวจสอบโรงเรียนกวดวิชาที่เปิดดำเนินการอยู่แล้วอย่างเข้มงวดให้ปรับหลักสูตรและตารางการสอนตามที่รัฐกำหนด
รวมถึงการห้ามระดมทุนหรือจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นการปิดโอกาสแจ้งเกิดของบรรดาโรงเรียนกวดวิชาจำนวนมากในประเทศจีน
นอกจากโรงเรียนกวดวิชาแล้ว บรรดาติวเตอร์รายย่อยก็โดนข้อห้ามไปด้วย
อย่างเช่น การห้ามติวเตอร์สอนออนไลน์ หรือนัดสอนตามคาเฟ และต้องสอนในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
1
พูดง่าย ๆ ก็คือ อุตสาหกรรมโรงเรียนกวดวิชา จะถูกรัฐควบคุมทุกส่วนของกิจการ
ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรการสอน บุคลากร หรือแม้แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่
1
ซึ่งมีแนวโน้มว่า รัฐบาลจีนพยายามที่จะผลักดันให้ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา
กลายเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรอีกด้วย
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาจึงได้รับผลกระทบทันที
ซึ่งมันก็ได้สะท้อนไปยังบริษัทติวเตอร์จีน ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์
หนึ่งในนั้นก็คือ TAL ที่ได้มีมูลค่าลดลงจากจุดสูงสุดที่ราว 1,940,000 ล้านบาท
เหลือเพียง 74,000 ล้านบาท หรือลดลงกว่า 95%
1
และแน่นอนว่าเรื่องแบบนี้ก็เกิดขึ้นกับหุ้นโรงเรียนกวดวิชารายอื่น ๆ ที่ประกอบธุรกิจในจีน ยกตัวอย่างเช่น
- New Oriental Education & Technology Group ที่มูลค่าลดลง 90% จากจุดสูงสุด
- Koolearn Technology Holding มูลค่าลดลง 88% จากจุดสูงสุด
จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ก็ถือเป็นอีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
ทั้งในมุมของการเป็นนักลงทุนและผู้ประกอบการ
เพราะมันแสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ไม่คาดฝันและผลกระทบจากปัจจัยภายนอก
ที่ถึงแม้ว่าเราคิดว่าตัวเองศึกษาและทำการบ้าน มาดีขนาดไหน
หรือธุรกิจจะมีความแข็งแกร่ง และกำลังอยู่ในยุครุ่งเรืองมากเพียงใด
แต่ก็สามารถพังทลายลงได้ ถ้ามันขัดแย้งกับกฎระเบียบของภาครัฐ..
2
References
โฆษณา