21 ม.ค. 2022 เวลา 05:48 • ดนตรี เพลง
หลายวันก่อน มีโอกาสได้ดูหนังเรื่อง แผลเก่า ฉบับของ หม่อมน้อย มล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล ที่สร้างปี 2557 นำออกฉายทางช่องทรู แต่เนื่องจากนวนิยายคลาสสิคเรื่องนี้ ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์มาหลายครั้ง จนเกิดการเปรียบเทียบกับของเดิม ซึ่งหากมีการให้คะแนน ก็คงจะได้เต็มสิบในแง่ของความตั้งใจ ความพิถีพิถัน ทุ่มทุนสร้าง เพื่อให้ได้ความอลังการกว่าของเดิมที่เคยสร้างมา แม้ว่าบางฉากจะดูประดักประเดิด เลิศหรูเกินจริง เหมือนละครเวที นางเอกที่สวยหยาดเยิ้มเกินภาพลักษณ์ของอีเรียมแห่งท้องทุ่งบางกะปิ แต่โดยรวมแล้วก็เป็นภาพยนตร์ที่ไม่ควรพลาดเรื่องหนึ่ง แม้จะเคยดูฉบับก่อนๆมาแล้วก็ตามที เพลงประกอบเป็นเพลงเดิม ขับร้องโดยนักร้องรุ่นใหม่ที่มีการเอื้อนคำ และออกเสียงอักขระแบบเพลงสมัยใหม่ ก็ฟังเพราะไปอีกแบบ ไม่เสียหายอะไรนัก เข้ากันดีกับฉากที่เลิศหรูอลังการ
“ ไม้ เมืองเดิม “ หรือ ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา เขียนนวนิยายเรื่องนี้เมื่อปี พศ 2479 ตรงกับรัชสมัย รัชกาลที่ 8 เรื่องราวก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยเดียวกัน คือเป็นปัจจุบันกาล ไม่ใช่เรื่องราวย้อนยุค ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ขาวดำ เสียงในฟิลม์ 16 มม โดยบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ในปี พศ. 2483 ครั้งที่ 2 ในปี พศ. 2489 เป็นภาพยนตร์ 35 มม. โดยบูรพาศิลป์ภาพยนตร์
ครั้งที่ 3 ปี พศ. 2520 เป็นฉบับที่ถูกกล่าวขวัญถึงมากที่สุด สร้างโดย เชิดไชยภาพยนตร์ ของเชิด ทรงศรี ผู้กำกับเงินล้านคนหนึ่งของวงการหนังไทย นับเป็นความกล้าหาญชาญชัยเป็นอย่างมาก เพราะตลาดในช่วงนั้น เป็นยุคของหนังเบาสมอง ชีวิตรักนักศึกษา หรือไม่ก็บู๊วินาศสันตะโร การนำเรื่องราวสมัยโบราณ หรือที่เรียกว่าหนังฟันดาบมาสร้าง ใครๆก็บอกว่า เจ๊งตั้งแต่อยุ่ในมุ้ง แม้แต่สายหนังต่างจังหวัดก็ไม่กล้าซึ้อไปฉาย ( การซื้อขายเกิดขึ้นก่อนที่หนังจะเสร้างเสร็จ ) ด้วยความมุมานะที่จะสร้างหนังเรื่องนี้ให้ได้ เชิด ทรงศรี ลงทุนสร้างหนังเบาสมอง 2 เรื่อง เพื่อหาเงินมาเป็นทุนสร้าง
เมื่อภาพยนตร์ถูกนำออกฉายพร้อมกัน 6 โรง รวมทั้งโรงภาพยนตร์สกาล่า ซึ่งไม่เคยรับหนังไทยเข้าฉายมาก่อน ก็เกิดปรากฏการณ์คลั่งไคล้แผลเก่า ไม่ว่าจะไปทางไหน ซอกมุมไหนมีแต่คนพูดถึงหนังเรื่องนี้ คนที่ร้อยวันพันปีไม่เคยดุหนังไทย ก็ต้องไปเข้าคิวซื้อตั๋วหนังเรื่องนี้ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช อุทิศคอลัมภ์หน้า 5 สยามรัฐ เขียนถึงแผลเก่าของเชิด ทรงศรี
ทีมงานสร้างและดารา นักแสดงชุดนี้ เป็นบุคคลแถวหน้าของวงการ ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับนับถือ ตั้งแต่การเลือกโลเกชั่นที่ อ.บางแพ จ.ราชบุรี ที่ยังคงสภาพภูมิทัศน์หลงเหลือเค้าเดิมอยู่มาก เนรมิตให้เป็นท้องทุ่งบางกะปิได้เหมือนจริง ในส่วนของดารานักแสดงก็คัดเลือกได้อย่างเหมาะเจาะ สรพงษ์ ชาตรี ผู้รับบทไอ้ขวัญ นั้นก็เติบโตมาจากท้องไร่ท้องนา ด้นลิเกบนหลังควายก็เคยชินมาตั้งแต่เด็ก ส่วนสาวน้อยชาวกรุง นันทนา เงากระจ่าง สาวเซอร์จากวิทยาลัยเพาะช่างผู้รับบทอีเรียม และเป็นงานแสดงภาพยนตร์ครั้งแรกของเธอ ก็โลดแล่นบนหลังเจ้าทุยได้ดีไม่แพ้กัน
แผลเก่า ฉบับของเชิด ทรงศรี ได้รับรางวัลในต่างประเทศหลายรางวัล ที่จำได้ก็มี รางวัลกรังด์ปรีซ์ จากเทศกาลภาพยนตร์ที่เมืองน็องส์ ประเทศฝรั่งเศส แต่ที่น่าภูมิใจก็คือ ได้รับคัดเลือกจากสมาคมภาพยนตร์และโทรทัศน์ของอังกฤษในเป็น 1 ใน 360 ภาพยนตร์คลาสสิคของโลกเมื่อปี 2541
สำหรับเพลง แสนแสบ ที่ประกอบในเรื่องนั้น ประพันธ์ขึ้นในปี พศ. 2503 โดย ชาลี อินทรวิจิตร ประพันธ์คำร้อง และสมาน กาญจนผลิน ประพันธ์ทำนอง ขับร้องโดย ชรินทร์ นันทนาคร แต่ในภาพยนตร์ ขับร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร
คลองแสนแสบ ที่ 2 หนุ่มสาวชาวท้องทุ่งบางกะปิ ดำผุดดำว่ายกันนั้น เป็นคลองที่ขุดขึ้นในปี พศ. 2380 ตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยุ่หัว เพื่อเชื่อมแม่น้ำ 2สาย คือ เจ้าพระยา กับบางปะกง มีความยาวประมาณ 90 กิโลเมตร ผ่านทุ่งบางกะปิ เข้าสู่กรุงเทพฯชั้นใน เชื่อมกับคลองมหานาค ไหลลงสู่เจ้าพระยาที่ท่าพระอาทิตย์
พศ. 2509 ลุงชาลีเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ในระยะแรกๆก็เที่ยวเตร็ดเตร่ไปทั่ว ทำความรู้จักกับสถานที่ต่างๆ วันหนึ่ง ขณะเดินข้ามสะพานที่เชื่อมระหว่างราชประสงค์กับประตูน้ำ ข้ามลำคลองน้ำสีดำสนิท เศษขยะลอยฟ่อง สายตาเหลือบเห็นป้ายปักอยู่บนตลิ่ง ข้อความบนป้าย ทำอาเข่าแทบทรุด ป้ายนั้นเขียนไว้ว่า “ คลองแสนแสบ “
โฆษณา