21 ม.ค. 2022 เวลา 00:22 • ธุรกิจ
แก้ความเหลื่อมล้ำอย่างไร โดยไม่ต้อง "ทุบ" คนรวย?
ระบอบทุนนิยมอาจจะเกลี่ยความมั่งคั่งได้ผลดีกว่าคอมมิวนิสต์ ถ้าเพียง...
คนในโลกวันนี้เหมือนจะเท่าเทียมกันมากกว่าเมื่อร้อยปีก่อนมาก ดูราวกับว่าระบอบทุนนิยมได้แจกจ่ายความสุขและสะดวกสบายไปให้คนทั่วโลกถ้วนหน้า
นาฬิกา Apple Watch ที่หนุ่มสาวในเมืองไทยชอบใส่กัน ไม่ต่างจากนาฬิการุ่นเดียวกันบนข้อมือของ Elon Musk และโค้กก็เป็นความสุขที่ดื่มได้และมีรสชาติเดียวกันไม่ว่าจะดื่มโดยเศรษฐีในมาเลเซียหรือคนจนในโครเอเชีย
ถ้า Karl Marx มาอยู่ในโลกวันนี้ เขาจะเห็นความถดถอยของคอมมิวนิสต์ในยุโรป และพบว่ารัฐบาลของประเทศส่วนใหญ่เก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าเพื่อเกลี่ยความมั่งคั่ง ถ้าเขาได้เห็นธุรกิจการประกันภัย เขาอาจจะอุทานว่า "ขับรถชน ก็มีคนอื่นมาจ่ายเงินให้ ไม่ต้องรับผิดชอบตัวเอง โอ้... นี่มันไอเดียคอมมิวนิสต์ชัดๆ"
Marx อาจจะเปลี่ยนใจมาฝักใฝ่ระบอบทุนนิยมก็เป็นได้
  • เสือหิวตัวใหญ่ในกรงขัง
เพราะภาพลวงตาของความอุดมสมบูรณ์นี้กระมัง หลังจากรีวิวเทรนด์โลก 2022 ไปแล้วหลายสิบสำนัก ผมไม่พบเลยว่ามีที่พูดถึงความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ 90% เป็นเรื่องการตลาด 50% เป็นเรื่องเทคโนโลยี(สองเรื่องนี้มีซ้อนกันเยอะ) ที่เหลือเป็นเรื่องการค้า ภูมิรัฐศาสตร์ ความมั่นคง ฯลฯ
คนจำนวนมากสนใจเรื่องการตลาดและการเงิน เพราะเป็นเรื่องของช่องทางลงทุนทำมาหากิน สนใจเรื่องเทคโนโลยีเพราะมันน่าตื่นเต้นในตัวมันเอง ไม่ว่าจะเป็น quantum computing, cryptocurrencies, metaverse ใน Blockdit นี้ก็จะพบเรื่องพวกนี้เป็นส่วนใหญ่
ต้นปี 2022 ไม่มีใครพูดถึงความเหลื่อมล้ำอีกต่อไป เหมือนกับมองดูเสือหิวตัวใหญ่ที่อยู่ในกรง ทุกคนคุ้นเคยกับมันจนไม่รู้สึกอะไร คล้าย ๆ เราอยู่ในสวนสัตว์ เสือในกรงจะมีพิษสงอะไร
ลองมาดูเสือตัวนี้กันต่อไปครับ
  • The Average is Over?
คนที่สังเกตจะเห็นว่าความเหลื่อมล้ำกำลังเพิ่มขึ้น เป็นปัญหาสำคัญของโลก บางคนคิดว่าผู้ร้ายคือระบอบทุนนิยมในปัจจุบัน ในเกือบทุกประเทศทั่วโลกในรอบ 200 ปีที่ผ่านมา เราเห็นคนที่ทำงานหนักและสร้างมุ่งเนื้อสร้างตัวสามารถกลายเป็นเศรษฐีใหม่และชนชั้นกลางได้เรื่อย ๆ แต่จากนี้ไปคนที่เริ่มจะสร้างตัวจะสู้กับทุนนิยมที่ดึงความมั่งคั่งรวมศูนย์อย่างรุนแรงไหวหรือ?
1
ไทเลอร์ โคเวน เขียนหนังสือไว้เล่มหนึ่งชื่อ ​The Average is Over เขาบอกว่า ด้วยการพัฒนามากขึ้นของเครื่องจักรกลอัจฉริยะ บรรดาแรงงานที่ด้อยทักษะความเชี่ยวชาญก็จะถูกกดลงไปเรื่อย ๆ งานของคนทักษะปานกลางและที่ทักษะสูงบางอย่างแม้กระทั่งแพทย์ ก็กำลังถูกแทนที่ด้วยระบบข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ที่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลาโดยไม่จำเป็นต้องนอนหลับ เงินค่าตอบแทนของคนที่เหลือเหล่านี้ก็จะลดลง อนาคตจะมืดมนลงเรื่อย ๆ (นี่เป็นประเด็นสำคัญที่คราวต่อไปผมจะนำมาเสนออีกทีในเรื่อง "หุ่นยนต์จะปล้นงานมนุษย์ แล้วเรายังจะหวงงานโง่ๆ อยู่ทำไม")
จากมุมกลับกัน ธอมัส พิเกติ เขียนไว้จากอีกด้านหนึ่งในหนังสือหลายเล่ม รวมทั้ง Capital in the Twenty-First Century และ Capital and Ideology ว่า ความรู้ทางเทคนิคที่จะแก้ปัญหาในชีวิตจริงคือทักษะสำคัญที่คนรวยจะใช้เป็นเครื่องมือสร้างความร่ำรวยขึ้นไปอีก คนเหล่านี้จะเรียนรู้ที่จะทำงานกับหุ่นยนต์และ AI ได้ดีมาก
1
ผู้อ่านของ Blockdit ลองเข้าไปที่กล่องค้นข้อความ แล้วพิมพ์คำว่า "งานในศตวรรษที่ 21" ดูว่าคุณเจออะไร ถามตัวเองอย่างบริสุทธิ์ใจเลยครับว่า นี่เป็นงานของคนทุกคนหรือเปล่า
คนบางคนมีโอกาสและทัศนคติที่จะเรียนรู้ทักษะและเทคโนโลยีใหม่ได้เรื่อย ๆ ตลอดเวลา บางคนอาจจะไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะทำเช่นนั้นได้โดยง่าย ไม่ว่าจะด้วยฐานะทางครอบครัว การเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อมอื่น ๆ
ความแตกต่างของคนสองกลุ่มนี้ จะนำไปสู่การแบ่งขั้วของตลาดแรงงานอย่างชัดเจน ทั้งโคเวนและพิเกติคิดต่างแต่ได้ข้อสรุปตรงกันว่า ต่อไปเราแทบจะไม่เหลือยุคของคนฐานะปานกลางอีกต่อไป
  • ตู้โชว์ในห้างแห่งความเหลื่อมล้ำ
ด้วยทรัพย์สิน 66.9% อยู่ในมือของคน 1% (The Credit Suisse Global Wealth Report 2018) มีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก ไทยคือประเทศที่อยู่ในตู้โชว์ของห้างแห่งความเหลื่อมล้ำของโลก และการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง เพราะปัญหาทางการเมืองมักจะนำมาซึ่งกระบวนการพัฒนาที่ชะงักงันผิดปกติ (Dysfunctional) ไม่ว่าจะเป็น การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำ และกระบวนการลดความยากจนที่ช้ากว่าเมื่อเทียบกับสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำ
1
คนไทยจนลงแค่ไหน? รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยบอกว่าจะ "แก้ปัญหาความยากจน" และตัวชี้วัดที่สำคัญที่มักถูกนำมาประกาศความสำเร็จคือ จำนวนคนจนที่จะต้องลดน้อยลง ที่ผ่านมาสภาพัฒน์ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ‘เส้นความยากจน’ (poverty line) ซึ่งคำนวณจากต้นทุนในการได้มาซึ่งอาหารและบริการอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์
ลองมาดูข้อมูลกันครับ ในอดีตอัตราความยากจนของคนไทยลดลงจาก 65.2% ของประชากรทั้งหมดในปี 1988 มาอยู่ที่ 9.85% ในปี 2018 (ธนาคารโลก "จับชีพจรความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย") แต่ในระหว่าง 7 ปีที่ผ่านมาความยากจนกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ
ข้อมูลความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย https://www.worldbank.org/en/news/infographic/2020/03/03/tackling-poverty-and-inequality-in-thailand)
สภาพัฒน์ยังพบด้วยว่าปี 2020 คนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 5 แสนคนจากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานอย่างรุนแรง เดาไม่ยากใช่ไหมครับว่า ในปีนี้และปีหน้า ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจแบบที่เราเจออยู่วันนี้ เส้นความยากจนของไทยจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง
ท่ามกลางคนจนที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เรายังเห็นอยู่เรื่อย ๆ ใช่ไหมว่า มหาเศรษฐีไทยคนไหนบ้างที่รวยติดอันดับโลก
หรือว่าตู้โชว์ของเราติดระเบิดเวลาอยู่?
  • อะไรทำให้ความเหลื่อมล้ำคงอยู่?
ถ้าความเหลื่อมล้ำคือเสือหิว มันมีเทคโนโลยีเป็นอาหารอันโอชะ เสือชอบล่าอาหารนี้กินทุกวัน และการเมืองเส็งเคร็งเป็นป่าดงดิบที่ใช้เป็นที่อาศัยหลบซ่อนอย่างสบายของเสือตัวใหญ่
นอกจากเรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เป็นที่มาของความเหลื่อมล้ำแล้ว ปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้มันคงอยู่และเติบโตคือการเมืองครับ ความเหลื่อมล้ำจะลดลงถ้าการเมืองเปิดให้คนทั้งประเทศได้แสดงศักยภาพของตัวเองมากขึ้น ทุกวันนี้โลกเราอยู่ในระบอบทุนนิยม "ข้อเสียอย่างเดียวของทุนนิยมคือ ต้องการคำวิพากษ์วิจารณ์" (คำกล่าวของชุมปีเตอร์ นักเศรษฐศาสตร์การเมืองเจ้าของทฤษฎีนวัตกรรม) รัฐบาลที่ปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ก็จะทำให้ทุนนิยมบิดเบี้ยว
ประเด็นที่สองคือเทคโนโลยี เพราะทุนมีแนวโน้มจะมารวมตัวกันสร้างความมั่งคั่งแบบกระจุก แต่ตอนนี้มีเทคโนโลยีที่จะทำให้คนรวยสามารถรวยขึ้นแบบก้าวกระโดด ไม่ใช่ทุกคนที่จะใช้เทคโนโลยีได้ โทรศัพท์มือถือ 5G รุ่นล่าสุดอาจจะไม่ได้ช่วยคุณยายที่นอนป่วยอยู่ในสลัมได้นัก และยิ่งเมื่อเราเข้าสู่ยุคของ Metaverse และ Web3 มากขึ้น คุณลุงที่ขายลูกชิ้นอยู่ริมถนนจะเข็นรถเข็นเข้าไปเปิดร้านอยู่ใน Metaverse ได้ไหม จะส่งเสียลูกให้เรียนได้ถึงไหน
ในช่วงต่อไปบทความนี้จะชี้ให้เห็นว่า เราพอจะมีทางอยู่รอดร่วมกันอย่างไรในโลกอนาคตอย่างมีศักดิ์ศรีภายใต้กระแสทุนนิยม
1
  • ถ้ำหลวง เผยพลังอำนาจในการช่วยคนอื่น
เหตุการณ์ถ้ำหลวงที่จังหวัดเชียงราย ประเทศไทยเป็นที่รู้จักโด่งดังไปทั่วโลก รัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญ​ นักธุรกิจใหญ่ และประชาชนทั่วทุกมุมโลกไม่ได้เพียงให้กำลังใจแต่ส่งความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมมาก ๆ มาให้คนกลุ่มเล็ก ๆ ที่อยู่ห่างไกลในเทือกเขาชายแดนประเทศของเรา มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?
เพราะการเสียสละช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ในภาวะช่วยตัวเองไม่ได้ ผู้ให้ไม่ได้สูญเสียมากมาย แต่สิ่งที่ให้นั้นสำคัญกับผู้รับมาก บางทีอาจหมายถึงชีวิต และในยุคที่โลกเชื่อมต่อถึงกันหมด ข้อมูลภาพ เสียง และเรื่องราวที่เกิดขึ้น ณ ที่หนึ่ง สามารถสื่อไปถึงทุกแห่งในโลกได้ในเวลาชั่วพริบตา
นักปรัชญาชาวออสเตรเลียที่ชื่อปีเตอร์ ซิงเกอร์ ตั้งคำถามต่อลูกศิษย์ในชั้นเรียนว่า ถ้าเดินผ่านไปเจอเด็กตกน้ำระหว่างทางไปมหาวิทยาลัย จะช่วยไหม แต่จะเสื้อเปียกและไปเรียนสาย เด็กทุกคนตอบว่าช่วยแน่นอน
1
(สมมติว่า) คำถามต่อไปคือ "แล้วถ้าเด็กคนนั้นไม่ได้อยู่ต่อหน้า แต่รู้ว่ามีเด็กติดอยู่ในถ้ำที่เชียงราย ประเทศไทยล่ะ จะช่วยไหม" คำถามคล้าย ๆ กันนี้เกิดขึ้นทั่วโลกเมื่อสามปีก่อน และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับกรณีถ้ำหลวงครับ
ปัจจุบันหลายคนในโลกนี้รู้สึกว่างเปล่าและเบื่อหน่ายกับชีวิต สถาบันหรือระบอบที่เคยทรงอิทธิพลเช่นคอมมิวนิสต์ หรือศาสนา ก็กำลังทยอยเสื่อมหรือล่มสลาย เห็นเหลืออยู่ก็แต่ระบอบทุนนิยมที่ยืนอยู่ เรามีตลาดเสรี และการ​ "กระตุ้นการบริโภค" มหาศาลจนเกินจำเป็น คนทำงานหนักเพื่อบริโภคให้หนักขึ้นใช่ไหม?
มีผลงานวิจัยมากมายที่บอกว่า เมื่อเรามีเงินเพียงพอที่จะไม่ขัดสนเรื่องความต้องการพื้นฐานแล้ว การมีทรัพย์สมบัติมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ใช่ว่าจะทำให้มีความสุขมากขึ้นตามสัดส่วน
แต่ทุกคนบนโลกนี้สามารถช่วยคนอื่นที่ยังขาดแคลนความต้องการพื้นฐานได้ ด้วยวิธีที่ง่ายมาก จริง ๆ แล้วเราอยู่ในยุคที่ทุกคนมี "พลังอำนาจในการช่วยคนอื่น" อย่างเหลือล้นประเภทที่ไม่เคยมีมาก่อน
  • บุคคลตัวอย่างเขา "รวยเพื่อให้"
เราสามารถบอกคนรวย (หรือบอกตัวเองก็ได้) ให้รู้ตัวและตระหนักว่าคุณมี "อำนาจในการช่วยคนอื่น" มากแค่ไหน และเร่ิมต้นสมัครใจเป็นฝ่ายให้ แต่ข้อสำคัญมากคือต้องให้ไปยังหน่วยงาน องค์กร หรือคณะบุคคลที่พิสูจน์ได้ว่า ทำได้จริง ทำได้ผล (ถ้าอยากรู้ว่าองค์กรไหนบ้าง ลองเข้าไปดูที่ givewell.org ก็ได้ครับ)
ในต่างประเทศเร่ิมเห็นคนรวยที่อุทิศ 10% ของรายได้ตลอดชีวิตให้กับประโยชน์สาธารณะ สิ่งที่เรียกว่า "เป็นผู้ให้อย่างได้ผล (Effective Altriusm)" กำลังเป็นกระแสอยู่ในเวลานี้ครับ นั่นคือเลือกให้กับผู้ที่สมควรได้รับมากที่สุด
บุคคลหนึ่งที่ใช้ชีวิตตามปรัชญานี้คือ แซม แบ๊งค์แมนฟรีด มหาเศรษฐีหนุ่มในวงการคริปโต เขาเป็นคนก่อตั้งแพล็ตฟอร์ม FTX สำหรับแลกเปลี่ยนคริปโต และเป็นคนอายุน้อยกว่า 30 ที่รวยที่สุดในประวัติศาสตร์ ในชีวิตส่วนตัวเขาบริจาคเงินได้ของเขาเกือบทั้งหมดให้กับการกุศล และบริษัท FTX ของเขายังมีนโยบายบริจาค 1% ของรายรับให้แก่การกุศลด้วย เป็นคน "รวยเพื่อให้" อย่างแท้จริง
แซม แบ๊งค์แมนฟรีด (Photo Credit: https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-12-17/ftx-s-sam-bankman-fried-on-washington-s-scrutiny-of-crypto)
ดังนั้น แทนที่จะประณามคนรวย พวกเราควรหันมาสนับสนุนคนรวย แล้วช่วยกันถามพวกเขาว่า อยากทำอะไรกับชีวิตของตัวเอง พร้อมกับเสนอแนะแนวทางให้คนรวยทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม หรือจะให้ดียิ่งกว่านั้นคือ ทำธุรกิจ "เพื่อ" จริยธรรม
ในปีนี้หลายแบรนด์เริ่มขยับไปทางนี้แล้ว เทรนด์หนึ่งในปี 2022 คือ Charitable NFT หรือ NFT ที่เจ้าของอุทิศผลกำไรส่วนหนึ่งให้กับองค์กรไม่แสวงกำไร
อีกเคสคือกรณีของ Humanitix จากออสเตรเลีย ที่ทำตัวเป็นบริษัทขายตั๋วคล้ายกับ Ticketmaster แต่อุทิศรายได้ทั้งหมดให้กับการกุศล ความน่าสนใจคือบริษัทนี้มีโมเดลธุรกิจเหมือนกับบริษัทสตาร์ทอัพ ใช้การระดมทุนจาก VC ทำการตลาด ฯลฯ จนมีสาขาไปทั่วโลก แต่ที่จริงเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร และไม่ต้องเรี่ยไรขอรับบริจาคเลย นี่ก็ "รวยเพื่อให้" เหมือนกัน
ย้ำอีกครั้ง ความเหลื่อมล้ำเป็น megatrend เงียบที่พร้อมที่จะออกมากลืนกินโลกในอนาคต ผลกระทบของมันเป็นไปได้ตั้งแต่การอพยพขนานใหญ่ของประชากร ไปจนถึงสงคราม แต่ภายใต้ระบอบทุนนิยมนี้ยังมีช่องทางที่สร้างสรรค์ แม้จะไม่สามารถกำจัด แต่ก็ลดความเหลื่อมล้ำได้ครับ
อยากเห็นบุคคลตัวอย่างในบ้านเราบ้าง ฝากถึงพี่ ๆ มหาเศรษฐีเมืองไทยนะครับ อย่าให้ความรวยของท่านเสียของ
  • อ่านเพิ่มเติม
โฆษณา