19 ม.ค. 2022 เวลา 13:28 • ข่าวรอบโลก
ขณะนี้ รัสเซียกับสหรัฐฯ กำลังมีความขัดแย้งกันเรื่องอิทธิพลของอเมริกาในยุโรปตะวันออก โดยรัสเซียไม่ต้องการให้สหรัฐฯ อนุญาตให้ประเทศยูเครนเข้าเป็นสมาชิก NATO ได้ พร้อมกับต้องการให้มีการถอนทหารจากบริเวณพรมแดนของรัสเซีย
ทั้งหมดนี้ถูกตีความโดยนักวิเคราะห์ว่า เป็นความพยายามของประธานาธิบดีปูตินที่จะรื้อฟื้นเขตอิทธิพลของรัสเซียในอดีตสหภาพโซเวียต เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ปูตินเชื่อว่าการล่มสลายของสหภาพโซเวียตคือ "โศกนาฏกรรมทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศตวรรษที่ 20"
แต่ก็อาจจะไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ปูตินจะต้องการรื้อฟื้นเขตอิทธิพลของตนเอง เพราะสหรัฐฯ ก็มีเขตอิทธิพลที่ชัดเจนเหมือนกัน
ในปี ค.ศ. 1823 ประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร (James Monroe) ได้ประกาศ Monroe Doctrine หรือลัทธิมอนโร ซึ่งกล่าวว่า สหรัฐฯ จะถือว่า การแทรกแซงทางการเมืองในประเทศใดก็ตามในทวีปอเมริกา จะถูกมองโดยอเมริกาว่าเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความปลอดภัยของสหรัฐอเมริกาเอง
Monroe Doctrine จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่อเมริกาใช้ในการแทรกแซงการเมืองของประเทศในลาตินอเมริกาในศตวรรษที่ 20 แม้แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักการเมืองในรัฐบาลทรัมป์ก็ยังกล่าวถึงหลักการนี้อยู่ เช่น นาย John Bolton ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทรัมป์ ได้กล่าวว่า "รัฐบาลของเราไม่กลัวที่จะใช้คำว่า Monroe Doctrine" ในการอธิบายนโยบายของสหรัฐฯ ในทวีปอเมริกา
ถึงแม้ว่ารัฐบาลเดโมแครตภายใต้โอบาม่าและไบเดนจะไม่ให้ความสำคัญกับ Monroe Doctrine อย่างเป็นทางการ แต่ความจริงที่สหรัฐฯ มีอิทธิพลเหนือทวีปอเมริกาเป็นอย่างมากก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยในหนังสือพิมพ์ New York Times นาย Peter Beinart ได้ถามว่า มีใครสามารถนึกภาพประเทศเม็กซิโกเชิญทหารรัสเซียหรือทหารจีนมาประจำการที่ชายแดนสหรัฐฯ ได้หรือไม่?
ไม่น่าแปลกใจที่ปูตินจะมองว่า เขาก็สมควรมีเขตอิทธิพลของตัวเองบ้าง แต่คำถามคือ ไบเดนจะดำเนินนโยบายอย่างไร เพื่อหยุดการขยายอิทธิพลของรัสเซียในยุโรปตะวันออก และขัดขวางการเกิดขึ้นของ Putin Doctrine สำหรับยูเครน
[ติดตามข่าวและประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา กับเพจ 'รัฐศาสตร์สหรัฐ': https://www.facebook.com/americanpoliticsinthai']
โฆษณา