21 ม.ค. 2022 เวลา 05:00 • ธุรกิจ
ซื้อไว้ กับ เช่าใช้ แบบไหนกำไรสูงสุด ?
อยากมีรถไว้ใช้สักคัน ซื้อกับเช่า แบบไหนกำไรมากกว่ากัน
คำถามยอดฮิตของเจ้าของธุรกิจในทุกยุคทุกสมัย แต่เชื่อมั้ยว่า ไม่ใช่ทุกคนจะถามคำถามนี้ได้
ถ้าไม่มีเงินสดเพียงพอ การจ่ายเงินสดก้อนโตเพื่อซื้อรถ 1 คัน มันอาจจะเป็นเรื่องน่าหนักใจสุดๆ
นอกจากนี้ยังมีมุมมองอื่นอีกมั้ยที่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการซื้อรถและเช่ารถ
 
เราลองมาดูตัวอย่างจากชีวิตจริงของพี่ซีโร่กัน
พี่ซีโร่เป็นเจ้าของร้านซ่อมทีวี ทุกวันนี้ลูกค้าไม่ค่อยอยากยกทีวีมาซ่อมที่ร้าน
เค้าจึงเกิดไอเดียว่า งั้น ก็ไปซ่อมทีวีให้ลูกค้าถึงที่เลยดีกว่า
แต่จะทำแบบนี้ก็ต่อเมื่อเค้ามีรถเท่านั้น
พี่ซีโร่เลยคิดว่าอยากจะซื้อรถมาใช้ในธุรกิจสักคัน เค้าจะเริ่มต้นจากตรงไหนดี?
ก่อนจะซื้อหรือเช่ารถ พี่ซีโร่ต้องเข้าใจอะไรบ้าง?
1. การซื้อและเช่า เหมือนจะเข้าใจง่ายแต่ความหมายต่างกันเยอะเลย
ซื้อ = ยื่นหมูยื่นแมว เงินมาของไป
ถ้าพี่ซีโร่ซื้อรถกะบะมูลค่า 520,000 บาทวันนี้ พี่ซีโร่ก็ได้เป็นเจ้าของรถเลย
เค้าจะขับรถออกจากโชว์รูม ไปแวะต่อเติมหลังคา ติดสติ้กเกอร์ร้าน (ขับอวดสาวนิดหน่อย) แล้วค่อยไปเซอร์วิสลูกค้าก็ทำได้
ในระหว่างที่เป็นเจ้าของรถนี้ พี่ซีโร่ต้องรับความเสี่ยงเองทุกอย่าง ทั้งค่าประกันและซ่อมบำรุงรถยนต์ รวมปถึงค่าเสื่อมราคาที่เกิดขึ้นในแต่ละปี
ในทางกลับกัน ถ้าวันนี้พี่ซีโร่มีเงินไม่พอ 520,000 บาท option ในการซื้อก็ถูกพับใส่ลิ้นชักไปทันที
เค้าจะเหลือ option การเช่าเพียงเท่านั้น
การเช่าเองมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ เช่าซื้อ และเช่าดำเนินงาน
เช่าซื้อ = จ่ายเงินเป็นงวดๆ เหมือนเช่า แต่สุดท้ายเท่ากับซื้อเพราะว่าพี่ซีโร่ได้กรรมสิทธิ์ในรถคันนี้ไปเต็มๆ แต่โดยรวมพี่ซีโร่ต้องจ่ายเงินดาวน์ บวกกับเงินงวด มูลค่าเกินกว่า 520,000 บาทอย่างแน่นอน เพราะในเงินงวดพวกนี้มีดอกเบี้ยแฝงอยู่
1
ทำไมจึงมีดอกเบี้ย? เพราะสัญญาเช่าซื้อ เสมือนหนึ่งการกู้เงินธนาคาร แล้วเอามาซื้อรถไงล่ะ ฉะนั้น คนให้กู้เค้าก็ต้องได้ดอกเบี้ยเป็นสิ่งตอบแทน
ฉะนั้น ถ้ามองในฝั่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น การเช่าซื้อจะมีค่าใช้จ่าย 2 ตัวหลักๆ คือ ค่าดอกเบี้ย และค่าเสื่อมราคาประจำปี (เพราะเราดันเป็นเจ้าของรถไปเสียแล้ว)
เช่าดำเนินงาน = การเช่าแบบธรรมดาบ้านๆ ที่เรารู้จักกัน เช่น ทำสัญญาเช่ากะบะ 1 ปี ผู้ให้เช่ายังเป็นเจ้าของรถอยู่ ส่วนพี่ซีโร่ได้แค่ “สิทธิการใช้รถ” เท่านั้น
นั่นก็แปลว่า พี่ซีโร่จะเอารถกะบะเช่าคันนี้ไปต่อเติมหลังคา ติดสติ๊กเกอร์ ตามใจไม่ได้ เพราะสุดท้ายก็ยังต้องคืนรถเค้าอยู่ดี
ส่วนค่าใช้จ่ายที่พี่ซีโร่จะมีแน่ๆ ก็คือ ค่าเช่ารถประจำเดือน (ไม่มีค่าเสื่อมราคาเพราะเราไม่ได้เป็นเจ้าของ)
2. การซื้อและเช่า เงินออกไปยังไง?
ถ้าพี่ซีโร่เข้าใจว่าการซื้อ เช่าซื้อ และเช่าดำเนินงาน ต่างกันยังไงแล้ว พี่ซีโร่จะ plot กราฟเงินสดออกได้ทันที (แหม่...แอดวานซ์สุดๆ)
[สีแดง] สมมติรถกะบะคันนี้มูลค่าซื้อเงินสด 520,000 บาท พี่ซีโร่จ่ายแล้วเจ็บแรงๆ เพียงวันแรกแบบกราฟนี้ก็น่าจะจบ (แต่ในความเป็นจริงรถยิ่งใช้นานยิ่งมีค่าซ่อมบำรุงจุกจิกตามมาอีก)
[สีน้ำเงิน] ถ้าเช่าซื้อ ต้องวางดาวน์วันแรกก้อนนึง 129,000 บาท และต้องจ่ายเงินค่างวดกลมๆ 11,400 บาททุกเดือนรวมเป็นปีละ 137,000 บาท จำนวน 5 ปีจนกว่าจะหมดอายุสัญญา แต่ระหว่างนั้นก็ถือว่าพี่ซีโร่เป็นเจ้าของรถแล้ว แต่ผ่อนจ่ายเงินสดเท่านั้นเอง (ส่วนค่าซ่อมบำรุงก็มีมาประปรายเหมือนกันเพราะพี่ซีโร่เป็นเจ้าของรถคันนี้)
4
[สีเหลือง] ถ้าเช่าแบบปกติ สัญญาเช่าต่อเดือนเพิ่มขึ้นมาหน่อย ตกเดือนละ 14,000 บาท นี่ก็เป็นเงินสดที่ต้องจ่ายออกไปสม่ำเสมอทุกๆ ปี ประมาณปีละ 168,000 บาท
3. ซื้อและเช่า ค่าใช้จ่ายเป็นแบบไหน?
พี่ซีโร่สงสัยต่อเรื่องค่าใช้จ่ายในออฟฟิส เพราะเค้าเคยรู้มาว่าเงินสดจ่าย มันคนละเรื่องกันกับค่าใช้จ่าย (ในงบกำไรขาดทุน) …แหม่ พี่ซีโร่ น่าจะมาถูกทางละ สงสัยติดตามอ่านเพจนี้เป็นประจำ 555
1
พี่ซีโร่ลอง plot กราฟค่าใช้จ่ายออกมา เค้าพบว่า
[สีแดง] ซื้อรถ พี่ซีโร่เป็นเจ้าของรถทันที เค้าจึงมีค่าใช้จ่ายที่เรียกว่า ค่าเสื่อมราคา ตลอดอายุการใช้งาน
ค่าใช้จ่ายตัวนี้คืออะไร ลองอ่านได้ที่นี่
[สีน้ำเงิน] เช่าซื้อ คล้ายๆ กับซื้อรถ พี่ซีโร่จะเป็นเจ้าของรถทันที จึงมีค่าเสื่อมราคา และค่าดอกเบี้ยเช่าซื้อรวมไปด้วย (ดอกเบี้ยเยอะในปีแรกๆ ลดลงในปีหลังๆ) กราฟจึงยกสูงขึ้นมาจากสีแดงในปีแรกๆ เยอะ และลดลงในปีถัดๆไป
[สีเหลือง] เช่าแบบปกติ สัญญาเช่าต่อเดือนเดือนละถือเป็นค่าใช้จ่ายเลย 14,000 บาท ตกประมาณปีละ 168,000 บาท option นี้ค่าใช้จ่ายจะเท่ากับเงินสดที่ออกไป
ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่าลืมนะว่าพี่ซีโร่ยังไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายอื่นๆ เข้าไปที่เกิดจากการเป็นเจ้าของรถ กราฟ [สีแดง] [สีน้ำเงิน] อย่างค่าบำรุงรักษา ค่าต่อทะเบียน เป็นต้น
4. กำไรในงบการเงินจะเป็นยังไง?
พี่ซีโร่มองภาพค่าใช้จ่ายออกแล้ว สุดท้ายเค้าลองมาเช็คกำไร จากสมการง่ายๆ รายได้ - ค่าใช้จ่าย = กำไร
สมมติพี่ซีโร่คาดว่ารายได้จากการมีรถจะเท่ากับ 1 ล้านบาทต่อปี เค้าจะเหลือกำไรเท่าไรในระยะ 5 ปี
แน่นอนว่าการซื้อ [สีแดง] มีกำไรมากกว่าการเช่าธรรมดา [สีหลือง] อยู่แล้วทุกปี ส่วนการเช่าซื้อ [น้ำเงิน] กำไรเริ่มต้นต่ำกว่าเพื่อนๆ แต่สุดท้ายกำไรกลายเป็นอยู่ตรงกลางระหว่างซื้อและเช่าเฉยๆ
แต่พี่ซีโร่สังเกตได้ว่า สุดท้ายแล้ว เทรนกำไร มันก็อยู่ใกล้ๆ กันที่ราวๆ 780,000 – 895,000 บาทสำหรับทุก option
เพื่อนๆ คิดว่าสิ่งที่พี่ซีโร่เปรียบเทียบมา บอกอะไรกับเรา?
1
บางทีการตัดสินใจซื้อรถ 1 คัน อาจไม่ได้มองแค่กำไรเท่านั้นใช่ไหม
เพราะกำไรต่อปีสุดท้ายแล้วอาจใกล้เคียงกันมาก (ถ้าแพลนว่าจะใช้รถนี้ 5 ปี)
แต่กระแสเงินสด ความเป็นเจ้าของ&ความเสี่ยง รวมไปถึงความคล่องตัวในการทำธุรกิจต่างหากที่พี่ซีโร่ต้องมองไปด้วยพร้อมๆ กัน
ทุก option การซื้อหรือเช่ารถมันก็ต่างมีจุดเด่นและจุดด้อยของมัน เพียงแต่ว่าจุดไหนล่ะเป็นจุดที่เหมาะกับสถานะการเงินและธุรกิจของเราที่สุด
1
เพราะบนโลกนี้ คำตอบสุดท้ายอาจไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว แต่หากเป็นความเข้าใจความหมายของการหาคำตอบ (แบบที่พี่ซีโร่กำลังทำอยู่) นั่นเองที่จะช่วยชี้ทางสว่างให้กับเรา
1
#zerotoprofit #ซื้อหรือเช่ารถ
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
โฆษณา