22 ม.ค. 2022 เวลา 12:27 • กีฬา
วันนี้เมื่อ 16 ปีที่แล้ว (22 มกราคม 2006) เกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากเชื่อ ในบาสเกตบอล NBA เมื่อโคบี้ ไบรอันต์ ทำ "81 แต้ม" ในเกมเดียว เรื่องราวเป็นอย่างไร วิเคราะห์บอลจริงจังจะเล่าให้ฟัง
ตามหลักแล้ว นักบาสทำได้ 30-40 แต้มต่อเกม ก็นับว่าผลงานดีแล้ว แต่การยิงได้ถึง 81 แต้ม มันเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เลย
ในประวัติศาสตร์ของ NBA คนที่เคยทำแต้มได้สูงสุดในเกมเดียว คือวิลต์ แชมเบอร์เลน ของทีมฟิลาเดลเฟีย วอร์ริเออร์ส ทำได้ 100 แต้ม ในเกมเอาชนะนิวยอร์ก นิกส์ 169-147 แต้ม เมื่อปี 1962
ทุกคนรู้ว่าสถิติของแชมเบอร์เลนเป็นเรื่องจริง หนังสือพิมพ์ลงข่าวอย่างครึกโครม มีหลักฐานชัดเจน คือตัวเลข 100 ไม่ได้เมกอัพขึ้นมาแน่นอน แต่ทุกคนก็รู้เช่นกันว่าสไตล์บาสเกตบอลในยุคนั้น (1962) มันเล่นเกมเร็ว โดยไม่สนใจเกมรับ แต่ละทีมเปิดหน้าแลกกันยับ การทำแต้มกัน 140-150 แต้มต่อเกมเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นการที่นักบาสสักคน จะทำแต้มเยอะๆ จึงพอจะอยู่ในเกณฑ์ที่เข้าใจได้
2
สำหรับสถิติ ทำแต้มสูงสุดตลอดกาลของ NBA 5 อันดับแรก คือ
100 แต้ม - วิลต์ แชมเบอร์เลน (1962)
78 แต้ม - วิลต์ แชมเบอร์เลน (1961)
73 แต้ม - วิลต์ แชมเบอร์เลน (1962)
73 แต้ม - เดวิด ธอมป์สัน (1978)
72 แต้ม - วิลต์ แชมเบอร์เลน (1962)
เราจะเห็นได้เลยว่า สถิติ 5 อันดับแรกที่สร้างขึ้นมานั้น เกิดขึ้นในยุคอดีต ช่วงทศวรรษ 60 หรือ 70 ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นยุคบาสเกตบอลโบราณ คู่แข่งเปิดหน้าแลกกันอย่างดุเดือด แต่ในยุคปัจจุบัน ที่บาสเกตบอลเล่นกันช้าลง มีแท็กติกเยอะ และศาสตร์เกมรับถูกพัฒนาขึ้น การที่ผู้เล่นสักคนจะมาทำแต้มระดับ 70-80 แต้มต่อเกม มันแทบไม่มีทางเลย
1
ตัวโคบี้ ไบรอันต์เคยกล่าวว่า ความยากของการทำแต้มเยอะๆ คือความอ่อนล้าของร่างกาย กล่าวคือ ท้ายๆ เกม คุณจะยังกระโดดชู้ตได้แม่นยำเหมือนเดิมอีกหรือ ในเมื่อบดขยี้กับคู่ต่อสู้มาตลอดสามควอเตอร์ก่อนหน้านี้
1
นอกจากนั้น การทำแต้มเยอะ แปลว่าคุณต้องได้ลงสนามแทบจะทุกนาที ซึ่งการจะได้ลงแบบนั้น เกมก็ต้องสูสีกันด้วย เพราะถ้าเกมไม่สูสี โค้ชก็จะถอดซูเปอร์สตาร์ออกมาพักเพื่อเตรียมพร้อมลงแข่งในเกมถัดไป ดังนั้นการจะทำแต้มได้ระดับ 70-80 แต้ม องค์ประกอบมันต้องลงตัวจริงๆ
2
เลอบรอน เจมส์ เคยทำแต้มได้สูงสุด 61 แต้ม ส่วนสเตฟเฟ่น เคอร์รี่ ทำได้ 62 แต้ม ขณะที่ไมเคิล จอร์แดน เคยทำได้สูงสุด 69 แต้ม คือการจะฝ่ากำแพง 70 แต้ม มันยากเอามากๆ
1
สำหรับโคบี้ ไบรอันต์ ในปี 2006 เขามีอายุ 27 ปี กำลังอยู่ในช่วงพีกที่สุดก็ว่าได้ ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ประสบการณ์ล้นเหลือ ได้แชมป์ NBA มาแล้ว 3 สมัย อย่างไรก็ตาม โคบี้เองก็ไม่เคยฝ่ากำแพง 70 แต้มได้เช่นกัน เขาทำแต้มได้เยอะที่สุด ณ เวลานั้น เพียง 62 แต้มเท่านั้น
1
เข้าสู่วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2006 เข้าสู่ครึ่งทางของ NBA ฤดูกาล 2005-06 ลอสแองเจลิส เลเกอร์ส มีสถิติ ชนะ 21 แพ้ 19 เปิดบ้านสเตเปิ้ลส์ เซ็นเตอร์ ต้อนรับโตรอนโต้ แรพเตอร์ส สถิติ ชนะ 14 แพ้ 26 เป็นทีมที่อยู่โซนท้ายของตาราง
1
จุดอ่อนของโตรอนโต้ คือเกมรับหละหลวม เกมป้องกันไม่ดี เสียแต้มเยอะ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีแน่ๆ ที่โคบี้จะโชว์ผลงานในเกมนี้
อย่างไรก็ตามในวันที่ 22 มกราคมนั้น พูดกันจริงๆ เกมระหว่าง เลเกอร์ส กับ โตรอนโต้ ไม่ใช่เกมที่ผู้คนสนใจมากนัก เพราะแฟนๆกีฬาไปโฟกัสเกม NFL รอบชิงแชมป์สาย AFC ระหว่าง พิทส์เบิร์ก สตีลเลอร์ กับ เดนเวอร์ บรองโกส์ กันหมด
2
ส่วนตัวโคบี้เองก็สบายๆ ไม่ได้คิดว่าเกมนี้จะพิเศษกว่าเกมอื่นๆ คืนก่อนแข่ง เขาเพิ่งจัดงานปาร์ตี้วันเกิด 3 ขวบ ให้ลูกสาวคนโต นาตาเลีย จากนั้นตื่นเช้ามาเขาก็รู้สึกไม่อยากจะคุมอาหาร เลยกินแฮมเบอร์เกอร์ กับเฟรนช์ฟรายส์
4
คือว่าตรงๆ มันก็เป็นวันที่เขาก็ไม่ได้คิดว่าจะมีอะไรที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้น นอกจากลงแข่งบาสตามโปรแกรมปกติ
การแข่งขันที่สเตเปิ้ลส์ เซ็นเตอร์ เริ่มต้นขึ้น ในควอเตอร์แรกโตรอนโต้ขึ้นนำ 36-29 โคบี้ทำไป 10 คะแนน ฟอร์มยังดูเงียบๆ อยู่
เข้าควอเตอร์ที่ 2 โตรอนโต้นำ 63-49 ทิ้งช่องว่างถึง 14 แต้ม โดยสตู แลนซ์ นักข่าวของเลเกอร์ส เล่าว่า "แฟนบอลไม่มีใครส่งเสียงเชียร์ ซึ่งก็ว่าไม่ได้ เพราะมันไม่มีอะไรให้เชียร์จริงๆ"
โตรอนโต้เป็นทีมที่ฟอร์มแย่มาก คือดูทรงแล้วเลเกอร์สควรจะชนะได้ง่ายๆ พอมาโดนทิ้งห่าง ทำให้แฟนๆ เริ่มโห่ ขณะที่โคบี้เองก็ยังดูตื้อๆ ในควอเตอร์นี้เขายิงลูกโทษพลาด ทำให้หยุดสถิติยิงลูกโทษเข้าติดต่อกันไว้ที่ 62 ลูกเท่านั้น
ในห้องแต่งตัวหลังจบควอเตอร์ 2 โคบี้นั่งเงียบๆ ไม่พูดอะไรเลย วันนี้เขาฟอร์มปานกลาง ทำไปได้แค่ 26 แต้ม โดยโคบี้เล่าว่า "ตอนนั้นผมไม่คุยกับใครทั้งนั้น ผมพยายามรวมรวมสมาธิ ไม่ให้เรื่องอื่นใดมารบกวนจิตใจได้"
ในช่วงแรก โตรอนโต้ทำได้ดี กลยุทธ์ของเฮดโค้ชแซม มิตเชลลล์คือ "ไม่เสียผู้เล่นไปดับเบิ้ลทีมโคบี้" กล่าวคือทีมอื่นๆ เวลาเจอเลเกอร์ส จะรู้อยู่แล้วว่าโคบี้คือตัวทำแต้มเบอร์หนึ่ง ดังนั้นจะยอมใช้ผู้เล่น 2 คน ไปรุมคนเดียวเพื่อสกัดกั้นเกมรุก แต่โตรอนโต้ไม่ทำแบบนั้น เพราะโคบี้ดูเหมือนจะ Switched off เล่นไม่ออกในเกมนี้
การที่จบควอเตอร์ 2 ทีมยังนำอยู่ 14 แต้ม ก็พอจะพิสูจน์ได้ว่าแผนที่คิดไว้ของโตรอนโต้ดูจะได้ผลดี
กลับมาเล่นในควอเตอร์ 3 โตรอนโต้ทิ้งห่างเป็น 18 แต้ม แต่ถึงจุดนี้เอง โคบี้ตั้งสติได้ เขาค่อยๆ เข้าฟอร์มช้าๆ เริ่มจากเลย์อัพง่ายๆ แล้วชู้ต 3 แต้มลง 3 ลูกติดกัน ตามด้วยชู้ตเฟดอเวย์เข้าไปแบบสมบูรณ์ ก่อนจะปิดควอเตอร์ด้วยสแลมดั๊งค์ 2 หนซ้อน
ระหว่างควอเตอร์ 3 ลามาร์ โอดอม เห็นฟอร์มของโคบี้ที่ร้อนแรงมากๆ จึงเดินไปบอกว่า "นี่นายอาจจะทำได้ถึง 50 แต้มเลยนะในเกมนี้!" แต่สิ่งที่โอดอมไม่รู้คือ แต้มที่โคบี้จะทำได้ มันห่างไกลกว่า 50 แต้มไปเยอะทีเดียว
1
จบควอเตอร์ 3 เลเกอร์สพลิกมาแซง 91-85 โคบี้ทำแต้มไปแล้ว 53 คะแนน ผู้เล่นคนอื่นทั้งหมดรวมกัน ยังมีแต้มไม่ถึงครึ่งของโคบี้เลยด้วยซ้ำ
จาเลน โรส ผู้เล่นของโตรอนโต้ กล่าวว่า "ผมพูดหลายครั้งระหว่างเกม ว่าเราควรดับเบิ้ลทีมเขาดีไหม หรือเอาจริงๆ ทริปเปิ้ลทีมเขาไปเลยน่าจะดีกว่า"
แต่โตรอนโต้คิดช้าเกินไป โค้ชเองไม่อยากแก้แผนใน 2 ควอเตอร์แรกที่ดีอยู่แล้ว จึงเปิดพื้นที่ให้โคบี้ได้เล่นง่ายๆ ในควอเตอร์ 3 ซึ่งจาเลน โรสกล่าวต่อว่า "พอเราเปิดโอกาสให้เขาระเบิดฟอร์มร้อน มันก็เหมือนรูดม่านจบเกมแล้วนั่นแหละ"
ถามว่าจบควอเตอร์ 3 แฟนๆ ในสนาม หวังว่าโคบี้จะทำถึง 81 แต้มเลยหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ สิ่งที่แฟนๆ คาดหวัง ณ เวลานั้น คืออยากให้โคบี้ ทำลายสถิติสูงสุดที่ตัวเองเคยทำได้ก็พอ (62 แต้ม)
เข้าควอเตอร์ 4 โค้ชแซม มิตเชลล์ หันมาระวังโคบี้มากขึ้น มีการดับเบิ้ลทีม และทริปเปิ้ลทีมในบางหน แต่ปัญหาคือโคบี้ On fire ไปแล้ว ต่อให้จะมี 2-3 คนรุม ก็หยุดไม่ได้ ในที่สุดโคบี้ทำแต้มรัวๆ จนไปถึง 63 แต้ม แซงสถิติเดิมของตัวเองได้สำเร็จ และเวลาในสนามเหลืออีก 6 นาทีเต็ม ยังมีเวลามากพอที่โคบี้จะทำลายสถิติใหม่ๆ เพิ่ม
3
ตอนเหลือ 6 นาทีสุดท้าย แต้มยังไม่ขาดมาก เลเกอร์ส นำ 105-94 ห่างแค่ 11 แต้ม ดังนั้น โค้ชฟิล แจ๊คสัน จึงใช้โคบี้ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าทีมจะปลอดภัยชัวร์ๆ ว่าชนะแน่นอนแล้ว
คราวนี้สถิติต่อไปที่โคบี้จะทำลาย คือผู้เล่นที่ทำแต้มสูงสุดตลอดกาลของแฟรนไชส์ ก่อนหน้านี้ คนทำแต้มสูงสุดในเกมเดียวของลอสแองเจลิส เลเกอร์ส คือ เอลกิ้น เบย์เลอร์ ทำไว้ในปี 1960 ด้วยสกอร์ 71 แต้ม
ตอนนี้แฟนๆ ในสนามสเตเปิ้ลส์ เซ็นเตอร์ ร้องเสียงดังสนั่นว่า M-V-P M-V-P M-V-P ทุกคนอยากรู้จริงๆ ว่าโคบี้จะทำแต้มไปได้ไกลถึงไหน
โคบี้ยัง On fire ไม่หยุด เขายิง 3 แต้มติดกัน 2 ลูก ตามด้วยจั๊มพ์ช็อตอีกลูก ทำเพิ่มเป็น 72 แต้ม ตอนเหลือเวลาอีก 4:25 นาที แซงสถิติของเอลกิ้น เบย์เลอร์เรียบร้อย จนกลายเป็น Legend เจ้าของสถิติตลอดกาลของแฟรนไชส์เรียบร้อย
"เราได้แต่ยืนดูเขาชู้ตลง ชู้ตลง" คริส บอส ผู้เล่นของโตรอนโต้เล่า คือพอโคบี้เข้าฟอร์มแล้ว ไม่มีอะไรหยุดได้จริงๆ
ตอนเหลืออีกราวๆ 3 นาที เกมขาดไปแล้ว เลเกอร์สทิ้งห่าง 15 แต้ม คือชนะแน่นอน 100% ตามหลัก เฮดโค้ช ฟิล แจ๊คสัน ก็จะต้องดึงตัวสตาร์ของทีมออกมาพัก และเขาก็เกือบจะทำแล้วจริงๆ แต่พอไปปรึกษากับผู้ช่วย แฟรงค์ แฮมเบล็น ก็ตัดสินใจให้โคบี้ลงต่อ โดยอธิบายว่า "ไม่งั้นที่สนามเกิดจลาจลแน่" เพราะแฟนๆ ไม่ยอมหรอก ใครๆ ก็อยากรู้ทั้งนั้นว่า โคบี้จะทำแต้มไปได้ถึงไหน
คือด้วยเวลาที่เหลือ 3 นาทีกว่าๆ แฟนๆ ไม่หวังให้โคบี้ แซงหน้าสถิติตลอดกาล 100 แต้มของวิลต์ แชมเบอร์เลน เพราะเวลาเหลือน้อยเกินไปที่จะทำได้ทัน แต่ถ้าแซงสถิติอันดับ 2 ที่แชมเบอร์เลนเคยทำไว้ 78 แต้ม น่าจะพอมีลุ้นอยู่
1
ตอนนี้เลเกอร์สตัดบอลได้ปั๊บ ก็จะโยนยัดใส่มือโคบี้ทันที และโคบี้ก็ไม่ทำอย่างอื่นนอกจากเลี้ยงตะลุยไปชู้ตให้ได้ อย่างไรก็ตาม ฝั่งโตรอนโต้ไม่ได้จะยอมกันง่ายๆ พวกเขาก็อับอายเหมือนกัน ที่โดนนักบาสคนเดียวทำแต้มถล่ม 70 กว่าแต้มในเกมเดียว ไม่มีใครอยากโดนจารึกว่ามีเกมรับสุดแย่ จนโดนทะลวงเละขนาดนั้นหรอก
โตรอนโต้จึงป้องกันอย่างเต็มที่ แต่ทว่าโคบี้ก็ยังทะลวงมายิงอยู่ดี สุดท้ายเขาสามารถเรียกฟาวล์ได้หลายหนในช่วงท้ายเกม
โตรอนโต้ทำฟาวล์ขณะโคบี้กำลังชู้ต 3 หน โคบี้จึงได้ชู้ตลูกโทษทั้งหมด 7 ลูก (ลงทุกลูก) รวมแล้วโคบี้ทำแต้มได้ 81 แต้ม กลายเป็นนักบาสที่ทำแต้มในเกมเดียวมากที่สุดอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ เป็นรองแค่ สถิติ 100 แต้มของวิลต์ แชมเบอร์เลนคนเดียวเท่านั้น
จบเกมเลเกอร์สพลิกมาเอาชนะได้อย่างสวยงาม 122-104 แต่เอาจริงๆ ไม่มีใครสนใจผลการแข่งขันของเกมนั้น หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเขียนคำเดียวว่า 81! คือจะมีมนุษย์คนไหน ในบาสเกตบอลสมัยใหม่ ที่ทำแต้มได้มหาศาลขนาดนี้ แถม 81 แต้มเกิดขึ้นใน 4 ควอเตอร์ปกติด้วย ไม่ได้มีการต่อเวลาออกไปแต่อย่างใด
2
หลังจบเกม นักข่าวถามโคบี้ว่า การทำแต้มได้ขนาดนี้เป็นความฝันของคุณหรือเปล่า โคบี้ตอบว่า "ไม่เคยแม้แต่จะฝันว่าจะทำได้ เพราะเรื่องแบบนี้มีแต่จินตนาการเท่านั้น ใครจะไปคิดว่าสามารถทำแต้มขนาดนี้ได้"
1
"ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้น มันยากจะอธิบายเพราะมันเกิดขึ้นเอง คือผมไม่ได้ตั้งเป้าหมายจะทำแต้มอะไรขนาดนั้น ผมคิดแค่อยากพลิกกลับมาชนะเท่านั้น จึงตั้งใจเล่นให้ดี แต่มันกลายเป็นว่าโมเมนต์สุดพิเศษได้เกิดขึ้น ถ้าผมบอกว่า ผมตั้งใจจะทำ 81 แต้ม แต่แรก นั่นคือเรื่องโกหกแล้วล่ะ"
1
อีกสิ่งที่เป็นเรื่องบังเอิญคือ คุณยายของโคบี้ ปกติจะไม่เคยมาดูหลานตัวเองลงแข่งเลย แต่ในวันนั้นเป็นเกมแรก และเกมเดียวที่เธอมาดูการแข่งด้วย และกลายเป็นว่าโชคดี ที่ได้เห็นเหตุการณ์มหัศจรรย์ด้วยตาตัวเองพอดีในเกมนั้น
ไม่ใช่แค่แฟนๆ ที่ตกใจกับตัวเลข 81 แต้ม นักบาสด้วยกันเอง ก็ยังเซอร์ไพรส์ว่า "ทำได้ยังไง" ตัวอย่างเช่น ไครี่ เออร์วิ่ง กล่าวว่า "ผมตื่นมาและเปิดช่อง espn นักข่าวพูดว่า Kobe 81 ผมรู้สึกแบบว่า เฮ้ย ไม่จริงมั้ง คิดดูนะว่าเขาทำแต้มใน 2 ควอเตอร์แรก 26 แต้มเอง คุณลองคำนวณดูละกันว่าใน 2 ควอเตอร์หลัง เขาทำระเบิดไปกี่แต้ม"
เช่นเดียวกับเคลย์ ธอมป์สัน มาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังในภายหลังว่า "81 แต้มในบาสยุคนี้มันเหลือเชื่อมากๆ ผมเคยทำได้ 43 แต้ม สมัยเรียนคอลเลจ 1 ครั้ง และผมรู้สึกว่าตัวเองโคตรสุดยอด แล้วถ้า 81 แต้ม มันจะขนาดไหน"
ทำไมโคบี้ ถึงสามารถทำได้ 81 แต้มได้สำเร็จ? สื่อที่สหรัฐฯ มีการวิเคราะห์กันว่า เพราะปัจจัยทุกอย่างมันลงล็อกพอดี
ข้อ 1 คือ เลเกอร์สในฤดูกาล 2005-06 มีองค์ประกอบทีมที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ นอกจากโคบี้แล้ว คนอื่นฝีมือกลางๆ หมดเลย จะมีเก่งหน่อยก็ลามาร์ โอดอม ส่วนตัวที่เหลือธรรมดามากจนน่าตกใจ ศัพท์ที่คนพูดกันตอนนั้นคือ โคบี้แบกทีมอยู่คนเดียวจนหลังแทบหัก
แต่ในมุมของ "ความแบก" นี่แหละ ที่มันผลักดันทำให้โคบี้ทำแต้มได้เยอะ เพราะเพื่อนนึกอะไรไม่ออก ก็ฝากบอลให้โคบี้เล่น ดังนั้นการอยู่รายล้อมกับคนฝีมือธรรมดา มองอีกมุมก็ส่งเสริมให้เขาได้ถือบอลมากขึ้น และสามารถตะลุยเข้าไปเล่นเองได้เลยโดยชอบธรรม เพื่อนๆ ไม่ว่าอะไรเลย ลุยเต็มที่ตามสบาย
1
บิลล์ แม็คโดนัลด์ ผู้บรรยายของ espn แสดงทรรศนะว่า "เลเกอร์ส คือทีมที่เอาโคบี้ไปรวมกับผู้เล่นอ่อนๆ ทีมนี้ไม่มีตัวชู้ต ไม่มีคนจบสกอร์ คือคุณจะให้ใครยิงล่ะ สมูช พาร์กเกอร์หรอ? หรือคริส มิ้ม หรือ ควาเม่ บราวน์"
ใน NBA ฤดูกาล 2005-06 โคบี้ มีค่าเฉลี่ยทำแต้มสูงสุดในลีก 35.4 แต้ม ถือว่ามีมาตรฐานที่ดี ซึ่งการที่เขาทำแต้มได้เยอะ ความเฉียบคมก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกเหตุผลคือเขาได้โอกาสยิงเยอะๆ โดยเพื่อนไม่ได้ว่าอะไรนั่นแหละ ซึ่งถ้าเป็นทีมอื่น คุณโซโล่เดี่ยวบ่อยมากขนาดนี้ คงมีการไม่พอใจเกิดขึ้นแน่
ข้อ 2 คือ โคบี้เป็นชู้ตเตอร์ที่ดี ยิงได้ทุกระยะ
ในยุค 1960 หรือ 1970 คนที่จะทำแต้มได้เยอะๆ ล้วนเป็นผู้เล่นตำแหน่งเซ็นเตอร์ทั้งนั้น (วิลต์ แชมเบอร์เลน สูง 216 ซม.) แต่ในยุคปัจจุบัน เก่งวงในอย่างเดียว ยากจะทำแต้มเยอะขนาดนั้นได้ คือคุณต้องเป็นชู้ตเตอร์ที่ดีด้วย
ในเกมกับโตรอนโต้ โคบี้ยิงสามแต้มในเกมนี้ลงไป 7 ลูก จากโอกาส 15 ครั้ง ถือว่าเป็นเปอรเซ็นต์ที่ใช้ได้ นอกจากนั้นโคบี้ยังยิงลูกโทษลง 18 ลูก จาก 20 ลูก คิดเป็น 90% คือในเกมแบบนี้ คุณเลี้ยงตะลุยไปยิงก็ต้องโดนจับฟาวล์อยู่แล้ว ดังนั้นจะได้โอกาสชู้ตลูกโทษบ่อย ถ้าคุณชู้ตไม่แม่นพอ ในระดับ 90% ขึ้นไป โอกาสจะทำแต้มเยอะๆ ก็เกิดขึ้นยาก
สถิติที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ในเกมนี้มีถึง 12 ลูก ที่โคบี้ทำได้แม้จะโดนคู่แข่ง Contested หรือประกบติดเอามือขวางไว้ ไม่ได้ปล่อยให้ยิงโล่งๆ คือในเกมระดับนี้ คุณไม่มีทางที่จะได้ยืนชู้ตสบายๆ หรอก
1
วงนอกดี วงในก็ทะลวงได้ แถมยิงได้ดีแม้จะมีคู่แข่งป้องกัน กลายเป็นว่าฝั่งโตรอนโต้ก็ไม่มั่นใจนัก ว่าจะประกบอย่างไร สุดท้ายจึงโดนทำแต้มใส่รัวๆ
ข้อ 3 คือ จังหวะและแท็กติกเป็นใจ
อย่างที่กล่าวไว้ว่า ความผิดพลาดของโตรอนโต้ แรพเตอร์ส คือไม่ยอมดับเบิ้ลทีม กว่าจะคิดได้ก็สายไปแล้ว คือถ้าเป็นทีมอื่น อาจประกบโคบี้หนักกว่านี้จนหาช่องยิงไม่ได้ แต่โตรอนโต้เล่นจับแบบ 1 v 1 โคบี้ก็เลยเล่นได้ง่ายมาก นอกจากนั้นด้วยความที่เกมมันสูสี มันเบียด ทำให้โคบี้ได้ลงเล่นแทบทุกนาที (ลงไป 42 นาที จากทั้งหมด 48 นาที) ถ้าเกมไม่บี้แบบนี้ มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยิงขาด โคบี้อาจโดนเปลี่ยนตัวออกมานานแล้ว ไม่ได้มีโอกาสสร้างสถิติแบบนี้
จากเหตุผลทุกอย่างรวมกัน ทำให้ประวัติศาสตร์ 81 แต้มเกิดขึ้นในที่สุด และยังคงถูกเล่าขานเป็นเรื่องราวคลาสสิคมาจนถึงวันนี้
นับจาก 22 มกราคม 2006 มาถึงวันนี้ผ่านไปแล้ว 16 ปี คนทำแต้มได้ใกล้เคียงโคบี้ที่สุด คือเดวิน บูเกอร์ ของฟีนิกซ์ ซันส์ ทำไป 70 แต้ม ในปี 2017 แต่ความห่างของเลข 7 กับ เลข 8 มันก็ยังเยอะมากอยู่ดี และแน่นอนว่าไม่รู้เมื่อไหร่ จะมีคนเข้าใกล้เคียงสถิติ 81 แต้มที่โคบี้ทำไว้
2
ในชีวิตนักบาสเกตบอลอันยิ่งใหญ่ของโคบี้ ไบรอันต์ นอกเหนือจากสถิติแชมป์ NBA 5 สมัย และ เหรียญทองโอลิมปิก 2 สมัยแล้ว
สถิติ 81 แต้มนี่ล่ะ จะเป็นตำนานมหัศจรรย์ที่อยู่บนหิ้งตลอดไป และคงจะใช้เวลาอีกนานมาก กว่าจะมีนักบาสสักคนเข้ามาใกล้เคียงตัวเลขนี้ได้
#BLACKMAMBA
โฆษณา