24 ม.ค. 2022 เวลา 02:50 • คริปโทเคอร์เรนซี
สองพี่น้องอายุ 14 และ 9 ปี ขุดคริปโทเคอร์เรนซี ได้เงินเดือนละล้าน
1
ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีที่เป็นกระแสร้อนแรง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น สินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง “คริปโทเคอร์เรนซี”
ซึ่งดึงดูดให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนหลากหลายกลุ่ม เข้ามาสู่วงการนี้มากมาย
รวมถึงสองพี่น้อง Ishaan Thakur วัย 14 ปี และ Aanya Thakur วัย 9 ปี
2
โดยพวกเขาได้ร่วมกันก่อตั้งธุรกิจ “เหมืองขุดคริปโทเคอร์เรนซี” ขึ้นมา
จนสามารถทำเงินได้สูงกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือน ภายในระยะเวลาเพียงครึ่งปีเท่านั้น
แล้วเรื่องราวของพี่น้องคู่นี้ น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
1
พี่ชาย Ishaan Thakur และน้องสาว Aanya Thakur เป็นเด็กสัญชาติอินเดีย-อเมริกัน อาศัยอยู่ในรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา
โดยปกติ พวกเขามักจะช่วยกันหารายได้เสริม เพื่อแบ่งเบาภาระค่าเทอมให้กับครอบครัว เช่น เปิดร้านขายน้ำมะนาว ในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน
จนต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 คุณพ่อซึ่งเป็นอดีตพนักงานบริษัทวาณิชธนกิจแห่งหนึ่ง ได้เล่าเกี่ยวกับราคา “บิตคอยน์” ที่พุ่งสูงทะลุ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้ฟังก่อนเข้านอน
ทำให้ Ishaan และ Aanya เกิดความสนใจอยากซื้อขาย บิตคอยน์ เพื่อทำกำไรดูบ้าง
แต่พอศึกษาไปเรื่อย ๆ ทั้งคู่ก็พบอีกทางที่ใช่ คือหันมาเรียนรู้เทคโนโลยี “การขุด” เพื่อให้ได้ครอบครอง
บิตคอยน์ แทนที่จะไปซื้อขายเก็งกำไรในตลาด
หากใครยังไม่เข้าใจความหมายของการขุดคริปโทเคอร์เรนซี ลงทุนแมนขออธิบายสรุปง่าย ๆ คือ
การนำเอาคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์เฉพาะทาง มาใช้ประมวลผลหาชุดตัวเลขเข้ารหัสที่ถูกต้องของธุรกรรมบนเครือข่ายบล็อกเชน ซึ่งผู้ที่ทำสำเร็จก่อน จะได้รับเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี เป็นสิ่งตอบแทน เปรียบเสมือนกับการขุดเจอ นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ สองพี่น้อง Thakur จึงได้ดัดแปลงคอมพิวเตอร์เล่นเกม ให้กลายเป็นเครื่องขุดคริปโทเคอร์เรนซี ภายในพื้นที่โรงรถ โดยศึกษาวิธีการจากคลิปบน YouTube และข้อมูลในอินเทอร์เน็ต
จากนั้น พวกเขาก็เริ่มลงมือขุดคริปโทเคอร์เรนซี ในเดือนเมษายน 2021
โดยเลือกขุดเหรียญ “อีเธอเรียม” ก่อน เพราะมองว่า บิตคอยน์ น่าจะมีการแข่งขันสูงเกินไปสำหรับมือใหม่
1
ในวันแรก พวกเขาได้รับ อีเธอเรียม มูลค่ารวม ๆ เพียงแค่ 100 บาท แต่พอผ่านไป 1 เดือน ก็สะสมเหรียญได้เป็นมูลค่าราว ๆ 33,000 บาท ซึ่งถือเป็นรายได้ที่น่าพึงพอใจมากของเด็กวัยนี้
2
เมื่อเห็นว่า การขุดคริปโทเคอร์เรนซี มีโอกาสสร้างรายได้ต่อเนื่อง ทั้งคู่จึงวางแผนขยายเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง เลยตัดสินใจร่วมกันก่อตั้งบริษัทชื่อว่า Flifer Technologies
1
โดยมีคุณพ่อที่คอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องตรรกะด้านการเงิน และสนับสนุนอย่างเต็มที่ ถึงขั้นยอมไปกู้ยืมเงินธนาคาร มาให้ลูก ๆ ลงทุนซื้อคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์การ์ดจอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผล
5
แต่ในช่วงแรก พวกเขากลับต้องเจออุปสรรค กรณีที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีราคาแพงขึ้นและหาซื้อยาก เนื่องจากเกิดปัญหาชิปขาดแคลนทั่วโลก
1
ซึ่ง Ishaan และ Aanya ก็แก้ไขสถานการณ์ ด้วยการลงทะเบียนรับข้อมูลอัปเดตสินค้าเข้าใหม่ จากร้านค้าปลีก เช่น Best Buy เพื่อรีบไปต่อแถวซื้อตั้งแต่ตอนเช้า
4
นั่นทำให้พวกเขาขยายเหมืองขุดคริปโทเคอร์เรนซีได้ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนเกินกว่าที่โรงรถจะรับไหว จึงย้ายคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ไปไว้ที่ห้องเช่าในศูนย์ Data Center ซึ่งมีระบบและเครื่องอำนวยความสะดวกแบบครบวงจร
1
นอกจากนั้น ทั้งสองคนยังเข้าใจถึงประเด็นถกเถียงในสังคม ที่กล่าวว่า นักขุดคริปโทเคอร์เรนซีมักใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลต้นทุนถูก ซึ่งไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งสองคนจึงได้เลือกเช่าห้องในศูนย์ที่ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน
6
ในปัจจุบัน Flifer Technologies มีอุปกรณ์ขุดคริปโทเคอร์เรนซีอยู่ราว 200 เครื่อง และใช้การ์ดจอของ Nvidia เป็นหลัก สามารถประมวลผลชุดตัวเลขได้ถึง 15,000-16,000 ล้านอัลกอริทึมต่อวินาที โดยมุ่งเน้นขุด 3 เหรียญ ได้แก่ อีเธอเรียม, บิตคอยน์ และเรเวนคอยน์
3
ซึ่งเมื่อช่วงปลายปี 2021 ที่ผ่านมา Ishaan เปิดเผยว่า เขากับน้องสาวขุดคริปโทเคอร์เรนซี ได้มูลค่าประมาณ 1,166,000 บาทต่อเดือน และมีเหรียญสะสมหลังจากเริ่มธุรกิจมาราวครึ่งปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 5,300,000 บาท
 
จนถึงตอนนี้ Ishaan และ Aanya ก็มีรายได้เพียงพอที่จะแบ่งมาจ่ายค่าเทอม จ่ายคืนหนี้ที่คุณพ่อไปกู้ยืมมา และลงทุนซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ เองได้แล้ว
1
ส่วนเหรียญที่เหลือ จะเก็บไว้ในบัญชีของแพลตฟอร์ม Coinbase ต่อไป เพราะเชื่อมั่นว่าในอนาคต มูลค่าของคริปโทเคอร์เรนซี จะเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้
 
รวมทั้งวางแผนออกเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีของตัวเอง ชื่อว่า Flifercoin ซึ่งอยู่ระหว่างว่าจ้างให้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดำเนินการ อีกด้วย
2
อย่างไรก็ตาม แม้การทำธุรกิจกำลังไปได้สวย แต่ทั้งคู่ยังให้ความสำคัญกับการศึกษาเหมือนเดิม
โดย Ishaan ใฝ่ฝันอยากเข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Pennsylvania ขณะที่ Aanya ก็อยากเข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Cornell
3
ทำให้เมื่อโรงเรียนเปิดเทอม พวกเขาจึงมีการจ้างพนักงานมาช่วยดูแลระบบคอมพิวเตอร์ให้ และจะมาดูแลการขุดเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีเอง เฉพาะเวลาว่างหรือช่วงสุดสัปดาห์เท่านั้น
เรื่องราวนี้คงเป็นข้อพิสูจน์ว่า
การเรียนรู้ และทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ จนประสบความสำเร็จ ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยอายุที่น้อยหรือมากแค่ไหน
โดยเฉพาะในยุคที่อินเทอร์เน็ต เปิดโอกาสให้เราเข้าถึงข้อมูลไอเดียต่าง ๆ ได้สะดวกและรวดเร็ว
เหมือนกรณีของสองพี่น้อง Thakur
ที่ก่อนหน้านี้ หลายคนอาจคิดว่า การขุดคริปโทเคอร์เรนซี เป็นเรื่องที่ยาก หากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ
1
แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นก็คือ ทั้งคู่นั้นศึกษาอย่างจริงจัง และตั้งใจลงมือทำสิ่งนั้นอย่างเต็มที่
แม้จะเป็นเด็กชั้นมัธยม หรือกระทั่งประถม ก็สามารถทำความเข้าใจ จนต่อยอดสร้างเป็นรายได้หลักล้านบาทต่อเดือน โดยไม่เสียการเรียน ได้เช่นกัน..
References
โฆษณา