20 ม.ค. 2022 เวลา 10:56 • ไลฟ์สไตล์
“ไม่มีเวลา หรือแค่ไม่เห็นความสำคัญมากพอ … ”
“ … วิถีของสมณะนั้น ไม่ได้จำกัด เฉพาะนักบวช หรือภิกษุเท่านั้นนะ เป็นวิถีที่ทุกดวงจิตในวัฏสงสาร ไม่ใช่เฉพาะมนุษย์เท่านั้น เทวดา พรหม หรือผู้ที่ปรารถนาการหลุดพ้นก็ตาม สามารถเข้าสู่วิถีของสมณะได้เช่นกัน
วิถีของสมณะคือวิถีของความสงบ วิถีของความเรียบง่ายนั่นเองนะ เป็นวิถีที่จะทำให้เรามีชีวิตที่ปลอดภัย ไม่เกิดโทษภัย ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เป็นชีวิตที่อยู่เย็นเป็นสุข ทั้งความสุขในปัจจุบัน และในภายภาคหน้า
และเป็นวิถีที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากเภทภัยในวัฏสงสารทั้งปวง สามารถกลับคืนสู่ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติได้นั่นเอง
เพราะฉะนั้น วิถีของสมณะนี่แหละ คือคำตอบที่แท้จริงของทุกดวงจิตในวัฏสงสารเลยว่า จะสามารถอยู่รอดปลอดภัยจากวัฏสงสาร เภทภัยในวัฏสงสารได้อย่างไร แล้วจะสามารถหลุดพ้นจากวังวนแห่งสังสารวัฏอันนี้ ได้อย่างไรนั่นเอง
ในวีถีของสมณะ ก็เริ่มจากมีความสำรวมในศีลนั่นเองนะ ถ้าเป็นคฤหัสถ์ ฆราวาส ก็เริ่มจากศีลห้า คือการงดเว้นจากการเบียดเบียน ถ้ามีจิตใจที่เข้มแข็งขึ้น ก็เริ่มเข้าสู่การประพฤติพรหมจรรย์ รักษาศีลแปดนั่นเองนะ
เมื่อมีความสำรวมในศีลได้ดี ก็เข้าสู่การสำรวมอินทรีย์ ก็คือการสำรวมตนอยู่ภายในกาย ในใจ ให้มากขึ้น ลดการสัมผัสโลกลง
รูป เสียง กลิ่นรส สัมผัสต่าง ๆ ที่น่าใคร่น่าปรารถนาทั้งหลาย มันคือบ่วงของวัฏฏะ มันมีสุขน้อย แต่มันแฝงไปด้วยโทษมากจริง ๆ มันคือมายาของวัฏฏะ ที่ทำให้เราหลงติดข้องอยู่ หลงจมปลักอยู่ หลงตกเป็นทาส
เมื่อเราไปเสพสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ๆ เกิดความติดใจ เกิดความพอใจ เกิดความไม่พอใจ ก็ตกเป็นทาสของกิเลสตัณหาอุปาทาน เป็นทาสของวัฏฏะนั่นเอง
เหมือนยาเสพติดนั่นแหละ พอเสพแล้วติดใจ แล้วทีนี้ติตใจล่ะ ตกเป็นทาสแล้ว อ่อนแอ จิตใจอ่อนแอ ก็ต้องดิ้นรนทุรนทุราย เสพไปเรื่อยไป พอจะเลิกก็ถูกเขา เรียกว่าบีบคั้นต่าง ๆ จนสุดท้าย จิตใจที่อ่อนแอ ก็ยอมตกเป็นทาสอยู่เรื่อยไป เหมือนวัวเหมือนควาย ที่ถูกเขาลากจูงไป
1
เมื่อใดที่เราติดอยู่ในกามคุณอารมณ์ ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่าง ๆ ในโลกอันนี้ ที่มันดูว่ามันเป็นสิ่งที่น่าใคร่น่าปรารถนา แท้ที่จริงแล้วมันคือ บ่วงของวัฏฏะ เมื่อเราติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้ เราก็จะจมอยู่ในห้วงน้ำของกาม ที่มันไม่สามารถถอนตัวขึ้นมาได้เลย ก็จะถูกวัฏฏะลากไป ปู้ยี่ปู้ยำ บีบคั้นจิตใจ ยังไงก็ได้
1
พบความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความเศร้าโศกเสียใจ ความพลัดพราก ความเจ็บช้ำน้ำใจ พบกับความทุกข์บีบคั้นอยู่ร่ำไป โดยเฉพาะความทุกข์ในอบายภูมิ สาหัสสากรรจ์ทีเดียวนั่นเอง
โทษภัยในวัฏสงสารช่างมากเหลือเกิน การที่เราจะหลุดจากสิ่งเหล่านี้ เราก็ต้องละ การสัมผัสโลกลง เรียกว่า สำรวมอินทรีย์นั่นเอง สำรวมตนอยู่ภายในมากขึ้น
เมื่อมีความสำรวมอินทรีย์ ก็จะทำให้เรา ตั้งสติอยู่กับกายกับใจได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
เป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค เพราะว่าบางทีเราทานมากไป มันก็ง่วง มันก็มึนซึมใช่ไหม ?​ สังเกตเวลาเราทานอิ่ม ๆ มันง่วง มันมึนซึม มันไม่ได้ง่วงแค่ตอนนั้นนะ บางทีมันซึมไปทั้งวันเลยทีเดียว โดยเฉพาะเราก็ลด รู้ประมาณในการบริโภคลง
ถ้าเริ่มเข้มแข็ง ก็เริ่มละอาหารในเวลาวิกาล ให้ท้องมันว่างบ้าง เราจะรู้สึกว่ากายมันเบา จิตมันเบา ฝึกไปเรื่อย ๆ มีความเข้มแข็งมาก บางทีในวันหนึ่งทานมื้อเดียวก็ได้ เหมือนพระเลยทีเดียว ก็จะรู้สึกว่าอยู่สบาย สดชื่นกระปรี้กระเปร่า
กายเบาจิตเบา แล้วก็เจริญสมณธรรมได้ดีนั่นเองนะ ทานเพื่อความดำรงอยู่ ไม่ได้ทานเพื่อ … คือทานเพื่อให้มีชีวิตดำรงอยู่เพื่อการปฏิบัติธรรม เพื่อพ้นจากสิ่งเหล่านี้นั่นเองนะ
เมื่อรู้ประมาณในการบริโภค ก็ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ ให้เวลากับการปฏิบัติมากขึ้นนะ
บางคนบอกว่าไม่มีเวลาปฏิบัติเลย ทำกิจการงานทุกวัน จริง ๆ แล้วทุกคนก็มีเวลาอยู่เท่ากัน เพียงแต่ว่าเราน่ะยังไม่ได้ตระหนัก ถึงความสำคัญของการหลุดพ้นจากวัฏสงสาร เรายังไม่ตระหนักถึงคุณค่าของการปฏิบัติธรรมต่างหาก
ทุกคนมีเวลาเท่ากันหมดแหละ เพียงแต่ว่า เราให้ความสำคัญกับสิ่งใด เราย่อมให้เวลากับสิ่งนั้นนั่นเอง
ทำไมบางคนนี่ทำงานหามรุ่งหามค่ำ เวลาจะกินจะนอนแทบไม่มี แต่ก็ทำงานทั้งวันทั้งคืนแบบนั้น ก็เพราะว่าเขาเห็นคุณค่า เขาให้ความสำคัญกับเรื่องเงิน เรื่องที่การทำมาหากิน เพื่อดำรงชีวิตอยู่นั่นเองนะ
เพราะฉะนั้น เราให้ความสำคัญกับสิ่งใด เราย่อมให้เวลากับสิ่งนั้นอยู่เสมอ ที่เรายังไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม ก็เพราะว่าเรายังไม่ตระหนักถึงคุณค่าของการปฏิบัติธรรม
เมื่อใดที่เราได้ตระหนัก ได้เรียนรู้แล้ว ได้เห็นคุณค่าแล้ว เราจะพบว่า มันไม่มีกิจอันใดสำคัญยิ่งกว่า การปฏิบัติธรรมชำระตนเองอีกแล้ว
ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอจะสำคัญข้อนี้ว่าอย่างไร ในขณะที่ไฟกำลังไหม้อยู่บนศรีษะ เธอจะทำอะไร ?
แน่นอนภิกษุก็กราบทูลว่า ต้องรีบดับไฟพระพุทธเจ้าข้า … ใครจะปล่อยไว้ ไฟกำลังไหม้หัว ก็ต้องรีบดับสิ
แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บัณฑิตผู้มีปัญญาจะรีบพึงขวนขวายในการรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ก่อน
ก่อนที่จะดับไฟในหัว
ทำไมพระองค์ตรัสไว้ขนาดนั้น
เพราะพระองค์เห็นคุณค่าของการปฏิบัติธรรม พระองค์เห็นคุณค่าของการรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ว่าเป็นความสำคัญอย่างยิ่งยวด
ที่เมื่อเราเกิดขึ้นมาแล้วพบพระพุทธศาสนา มันเป็นช่วงเวลาที่ล้ำค่าที่สุด ที่เราจะจบทุกเรื่องราวตรงนี้ได้ โอกาสที่มันเกิดขึ้นกับตัวเราเนี่ย มันไม่ได้คงอยู่ไปตลอดกาล เมื่อโอกาสเกิดขึ้นแล้วเราไม่รับ น้อมนำเข้ามาปฏิบัติ เราปล่อยโอกาสให้หลุดลอยไป
โอกาสมันไม่ได้เหมือนสายพานลำเลียง ที่มันจะวนมาหาเราใหม่ มันอาจจะหลุดไปตลอดกาลเลยก็ได้
เพราะฉะนั้นใครที่ยังรู้สึกว่าไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม ให้พิจารณาดูว่า ก็เพราะว่าเรายังไม่ได้เห็นคุณค่าของสิ่งนี้
เราอาจจะเริ่มต้นด้วยการฟังธรรมก่อน เกิดศรัทธาก่อน เห็นคุณค่า ตระหนักถึงโทษภัยในวัฏสงสาร เห็นคุณค่าของการปฏิบัติธรรม ของการหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้ก่อน
เราก็จะมีศรัทธา มีฉันทะ แล้วก็น้อมนำมาฝึกปฏิบัติ เราก็จะเริ่มให้เวลากับการปฏิบัติมากขึ้น เริ่มบาลานซ์กับการใช้ชีวิตระหว่างโลกกับธรรม ที่เรียกว่าโลกไม่ช้ำ ธรรมไม่ขุ่นมากขึ้นนั่นเอง
ไม่ใช่ว่าเราต้องทิ้งกิจการงานทุกอย่าง เพียงแต่ว่าเรารักษาสมดุลนั่นเองนะ กิจการงานเรามีหน้าที่เราก็ทำไป เริ่มจากการลดละ สละวาง สิ่งที่มันรกรุงรัง สิ่งที่มันไม่จำเป็นออกไปจากชีวิตเราก่อน แล้วเราก็ให้เวลากับการปฏิบัติมากขึ้น ค่อย ๆ เพียรฝึกปฏิบัติไป
ถึงจุดหนึ่ง เราเริ่มได้รับความชุ่มเย็นของรสพระธรรม เราจะเริ่มเห็นคุณค่า เวลาเราฟังธรรมจะซึ้งเข้าถึงใจเรา มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้นเรื่อย ๆ เราก็จะเริ่มน้อมไปเพื่อการปล่อยวาง น้อมไปเพื่อการสลัดคืน น้อมไปเพื่ออรรถเพื่อธรรมมากขึ้น
เราก็จะเริ่มให้เวลากับการปฏิบัติมากขึ้น ๆ จนกลายมาเป็นวิถีชีวิตของเราไปเลย
เมื่อเรามีความเพียร ที่เรียกว่าประกอบความเพียร เป็นเครื่องตื่นอยู่เนี่ย ให้เวลากับการปฏิบัติธรรมมากขึ้น เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะมากขึ้น เสพที่นั่งที่นอนอันสงัด อันนี้แหละวิถีของสมณะนั่นเอง
วิถีของสมณะก็จะเป็นผู้มักน้อย ความมักน้อย ก็ใช้เท่าที่จำเป็น ทั้งเรื่องกายภาพ และเรื่องสภาวะ คือเรื่องใจ ก็คือ เป็นผู้ไม่โอ้อวดนะ ไม่ปรารถนาว่า ไม่ได้ทำเพื่อการอวดอ้างหรือใด ๆ ทำเพื่อละ เพื่อสละ เพื่อวางนั่นเอง
เป็นผู้มักน้อย เป็นผู้สันโดษ เป็นผู้มีความสงบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ เป็นผู้ปรารภความเพียร มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา เนี่ยวิถีของการดำเนินของสมณะ
จะเป็นวิถีที่ปลอดโปร่งโล่งใจ
เป็นวิถีที่เบาสบาย เป็นวิถีที่สงบเย็น
เป็นวิถีที่จะสามารถหลุดพ้นจากเภทภัยในวัฏสงสารทั้งปวง
ไม่ต้องกลับมาพบกับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานอีกต่อไป สามารถกลับคืนสู่ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ พบกับความสงบสุขที่แท้จริง คือพระนิพพานได้
เพราะฉะนั้น วิถีของสมณะ คือเหตุที่ถูกต้อง ที่เรียกว่า เราอยากจะมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบได้อย่างไร ซึ่งมันตรงข้ามกับยุคสมัยนี้ ที่เราเกิดขึ้นมาในยุคทุนนิยม ที่ต้องดิ้นรนแสวงหาอันไม่มีที่สิ้นสุด
แต่เราสังเกตเถอะ ยิ่งเราดิ้นรนแสวงหาเท่าไหร่ แทนที่เราจะพบความสุข ความสุขมันยิ่งห่างไกลจากเราทุกที จิตใจเรากลับเต็มไปด้วยความเร่าร้อน กระวนกระวาย ความหิวกระหาย
บางคนนอนอยู่บนคฤหาสน์ ที่นอนทุกอย่างหรูหราไปหมด แต่จิตใจกลับร้อนรุ่ม มีความเครียด มีความกดดัน มีความกังวล มันไม่สงบเย็น มันไม่ปลอดโปร่งโล่งใจ
กับบางคนนอนอยู่กระต๊อบ ไม่มีอะไรเลยเนี่ย แต่กลับมีแต่ความโล่ง มีความเบา ความสบาย สัมผัสความสุขที่ประณีต
เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายก็ให้พิจารณาดู ที่แท้ก็แล้วกันว่า
ที่แท้จริงแล้ว ความสุขที่แท้จริง นั้นคือสิ่งใดกัน … “
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา