22 ม.ค. 2022 เวลา 11:21 • ความคิดเห็น
ด้วยความที่ทั้งบ้านทำงานให้กับหน่วยงานรัฐ รวมทั้งคนข้างๆใกล้ตัวด้วย ก็เลยได้ยินเรื่องบอกเล่าจากระบบการทำงาน หรือเรื่องคนภายในในองค์กรเหล่านี้บ่อยๆ ยอมรับว่าเกิดอคติมากกว่าจะรู้สึกบันดาลใจ เหล่านี้เลยอาจทำให้ไม่อยากทำอาชีพในหน่วยงานรัฐมาตั้งแต่แรก
@Hakan Nural // unsplash.com
ทุกวันนี้ก็ยังคงไม่อยากทำ ถึงแม้จะต้องกัดฟัน กัดแขนตัวเองในช่วง 2-3 ปีให้หลังนี้มาบ้าง ยิ่งอยู่ในสังคมต่างจังหวัดด้วยแล้ว อาชีพข้องเกี่ยวกับรัฐช่างเหมือนทางเลือกเดียวเหลือเกิน เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเขียนบอกเล่าต่อไปนี้มีอคติอยู่แน่ๆนะครับ ฮ่าาา ทว่าเป็นแค่มุมมองส่วนหนึ่งจากเรื่องใกล้ตัวของผม มิอาจนิยาม หรือตัดสินได้ทั้งหมด
ผมพบว่ามีสองสิ่งด้วยกันที่ได้ฟังมาซ้ำๆบ่อยๆ นั่นคือวัฒนธรรมองค์กรแบบเช้าชามเย็นชาม กับการมีผู้บริหาร หรือหัวหน้าที่ตรวจสอบหรือประเมินไม่ได้ หรือจะมีก็แค่มีให้ประเมินไปงั้น ไม่สามารถขัดเกลาให้เกิดประโยชน์ได้จริง คนตัวเล็กกว่าฟีดแบ็คต่อหัวหน้าไม่ได้ เพราะ"เป็นผู้น้อย" เพราะฉะนั้นหากมีหัวหน้าดี ก็นับว่า"โชคดีไป" หากมีหัวหน้าห่วย ก็"ซวย"ไปแล้วกัน
พอดีไปอ่านเจอเรื่องของพลวัตทางจิต 3 ประการ ที่มีส่วนช่วยให้ผู้คนประพฤติตนไปในทางที่ไม่ดี ซึ่งสรุปสั้นๆได้ดังนี้ครับ
(1) การมีอำนาจเบ็ดเสร็จ , ผู้นำหลายคนมีแนวโน้มที่จะเป็นแบบนี้ได้ง่าย โดยเฉพาะหากไม่มี empathy(ความเห็นอกเห็นใจ)ต่อคนรอบข้างด้วยแล้ว เขาจะเชื่อว่าตนมีสิทธิเหนือคนอื่น กฎเกณฑ์นั้นไม่ได้มีไว้ใช้สำหรับตัวเขา
(2) ความชินชาทางวัฒนธรรม และ (3) การละเลยต่อความชอบธรรม , สองข้อนี้คล้ายคลึงและมีความต่อเนื่องกัน มันคือการที่เมื่อมีผู้คนกระทำบางอย่างตามกันมาเรื่อยๆ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ไม่ดี  และไม่มีบทลงโทษใดๆ วันหนึ่งเราเองก็อาจทำแบบนั้นเช่นกัน เพราะในบางครั้งการแสดงออกถึงการอารยะขัดขืน ก็ต้องทำให้เลือกระหว่างยอมรับ กับหางานใหม่
สุดท้ายจึงอาจทำให้ผู้คนในองค์กรไม่ยอมพูดถึงการทำสิ่งผิด หรือไม่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร เมินเฉย "เราต้องยอมทำบ้างเพื่อความสำเร็จในอนาคต" หรือ "เงียบไว้ก็ไม่เป็นภัยต่อตนเอง"
อ่านแล้วนึกถึงเรื่องที่ได้ฟังมาบ่อยๆจากหน่วยงานรัฐของคนใกล้ตัวเลยครับ
เหมือนกับพวกเขาลืมไปแล้วว่า งานที่เขาทำอยู่ ก็เพื่อประโยชน์ต่อองค์กร เพื่อชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนทั้งหลาย รายได้หรือค่าแรงที่ได้มาก็จากองค์กรที่ให้เขา หรือเงินภาคบังคับที่เรียกเก็บจากผู้เสียภาษี ซึ่งก็คือผู้คนที่ควรจะได้รับการบริการที่ดีจากเงินที่เขาจ่ายไปนี่แหละ
มีคนบอกว่า พวกเขาเองก็ต้องจ่ายเงินภาษีเช่นเดียวกัน ไม่ใช่รับเงินภาษีเป็นค่าจ้างจากชาวบ้านอย่างเดียว ใช่ครับ มันเหมือนเงินกองกลางงานกลุ่ม เราทุกคนต้องจ่ายร่วมกัน พ่อค้าหาเงินจากภายนอกเข้าบ้าน คนดูแลบ้านก็ได้ค่าแรงทำประโยชน์เอื้อให้พ่อค้าขายของได้ เงินกองกลางส่วนนึงก็นำไปทะนุบำรุงบ้านของเราด้วย เรื่องนี้เข้าใจง่ายมาก
แต่เรื่องที่ผมฟังๆมา หรือเจอกับตัวเองในหลายๆครั้ง ดูจะไม่เป็นการทำงานกลุ่มร่วมกันเลย ต้องยอมรับว่า ค่านิยมโดยเฉพาะในสังคมต่างจังหวัดด้วยแล้ว เขามักทำอาชีพที่ว่า"มั่นคง"นี้ เพื่อครอบครัว เพื่อตนเอง เพื่อความมั่นคงทางรายได้ของบ้าน"ตนเอง" มากกว่าที่จะทำให้ "บ้านของพวกเรา" มั่งคงขึ้น หรือ "ผู้คนอีกหลายร้อยพันชีวิต"จะมีชีวิตที่ดีขึ้น
เป็นไงครับ อคติมั้ยครับ 🤣 จริงอยู่ที่ว่าเรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในทุกๆที่ หรือเป็นกับทุกคนในหน่วยงานรัฐ ทว่าผมก็มั่นใจเหมือนกันว่าเรื่องพวกนี้ก็มีอยู่ไม่น้อยเลย มันดูได้จากบริบทภาพรวมของคุณภาพชีวิตผู้คนในสังคมได้
ส่วนตัวผมเองคงมิบังอาจแนะแนวว่าควรจะทำเช่นไร โลกควรเป็นแบบไหน บ้านเมืองควรเป็นอย่างไร แต่ในฐานะมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง ซึ่งก็มีหน้าที่ต่อทั้งตนเอง ผู้คนทั้งใกล้และไกลตัว และไม่ว่าจะทำสิ่งใด ก็ส่งผลกระทบต่อสังคมเสมอ ผมเชื่อว่าเราเกิดมาเพื่อปลูกต้นไม้ เพื่อตนเอง และได้ประโยชน์กับสภาพแวดล้อมรอบตัวด้วย
ในการทำงานของผม เรามีหน้าที่ถ่ายทอด บอกเล่าเรื่องราวผ่านภาพเคลื่อนไหว ภาพถ่าย ตัวอักษร สิ่งที่เราทำคือการนำเสนอสิ่งเหล่านี้ผ่านหน้าฉาก โดยมีตัวเราอยู่เบื้องหลัง เพราะฉะนั้นงานของเราจึงต้องใหญ่กว่าตัวเรา มันย่อมสลักสำคัญกว่า เรานำเสนอภาพและเรื่องราวของต้นไม้ ก็เพื่อเห็นความงดงามของสิ่งนั้น มิใช่เพื่อบอกว่าฉันเก่ง หรือเพื่อประดับบุญบารมี คำชื่นชมหรือค่าตอบแทนเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงให้เรามีแรงทำงาน "หน้าฉาก" ต่อไป
ถ้าปล่อยให้ท้องหิว จะเอาแรงที่ไหนทำงาน
@Aditi Nayar // unsplash.com
ใครซักคนเคยบอกไว้ว่า "เราปลูกต้นไม้ และก็นิยามว่าต้นไม้นี้ของฉัน แต่ไม่ได้คำนึงถึงว่าต้นไม้นี้เป็นส่วนหนึ่งของต้นไม้อีกหลายร้อยล้านต้น บนโลกใบนี้ ที่ให้อากาศ ซึ่งสายลมพัดปลิวมันไปได้ไกลเพียงใดก็มิอาจทราบได้"
ผมเคยฟังน้าเน็กพูดในรายการ"ป๋าเต็ดทอร์ค" ไว้เรื่องการเป็นเหมือนต้นไม้ ที่ให้ประโยชน์แก่ผู้อื่น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นผู้รับเพื่อการเติบโตของตนเองด้วย
เราต้องคิดและทำเพื่อตนเองก่อนเป็นอันดับแรก ผมจะไม่พูดว่าเรานี่นะต้องเสียสละ ทำเพื่อส่วนรวมจนชีวิตตนเองพังทลาย ไม่ใช่แบบนั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในบางครั้ง เราก็ดันคิดถึงแต่ตนเองอย่างเดียวหรือเปล่า ทั้งๆที่หน้าที่การงาน การใช้ชีวิตในสังคมของเราล้วนมีผลกระทบต่อชีวิตผู้อื่น
หากเราสร้างบ้านของเราที่มั่นคงได้จริง ทว่าผืนดินทรุดพังทลาย บ้านจะยังคงมั่นคงได้เช่นไร
ผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ ย่อมปลูกต้นไม้ให้เติบโตแข็งแรง ต้นไม้ที่งอกงาม ก็ทำให้ดินยังคงอุดมสมบูรณ์เช่นกัน
ขอให้ต้นไม้ของทุกคนงอกงามบนผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ครับ 🌲🤍
โฆษณา