21 ม.ค. 2022 เวลา 06:25 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
“ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม” กับภารกิจสร้าง Ztrus เป็น Deep Tech ไทย ไปลุยอาเซียน
เพราะต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าการทำ Tech Commercialization ในประเทศไทยจะสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ และต้องการเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็กรุ่นใหม่ ทำให้ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้ร่วมก่อตั้ง ZTRUS สตาร์ตอัพที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาให้บริการแปลงข้อมูลสู่ดิจิทัล (Optical Character Recognition) ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ข้อมูล (Information Extraction) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) โดยนำเฟรมเวิร์กด้าน Technology transfer ที่สั่งสมประสบการณ์มากว่า 20 ปี มาสร้างอิมแพคให้กับประเทศชาติ หวังจะช่วยเปลี่ยนแปลงเอกสารเป็นข้อมูลที่มีมูลค่าเพิ่ม ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และการแข่งขันให้ธุรกิจไทย และต้องการพาองค์กรก้าวไปสู่ตลาดอาเซียน จากแผนการระดมทุนระดับ Series A ในไตรมาส 2 ของปี 2022
จากครอบครัวของนักบัญชี สู่การเป็นนักวิจัยไทยในรัฐบาลสิงคโปร์
ดร.พณชิต หรือดร.ก้อง เติบโตในครอบครัวที่ทำธุรกิจตรวจสอบและให้คำปรึกษาด้านการทำบัญชี “สำนักงานบัญชีกิจ” หลังจากเรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้า และปริญญาโทด้านวิศวกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุน Oversea Research Scheme ไปศึกษาในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (The University of Manchester) ประเทศอังกฤษ ด้าน Face modeling คณะวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ (Biomedical Sciences) เรียนเขียน maps model จัดการเรียนรู้เรื่องใบหน้ามนุษย์ ด้านคอมพิวเตอร์วิชัน
ขณะเรียนปริญญาเอก ดร.ก้องได้ลองยื่นใบสมัครเข้าทำงานที่ ‘เอสตาร์ A*STAR’ (Agency for Science, Technology and Research) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่รัฐบาลสิงคโปร์ตั้งใจพัฒนาให้เป็นสถาบันวิจัยระดับโลก ซึ่งประจวบเหมาะที่เขาต้องบินไปประเทศฮ่องกงเพื่อตีพิมพ์บทความวิชาการ และเจ้าหน้าที่จากเอสตาร์ต้องบินไปที่นั่นพอดี จึงมีโอกาสได้พูดคุย และสัมภาษณ์งาน
“จริง ๆ ช่วงที่เรียนจบและกลับมาเมืองไทยระหว่างรอผลการสัมภาษณ์ ได้ยื่นใบสมัครตามบริษัทด้วยประมาณ 6 เดือน แต่ก็ยังไม่ได้งานเนื่องจากมีคุณสมบัติมากเกินความต้องการที่บริษัท (Overqualified)”
เมื่อถามเหตุผลที่ทำไมเรียนจบที่ประเทศอังกฤษ แต่พุ่งเป้าไปที่สถาบันแห่งชาติของสิงคโปร์ ดร.ก้องบอกว่า ขณะเรียนปริญญาตรีและโท ทำงานใกล้ชิดกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) มีอาจารย์ที่ปรึกษาอยู่ที่นั่น ตอนปริญญาโทก็ได้ทุนวิจัยของเนคเทคช่วงที่ 3G มาใหม่ ๆ ตอนนั้นเนคเทคมีเทคโนโลยีออกมาขายมากมายแต่เกิดความสงสัยว่าทำไมงานวิจัยไทยขายไม่ได้ ในฐานะนักวิจัยรู้สึกข้องใจมาก ขณะที่อยู่ประเทศอังกฤษกลับเห็นโครงการบ่มเพาะ (incubator) ของเขาแยกตัวออกมาตั้งบริษัทใหม่เยอะมาก เลยเป็นคำถามที่ค้างอยู่ในใจว่าทำไมของประเทศไทยเราทำไม่ได้ จึงเริ่มมองหาสถาบันที่คล้ายกับเนคเทค ซึ่งสิงคโปร์มีเอสตาร์ และมีแพลตฟอร์มที่ทำงานได้ดี เลยอยากเอาตัวเองไปอยู่ที่นั่นและยื่นใบสมัครดู
1
บทบาท ความรับผิดชอบที่ A*STAR’
ขณะนั้นดร.ก้องมีอายุ 26 ปี ได้เข้าไปทำงานในตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ ระดับ 2 (Scientist Level 2) ด้าน AI ในหน่วยงาน Institute for Infocomm Research (I2R) ในฐานะ foreign parents เป็นนักวิจัยวิทยาศาสตร์ ทำงานวิจัยออกมาขายเชิง Commercialize technology เนื่องจากห้องปฏิบัติการที่ทำเอาเทคโนโลยีที่ทำไปประสานซีอีโอ ช่วยบริษัทเอกชนทำงานวิจัย และส่งงานให้เขา
2
“ตอนแรกเข้าไปอยู่ในหน่วยงานของรัฐก่อน แล้วมีบริษัทมาซื้อเทคโนโลยีเราไปใช้ในห้องปฏิบัติการบริษัทเขา เราจึงได้เข้าไปเป็นหัวหน้าโปรเจกต์งาน ทำหน้าที่ดูแลโปรเจกต์ บริหารจัดการทีม และช่วยทรานเฟอร์เทคโนโลยีเราให้เข้าไปในองค์กรเขาตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ”
นอกจากนี้ยังมีหน้าที่คิดค้นวิธีที่จะการทรานเฟอร์เทคโนโลยีที่ทำออกมาสู่ตลาด ซึ่งขณะที่ทำงานวิจัยก็ต้องพยายามทำความเข้าใจกระบวนการจัดการงานวิจัยนั้นด้วย ขณะที่อยู่เอสตาร์ได้เก็บเกี่ยวกระบวนการ วิธีมอง วิธีผสานระหว่างธุรกิจ การออกแบบ KPI การจัดการเทคโนโลยีที่มีเป้าหมาย กระบวนการคิด เรียนรู้ระบบนโยบายการทำงานระหว่างรัฐกับเอกชน การวางเงินของภาครัฐ ที่จะทำให้เทคโนโลยีหมุนออกไป หากนักวิจัยถูกบีบให้ไปหาเงินจากกระทรวงอื่น บริษัทเอกชนที่อยู่อีกกระทรวงก็จะวิ่งมาหานักวิจัยคนนั้น เป็นกลยุทธ์ของรัฐในการทำให้เอกชนและนักวิจัยมาเจอกัน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมาก
ดร.ก้องอธิบายเพิ่มเติมว่า เอสตาร์มีโมเดลที่ดีที่เอื้อต่อนักวิจัย เขามีเป้าหมายที่ชัดเจน มี KPI ที่ชัดเจนอีกทั้งยังมีทางออกเพื่อช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายด้วย ยกตัวอย่าง เป้าหมายนี้ภาครัฐมีเครื่องมืออะไรให้เราใช้บ้าง หรือถ้าต้องการหารายได้ เขาจะแนะนำให้เราไปหาจากโปรเจกต์ไหนได้บ้างในกระทรวงอื่น เพื่อที่จะทำให้ได้เงินจากเอกชน อีกทั้งยังมีกฎระเบียบ และโจทย์ในการทำงานที่เข้มงวด ยกตัวอย่างใน 1 ห้องปฏิบัติการมีนักวิจัย 10 คน จะต้องมี 1 คนถูกส่งไปทำงานในห้องปฏิบัติการเอกชนทุกปี โดยดร.ก้องมีหน้าที่เลือกว่าจะให้ใครไป
1
“อะไรที่ลองทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จเขาจะสั่งให้เปลี่ยนใหม่ทันที หยุด เปลี่ยน และเดินหน้าทำสิ่งใหม่ที่คิดว่าถูกต้อง เขาไม่ได้สนใจเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณ ผมสามารถใช้อย่างไรก็ได้ในงบประมาณที่ผมมี แต่ต้องทำให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้”
ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่เอสตาร์ ดร.ก้องได้ประสบการณ์ค่อนข้างมาก เพราะสวมหมวกสองใบ 2 หัว เหมือนลูกแก้ว 2 ลูกมาตีกัน เพราะต้องทำงานวิจัยด้วยและหาเงินเข้าสถาบันด้วย ซึ่งหากทำงานวิจัยจริง ๆ จะหาเงินทันทีไม่ได้ หากแต่ต้องหาเงินทันทีจะรองานวิจัยไม่ได้ ต้องบริหารจัดการโปรเจกต์ให้ดี นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้วิธีการสื่อสารกับลูกค้าที่เป็นมนุษย์ทำงานทั่วไป ที่ไม่ใช่นักวิจัย ความคาดหวังจะไม่ตรงกัน ดังนั้น ต้องจัดการทีมตรงนี้ให้ได้ ไม่เพียงเท่านั้น ต้องเรียนรู้การทำงานกับ Multinational team ซึ่งทีมของดร.ก้องมีทั้งนักวิจัยชาวไทย พม่า อินเดีย จีน มาเลเซีย และมีคนสิงคโปร์เป็นวิศวกร
1
“เราเห็นการเชื่อมโยงระหว่างงานวิจัยและพัฒนา (R&D) กับคอมเมอร์เชียล ต้องคิดวิธีเอางานวิจัยไปขายของให้ลูกค้าบริษัทเอกชนต้องใช้มุมไหน ต้องจัดการชุดความคิดนั้นให้ได้ ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ก็ให้การสนับสนุนในสิ่งที่เราทำเต็มที่ สนุกมาก”
ถึงเวลากลับมาทำงานให้ประเทศชาติ
1
เมื่อมีเวลาว่างจากการทำงานในสถาบันวิจัย ดร.ก้องยังเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครที่สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ ช่วยดูแลแรงงานไทย ดูแลความความเป็นอยู่ของแขกที่เข้ามา ครั้งหนึ่งมีโอกาสได้เข้าเฝ้า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะเสด็จฯ ประเทศสิงคโปร์ ดร.ก้องเป็นนักวิจัยไทยคนเดียวที่มีโอกาสได้รับเสด็จ ได้นำเสนองานวิจัยที่เอสตาร์ทำร่วมกับเนคเทคในการช่วยเหลือดูแลทหารหลังผ่าตัดสมองในโรงพยาบาลพระมงกุฏ ภายใต้ชื่อโครงการ ‘Healthcare Monitoring’ ซึ่งนั่นถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของเขา
โอกาสเดียวกันทำให้ดร.ก้องรู้จักกับ พรรณพิมล สุวรรณพงศ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นอัครราชทูตที่ปรึกษาที่สถานฑูต และถูกถามว่าทำงานให้ประเทศสิงคโปร์มานานแล้ว อยากมีโอกาสกลับไปทำงานให้ประเทศบ้างหรือไม่ ประกอบกับการที่ครอบครัวของตนมีธุรกิจอยู่ที่ประเทศไทย และไม่คิดที่จะย้ายไปอยู่ต่างประเทศ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ดร.ก้องกลับมาเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่ประเทศไทยในตำแหน่ง Assistant Director ที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำ Commercial Technology ทำวิจัยและพัฒนาให้กับศูนย์นวัตกรรมที่เปิดให้บริการในปี 2012
ตอนนั้นคิดได้ว่า ทรูเป็นบริษัทใหญ่ที่มีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ที่ดี ไม่ว่าสิ่งที่ทำจะมีอิมแพคมากน้อยแค่ไหนก็สามารถเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ในการขับเคลื่อนอิมแพคนั้นออกไปให้เกิดประโยชน์ต่อคนไทยได้ ต้องสร้างคุณค่าให้คนอื่นให้ได้มากที่สุดจากสภาพแวดล้อมที่ตนเองมี ดร.ก้องกล่าว
ขณะที่ทำงานอยู่ที่ศูนย์นวัตกรรม มีโอกาสได้รู้จักกับดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ท่านทั้ง 2 ได้เข้ามาขอความคิดเห็นในฐานะที่เคยทำงานให้รัฐบาลสิงคโปร์ อยากเห็นโมเดลการทำงานของสตาร์ตอัพ จนทำงานกำหนดนโยบายร่วมกัน และมีโอกาสได้เข้าไปช่วยดีไซน์โครงการทรู อินคิวบ์ ซึ่งเป็นศูนย์บริการแบบครบวงจรในการบ่มเพาะและลงทุนสตาร์ตอัพ เพื่อสร้างธุรกิจนวัตกรรมในระดับนานาชาติ
“ตลอดระยะเวลาที่ทำงาน 4 ปีที่ศูนย์นวัตกรรม มีโอกาสได้ให้ทุนกับมหาวิทยาลัย ได้รู้จักกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทำคีย์บอร์ดคนตาบอด มาประกวดทรู อินโนเวชั่น อวอร์ดส์ และของบประมาณจากทรูไปทำวิจัยเรื่องนี้ ทำให้ได้เรียนรู้วิธีคิดในมุมผู้ใช้งานที่ไม่ได้มองแบบเดียวกับมุมวิศวกร และได้ข้อคิดจากการทำงานในครั้งนั้นว่า ‘ถ้าอยากให้มนุษย์ใช้ต้องมองจากในมุมมนุษย์ เริ่มมองมนุษย์ในมุมของมนุษย์มากขึ้น’ เทคโนโลยีที่เราทำทำให้ใครบางคนหลุดพ้นจากภาพบางอย่าง อยู่ที่นี่ได้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์เยอะมาก”
ช่วงที่ทำทรู อินคิวบ์ มีโอกาสได้รู้จักกับสตาร์ตอัพรุ่นแรก ๆ รวมถึงโบ๊ท – ไผท ผดุงถิ่น จาก Builk ขณะนั้นเป็นนายกสมาคม Thailand Tech Startup จึงชวนให้ไปช่วยร่างกฎหมายสตาร์ตอัพ ทำ White paper ฉบับแรกของสมาคมเพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงฯ และถูกเปิดตัวในงานสตาร์ตอัพไทยแลนด์ ครั้งแรกที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ดร.ก้อง ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยในฐานะพนักงานบริษัทเอกชน และเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงตัดสินใจลาออกจากทรู เพื่อไปสมัครเข้าทำงานที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ Digital Government Development Agency
“คนมองว่าทำงานถอยหลัง จากต่างประเทศ มาเอกชน มาภาครัฐบาล ส่วนตัวกลับมองว่าตัวเองก้าวไปข้างหน้า พยายามเข้าไปถึงปัญหาเพื่อสร้างมายเซ็ทของตัวเอง ไปอยู่ DGA เป็นผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรม ซึ่งได้รับการสนับสนุนที่ดีจากผู้ใหญ่ข้างใน เพราะเขามองว่าเราเป็นกลิ่นอายใหม่ ๆ ขององค์กรที่เขาไม่เคยเจอ”
บทบาทและหน้าที่ของดร.ก้องขณะอยู่ที่ DGA คือ การวางแผนขับเคลื่อนโอเพ่นดาต้า ที่เขาเชื่อว่าการออกแบบดาต้าเป็นหัวใจสำคัญในการทรานส์ฟอร์มสิ่งต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของไอดี และเพย์เม้นท์ โดยเขาได้เข้าไปศึกษา เรียนรู้สิ่งที่ต้องดิลิเวอร์ และการออกแบบเฟรมเวิร์ก ซึ่งเขาบอกว่าโอเพ่นดาต้าเป็นนโยบายหลักของ DGA ทำให้เขาต้องเข้าไปเปลี่ยนความคิดกระบวนการทำงานของภาครัฐ
“ไอดี ดาต้า และเพย์เม้นท์คือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนการทรานส์ฟอร์เมชัน แต่ยังเกิดความสงสัยว่าทำไมภาครัฐทำไม่ได้ พอกระโดดเข้ามาทำถึงได้รู้ว่าติดเรื่องของกฎหมายที่ทำให้ไม่สามารถนำดาต้ามาใช้ประโยชน์ได้ จึงพยายามทำความเข้าใจ และเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มจากข้อมูลจากเลือกตั้งย้อนหลัง ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง”
ดร.ก้อง บอกว่า โอเพ่นดาต้าเป็นแนวคิดข้อมูลที่เกิดขึ้นจากภาษีของประชาชน ดังนั้นข้อมูลเหล่านี้ก็ควรเป็นของประชาชน แต่ข้อมูลบางเรื่องก็มีผลต่อความมั่นคงของประเทศชาติ ดังนั้นควรเป็นการเปิดเผยข้อมูลจากค่าเริ่มต้น (open by default) และปิดโดยได้รับการยอมรับ (close by accepted) โชคดีที่แนวคิดนี้มีองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของสหประชาชาติ (OECD) ประกาศแนวคิดที่จะวัด Open Data Index อยู่แล้วว่าอะไรเปิดได้ อะไรเปิดทั้งหมดไม่ได้ นอกจากนี้ยังได้ทำงานร่วมกับ TDRI เราเรียกว่าชุดข้อมูลที่มีค่าสูงสูง (High Value Datasets) ตัวไหนเปิดได้ก่อน เกิดประโยชน์ต่อสังคม ทำให้อันดับของประเทศขึ้นก็เปิดชุดนั้น ทำแต่เรื่องพวกนี้
“พอมาทำตรงนี้ยิ่งทำให้เราค้นพบว่านโยบายโอเพ่นดาต้าสอดรับกับเรื่องของบริการดิจิทัลของภาครัฐ เพราะคือการนำดาต้าไปใช้ พอไปดูระบบที่รัฐวางไว้ กลับไม่เห็นการออกแบบซอฟต์แวร์ ต่างคนต่างทำ จึงเป็นที่มาของการจัดอบรม ‘Digital Service Workshop’ ดึงเอา 5 หน่วยงานเข้ามา โดยได้ทำโครงการบริจาคเงินออนไลน์ (E-Donation) ร่วมกับกรมสรรพากร คล้าย Boothcamp แต่เป็นหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งผมว่าเป็นโปรเจกต์ที่ดีกับสรรพากร QR Code ที่วัด เพื่อนำใบเสร็จไปยื่นภาษี ใช้สะดวกขึ้น เป็นผลงานที่ภูมิใจมาก”
ตลอดระยะเวลา 2 ที่ทำเรื่องโอเพ่นดาต้าที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ดร.ก้องบอกว่าเขาสามารถทำอันดับของประเทศให้ขึ้นเยอะมาก มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์ดีขึ้น มีการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความรับรู้เรื่องโอเพ่นดาต้าให้แก่ประชาชนให้เข้าใจ ซึ่งหลังจากที่ได้ทำตามความต้องการของตัวเองให้การนำเทคโนโลยีมาสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนชาวไทยแล้ว จึงมีความคิดอยากลาออกมาทำธุรกิจเป็นของตัวเองโดยต้องการนำเฟรมเวิร์กทั้งหมดที่เรียนและทำงานมา มาพิสูจน์และสร้างเป็นตัวอย่างให้สตาร์ตอัพรุ่นใหม่ที่สนใจ
จุดเริ่มต้นของ ZTRUS
ช่วงที่ลาออกมา มีโอกาสได้คุยกับเพื่อนที่เนคเทค ดร.อิทธิพันธ์ เมธเศรษฐ นักวิจัยการอ่านอักขระด้วยแสง ORC และผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ที่เกี่ยวข้องกับการแปลงภาพเป็นตัวอักษร และเริ่มมองเห็นปัญหาของธุรกิจรับทำบัญชีของครอบครัว ว่ามีปริมาณกระดาษเอกสารใบเสร็จ เยอะมาก จึงต้องการแก้ปัญหาตรงนี้ด้วยการทำ Proof of Technology เพื่อพิสูจน์ให้คนไทยเห็นว่าเทคโนโลยีฝีมือคนไทยสามารถทำได้
บริษัท แอ็คโคเมท จำกัด หรือ Ztrus เป็นสตาร์ตอัพที่ให้บริการด้านการแปลงข้อมูลสู่ดิจิตอล ด้วย OCR (Optical Character Recognition) และ AI (Artificial intelligence) โดยมีทีมงานที่มีประสบการณ์ด้านการทรานฟอร์มเทคโนโลยีมานานกว่า 20 ปี มีนักวิทยาศาสตร์ที่ระดับ Ph.D 4 คน มีทีมขาย มีทีมนักพัฒนา มีทีม R&D และมีห้องปฏิบัติการเป็นของตัวเอง
อ่านบทความต่อได้ที่
ติดตาม The Story Thailand ได้ตามช่องทางเหล่านี้
Instagram:
LINE TODAY: TheStoryThailand
#TheStoryThailand #เดอะสตอรี่ไทยแลนด์ #สตอรี่ดีๆ
โฆษณา